“ลูกทรพี” และ “วัดรอยเท้า” คำด่าตรงตัวแบบไม่ต้องแปล แต่สองคำนี้มีที่มาจากไหน

ลูกทรพี
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ควาย ทรพี-ทรพา ที่วัดพระแก้ว (ภาพถ่ายโดย ณัฐภิเชษฐ์ ฝึกฝน)

“ลูกทรพี” คำที่แทบจะไม่ต้องแปล คนส่วนใหญ่ก็รู้และเข้าใจความหมายได้อย่างชัดเจน ใครได้รับเกียรติเรียกขานด้วยคำนี้ คงต้องมีวีรกรรมในทางไม่ดีที่สาหัสยิ่ง 

แต่ทำไม่จึงใช้คำว่า “ทรพี” 

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายความหมายของ “ทรพี” ไว้ 2 ความหมาย 1. เครื่องตักข้าวและแกงมีรูปร่างคล้ายช้อน แต่ใหญ่กว่า ทำด้วยทองเหลืองเป็นต้น, ทัพพี หรือ สารพี ก็เรียก 2. ลูกอกตัญญูที่ทำร้ายพ่อแม่ของตน

แล้ว “ลูกทรพี” เป็น “ลูก” ของใคร

ทรพี เป็นชื่อของตัวละครในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ทรพีเป็นควายเพศผู้ และเป็นลูกของ ทรพา-ควายเผือก ที่มีอดีตชาติเป็น นนทกาล-ยักษ์ เฝ้าประตูกำแพงในอุทยานของพระอิศวร ซึ่งมีใจรักนางฟ้าองค์หนึ่ง วันหนึ่งสบโอกาสจึงปาดอกไม้ให้นางฟ้าองค์นั้นนัยว่าเพื่อบอกรัก

แต่ว่านางฟ้าไม่เล่นด้วย นำเรื่องไปฟ้องพระอิศวร นนทกาลถูกลงโทษ ให้มาเกิดเป็นควายในโลกมนุษย์ชื่อ “ทรพา” พร้อมคำสาปที่ว่าให้ตายด้วยการถูกควายลูกชายขวิดตาย ดังนั้นเมื่อควายตัวเมียในฝูงออกลูก หากเป็นเพศผู้ทรพาก็จะฆ่าทิ้งทุกตัว

แต่มีควายเพศเมียตัวหนึ่งแอบไปออกลูกในถ้ำ ลูกควายเกิดใหม่เป็นเพศผู้ชื่อว่า “ทรพี” แม่ควายเล่าเรื่องทรพาฆ่าลูกให้ฟัง และกำชับทรพีไม่ให้ออกไปจากถ้ำ แม่ควายก็หาอาหารมาเลี้ยงจนลูกควายโต เมื่อทรพาออกไปหากิน ทรพีก็ออกไปนอกถ้ำทุกครั้ง มันพยายามเทียบรอยฝ่าเท้าทรพาที่อยู่บนพื้นดิน ว่ามีขนาดใหญ่กว่ามันเท่าใด นี่จึงเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า “วัดรอยเท้า”

วันหนึ่งรอยเท้ามันก็มีขนาดใกล้เคียงของทรพา การต่อสู้ระหว่างควายพ่อ-ลูกคู่นี้ก็เกิดขึ้น ทรพีควายหนุ่มขวิดทรพาที่เป็นพ่อที่เริ่มชราจนตาย เมื่อชนะทรพาผู้เป็นพ่อได้แล้ว ก็ขึ้นเป็นจ่าฝูงแทน

คำว่า “ลูกทรพี” ที่ใช้ตำหนิบรรดาลูกอกตัญญูที่ฆ่าหรือทำร้ายพ่อแม่ของตน ก็มีที่มาเช่นนี้ แต่ถ้ายังไม่สาแก่ใจ ก็เติมอีกสักคำเป็น “ไอ้/อีลูกทรพี” ก็แล้วแต่

คลิกอ่านเพิ่ม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก

ศ. ดร. ผาสุข อินทราวุธ. “ตำนานเมืองลพบุรี (ละโว้) ใน, ดำรงวิชาการ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (2545).

บทวิทยุลูกทรพี ใน, รายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”, สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ออกอากาศเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 เมษายน 2567