ความขัดแย้ง “อิสราเอล-ปาเลสไตน์” สงครามความรุนแรงที่ไม่จบสิ้น ไฉนเป็นเช่นนี้?

เยรูซาเล็ม อิสราเอล-ปาเลสไตน์
ภาพ : ซ้าย - แผนที่สงครามในอิสราเอล, ขวา - เมืองเก่าแห่งเยรูซาเลมซึ่งถูกทำลายโดยกองทัพทหารอิสราเอลในปี 1967

ภูมิภาค “ตะวันออกกลาง” มีความสำคัญในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างโลกตะวันตกกับตะวันออก ภูมิภาคนี้จึงมีบทบาททางการเมืองโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไหนจะมีแหล่งเชื้อเพลิงสำคัญของโลกอย่าง “น้ำมัน” หรือที่หลายคนเรียกว่า “ทองคำสีดำ” ทำให้นานาประเทศล้วนเข้ามาเกี่ยวพัน มีทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การต่อรองทางการเมือง รวมไปถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือความขัดแย้งระหว่าง “อิสราเอล-ปาเลสไตน์”

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์เกิดขึ้นมานาน และเพื่อให้พอเข้าใจคร่าว ๆ คงต้องย้อนไปเมื่อราว 2,000 ปีก่อน “เยรูซาเลม” ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (ซึ่งปัจจุบันอิสราเอลถือว่าอยู่ในพื้นที่ประเทศของตนเอง) ซึ่งเป็นข้อพิพาททุกวันนี้ มี “ชาวยิว” ครอบครองมาก่อน 

แต่เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเยรูซาเลม ที่เป็นเสมือน “ทางแยก” หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นศูนย์กลางบนแผนที่โลก ไม่ว่าโลกตะวันตกหรือออกจะข้ามไปหากันก็ต้องผ่านพื้นที่แถบ “ตะวันออกกลาง” นี้เสียก่อน จึงทำให้มีคนหลากหลายศาสนาเข้ามาปกครองและอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นศาสนายูดาห์ คริสต์ หรือแม้กระทั่งอิสลาม 

กระทั่งจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งเป็นมุสลิม เข้ามาปกครองในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ตั้งชื่อดินแดนบริเวณนี้ว่า “ปาเลสไตน์” รวมถึงชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ก็ถูกเรียนขานว่าเป็น “ชาวปาเลสไตน์” เช่นกัน 

ทว่าจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่ออังกฤษให้คำสัญญากับชาวยิวว่า ถ้าหากช่วยเหลือชิงชัยให้แดนพระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน จะได้ของรางวัลคือดินแดนปาเลนสไตน์ และเมื่อจบสงคราม ชาวยิวก็ได้พื้นที่นี้มาครอบครองตามตกลงกันไว้

แต่วันเวลาผ่านไป พื้นที่แห่งนี้กลับกลายมาเป็นความขัดแย้งอันยาวนานระหว่างชาวยิวกับอาหรับ จนล่วงเลยมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ไม่จบสิ้น

จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวยิวถึงสามารถสถาปนารัฐเอกราชได้สำเร็จในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1948 ในชื่อว่า “อิสราเอล” และเกิดการแบ่งแยกดินแดนเป็นของชาวยิวและชาวอาหรับ โดยให้เยรูซาเลมเป็นดินแดนร่วม ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากแรงสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ

ข้อตกลงร่วมกันดูเหมือนจะผ่านไปได้ฉลุย และนำมาซึ่งความสันติ ทว่าทุกอย่างคล้ายจะเป็นภาพลวงตา เพราะความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับอาหรับกลับปะทุขึ้นมาเป็น “อิสราเอล” กับ “ปาเลสไตน์” โดยปรากฏภาพกว้าง ๆ ว่า พันธมิตรของอิสราเอลคือโลกตะวันตก ส่วนปาเลสไตน์คือโลกมุสลิม

