ค้นหาร่องรอยภาษามอญ ในภาคอีสานของไทย

พิธี “บะอะยัง” หรือพิธีทำขวัญนาคมอญ (ตกเบ็ด) นาคโสภณ บรรจุน เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๘

วัฒนธรรมทวารวดีซึ่งรับอิทธิพลมอญที่พบโดยทั่วไปในภาคกลางแล้ว ยังปรากฏอยู่ในภาคเหนือและใต้ของไทย แต่ที่หลายท่านอาจมองข้ามไป นั่นคือ การค้นพบแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีในภาคอีสานของไทยทุกจังหวัด และพบจังหวัดละมากกว่า 1 แห่งขึ้นไป บางจังหวัดมีมากถึง 7 แห่ง และมีแนวโน้มว่าอาจจะพบมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ในปัจจุบัน ความเป็นทวารวดีจะกลืนกลายเป็นไทยร่วมสมัยอยู่โดยทั่วไปแล้ว แต่ยังคงพบร่องรอยอักษรและภาษามอญปะปนอยู่ในภาษาถิ่นอีสานจำนวนมาก

พงศาวดารทั้งของพม่าและไทยยืนยันว่า อารยธรรมมอญรุ่งเรืองในเมียนมาตอนล่างก่อนพุทธศตวรรษที่ 14 การศึกษาวัฒนธรรมทวารวดีในช่วงแรกได้หลักฐานส่วนใหญ่เฉพาะทางฝั่งไทย ขาดหลักฐานทางฝั่งเมียนมา เนื่องจากในช่วงเวลานั้นทางเมียนมามีการขุดค้นทางโบราณคดีและการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ไม่มากนัก ทำให้นักวิชาการส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าอารยธรรมมอญยุคแรกเริ่มมีศูนย์กลางอยู่ที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่ก็มีนักวิชาการบางส่วนเชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่ทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาและทางเมียนมาตอนล่างเป็นแหล่งอารยธรรมที่เจริญควบคู่กันมา

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีทางฝั่งเมียนมามากขึ้น ดังปรากฏรายชื่อแหล่งโบราณคดีในพิพิธภัณฑ์มอญเมืองเมาะลำเลิง (มะละแหม่ง) รัฐมอญ หลายแห่ง เช่น แหล่งโบราณคดีในแขวงเมืองจย้าจก์แหมะโร่ะฮ์ (Kyaik Mayaw) ย่านหมู่บ้านเกาะซั่วเกาะซ่าก ประกอบด้วยถ้ำธ่มแหมะสะ (Dhamathat Cave) ถ้ำเต่อคะราม (Khayone Cave) และถ้ำจะปาย (Sabae Cave) แหล่งโบราณคดีเมืองโบราณเมาะตะมะ (Motama Ancient City) พระธาตุอินทร์แขวน (Kyaik Htiyoe Pagoda) เมืองโบราณเว่คะราว (Wagaru Ancient City) แหล่งโบราณคดีในแถบเมียนมาใต้ (Lower Myanmar) เมืองพะสิม หรือเมืองสิเรียม (Bassein) และแหล่งโบราณคดี สำคัญย่านเมืองเก่าสุวรรณภูมิ คือ แหล่งโบราณคดีหมู่บ้านวังกะ (WinKa Ancient city) และเมืองโบราณสุวรรณภูมิ (Suvanabumi Ancient City) แหล่งโบราณคดีกำแพงเมืองเก่าสะเทิม หรือสุธรรมวดี (Kadike Gyi Fortress Thaton)

