“เซียงกง/เชียงกง-แหล่งขายของเก่า” คำจีนที่ไทยยืมใช้จนความหมายไกลจากเค้าเดิม?

เซียงกง
(ภาพจาก https://ciengkongnakornsawan.yellowpages.co.th)

“เซียงกง” หรือที่บางคนเรียกว่า “เชียงกง” ที่วันนี้ถ้าพูดถึงคำว่าเซียงกงก็เป็นที่เข้าใจตรงกันว่าเป็นย่านขายของเก่า โดยเฉพาะอะไหล่รถยนต์ประเภทต่างๆ ดังนั้นในปัจจุบันจึงเห็น ตลาดเซียงกง, ศูนย์เซียงกง ฯลฯ หลายแห่งกระจายไปทั่วทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ถ้าบริเวณนั้นทำการค้าเกี่ยวกับอะไหล่รถยนต์ก็มักจะใช้ชื่อ “เซียงกง” กำกับไว้เสมอ

แต่จริงๆ แล้วคำว่าเซียงกง หรือ เชียงกง ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับอาชีพขายของเก่าแต่อย่างใดเลย

รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล เคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ใน “คำจีนสยาม ภาพสะท้อนปฏิสัมพันธ์ไทย-จีน” (สนพ.อัมรินทร์ พ.ศ. 2555) สรุปความได้ดังนี้

คำว่าเซียงกงเป็นคำจีนแต้จิ๋ว จีนกลางออกว่าเซียนกง (xiangong) คำว่า เซียง แปลว่า เทวดา ซึ่งก็คือเซียนที่คนไทยรู้จักกันดี และเป็นคำเดียวกับที่ออกเสียงจีนกลางดังที่ว่าไป ส่วนคำว่า กง เป็นคำเดียวกับคำว่า ก๋ง ที่ใช้เรียกชายจีนสูงอายุ ซึ่งบางกรณีก็หมายถึง เทพ ดังนั้น ถ้าว่าตามความหมายของตัวอักษรแล้ว คำว่าเซียงกงก็อาจจะหมายถึง เทพอาวุโส

ประเด็นคำถามจึงมีต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วเหตุใดคําว่า เซียงกง ที่หมายถึงเทพอาวุโสนี้จึงกลายเป็น การค้าของเก่าไปได้

คําตอบก็คือ ในระยะแรกเริ่มที่เกิดอาชีพนี้ขึ้น ว่ากันว่าเริ่มทำกันตรงบริเวณที่ตั้งของศาลเจ้าเซียงกง ศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งอยู่หลังโรงหนังโอเดียน ซึ่งปัจจุบันถูกรื้อทิ้งไปแล้ว แต่ยังคงรักษาชื่อเดิมเอาในชื่อวงเวียนที่อยู่หน้าอดีตโรงหนัง เรียกว่า “วงเวียนโอเดียน” และได้มีการปรับภูมิทัศน์ให้เป็นซุ้มประตูจีนที่สวยงาม โดยในชั้นหลังมานี้มักจะใช้เป็นที่ทำพิธีมงคลในเทศกาลสำคัญของชาวจีนในละแวกนั้น

ด้วยเหตุที่มีที่ตั้งในบริเวณดังกล่าว เพราะฉะนั้น เวลาที่ใครจะไปซื้อของเก่าก็จะพูดอย่างสั้นๆ ว่า “ไปเซียงกง” ไม่มีคำว่า “ศาลเจ้า” เข้ามากำกับ โดยละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าคือศาลเจ้าแห่งนี้ พอเวลาผ่านไปนานเข้า ใครจะซื้อจะขายของเก่าก็ใช้คำสั้นๆ ว่า “ขายเซียงกง” หรือ “ซื้อเชียงกง” ไปในที่สุด

กล่าวกันว่าเซียงกงหรือของเก่าที่ซื้อขายกันในระยะแรกๆ นั้น มักเป็นพวกอะไหล่รถแทบทุกชนิด มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ แต่พอเวลาผ่านไป นิยามของคำว่า ของเก่า ก็ขยายเป็นของเก่าประเภทอื่น ๆ ตั้งแต่เศษกระดาษ เศษขวด เศษเหล็ก เศษพลาสติก ฯลฯ และจากอาชีพที่มีพื้นฐานของการลงทุนไม่สูง ไม่ว่าจะเป็นทุนทางความรู้หรือทุนที่เป็นตัวเงินก็ตาม จนชาวจีนจึงมักนำเอาเอกลักษณ์นี้มาขู่ลูกหลานของตนอยู่บ่อยๆ ว่า ถ้าไม่ขยันเรียนหนังสือให้เก่งๆ โตขึ้นจะให้ไปขายเชียงกงอยู่เสมอ

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า เซียงกงมีความหมายอยู่ 2 นัย หนึ่งคือชื่อของศาลเจ้าจีน แห่งหนึ่ง อีกนัยหนึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกอาชีพค้าขายของเก่าและแหล่งค้าขายของเก่า จะเห็นได้ว่า นัยแรกมีคนรู้จักน้อยกว่านัยหลัง ทั้งที่เป็นนัยที่แท้จริงและถูกต้องกว่า แต่ถ้าใครนำความหมายตามนัยแรกไปยืนยันถึงความหมายที่ถูกต้องของคำหรือยึดเป็นเกณฑ์ตายตัวว่าจะต้องเป็น (คือ) ศาลเจ้า แห่งหนึ่งเท่านั้น ก็คงจะยอมรับได้ยากจากสังคมโดยรวมในปัจจุบัน

การที่ความหมายตามนัยหลังเป็นที่รู้จักและยอมรับมากกว่าดังกล่าว ในด้านหนึ่งจึงเท่ากับว่า คำว่า “เซียงกง” ซึ่งเป็นคำจีนแท้ๆ ได้ถูกทำให้กลายเป็นคำไทย เพราะหน้าที่ในความหมายเดิมถูกเปลี่ยนไป และความหมายใหม่ที่มาทีหลังนี้ก็ตั้งอยู่ในมิติที่รับใช้บริบททางเศรษฐกิจของสังคมไทยอย่างแท้จริง ถึงแม้ในทางปฏิบัติ การรับใช้ที่ว่านี้จะต้องกระทำผ่านชาวจีนโพ้นทะเลหรือคนไทยเชื้อสายจีนก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 ธันวาคม 2562