สะบ้า  :  เกมกีฬาของมอญ เขมร และอื่นๆ

สะบ้าหนุ่มสาว (สะบ้าบ่อน) สะบ้ามอญคลองลำกอไผ่ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ (ขอบคุณภาพจาก คุณวารดา พุ่มผกา)

พบเกมกีฬาหรือการละเล่นสะบ้ามากในชนชาติตระกูลภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer หรือ Austro-Asiatic) รวมทั้งไทย ลาว พม่า ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ลาหู่ มลายู ลัวะ ชอง แม้แต่เกาหลี แต่ไม่ทราบเพราะเหตุใด เมื่อสอบถามกับคนเขมรแถบสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ หลายคนเข้าใจว่ามอญเป็นแม่แบบ อาจเป็นด้วยการละเล่นสะบ้าในเทศกาลสงกรานต์ของชาวมอญพระประแดงออกสื่อบ่อยกว่าใครในยุคนี้ มอญจึงกลายเป็นเจ้าข้าวเจ้าของต้นตำรับสะบ้าของภูมิภาค ทั้งที่การละเล่นทำนองนี้พบเห็นได้ทั่วไปทั้งทวีปเอเชีย

สะบ้า (Saba) ไม่พบชื่อในภาษาอังกฤษ เป็นพืชไม้เลื้อยขึ้นตามป่าดงดิบ อยู่ในวงศ์ Fabaceae ชนชาติต่างๆ ในแถบเอเชียนิยมนำผลแก่สุมไฟบดเข้าเครื่องยา แก้ตัวร้อนเป็นไข้ มะเร็ง คุดทะราด รักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน พยาธิ หืด กลาก เกลื้อน ช่วยให้สตรีคลอดบุตรง่าย ที่สำคัญนิยมนำเมล็ดแก่มาใช้เป็นอุปกรณ์การละเล่น มีชื่อเรียกต่างๆ กันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น มะนิม หมากงิม สะบ้ามอญ สะบ้าช้าง มะบ้า มะบ้าหลวง เป็นต้น

คำเรียกชื่อการละเล่นที่ใช้ลูกสะบ้าของชาติต่างๆ มักเรียกตามผลสะบ้า เช่น ชาวไทใหญ่ ในพม่าและแถบแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “หมากนิม”  ชาวไทเขินเรียก “หมากวา” ย่านอำเภอนาหมื่น จังหวัดน่านเรียก “หมากบ้า” ชาวลำปางเรียก “หมากนิมคำ” ชาวฉิ่นในพม่าเรียก “กาวี” ชาวลาหู่เรียก “หม่ายี้สื่อต่อดะเว” ชาวอาข่าเรียก “อ๊ะเบอฉ่อเออ” ชาวชองแถบจันทบุรีเรียก “พลีซะบ่า” ชาวลาวเรียก “หมากบ้า” ชาวเกาหลีเรียก “โทลชิ โนริ” ชาวมวงในเวียดนามเรียก “ดันฮ์ มัง” ชาวปากีสถานเรียก “กิลลิ ดานดา” ชาวชวาตะวันตกของอินโดนีเซียเรียก “กาตริก” ชาวมอญเรียก “ฮะนิ” ส่วนชาวเขมรเรียก “ลีงอังกุญจ์”

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าชนชาติใดเริ่มเล่นก่อนเป็นชาติแรก และมีมาแต่เมื่อใด ซึ่งเท่าที่พบแต่ละชนชาติก็มีบุคลิกลักษณะการเล่นเป็นของตัวเอง ในส่วนของไทยมีบันทึกอยู่ในกฎมณเฑียรบาลเมื่อต้นกรุงศรีอยุธยากว่า 500 ปีมาแล้วว่า การละเล่นสมัยนั้นมีแข่งวัวควาย แข่งเกวียนเทียมวัวควาย แข่งช้างชนกัน หัวล้านชนกัน ต่อยมวย ตีไก่ กัดปลา รวมทั้งสะบ้า เพียงแต่ปัจจุบันเหลือเล่นกันอยู่มากในกลุ่มมอญ-เขมร และบางกลุ่มในสิบสองปันนา ประเทศจีน