นอกจากนี้ยังมีแหล่งโบราณคดีในรัฐกะเหรี่ยง ประกอบด้วยถ้ำโบราณ 2 แห่ง คือ ถ้ำเกาะกุ้น (Kaw-Goon Cave) และถ้ำยะตะบัน (Ya The Byan Cave) ซึ่งอยู่ใกล้กัน เป็นเขตอารยธรรมมอญโบราณทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 เช่นเดียวกับที่สเตตเนอร์ (Donald M. Stadtner) ยืนยันว่า หลัก
ฐานทางด้านโบราณคดีที่พบทางตอนใต้ของเมียนมา ได้แก่ ชิ้นส่วนอิฐสร้างวัด ซากสถูป ภาชนะดินเผา จารึกคำอุทิศถวาย เหรียญเงิน รูปสลักในทางพุทธศาสนาและฮินดู รูปสำริด และจารึกภาษามอญ ล้วนแสดงให้เห็นถึงอารยธรรมมอญที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ช่วงพันปีแรก

แม้ว่า ไมเคิล ออง ทวิน (Michael A. Aung-Thwin) นักประวัติศาสตร์ชาวเมียนมา จะนำเสนองานศึกษาของเขาที่ชื่อ “The Mists of Ramanna : The Legend that was Lower Burma” ว่าแท้จริงแล้ว อารยธรรมทางตอนใต้ของเมียนมานั้นเป็นของชาวพยู (Pyu) และเป็นการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมจากเมียนมาตอนบน สู่เมียนมาตอนล่างแบบทางเดียว (Single Dominant) หรือการที่ เอลิซาเบธ มอร์ (Elizabeth H. Moore) เลือกที่จะศึกษาเทียบเคียงรูปแบบทางศิลปะ “มอญและพยู” (Mon and Pyu) ที่เป็นต้นแบบของอารยธรรมพม่า โดยแม้จะตัดขาดจากความเกี่ยวข้องทางภาษาและวัฒนธรรมออกไป

แต่มอร์ก็เชื่อว่า อย่างน้อยการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมก็มีความซับซ้อนและเกิดจากหลายกลุ่มวัฒนธรรม และไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สเตตเนอร์ ก็ยังคงยืนยันด้วยผลการศึกษาวิจัยอย่างถี่ถ้วนของเขาที่พบว่า ไม่เพียงแค่ความมั่งคั่งและความแผ่กว้างของอารยธรรมทางตอนใต้ของเมียนมายุคต้นเท่านั้น แต่ยังเป็นคุณลักษณะอีกด้วยที่มาจากวัฒนธรรมมอญ

จดหมายเหตุการเดินทางของพ่อค้าและขุนนางราชวงศ์ถัง พ.ศ. 1132-1405 และบันทึกของพระถังซำจั๋ง พระภิกษุสงฆ์ชาวจีนที่เดินทางไปอินเดียเมื่อพุทธศตวรรษที่ 12 ได้กล่าวถึงรัฐชาวพุทธแห่งหนึ่งชื่อ โถโลโปตี (to-lo-po-ti) ซึ่ง แซมวล บีล (Samuel Beal) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้ตีความชื่อนี้เป็นภาษาสันสกฤตว่า “ทวารวดี” และเสนอว่า รัฐนี้อยู่ในภาคกลางประเทศไทย

ส่วนปอล เปลลิโอต์ (Paul Pelliot) นักวิชาการชาวฝรั่งเศส เสนอสมมติฐานว่า ประชากรของอาณาจักรนี้เป็นมอญและหลังจากการค้นพบจารึกภาษามอญโบราณในภาคกลางของไทย จึงได้ข้อสรุปว่า ภาษามอญเป็นภาษาเดียวที่มีการจารึกในยุคนี้และในบริเวณนี้ทำให้ข้อสันนิษฐานข้างต้นมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

