เปิดเส้นทางทายาทฆ้องมอญ บรรพบุรุษแบกพาทย์ฆ้องหนีพม่า จากเมืองมอญถึงปทุมธานี

ครูชะอุ่ม ดนตรีเสนาะ พร้อม ฆ้องมอญ ของ บรรพบุรุษ
ครูชะอุ่ม ดนตรีเสนาะ กับฆ้องมอญจากบรรพบุรุษ

ชะอุ่ม ดนตรีเสนาะ ผู้รับสืบทอด “ฆ้องมอญ” จากบรรพบุรุษ

“ฆ้องมอญวงนี้เอามาไว้ที่สูงสุด ก็เพราะท่านเคยอยู่กับดินกับทราย ตอนบรรพบุรุษขนหนีพวกพม่าจากเมืองมอญเข้ามาไทย เป็นของเก่า มีครู เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปลูกบ้านใหม่ก็เลยเอาท่านขึ้นมาไว้ที่สูงสุดของบ้าน เป็นบุญบารมี”

Advertisement

ครูชะอุ่ม ดนตรีเสนาะ ทายาทผู้สืบทอดฆ้องมอญ วัย 68 (เมื่อ พ.ศ. 2546) หัวหน้าวงปี่พาทย์มอญดนตรีเสนาะ เล่าประวัติของฆ้องมอญเก่าแก่ประจำตระกูลขณะพาเดินวนขึ้นบันไดบ้านไปยังห้องพระชั้น 4 ชั้นสูงสุดของตัวบ้าน ซึ่งเก็บฆ้องมอญไว้ในห้องดังกล่าว

ต้นตระกูลมอญของครูชะอุ่ม ดนตรีเสนาะ เลือกตั้งบ้านเรือนริมน้ำเช่นเดียวกับชาวมอญคนอื่นๆ ที่อพยพเข้ามา โดยปัจจุบันบ้านของครูชะอุ่มตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ละแวกวัดหงษ์ปทุมมาราม ชุมชนชาวมอญชุมชนหนึ่งในเขตอำเภอเมืองปทุมธานี

ฆ้องมอญ สมบัติประจำตระกูลดนตรีเสนาะ ที่สืบมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์วงนี้ ได้สร้างชื่อเสียง สร้างอาชีพ และคงเอกลักษณ์ของความเป็นชนชาติมอญมาถึงทุกวันนี้

“คงเป็นของสำคัญมากปู่ย่าตายายถึงขนเอามาจากเมืองมอญ ตอนที่หนีพม่าเข้ามา เขาเล่าสืบต่อกันมาว่าข้าวของอื่นๆ ก็ไม่ได้เอามาเท่าไหร่ ฆ้องวงนี้ถอดออกได้ 3 ท่อน ค่ำไหนก็นอนนั่น พอเข้ามาอยู่เมืองปทุมฯ ก็สร้างเครื่องดนตรีอื่นๆ ประกอบเล่นกัน”

การอพยพเข้ามาอยู่เมืองปทุมธานีของชาวมอญกลุ่มบรรพบุรุษของครูชะอุ่มนี้ ไม่มีหลักฐานว่าเข้ามาสมัยใด แต่น่าจะเป็นช่วงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งมีชาวมอญอพยพเข้ามา และได้มาตั้งบ้านเรือนที่แขวงเมืองปทุมธานี นนทบุรี และนครเขื่อนขันธ์

ในระหว่างที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้วก็ได้มีการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเองขึ้นมา รวมทั้งเรื่องของดนตรี ซึ่งมีการถ่ายทอดความรู้เรื่องปี่พาทย์มอญให้แก่บุตรหลาน จนเป็นที่รู้จักในวงกว้างออกไป

“ปี่พาทย์มอญมีเฉพาะที่เมืองปทุมฯ เท่านั้นที่อื่นเมื่อก่อนไม่มีหรอก ของพระประแดงก็มีทีหลัง ตอนสมัยก่อนปู่ผมไปตีทั่ว บางหญ้าแพรก สมุทรสาครไปทั้งนั้น เวลาเขามีงานใหญ่ๆ จะมาจ้างไป เวลาไปเล่นเล่ากันว่าพอตั้งเครื่องคนมุงดูกันเต็ม เขาไม่เคยเห็น”

ในยุคหนึ่งผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดและยกย่องจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปถึงความมีชื่อเสียงทางดนตรีปี่พาทย์มอญคือครูเจิ้น ปู่ของครูชะอุ่ม ดนตรีเสนาะ ซึ่งมีความสามารถจนได้เข้าไปเล่นในวังบางขุนพรหม วังเจ้านายพระองค์หนึ่งที่มีชื่อเสียงทางดนตรี

“ปู่ผมได้เข้าไปรับราชการทหาร เลยได้รับใช้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่วังบางขุนพรหม ท่านทราบว่าปู่ผมเล่นปี่พาทย์ก็เป็นที่โปรดปราน ยิ่งรู้ว่ามีฆ้องดีก็โปรดใหญ่ ท่านเสด็จมาที่บ้านปู่ที่ปทุมฯ หลายครั้ง พาครอบครัวมาด้วย ท่านโปรดปรานปี่พาทย์มอญมาก ให้เล่นประชันให้ชมเสมอ”