ส. พลายน้อย เล่าไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องพม่ารามัญ” ว่ามีบันทึกอยู่ในจดหมายเหตุเมื่อปี พ.ศ. 2332 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่กล่าวถึงการละเล่นในเทศกาลสงกรานต์ว่า “ตรุษสงกรานต์ตีเข้าบิณฑ์เล่นสะบ้า ชายหนุ่มร้องเล่นโพลก” ที่แสดงถึงความนิยมเล่นสะบ้าในสมัยนั้น และยังมีนิราศที่แต่งขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวถึงการเล่นสะบ้าที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ในเทศกาลสงกรานต์ตอนหนึ่งว่า

“พอมาสบพบปะพวกสะบ้า
เสียงเฮฮาเล่นกันลั่นวิหาร
ที่ใครแพ้ต้องรำทำประจาน
สนุกสนานสาวหนุ่มแน่นกลุ้มดู

ข้างละพวกชายหญิงยิงสะบ้า
แพ้ต้องรำทำท่าน่าอดสู
ล้วนสาวสาวน่าประโลมนางโฉมตรู
เที่ยวเดินดูน่าเพลินเจริญใจ”

การเล่นสะบ้าและการตั้งสะบ้าลูกเป้าของเด็กๆ ชาวลาหู่ บ้านห้วยน้ำริน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย (ขอบคุณภาพจาก www.gotoknow.org)

สะบ้ามอญ มีรูปแบบเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร นิยมเล่นและถ่ายทอดสืบต่อกันมาแต่โบราณ โดยมากจะเล่นกันในเทศกาลสงกรานต์ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ สะบ้าหนุ่มสาว (สะบ้าบ่อน) เป็นการละเล่นที่เน้นความสนุกสนาน และสะบ้าช้าง (สะบ้าทอย) ที่เน้นการแข่งขันรู้แพ้รู้ชนะ ส่วนสะบ้ารำ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชาวมอญบางไส้ไก่ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ เท่านั้น ซึ่งจะเน้นการรำโดยมีดนตรีประกอบระหว่างการเล่นสะบ้า

สะบ้าบ่อน (สะบ้าหนุ่มสาว) มักจะใช้ลานดินใต้ถุนบ้านเป็นสนาม สมัยก่อนบ้านคนมอญมักเป็นบ้าน 2 ชั้นใต้ถุนโปร่ง แต่ละหมู่บ้านจะมีการเล่นสะบ้ากันเกือบทุกหลังคาเรือน บ้านที่มีหญิงสาวมักจะมีบ่อนสะบ้าไว้ต้อนรับชายหนุ่มต่างหมู่บ้าน หนุ่มสาวหมู่บ้านเดียวกันจะไม่เล่นด้วยกันเด็ดขาด แต่ปัจจุบันจะมีการเล่นเฉพาะบ้านที่มีความพร้อมและได้รับเลือกไว้ และส่วนใหญ่จะคล้ายกับการแสดงทำนองการสาธิต มิได้เป็นการละเล่นซึ่งชายหนุ่มหญิงสาวรอคอยมาทั้งปีเพื่อโอกาสในการพบปะและสานสัมพันธ์ต่อกันเช่นเมื่ออดีต

การเตรียมบ่อน เริ่มจากเลือกที่โล่งกว้างประมาณกว้างยาว 5 เมตรขึ้นไป แล้วแต่ว่าจะต้องการให้สาวๆ นั่งได้กี่คน เช่น 5-8 คน เป็นต้น หาไม้กระดานมากั้นไว้ทั้ง 4 ด้าน กันลูกสะบ้ากระเด็นออก เตรียมที่นั่ง 2 ฟาก ก่อนถึงวันหนุ่มสาวจะช่วยกันปรับพื้น ทุบดินให้เรียบ ขัดด้วยลูกสะบ้าหรือขวดแก้วจนขึ้นมัน เรียกว่านั่งแล้วผ้าถุงผ้าโสร่งไม่เปรอะเปื้อนดิน ตกแต่งประดับประดาบริเวณบ่อนด้วยต้นกล้วย ทางมะพร้าวผ่าซีก มัดโคนเข้ากับเสาบ้านผูกปลายเข้าไว้ด้วยกันเป็นวงโค้ง ประดับกระดาษสีฉลุลาย พวงมะโหด หรือผ้าแพรที่หาได้

