“เฉ่ง” คำจีนที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากการ “ด่า” แต่มาจากการเก็บภาษีช่วงต้นรัตนโกสินทร์

ภาพ ชาวบ้าน จิตรกรรม วัดเขียน จังหวัดอ่างทอง
ภาพประกอบเนื้อหา ภาพชาวบ้านสามัญชนขณะเดินทางค้าขายหรือค้าเร่ มีโจรผู้ร้ายฉุดคร่าชิงทรัพย์และข่มขืนด้วย, จิตรกรรม วัดเขียน จังหวัดอ่างทอง (จากหนังสือ มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex)

“เฉ่ง” ตามที่พจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายไว้นั้น เป็นคำกริยา มีความหมายว่า ชำระเงินที่ติดค้างกันอยู่และด่า ว่า หรือทำร้ายร่างกาย แต่ถ้าหากว่าเราขุดต้นตอของคำคำนี้ จะเห็นได้ว่าเฉ่งไม่ได้มีไว้เพื่อด่า ทั้งยังมีที่มาจากคำว่าบริสุทธิ์ 

เฉ่งเป็นคำจีนแต้จิ๋ว ออกเสียงว่า “เช็ง” ส่วนภาษาจีนกลางนั้นออกเสียงว่า “ชิง” (清) ซึ่งเป็นอักษรเดียวกับราชวงศ์ชิงของจีนที่เรารู้จักกัน โดยความหมายของคำว่าชิงนั้นแปลว่า “สะอาด บริสุทธิ์ ไร้สิ่งเจือปน” ถ้านำไปรวมกับคำอื่น ๆ ก็แปลได้ว่า ท้องฟ้าปลอดโปร่ง น้ำใส แจ่มแจ้ง เป็นต้น

แล้วทำไมในไทยจึงแปรเปลี่ยนมาหมายถึง “ชำระเงินที่ติดค้างกันอยู่” และ “ด่า ว่า ทำร้ายร่างกาย” ล่ะ?

เรื่องนี้ต้องย้อนไปในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อรัฐสยามเปิดโอกาสให้คนจีนเข้ามาดูแลเรื่องภาษีอากรบ่อนเบี้ย โดยให้เหตุผลว่าหากคนจีนเข้ามาดูแลภาษีอากรส่วนนี้ จะทำให้สยามได้เงินภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น เนื่องจากคนจีนเป็นชาวต่างชาติ ไม่จำเป็นต้องเห็นอกเห็นใจใคร 

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนจีนจึงทำหน้าที่ไล่ตระเวนเก็บภาษีอากรซึ่งจะใช้วิธีเก็บแตกต่างกันไป หากเป็นชาวบ้านก็จะส่งคนไปเก็บ ถ้าเป็นโรงบ่อนก็จะเก็บกันตรงนั้น และใครที่ชำระภาษีครบจำนวน คนจีนก็จะเรียกว่าเฉ่ง กล่าวคือไม่มีหนี้สินอะไรติดค้างกันอีก ทุกอย่างชำระสะสางกันเป็นที่เรียบร้อย 

ทว่าต่อมา คนจีนก็เริ่มใช้คำว่าเฉ่งในทิศทางตรงกันข้าม เมื่อพบลูกหนี้ที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ครบตามกำหนด ผู้เก็บภาษีก็ต้องมาเฉ่งลูกหนี้เช่นกัน แต่เฉ่งในที่นี้คือมาจัดการลูกหนี้ให้เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นด่าทอ ทำร้ายร่างกาย จนทำให้เฉ่งกลายมามีความหมายอย่างที่เรารู้จักกันนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง : 

วรศักดิ์ มหัทธโนบล. “คำจีนสยาม : เฉ่ง.” มติชนสุดสัปดาห์ 26, ฉ. 1,331 (กุมภาพันธ์ 2549): 39.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566