คำว่า “ทวารวดี” มาจากคำจารึกภาษาสันสกฤตว่า “ศรีทวารวดีศวรปุณยะ” มีความหมายว่า “พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ” ที่ปรากฏบนเหรียญเงิน 2 เหรียญ ซึ่ง พบที่พระปฐมเจดีย์ในจังหวัดนครปฐมและที่อินทร์บุรีใกล้จังหวัดลพบุรี นอกจากนี้ยังได้พบจารึกชื่อ “ทวารวดี” บนฐานบัวศิลาทรายแดงรองรับพระพุทธรูปที่วัดจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 เหล่านี้เป็นข้อสนับสนุนให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะได้เรียกชื่อศิลปะแบบมอญในช่วงเวลานี้ที่พบในประเทศไทยว่า “ทวารวดี” ด้วยรัฐทวารวดีมีอำนาจทางการเมืองอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-12 คาดว่ามีศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองนครชัยศรีและเมืองอู่ทอง ประกอบด้วย “บ้านพี่เมืองน้อง” ซึ่งมีโครงสร้างวัฒนธรรมเดียวกัน แต่ก็มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น

ลักษณะทางสังคมเช่นนี้ทำให้อารยธรรม “ทวารวดี” ถูกกลืนไปกับวัฒนธรรมท้องถิ่นกระทั่งเกิดอารยธรรมลักษณะเฉพาะตนขึ้นในประเทศไทย ซึ่ง ปิแอร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสให้เหตุผลการสูญสิ้นของรัฐทวารวดีว่า เกิดจากการรุกรานของกองทัพพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (ครองราชย์พ.ศ. 1549-93) จากเขมร ส่วน ฌอง บวสเซอลิเยร์ (Jean Boisselier) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสอีกท่านหนึ่ง เชื่อว่ากองทัพที่เข้ามารุกรานทวารวดี คือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ พ.ศ. 1724-61)

แต่ เอมมานูเอล จียอง (Emmanuel Guillon) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสร่วมสมัย มีความเห็นว่า น่าจะเป็นการค่อยๆ ซึมซับทางวัฒนธรรมและกลืนกันไปในที่สุดมากกว่า ทำนองเดียวกับความเห็นของ สุวิชญ์ รัศมิภูติ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการและอธิบดีกรมศิลปากร ที่ระบุอยู่ในคำนำหนังสือ “ประวัติศาสตร์โบราณคดี-กัมพูชา” เขียนโดย นิคม มูสิกะคามะ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรลำดับถัดมาว่า “ความผูกพันใกล้ชิดนี้น่าเชื่อว่า ไทย-ลาว และขอม-มอญ นั้นมีส่วนร่วมโคตรเหง้าทางภาษาและวัฒนธรรมกันมาแต่โบราณในยุคก่อนประวัติศาสตร์” และความเห็นของ ชาร์ลส ไฮแอม ก็คือ “คนก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ สัมฤทธิ์ และสมัยเหล็กนั้นมี ‘Gene’ หรือหน่วยถ่ายพันธุ์ถ่ายทอดปะปนคละเคล้ากันมาเป็นระยะเวลานานและผสมผสานถ่ายทอดมายังรุ่นลูกหลานที่เป็นคนไทยในผืนแผ่นดินไทยตราบทุกวันนี้”

ร่องรอยทวารวดีพบในทุกภาคของประเทศไทย ในบรรดาจารึกยุคทวารวดีที่ขุดค้นพบในประเทศไทยทั้งสิ้น 98 หลัก จารึกด้วยภาษาต่างๆ ในจำนวนนี้เป็นภาษามอญถึง 43 หลัก ที่เหลือคือ ภาษาบาลี 28 หลัก และสันสกฤตจำนวน 27 หลัก วัฒนธรรมทวารวดียังพบได้ที่จังหวัดปัตตานี ภาคใต้ของไทย และโดยเฉพาะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสาน ดังปรากฏว่าร่องรอยวัฒนธรรมทวารวดี แม้กระทั่งกำแพงเมืองโบราณทวารวดีก็แผ่ไปถึงฝั่งเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน (ผาสุข, 2542)