แต่ก่อนหนุ่มสาวนิยมเล่นสะบ้ากันตลอดเทศกาลสงกรานต์ทั้ง 7 วัน 7 คืน บ้านไหนสาวสวย มีดนตรีกล่อมบ่อนดีๆ คนติด แห่แหนกันมาทั้งผู้เล่นและผู้ชมสะบ้า เจ้าของบ้านก็ต้องเตรียมอาหารและเครื่องดื่มสำหรับเลี้ยงแขกเหรื่อ ของที่ยกมาเลี้ยงกันล้วนเป็นขนมที่ทำกันสำหรับเทศกาลสงกรานต์ จำพวกกะละแม ข้าวเหนียวแดง ข้าวแช่ บ่อยครั้งเล่นกันจนสว่างคาตา เพราะหนุ่มบ้านไกลข้ามน้ำข้ามคลองเดินลัดทุ่งกันมากลับบ้านกลับช่องลำบาก เช้าขึ้นก็หุงข้าวต้มเลี้ยงกัน วันต่อมาก็อาจตระเวนไปบ้านอื่น หรือหากพบสาวที่หมายตาจะอยู่บ่อนเดิมต่อทั้ง 7 วันก็ไม่มีใครว่า เจ้าบ้านก็มีหน้าที่หุงหาอาหารเลี้ยงกันไป

หนุ่มที่จะมาเล่นสะบ้าต้องเป็นหนุ่มบ้านอื่น มีหัวหน้าซึ่งอาวุโสกว่าใครนำมา รุ่นน้องต้องเชื่อฟังอย่างเคร่งครัด มาถึงต้องเจรจาขอเล่น โดยวางลูกสะบ้าของตนเป็นประกัน หากฝ่ายสาวยินยอมก็รับสะบ้านั้นไป ถือเป็นการจองบ่อน

อุปกรณ์การเล่น มีเพียงลูกสะบ้าประจำตัวทั้ง ๒ ฝ่าย ลักษณะกลมแบน ลูกสะบ้าของผู้ชายเล็กกว่าของฝ่ายหญิง ในอดีตลูกสะบ้าใช้เม็ดในของฝักสะบ้าจริงๆ แต่ปัจจุบันหายาก จึงมักกลึงจากไม้ประดู่ เขาควาย หรือทองเหลือง แล้วแต่ฐานะเจ้าของ

การแต่งตัวในสมัยก่อน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน หรือใช้คอนเซ็ปต์เดียวกัน ใครมีเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวเท่าไหนก็ใส่เท่านั้น ที่แน่นอนก็คือ หวีผมเกล้ามวยเรียบแปล้ ประแป้งลงกระแจะ พิถีพิถันกว่าอยู่บ้านหลายเท่าตัว ต่างจากปัจจุบันที่เน้นการแต่งตัวที่ต้องมีอัตลักษณ์มอญมีคอนเซ็ปต์กลุ่ม

กฎกติกาการเล่นในแต่ละหมู่บ้านแต่ละถิ่นก็มีความแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ให้ยึดทางฝ่ายหญิงเป็นหลัก การดีดหรือทอยสะบ้าบางหมู่บ้านมีมากถึง 20 ท่า แต่ละท่าจะมีชื่อเรียกเป็นภาษามอญ เช่น อีมายฮะเกริ่ม เถิ่งเติง อีโป่ะฮ์ฮะจ๊อด โซบาเก่ม อีฮะอุบ อีแปะ อีตั่น อีฮะเร็ต อีงาก์จ อีนังตัวปอย อีมายพาด อีโหล่น และอีสื้อ เป็นต้น

ฝ่ายชายและหญิงจะผลัดกันเล่น เล่นไปตามท่าต่างๆ เมื่อฝ่ายใดตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ (ดีดหรือทอยสะบ้าไม่ถูกเป้าของอีกฝ่ายหลายครั้ง จนฝ่ายตรงข้ามไม่ให้โอกาสแก้ตัวแล้ว) มอญเรียกว่า “อุย” จะต้องถูกยึดลูกสะบ้า เมื่อต้องการขอคืนก็ต้องยอมทำตามฝ่ายที่ชนะสั่ง เช่น ให้ฟ้อนรำ เต้น หรือทำท่าทำทางตลกขบขัน จนเป็นที่พอใจของฝ่ายชนะ จึงจะได้ลูกสะบ้าคืน แล้วก็สลับกันเล่นไปเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาที่เล่นสะบ้านี้ มักจะมีดนตรีประกอบและมีการร้องเชียร์จากผู้ชมตลอดการเล่น ถึงตอนพักครึ่ง นอกจากจะมีการเลี้ยงอาหารเครื่องดื่มแล้ว บ่อนที่มีมโหรีกล่อมบ่อน พ่อเพลงแม่เพลงจะเล่นทะแยมอญ ด้นเพลงสดโต้ตอบกันเป็นที่สนุกสนาน