ความขัดแย้งยังดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ แม้จะเข้าสู่ช่วงสงครามเย็น ซึ่งเป็นสงครามสองขั้วระหว่างโลกประชาธิปไตยกับโลกคอมมิวนิสต์แล้วก็ตาม แต่ทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ยังคงห้ำหั่นเอาชนะกัน จนท้ายที่สุดอิสราเอลก็ได้ดินแดนเพิ่ม ขณะที่ปาเลสไตน์ก็จัดตั้งองค์การปลดปล่อย (PLO) ขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวแบบกองโจรขับไล่อิสราเอล

ยิ่งไปกว่านั้น หลังจบ “สงครามหกวัน” ในปี 1967 อิสราเอลก็ยึดครองพื้นที่ “ฉนวนกาซา” ซึ่งแต่เดิมเคยถูกปกครองโดยอียิปต์ แต่อียิปต์ไม่ได้ผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ และ “เขตเวสต์แบงก์” ดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ มาเป็นของตนเองทั้งหมด 

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้ทั้งสองประเทศเกิดบรรยากาศมาคุ และเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเหตุการณ์อย่าง “วิกฤตการณ์อินฟาดา” เหตุการณ์ลุกฮือของชาวปาเลสไตน์หลังจากรถกองทัพอิสราเอลพุ่งชนกับรถคนงาน จนชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต 4 คน ครั้งที่ 1 ในปี 1987-1993 และครั้งที่ 2 ในปี 2000-2005 รวมถึงไปเกิดการเคลื่อนไหวของ “กองกำลังฮามาส” 

กองกำลังฮามาส เป็นกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งปกครองในทางแดนเหนือฉนวนกาซา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1987 มีจุดประสงค์เพื่อต่อต้านการครอบครองเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาของอิสราเอล เนื่องจากมีความเชื่อว่า ดินแดนประวัติศาสตร์ของปาเลสไตน์ ซึ่งรวมถึงอิสราเอลในปัจจุบัน เป็นดินแดนของอิสลาม และชื่อ “ฮามาส” ก็มาจากแนวคิดสำคัญดังกล่าว โดยฮามาสเป็นภาษาอาหรับ แปลว่า ขวัญกำลังใจ มาจากคำย่อของ “ขบวนการอิสลามที่มีใจในการต่อต้าน”

หลังจากเกิดวิกฤตและความโกลาหลเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ นานาชาติก็ต่างสรรหาวิธีต่าง ๆ เพื่อไกล่เกลี่ย ไม่ว่าจะเป็น การเจรจาที่แคมป์เดวิด ในปี 1978 หรือข้อตกลงออสโล ปี 1993 และ 1995 แต่ก็ไม่เป็นผลทั้งสิ้น และมีแนวโน้มว่าทั้งสองประเทศจะใช้อาวุธหนักและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ 

จวบจนปัจจุบันความขัดแย้งระหว่าง “อิสราเอล-ปาเลสไตน์” ก็ยังคงอยู่ ทั้งยังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังที่เห็นในวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2023 ที่กลุ่มฮามาสได้ปล่อยขีปนาวุธลงในอิสราเอลถึง 5,000 ลูก ในวันซิมหัต โทราห์ ซึ่งเป็นวันที่ชาวยิวจะอ่านพระคัมภีร์โทราห์จบ และจะเริ่มต้นการอ่านพระคัมภีร์ของรอบปีถัดไป โดยเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสูญเสียให้ทั้งสองฟากฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นชาวยิว ชาวมุสลิม หรือแม้แต่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ปิติ ศรีแสงนาม และจักรี ไชยพินิจ. AMIDST THE GEO-POLITICAL CONFLICTS สมรภูมิพลิกอำนาจโลก. กรุงเทพฯ:มติชน, 2566.

https://www.matichon.co.th/politics/news_2728756

https://www.matichon.co.th/foreign/news_4220290

https://www.prachachat.net/world-news/news-1411115


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ตุลาคม 2566