“ธี่หยด” แปลว่าอะไร? ใช่ “ภาษามอญโบราณ” จริงหรือ?

“ธี่หยด” จากตำนานกระทู้พันทิปสุดหลอน ขยายจักรวาลสู่ นวนิยาย รายการผี และภาพยนตร์ อีกหนึ่งที่สุดเรื่องเล่าผีไทย ที่ใครได้ฟังต่างขนพองสยองเกล้า!

เรื่องราวของธี่หยดมาจากกระทู้พันทิป “กระทู้ผีฟีเวอร์…ลองมาฟังเรื่องลึกลับของผมบ้าง” (https://pantip.com/topic/33718556) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 โดยเจ้าของเรื่องคือ กิตติศักดิ์ กิตติวิรยานนท์ ซึ่งได้รับฟังข้อมูลสุดหลอนมาจากคุณแม่ของตน

ธี่หยดดำเนินเรื่องราวเมื่อ พ.ศ. 2515 ในจังหวัดกาญจนบุรี ครอบครัวชาวไร่ชาวนาครอบครัวหนึ่งต้องประสบกับเรื่องเหนือธรรมชาติ เมื่อลูกสาวในบ้านนามว่า “แย้ม” ป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ พร้อมกับเกิดเหตุการณ์แปลกประหลาดปนสยองขวัญ หนึ่งในนั้นคือ เสียงปริศนา ฟังคล้ายบทสวดมนต์ หรือคำพูดไม่เป็นภาษา ดังว่า “ธี่หยด…”

จากกระทู้พันทิปที่โด่งดัง นำมาสู่การตีพิมพ์เป็นนวนิยายที่สร้างจากเรื่องจริง “ธี่หยด…แว่วเสียงครวญคลั่ง” จากแพรวสำนักพิมพ์ ใน พ.ศ. 2560 โดย กิตติศักดิ์ กิตติวิรยานนท์ ซึ่งใช้นามปากกาว่า “กฤตานนท์”

จนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 THE GHOST RADIO รายการผีชื่อดัง ก็นำเรื่องธี่หยดมาเสนออีกครั้ง และผู้ที่มาบอกเล่าไม่ใช่ใครที่ไหน คือ “คุณกิต” หรือ “จขกท.” จากพันทิปนั่นเอง (https://www.youtube.com/watch?v=58nkqv8Pm9k)

ธี่หยดจึงกลับมาเป็นที่พูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง พร้อมกับการปล่อยโปสเตอร์จากภาพยนตร์ “ธี่หยด” ในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2566 และปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566 ซึ่งดำเนินการสร้างโดยช่อง 3 และ M STUDIO กำหนดเข้าฉายวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ต้อนรับเทศกาลฮาโลวีน

โปสเตอร์ ภาพยนตร์ ธี่หยด
โปสเตอร์ภาพยนตร์ธี่หยด (ภาพจาก เฟซบุ๊ก : M Pictures)

หากได้อ่านได้ฟังก็คงนึกสงสัยว่า ธี่หยดแปลว่าอะไร? คำนี้จะใช่ “ภาษามอญ” ตามที่มีการแชร์ข้อมูลกันในโลกออนไลน์อย่างนั้นจริงหรือ?

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม สอบถามไปยัง ดร.องค์ บรรจุน อาจารย์ประจำคณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมอญ ว่า “ธี่หยดมาจากภาษามอญว่า เตี๊ยะหยด ที่แปลว่า โอม ใช่หรือไม่?”

และเมื่อ ดร.องค์ ได้ฟังเรื่องธี่หยดย้อนหลังใน YouTube THE GHOST RADIO แล้วให้คำตอบถึงประเด็นนี้ไว้ดังนี้

“ไม่เคยได้ยิน ที่มาของคำไม่ชัด เพราะคนแวดล้อมในเหตุการณ์ไม่รู้ แค่เล่าจากความทรงจำเมื่อ 50 ปีที่แล้ว จากนั้น คนที่ฟังรายการผีนี้แล้วช่วยตีความ ‘ลากเข้าความ’ ให้ภายหลัง ซึ่งเสียง โอม แบบฮินดู มอญออกเสียงว่า อูม ถ้าจะให้ผมช่วยหาคำศัพท์มอญอะไรสักคำที่ใกล้ ‘ธี่หยด’ เท่าที่ผมมีคลังศัพท์ก็คือ ‘แตะ โหยด’ แปลว่า ยัก (เอว)”

เมื่อสอบถามอีกครั้งว่า ธี่หยดใช่ภาษามอญหรือไม่? ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมอญ ตอบย้ำว่า “เท่าที่เกิดมา จากความรู้เท่าที่มี ตอบได้ว่าไม่ใช่ภาษามอญครับ”

ด้านคุณกิตก็เคยตอบคำถามถึงข้อสงสัยของคำว่าธี่หยดในกระทู้พันทิป (ความคิดเห็นที่ 1897) ว่า “ไม่ทราบครับ เรื่องผ่านมาหลายสิบปี คนเล่ายังไม่รู้เลยว่าเป็นเสียงอะไร ผมจะไปรู้ได้ยังไงครับ” 

คุณแม่ของคุณกิตก็ไม่ทราบว่าเสียงดังกล่าวนั้นคืออะไร และเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นมานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว การที่ถอดเสียงออกมาแล้วสะกดเป็นคำว่าธี่หยดจึงอาจจะมีความผิดเพี้ยนได้

มนุษย์เรามักจับเอาเสียงที่ไม่รู้จักมาเทียบกับเสียงที่รู้จักหรือคุ้นเคย เหมืองกับ “มุกุงฮวาโกชี พีออตซึมนีดา” คนไทยก็ออกเสียงเป็น “โกโกวา…” เหมือนกับ “high all the time” คนไทยก็ออกเสียงเป็น “ต่ายยย อรทัยยย” เหมือนกับ “makeba” คนไทยก็ออกเสียงเป็น “นักเก็ตปลา” เหมือนกับ “little lion” คนไทยก็ออกเสียงเป็น “ลิตรเท่าไหร่อะ”

“ธี่หยด” จึงไม่ใช่ภาษามอญตามที่มีการแชร์ข้อมูลในโลกออนไลน์ คงจะเป็นการ ‘ลากเข้าความ’ ให้คำนี้เป็น “ภาษามอญ” เพราะจังหวัดกาญจนบุรีอยู่ติดกับประเทศเมียนมา ซึ่งชายแดนด้านนั้นก็มีการติดต่อกับชาวมอญมานานนับร้อย ๆ ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กันยายน 2566