ในระหว่างการเล่น ฝ่ายชายมักจะแสร้งเล่นพลาดให้ถูกทำโทษบ่อยๆ เพื่อต่อรองออดอ้อนฝ่ายหญิง หนุ่มสาวจะมีโอกาสใกล้ชิดพูดคุยกัน ก็เฉพาะช่วงเวลาเหล่านี้นี่เอง เกมสะบ้าจึงเป็นสิ่งที่หนุ่มสาวในอดีตทุกคนรอคอย และเมื่อถึงเวลาลงสนาม การเล่นก็เต็มไปด้วยชีวิตชีวาอย่างยิ่ง ทั้งเป็นช่วงเวลาซึ่งผู้ชมและพ่อแม่ผู้ปกครองฝ่ายผู้หญิงจะสังเกตสังกา ลอบดูฝ่ายชายที่อาจจะมาเป็นลูกเขยในอนาคต บางคนมีน้ำใจนักกีฬา บางคนแพ้ชวนตี บางคนมีความเป็นผู้นำ เป็นต้น

สะบ้าช้าง (สะบ้าทอย) การเล่นสะบ้าทอยไกล โดยมากมักเป็นกีฬาของคนหนุ่ม สมัยก่อนนิยมเล่นกัน
ในช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว เนื่องจากต้องใช้สถานที่กว้างขวางและใช้พละกำลังของผู้เล่นมาก

สนามสะบ้าช้างกว้างราว 6-7 เมตร และยาวไม่ต่ำกว่า 30 เมตร ลูกสะบ้าที่ใช้สำหรับทอย ทำด้วยไม้เนื้อแข็งและแกร่ง เพื่อไม่ให้แตกหักง่าย ลักษณะกลมแบน ลบเหลี่ยม 1 ด้าน จำนวน 6 ลูก เส้นผ่านศูนย์กลาง 12 เซนติเมตร หนา 2 เซนติเมตร หนักประมาณ 250-300 กรัม ส่วนสะบ้าลูกตั้ง (เป้า) ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ลักษณะกลมแบน ไม่ลบเหลี่ยม จำนวน 10 ลูก เส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เซนติเมตร หนา 1.5 เซนติเมตร คู่แข่งขันจะวางลูกตั้ง (เป้า) วางตั้งไว้แนวตะแคงฝั่งละ 5 ลูก แถวกลางตั้งแถวเรียงหนึ่งแนวลึก จำนวน 3 ลูก ห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร อันนี้เรียกว่า หัว-ตัว-หาง (ลูกละ 1 คะแนน)
ส่วนอีก 2 ลูก นำไปตั้งทางซ้ายและขวาของแถวกลางด้านละ 1 ลูก ให้ตรงกับลูกที่ 2 ของแถวกลาง ห่างจากแถวกลางประมาณ 50 เซนติเมตร อันนี้เรียกว่า ปีกซ้าย-ปีกขวา (ลูกละ 2 คะแนน) แต่ละฝ่ายจะผลัดกันทอยลูกตั้งของฝั่งตรงข้ามให้ล้มลงตามกติกาที่กำหนดจนกว่าจะรู้ผลแพ้ชนะ

ฝักสะบ้าที่แขวนประดับอยู่ตามข้างฝาบ้านเรือนชาวเขมรบ้านขาม

สะบ้าเขมร เรียกว่า “ลีงอังกุญจ์” มีรูปแบบแตกต่างไปจากสะบ้าบ่อน (สะบ้าหนุ่มสาว) แต่ละม้ายกับสะบ้าช้าง (สะบ้าทอยไกล) ของมอญ มีลักษณะเป็นเกมกีฬา ที่ต้องใช้พละกำลังและกลเม็ดในการแข่งขัน รวมทั้งออกลีลาข่มขวัญฝ่ายตรงข้ามพอได้หมั่นไส้เล็กๆ แต่ไม่มีการแยกชายหญิงอย่างสะบ้ามอญ สะบ้าของเขมรนี้ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิงหรือผู้ชายทุกคนสามารถร่วมแข่งขันกันได้ เน้นการแข่งขันเพื่อชัยชนะ โดยการดีดสะบ้าลูกยิง (โกย) ให้โดนสะบ้าลูกเป้า (ดีบ) ใครทำได้ดีกว่ากันก็จะเป็นผู้ชนะในเกมนั้นๆ