ในส่วนของภาคอีสาน เมืองโบราณทวารวดีในภาคอีสานที่พบในปัจจุบัน เช่น เมืองเสมา (นครราชสีมา) เมืองพุทไธสง(บุรีรัมย์) เมืองฟ้าแดดสงยาง (กาฬสินธุ์) เมืองนครจำปาศรี (มหาสารคาม) เมืองกันทรวิชัย (มหาสารคาม) เมืองคอนสวรรค์ (ชัยภูมิ) แหล่งโบราณคดีบ้านตาดทอง (ยโสธร) แหล่งโบราณคดีวัดกลางศรีเชียงใหม่ (สกลนคร) และแหล่งโบราณคดีบ้านหนองกาลืม (อุดรธานี)

ร่องรอยของวัฒนธรรมมอญที่พบในภาคอีสานนั้นมีมานานแล้ว ดังปรากฏในงานศึกษาว่าด้วยทวารวดี โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางด้านศาสนา เช่น เสมาจำหลักรูปพระนางพิมพาพิลาป สยายผมเช็ดพระบาทพระพุทธองค์ที่พบในเมืองโบราณฟ้าแดดสงยางซึ่งพบเฉพาะในพุทธศิลป์ตามคติแบบมอญเท่านั้น แม้แต่รูปแบบของประเพณีที่ตกทอดมาในปัจจุบัน เช่น ประเพณีสงกรานต์ ปล่อยนกปล่อยปลา ประเพณีสรงน้ำพระผ่านรางที่เรียกว่า “ฮางฮด” หรือพิธีกรรมเกี่ยวกับการจัดการศพ เช่น การจัดการศพที่ถูกฟ้าผ่าตายโดยการเอาเชือกผูกคอแล้วลากศพไปวัดฝังในท่ายืนพร้อมทั้งนำเอากระทะครอบศีรษะศพไว้ ดังเช่นประเพณีของชาวอีสานซึ่งพบที่วัดสุปัฏนาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อราว
พ.ศ. 2477 (สุเอ็ด, 2527)

แต่เดิมในสมัยโบราณภาษาที่ผู้คนในภาคอีสานใช้สื่อสารกันอย่างกว้างขวางประกอบด้วย 2 ตระกูลภาษา คือ ตระกูลภาษาไท-กะได (TaiKadai languages) กับตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic languages) กระทั่งต่อมาเมื่อมีการใช้ตัวอักษรบันทึกกิจกรรมทางด้านศาสนา อักษรธรรมอีสาน และอักษรธรรมลาว หรืออักษรธรรมล้านช้างเป็นอักษรที่มีวิวัฒนาการมาจากอักษรมอญและอักษรธรรมล้านนา ใช้ในการเขียนคัมภีร์ทางพุทธศาสนาในสมัยโบราณ ที่ได้รับการสืบทอดมาจากอักษรมอญโบราณที่หริภุญชัยเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่กระบวนการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองจากเดิมที่เคยใช้ภาษามอญโบราณ และเขมรเป็นภาษาในการปกครอง มาสู่ภาษาในตระกูลไท-ลาว จากผลการวิจัยจึงพบว่า ในภาษาไทยปัจจุบันมีคำยืมภาษามอญอยู่อย่างน้อย 697 คำ (วัฒนา, 2541)

แม้ว่าสิ่งที่ ชาร์ลส ไฮแอม บอกว่า “ชาวมอญโบราณในดินแดนประเทศไทยคงได้กลืนกลายเป็นไทยอยู่ทั่วไป” (2542) ซึ่งความเป็นมอญยุคโบราณในแผ่นดินไทยปรากฏชัดเจนในวัฒนธรรมทวารวดี และก็น่าจะเป็นอย่างที่ธิดา สาระยา กล่าวว่า “ทวารวดี” คือ “ประวัติศาสตร์ยุคต้นของสยามประเทศ” (2532) แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ความเป็นมอญโบราณร่วม 2,000 ปี ยังไม่ถึงกับสูญหายไร้ร่องรอย นอกจากโบราณสถาน พยานวัตถุและหลักฐานที่พบในจารึกแล้ว คำมอญหลายคำถูกแปลงกลายเป็นคำใหม่รวมทั้งที่ยังคงคำศัพท์ใกล้เคียงคดั้งเดิม

