เปิดที่มาคำว่า “หยก” อัญมณีล้ำค่าของชาวจีน

เมื่อพูดถึงเครื่องประดับที่นำมาตกแต่งกายให้สวยงามแล้วนั้น หลายคนคงจะนึกถึง เพชร พลอย หรือทับทิม ฯลฯ แต่อีกชิ้นหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ “หยก” ซึ่งเป็นอัญมณีที่คนจำนวนมากมองว่าเป็นหินศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ผู้สวมใส่มีความเจริญรุ่งเรือง เปี่ยมไปด้วยโชคลาภ 

หลายคนคงทราบดีว่าคำว่าหยกนั้นน่าจะมาจาก “ภาษาจีน” แต่เนื่องจากประเทศจีนนั้นเต็มไปด้วยชนกลุ่มต่าง ๆ มากมาย แล้วสรุปว่าคำว่าหยกมาจากจีนกลุ่มภาษาอะไร?

วรศักดิ์ มหัทธโนบล ที่ปรึกษาศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงคำว่า “หยก” ผ่านบทความ “คำจีนสยาม : หยก” ใน “มติชน สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 26 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2549” ไว้ว่า

หยกที่กําลังจะกล่าวถึงนี้ หมายถึง หินเนื้อละเอียด แข็ง มีหลายสี ใช้ทำเครื่องประดับและของใช้ ถือว่าเป็นของมีค่าและเป็นมงคล ด้วยเหตุที่เป็นเครื่องประดับและของใช้ หยกจึงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป 

คำว่าหยกเป็นคําในภาษาจีนฮกเกี้ยน เสียงจริงๆ นั้นออกค่อนข้างยาก คือออก ทํานองว่า ‘จี-ยก’ โดยออกเร็วๆ และเสียงจะขึ้นจมูกเล็กน้อย ส่วนเสียงจีนกลางออกว่า ‘อวี่’ หรือ ‘ยวี่’ (yu)

การที่คําว่าหยกมาจากเสียงจีนฮกเกี้ยนดังกล่าว ทําให้เห็นได้ว่า หยกคงจะได้เข้ามายังสังคมไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างช้า เพราะในสมัยนี้คนจีนที่เข้ามายังราชสํานักสยามโดยมากมักเป็นจีนฮกเกี้ยน และคนจีนฮกเกี้ยนก็คงจะเรียกหยกตามสําเนียงพูดของตนเองและทําให้ไทยรับมาด้วย แต่ถ้าดูจากที่ไทยมีความสัมพันธ์กับจีนมา ก่อนที่อยุธยาจะรุ่งเรืองแล้ว ก็น่าเชื่อว่าหยกอาจจะเข้ามาก่อนหน้าสมัยที่ว่านี้ก็ได้

หยก ผักกาดขาว
หยกผักกาดขาว สมัยราชวงศ์ชิง ภาพจาก National Palace Museum (Taipei, Taiwan)

กล่าวสําหรับสังคมจีนแล้วหยกในฐานะเครื่องประดับหรือของใช้นั้น ได้ปรากฏมานานหลายพันปีแล้ว เท่าที่ได้มีการขุดค้น พบว่าหยกมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซาง (1600-1100 ก่อนค.ศ.) กล่าวคือ ไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีก่อน

หยกที่ค้นพบนี้มีอยู่ชิ้นหนึ่งเป็นแท่งสี่เหลี่ยมสูงประมาณฟุตเศษ ๆ กว้างยาวไม่ถึง 1 นิ้ว มีสีเขียวเข้มและถูกสลักเสลาอย่างงดงาม ที่น่าสนใจคือ มีบางส่วนถูกสลักเป็นรูปสัตว์ประหลาดที่จีนเรียกว่า ‘เทาเที่ย’ (Taotie) อันเป็นสัตว์ที่อยู่ในความเชื่อของจีนในเวลานั้น

อย่างไรก็ดี แม้หยกจะปรากฏหลักฐานว่ามีขึ้นในสมัยราชวงศ์ซางก็จริง แต่ก็หวังกันว่าหากการขุดค้นพบมีความก้าวหน้ามากขึ้น บางทีจะพบว่าหยกอาจมีมาก่อนหน้านั้นก็ได้ แต่ กระนั้น นับจากราชวงศ์ซางไปจนเมื่อจีนเข้าสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้วหยกก็อยู่คู่สังคมจีนมาโดยตลอด

‘หยก’ ในสังคมจีนนอกจากจะเป็นเครื่องประดับและของใช้แล้ว ยังเป็นสิ่งมงคลในความเชื่อของชาวจีนอีกด้วย บ้างก็ว่าหยกมีคุณภาพดีนั้น สามารถทําปฏิกิริยากับสิ่งเป็นพิษได้ เช่น หากสงสัยว่าเครื่องดื่มที่อยู่ตรงหน้ามีผู้ลอบวางยาพิษหรือไม่ ก็สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการนำหยกจุ่มลงในถ้วยหรือแก้วเครื่องดื่มและหากมีพิษจริงหยกก็จะกลายสีไปทันที (ด้วยว่าถูกยาพิษกัด) 

บางความเชื่อก็ว่าหยกเป็นเครื่องรางของขลังที่สามารถปกป้องชีวิตได้ เช่น เชื่อว่า หากหยกที่สวมใส่เป็นเครื่องประดับอยู่จู่ ๆ ก็ เกิดแตกร้าวหรือหักขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุ แสดงว่าเจ้าของหยกกําลังมีเคราะห์ร้าย

ความเชื่อนี้ถูกอธิบายว่า ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะหยกเป็นหินที่มีความเย็นแฝงอยู่ ส่วนคนที่กําลังมีเคราะห์นั้นจะมีความร้อนแฝงภายใน (เพราะเคราะห์ร้ายกําลังมาเยือนและโดยที่เจ้าตัวไม่รู้)

และความร้อนแฝงนี้เองที่จะไปสู้กับความเย็นแฝงของหยกที่ประดับกาย ถ้าเคราะห์เบาหยกก็แค่ร้าว ถ้าเคราะห์หนักหยกก็แตก เป็นต้น

หยก ผักกาดขาว
หยกผักกาดขาว สมัยราชวงศ์ชิง ภาพจาก National Palace Museum (Taipei, Taiwan)

นอกจากนี้บางความเชื่อยังไปไกลถึงขั้นที่ว่าหยกสามารถป้องกันรักษาชีวิตได้อย่างฉับพลันทันที คือพลันที่เจอเหตุร้าย เจ้าตัวก็จะรอดด้วย หยกป้องกันเอาไว้ โดยหยกจะต้องแตกหักไป

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าหยกจะอยู่ในฐานะเครื่องประดับหรือของใช้ก็ตาม สิ่งที่ทําให้หยกแตกต่างไปจากสิ่งของประเภทเดียวกัน ก็คือความเชื่อนั่นเอง ทุกวันนี้แม้จะมีหินมีค่าคล้ายกับหยกอยู่ไม่น้อยที่ถูกนำมาอธิบายความเชื่อดังกล่าวที่คล้ายกัน แต่ก็ดูเหมือนว่า จะไม่มีหินมีค่าใดที่จะถูกทําให้เชื่อได้มากเท่ากับหยก ที่เป็นเช่นนี้น่าจะมาจากเหตุที่หยกมีมาช้านานกว่า และถูกบอกเล่าในแง่ความเชื่อมากกว่านั่นเอง”

อ่านเพิ่มเติม 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2566