“เสี่ย” คำเรียกแทนชายฐานะดีมีระดับที่มีประวัติยาวนานก่อนคริสต์ศักราช!

ชนชั้นนำจีน จักรพรรดิ นั่งดู หญิง บรรเลง ดนตรี เพลง
The Chinese painting Night Revels of Han Xizai, handscroll, ink and colors on silk, 28.7 x 335.5 cm. Original by Gu Hongzhong (10th century), 12th century remake from the Song Dynasty. Collection of the Palace Museum in Beijing. (slight color correction to hide stitching)

“เสี่ย” เป็นคำคุ้นเคยที่เห็นและใช้ในชีวิตประจำวัน มักจะปรากฏกับรูปประโยคที่ใช้เรียกผู้ชายที่ดูมีฐานะ คนไทยใช้คำว่าเสี่ย จนชินถึงขั้นที่หลายคนคิดว่าคำนี้น่าจะเป็นคำไทย แต่ที่จริงแล้วคำนี้มีที่มาจากภาษาจีนแต้จิ๋วและมีรากฐานมาจากภาษาจีนกลาง

“เสี่ย” เป็นคำแต้จิ๋วที่มารากฐานมาจากคำว่า “เส้อ” ของภาษาจีนกลาง โดยคำนี้ปรากฏการใช้มาตั้งแต่ยุครัฐศึกหรือ “จ้านกว๋อ” (475-221 ปีก่อน ค.ศ.) ซึ่งเป็นยุคสมัยที่จีนยังแตกแยกโดยมีรัฐใหญ่ ๆ ไม่กี่รัฐทำศึกกันเพื่อแย่งชิงอำนาจ 

คำว่า “เส้อ” ในสมัยนั้นมักใช้เรียกแทนบรรดาผู้ที่เป็นขุนนาง โดยเรียกว่า “เส้อเหญิน” หรือ “เส้อเหริน” (舍人) หมายถึง ผู้มีฐานะและยศศักดิ์ 

“เส้อเหญิน” ถูกใช้เรียกแทนบรรดาผู้มีศักดิ์และฐานะมาเป็นเวลานาน จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างในบางสมัยก็ตรงที่ว่าบางราชวงศ์จะใช้เรียกแทนขุนนางที่มีตำแหน่งเฉพาะในบางตำแหน่งเท่านั้น ซึ่งการเรียกแบบนี้ทำให้จีนในบางช่วงมีการใช้คำดังกล่าวแตกต่างกันไป

กระทั่ง “ราชวงศ์ซ่ง” (ค.ศ. 960-1279) และราชวงศ์หยวน ได้นำมาใช้เรียกแทนบรรดาบุตรหลานของเหล่าขุนนางและผู้ดีทั้งหลาย คล้ายกับคำว่า “กงจื่อ” (公子) ในภาษาจีนกลาง หรือ กงจื๊อ ในภาษาจีนแต้จิ๋วที่แปลว่า “คุณชาย” นั่นเอง

เมื่อคำว่า “เส้อเหญิน” เริ่มแพร่กระจายในวงกว้าง ผู้คนมากมายจึงหยิบยกไปใช้เรียกแทนคนที่มีฐานะและชาติตระกูลที่ดีและสูง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นขุนนางเหมือนแต่ก่อน โดยเฉพาะช่วงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จีนอ่อนแอหรือปลายราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644-1911) คำเหล่านี้ก็กลายมาใช้เรียกแทนบุตรหลานชายของเศรษฐีที่ร่ำรวยจากการค้าขาย

ประเพณีนี้ได้รับความนิยมในประเทศจีน กระทั่งชาวจีนบางส่วนได้อพยพมาไทยก็ยังปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้คำว่า “เส้อเหญิน” ซึ่งต่อมาแปรเปลี่ยนเป็นคำว่า “อาเส้อ” (ภาษาจีนกลาง) หรือ “อาเสี่ย” (ภาษาแต้จิ๋ว) เป็นที่นิยมในไทยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วรศักดิ์ มหัทธโนบล. “คำจีนสยาม : เสี่ย.” มติชนสุดสัปดาห์ 26, ฉ. 1,327 (มกราคม
2549): 39.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กรกฎาคม 2566