ดังปรากฏร่องรอยอยู่ในภาษาอีสานทุกวันนี้ เช่น สิม แปลว่า โบสถ์ ความหมายเดียวกับในภาษามอญ แต่มีการออกเสียงต่างกันตามแต่ละถิ่น ได้แก่ แซมเซม และซิม ส่วนเสียงในภาษาเขียนอ่านว่า “ซิม” ขณะที่ในภาษาไทยทั่วไปก็มีทั้ง สีมา เสมา ซึ่งยังถูกใช้ในชีวิตประจำวันรวมทั้งชื่อบุคคลสายตระกูลชาวอีสาน เช่น สิมมาลา สิมหล้า และ เสประโคน (ประสิทธิ์, 2559)

นคร คำร่วมทั้งในภาษาไทยอีสาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เขมร ปักษ์ใต้ และมลายูแล้ว เช่น แลกอน เลียกอน หรือนคร ได้แก่ เวียงละกอน เมืองละครและเมืองลิกอร์ แต่เดิมเข้าใจกันว่าเป็นเมืองที่มี “ละคร” สมโภชชั่วนาตาปี ส่วน “ลิกอร์” ยิ่งแล้ว คงหนีไม่พ้นภาษามลายู คล้ายๆ ลิเกร์ ดิเกร์ แต่กลับพบว่าเป็นคำร่วมที่ใช้อยู่ทั่วไปทั้งภูมิภาคแถบนี้ นั่นคือ

1. เวียงลคร/ลคอร/ละกอน หมายถึง เมืองลำปาง (ลัมภกัปปนคร/เขลางค์นคร) พบในจารึกเจ้าหาญสีทัตและภาษาปากของคนสมัยเก่าที่นิยมเรียกชาวลำปางว่า “จาวละกอน” อีกด้วย

2. ดงละคร หมายถึง เมืองโบราณดงละคร ตำบลดงละคร อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครนายก ชื่อนี้มีมาแต่สมัยใดไม่ชัด แต่มีผู้คนเล่ากันว่า ได้ยินเสียงวงมโหรีแว่วมาจากเมืองโบราณรกร้างนั่น น่าจะมีคนโบราณรำละครกันมิได้ขาด บ้างเชื่อกันว่ามีนครโบราณอยู่ในดง จึงเรียกว่า ดงนครภายหลังเกิดเพี้ยนเป็น “ดงละคร”

3. ลิกอร์ หมายถึง เมืองนครศรีธรรมราช เมืองที่มีมาก่อนกรุงสุโขทัยซึ่งมีด้วยกันหลายชื่อ ได้แก่ ตามพรลิงค์ ตามพลิงเกศวร สิริธรรมนครลิกอร์ เมืองนคร และเมืองคอนเป็นต้น

4. ละครพนม หมายถึง เมืองนครพนม เมืองบริวารในอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ (ราว พ.ศ. 1800-2280) ก่อนย้ายมาตั้งยังฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้นามพระราชทานว่า “นครพนม” (ประสิทธิ์, 2559) น่าเชื่อได้ว่า “นคร” เป็นคำที่ทั้งมอญ เขมร ไทย ลาว และล้านนา หรือไทยวน ต่างยืมมาจากบาลีและ สันสกฤต แต่ชาติใดเริ่มแปลงอักขรวิธีเป็น ลคอร ละกอน หรือลิกอร์ก่อนนั้นเป็นสิ่งที่ต้องสืบค้นเพิ่มเติม และแล้วก็ค้นพบว่า มอญนั้นศรัทธาและนิยมไปไหว้พระธาตุเมืองนคร (ศรีธรรมราช) แต่ไหนแต่ไรมา ทั้งตำนานพระธาตุเมืองนครนั้นก็เกี่ยวข้องกับมอญ อีกทั้งยังพบจารึกภาษามอญที่นครศรีธรรมราชอีกหลายหลัก และมอญก็นิยมเรียกเมืองนครว่า “เดิงแหละโก่น” ซึ่งเมื่อถอดเป็นอักษรไทยก็จะได้ว่า เมืองละคอน นั่นเอง