นายปราศรัย ปานทอง ชาวเขมรบ้านขาม สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นสุข อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้ให้ข้อมูลการละเล่นสะบ้าของคนเขมรแถบสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน แตกต่างกันบ้างเฉพาะกติกาปลีกย่อย โดยคนเขมรจะเล่นสะบ้ากันเฉพาะในเดือนสงกรานต์ หรือเดือน 5 ซึ่งเป็นเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ของเขมร อันเป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลองเท่านั้น ระยะเวลาก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้นจะไม่มีการเล่นโดยเด็ดขาด แม้แต่การฝึกซ้อมก็จะไม่มีใครกระทำกัน เนื่องจากชาวบ้านจะมองว่าผิดกาละเทศะ

อุปกรณ์การเล่นสะบ้า มีเพียงลูกสะบ้าที่ได้จากฝักสะบ้าแก่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หาไม้กระดานปิดหัวท้ายสนาม กันไม่ให้ลูกสะบ้ากระเด็นออกไปไกลจากสนาม ซึ่งสนามหรือสถานที่ก็ใช้ลานใต้ถุนบ้าน หน้าบ้าน ขนาดกว้างตามเหมาะสม ยาวสัก 6-8 เมตร แล้วแต่ตกลงกัน ปรับพื้นสนามให้เรียบ

ผลสะบ้า (ขอบคุณภาพจาก www.ban
suanporpeang.com)

กติกาการเล่น แบ่งผู้เล่นหรือผู้แข่งขันออกเป็น 2 ฝ่าย แต่ละฝ่ายมีลูกสะบ้าคนละ 20 ลูกเท่ากัน ตั้งเป็นลูกเป้า (ดีบ) บนพื้นสนามฝ่ายตรงข้าม 10 ลูก ลูกยิง (โกย) ในมือของผู้ยิง 10 ลูก ผลัดกันดีดลูกยิงของตนให้โดนลูกเป้าของอีกฝ่าย ใครดีดถูกลูกเป้าฝ่ายตรงข้ามล้มหมดก่อนจะเป็นฝ่ายชนะในเกมนั้นๆ

แม้ในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศเข้าถึงชุมชน โดยเฉพาะเกมคอมพิวเตอร์ สื่อสังคมออนไลน์ที่มากับสมาร์ทโฟนตลอดจนของเล่นใหม่ๆ ดึงเด็กเยาวชนและผู้คนออกไปจากเกมกีฬาสะบ้า เกมกีฬาสะบ้าในหลายหมู่บ้านจึงสูญหายไป ผิดกับบ้านขามแห่งนี้ที่ยังคงมีให้เห็นได้ทั่วไปในหลายหลังคาเรือน เสียงเชียร์จากผู้ชมรอบสนามดังขึ้นเป็นระยะ แม้ว่าในวันที่ผู้เขียนเดินทางไปถึงยังคงเป็นแค่เพียงวันซ้อมมือ

ปัจจุบันมีการฟื้นฟูให้เกมกีฬาสะบ้ากลับมาเป็นเกมกีฬาของเด็กเยาวชนหนุ่มสาวคนสูงอายุในชุมชนบ้านขาม มีการกระตุ้นให้ชาวบ้านสนใจด้วยการมอบถ้วยและเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะ กิจกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นสุข รวมทั้งมีการปรับกติกาให้ง่ายขึ้น หากใครไม่ถนัดดีดก็สามารถใช้การทอยเอาได้ โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็นประเภทเดี่ยวและทีม ๓ คน แบ่งรุ่นตามกลุ่มอายุ ได้แก่ เด็ก เยาวชน และทั่วไป เพราะหากปล่อยให้แข่งรวมกันหมด คณะกรรมการเกรงว่าผู้ใหญ่จะสู้เด็กไม่ได้ ทำให้กิจกรรมการฟื้นฟูเกมกีฬาสะบ้าของหมู่บ้านอาจจะกลับไปซบเซาเหมือนเช่นในอดีต

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กรกฎาคม 2560