รู้หรือไม่? “ทะแม่ง” คำฮิตติดปากคนไทยมีที่มาจากชื่อกะปิมอญ

น้ำพริกกะปิ

“ทะแม่ง” หรือ “ทะแม่ง ๆ” หากค้นในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี 2554 จะพบว่าแปลได้ 2 ความหมาย คือ มีกลิ่นหรือรสผิดปกติ และมีลักษณะลับลมคมในหรือมีอะไรเคลือบแฝงอยู่ทำให้น่าสงสัย เช่น เรื่องนี้มีกลิ่นทะแม่ง ๆ, รู้สึกว่าเรื่องนี้มันทะแม่ง ๆ ทั้งหมดนี้ล้วนข้องเกี่ยวกับกลิ่นประหลาดหรือความไม่ปกติซึ่งน่าจะเป็นที่มาของคำนี้ ว่าแต่ความผิดปกติที่ว่ามีต้นตอมาจากอะไร?

ความผิดปกติที่ใครหลายคนอาจสงสัย ขอเฉลยเลยแล้วกันว่ามาจากชื่อของ “กะปิมอญ” ถ้าใครหลายคนได้ยินครั้งแรกก็คงตกใจ แต่อย่าลืมว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางเชื้อชาติมาตั้งแต่โบราณ เป็นพื้นที่รวมคนจากหลายพื้นที่ เช่น มอญ ลาว จีน ฯลฯ จึงปรากฏและเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน 

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ปรากฏในบทความ “ปลาร้ามอญมีมาแต่ทวารวดี (ฮะร่อกกะ)” ขององค์ บรรจุน ในศิลปวัฒนธรรมฉบับเมษายน 2555 และเป็นที่มาของคำว่าทะแม่งซึ่งเกิดจากความสงสัยใคร่รู้และแปลกประหลาดของคนไทยต่อ “กะปิมอญ” ไว้ว่า

นอกจากนั้น หากอะไรที่กลิ่นไม่ดี การกระทําที่ดูไม่ชอบมาพากล เราก็พูดกันว่า ‘มีกลิ่นทะแม่ง ๆ’ สิ่งที่เราท่านเรียกอะไรก็แล้วแต่ที่มันดูทะแม่ง ๆ นี้ เกิดจากคนมอญขณะที่กําลังตากปลาทํากะปิ ระหว่างนั้นกลิ่นมันคงจะตุ ๆ ชอบกล คนไทย (ตามเคย) ที่เดินผ่านจึงถามว่า ‘ทําอะไร’ คนมอญก็ตอบว่า ‘ทํากะปิ’ ซึ่งกะปิในภาษามอญนั้นถ้าเรียกให้เต็มยศก็ต้องว่า ‘ฮะรอกฮะแหม่ง’

มอญคงจะทําปลาร้าขึ้นก่อน โดยคนมอญเรียกปลาร้าว่า ฮะรอก แล้วเมื่อเกิดกะปิขึ้นตามมาทีหลังจึงเรียกกะปิว่า ฮะรอกฮะแหม่ง และเป็นที่มาของคําว่าทะแม่งอย่างที่เราพูดกันติดปากจนทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2566