เพีย/เพี้ย แปลว่า ตำแหน่งขุนนางโบราณ หรือตำแหน่งขุนนางไทยแคว้นล้านนาและล้านช้าง ซึ่งเป็นคำเดียวกับ “พญา” (ราชบัณฑิต, 2542) ตรงกับคำในภาษามอญว่า “เปียะเหญี่ย” ( ) แปลว่า พญาพระยา ตำแหน่งขุนนาง

กวาน/กวน แปลว่า ชุมชน ตำแหน่งนายบ้าน ตรงกับภาษามอญว่า “กวาน” ( ) แปลว่า หมู่บ้านชุมชน

กากะเยีย แปลว่า อุปกรณ์สำหรับกางหนังสืออ่าน ตรงกับภาษามอญว่า “กากะเยีย” ( )

โอ แปลว่า ขันน้ำทำด้วยไม้หรือโลหะสำหรับใส่ของ ตรงกับภาษามอญว่า “โอ” ( ) แปลว่า เหยือก ขันตักน้ำ

ฝาละไง แปลว่า ฝาหม้อ ฝาละมี หรือฝาปิดปากหอย ตรงกับภาษามอญว่า “แหละหมี่” ( ) แปลว่า ฝาหม้อ ฝาละมี ลำต้น

กับแก้ แปลว่า ตุ๊กแก ตรงกับภาษามอญว่า “กั๊บแก” ( )

เงีย/ไง แปลว่า กบ ตรงกับภาษามอญว่า “เหงี่ย” ( )

นกกาเวา แปลว่า กาเหว่า/นก ดุเหว่า รูปร่างคล้ายอีกา ตรงกับภาษามอญว่า “แกะเจมกาววาว” () แปลว่า นกกาเหว่า

บักนัด แปลว่า สับปะรด ตรงกับภาษามอญว่า “คะนัด” ( )

บักกอก แปลว่า มะกอก ตรงกับภาษามอญว่า “มักก๊อก” ( )

ผู้เถ้า แปลว่า คนแก่ชรา ผู้เฒ่า ผู้แก่ ตรงกับภาษามอญว่า “แหละทาว”( )

ตาบ แปลว่า ปะ ปิด เช่น ปะรอยเสื้อผ้าที่ขาดหรือเป็นรู ตรงกับภาษามอญว่า “ต่าบ” ( ) แปลว่า ฝัง กลบ

ป้าน แปลว่า ปิด ทด กั้น เช่นทดน้ำ ตรงกับภาษามอญว่า “คะป่าน” ( ) แปลว่า ติด แปะ เช่น ปิดประกาศ

เป้ แปลว่า บิดเบี้ยว เช่น คนเดินขาบิด ซึ่งเรียกว่า ขาเป๋ ตรงกับภาษามอญว่า “เบีย” ( ) แปลว่าบิดเบี้ยว

โป แปลว่า โน นูน พอง เช่น หัวโน แข้งโน ตรงกับภาษามอญว่า“ป่อ” ( ) แปลว่า ถม ถมเถ กองสุมมากมาย