นายเจิ้น เป็นหนึ่งในนักดนตรีที่ได้รับประทานแหนบจากกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ให้สามารถเข้านอกออกในวังบางขุนพรหมได้ จวบจนกระทั่งพระมารดากรมพระนครสวรรค์วรพินิตสิ้นพระชนม์ วงปี่พาทย์มอญของนายเจิ้นได้เข้าไปเล่นปี่พาทย์ถวายในงานสวดพระอภิธรรมศพถึง 7 คืน จนวันพระราชทานเพลิงศพที่สนามหลวง ก็ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 4 วงที่เล่นประจำทิศในงาน

“ตอนนั้นมีปี่พาทย์เล่นประจำทิศอยู่ 4 วง เหนือ ใต้ ออก ตก วงครูสุ่ม วงหลวงประดิษฐไพเราะ ก็ตี ตอนเที่ยงพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมา วงเราเล่นเพลงรับเสด็จ มีนายเติมลูกพี่ลูกน้องของปู่เจิ้นตีฆ้องมอญ เล่นจบคนที่พลับพลาตบมือกราว เขาไม่เคยได้ยิน คล้อยหลังไปครึ่งชั่วโมง ทหารเอาธงแดงมาปักหน้าวงเรา ก็เป็นที่รู้กันว่าโปรด สมัยก่อนเขาไม่ได้ตัดสินว่าต้องมีที่ 1 ที่ 2 แต่ก็จะรู้จะยอมรับกันเวลาประชัน นักดนตรีจะรู้”

แผนที่แสดงเส้นทางแบกฆ้องจากเมืองมอญมาเมืองสยาม

เมื่อมีการพระราชทานนามสกุลในสมัยรัชกาลที่ 6 ด้วยความสามารถทางดนตรีของนายเจิ้น ซึ่งเล่นเป็นที่โปรดปราน จึงได้รับพระราชทานนามสกุลเป็นนายเจิ้น ดนตรีเสนาะ ส่วนลูกพี่ลูกน้องที่ตีฆ้องมอญ ได้รับพระราชทานนามสกุลเป็นนายเติม ฆ้องเสนาะ แต่ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 วงดนตรีที่วังบางขุนพรหมก็แตกฉานซ่านเซ็นกันออกไปรวมทั้งวงปี่พาทย์มอญของครูเจิ้น ก็กลับมาอยู่ที่ปทุมธานีเหมือนเดิม รับเล่นงานอยู่ทั่วไป

ฆ้องมอญวงนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตระกูลดนตรีเสนาะ และนักดนตรีในวงให้ความเคารพ และหลายครั้งที่มีเรื่องอภินิหารเกิดขึ้นกับฆ้องมอญวงนี้ให้เห็น

“มีครั้งหนึ่งสมัยปู่ไปเล่นที่บางปลากด ตั้งฆ้องไว้ช่วงกลางวันนายสังเวียน เกิดผล นายหนังใหญ่เดินผ่านฆ้อง ที่ใกล้ๆ กันมีร่องเล็กๆ อยู่ร่องหนึ่ง ไม่รู้นายสังเวียนเดินตกร่องได้อย่างไร สลบไปเลย ปู่ผมก็คิดว่าฆ้องเล่นซะแล้ว ก็ทำน้ำมนต์ให้อาบพรม พักเดียวก็ฟื้น เขาเลยถามประวัติตอนหลังก็เลยขอมาเป็นศิษย์ด้วยคน”

“แล้วก็ตอนที่ฆ้องตกน้ำอีก ตอนที่แจวเรือจะไปเล่นงานเขา ฆ้องเกิดไหลจากไม้คานตกลงไปในน้ำ หาไม่เจอ วันกับคืนหนึ่ง คนมาตกปลา เบ็ดตัวเล็กนิดเดียวสายก็เล็กเกี่ยวห่วงเหล็กขึ้นมาเฉยเลย แล้วฆ้องก็ไม่เสียหายด้วย เราเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์”

ปัจจุบันนี้ (พ.ศ. 2546) ฆ้องวงนี้หากนับอายุคนก็สืบต่อกันมาเป็นรุ่นที่ 6 แล้ว อายุฆ้องก็กว่า 150 ปีขึ้นไป สำหรับในประเทศไทยที่ครูชะอุ่มพอจะลำดับได้ แต่ในเมืองมอญอีกไม่รู้กี่ปี

ความพิเศษของฆ้องวงมอญวงนี้นอกจากรูปร่างสมส่วน มีสัดส่วนสวยงาม เสียงเพราะแล้ว รางฆ้องยังมีการแกะฉลุลายบนรางฆ้องทั้งสองด้านต่างกัน และสามารถถอดประกอบได้เป็นสามท่อน

ฆ้องวงนี้ปัจจุบันได้เป็นต้นแบบให้กับการผลิตฆ้องมอญของครูสำราญ เกิดผล ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ฆ้องมอญวงสำคัญที่มีประวัติศาสตร์เช่นนี้ น้อยคนนักที่จะได้รู้เรื่องราว ครูชะอุ่มเองก็อายุมากขึ้นทุกวันจึงอยากจะให้ปี่พาทย์มอญกลับมาได้รับความนิยมเหมือนเช่นอดีตอีกครั้ง แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

“คิดแล้วน้อยใจกรมศิลป์ เห็นเขาบรรจุดนตรีอื่นเข้าไปสอน แต่ทำไมไม่เอาปี่พาทย์มอญเข้าไปด้วย มันน้อยใจ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กรกฎาคม 2560