หลูบ แปลว่า วิ่งเข้าหา ทะยานใส่ ตรงกับภาษามอญว่า “หลุบ” ( ) แปลว่า เข้า

อุ แปลว่า อุ่น อบ ตรงกับภาษามอญว่า “อุ๊” ( ) แปลว่า อบอ้าว ระอุ

เหล่านี้คือตัวอย่างของวัฒนธรรม ภาษา และอักษรมอญที่ยังคงทิ้งร่องรอยไว้ที่อีสานบ้านเรา ถิ่นที่มั่นของวัฒนธรรมทวารวดีเมื่อกว่าพันปีก่อน ที่แม้ดูเหมือนจะกลืนกลายไปกับวัฒนธรรมไทยอย่างเป็นน้ำเนื้อเดียวกัน แต่ไม่เคยถูกทำให้หายไปอย่างไร้ร่องรอย

หมายเหตุ: เนื้อหาฉบับออนไลน์ไม่ได้ใส่คำตามอักษรดั้งเดิมตามต้นฉบับเนื่องจากมีข้อติดขัดทางเทคนิคเกี่ยวกับฟอนต์ (ตัวอักษรในระบบอิเล็กทรอนิกส์) ทีมงานอยู่ระหว่างปรับปรุงเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ตามเนื้อหาต้นฉบับ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


รายการอ้างอิงภาษาไทย :

จำปี ซื่อสัตย์. 2551. พจนานุกรมมอญ-ไทยและ พจนานุกรมไทย-มอญ สำเนียงมอญลพบุรี (เล่ม 1-2) : ที่รฤกอายุครบสามรอบนักษัตร พระมหาอาชว์ อาชฺชวปเสฏโฐ (ซื่อสัตย์) 25 พฤษภาคม 2549. กรุงเทพฯ : พี.เอ. ลีฟวิ่ง.

ชาร์ลส ไฮแอม และ รัชนี ทศรัตน์. 2542. สยามดึกดำบรรพ์ : ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : ริเวอร์ บุ๊คส์.

ธิดา สาระยา. 2532. (ศรี) ทวารวดี : ประวัติศาสตร์ยุคต้นของสยามประเทศ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

ประสิทธิ์ ไชยชมพู. “สิม-สีมา-เสมา รากภาษามอญ? (ตอนที่ 1-6),” ทางอีศาน http://e-shann.com/?p=13411/ (สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559).

ผาสุข อินทราวุธ. 2542. ทวารวดี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

พระมหาจรูญ ญาณจารี และคณะ. 2548. พจนานุกรมมอญ-ไทย ฉบับมอญสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน.

ราชันย์ นิลวรรณาภา. 2553. พาสาลาวเพื่อการสื่อสาร. มหาสารคาม : ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออกคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. 2558. ทวารวดีในอีสาน. กรุงเทพฯ : มติชน.

วัฒนา บุรกสิกร. 2541. รายงานการวิจัยเรื่องลักษณะคำไทยที่มาจากภาษามอญ. กรุงเทพฯ : เท็คโปรโมชั่นแอนด์ แอดเวอร์ไทซิ่ง.

วีระ สุดสังข์ (เรียบเรียง). 2548. พจนานุกรมภาษาอีสานฉบับคำพูน บุญทวี. นนทบุรี : โป๊ยเซียน.

สุเอ็ด คชเสนี. (กรกฎาคม-กันยายน 2527). “วัฒนธรรมประเพณีมอญ,” ใน เมืองโบราณ. ฉบับมอญ
ในเมืองไทย (THE MONS IN THAILAND ISSUE), ปีที่ 10 ฉบับที่ 3 น. 50-63.

ภาษาอังกฤษ :

Guillon, Emmanuel. 1999. The Mons : A Civilization of Southeast Asia. Bangkok : The Siam Society.

Luce, G. H. 1969. Old Burma-Early Pagán. Volume One : Text. New York : J. J. Augustin Publisher.

Moore, Elizabeth. 2007. Early Landscapes of Myanmar. New York : ACC Publishing Group.

Stadtner, Donald M. Edited by, Patrick McCormick, Mathias Jenny, and Chris Baker. 2011. Demystifying Mists : The Case for the Mon. In The Mon Over Two Millennia : Monuments, Manuscripts, Movements. Bangkok : Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ตุลาคม 2562