“บวชควาย” ในงานบุญบั้งไฟ เห็นร่องรอยการใช้ไถเมื่อ 2,500 ปี

บวชควาย บุญบั้งไฟอีสาน
๑ ควายฮาดต้องคึกคะนองสุดๆ หลุดเชือกของเจ้าของ เพราะเป็นควายถึกที่ตอนไม่ลงจนเป็น “ฮาด” จึงมักแข็งแรงกว่าความถึกธรรมดา

ปกติงาน บุญบั้งไฟอีสาน ทั้งในหมู่บ้านชานเมืองและชนบทห่างไกล คนมักจะให้ความสนใจกับขบวนแห่-ฟ้อน-เซิ้งบั้งไฟในวันแรกของงานที่เรียกว่า วันโฮม หรือพิธี “บวชควาย” และการจุดบั้งไฟหลายขนาดอันน่าตื่นเต้นในวันรุ่งขึ้นที่เรียกว่า วันจูด (วันจุด)

แต่การจัดงาน บุญบั้งไฟอีสาน ที่บ้านแมด กิ่งอำเภอเชียงขวัญ (ปัจจุบันเป็นอำเภอ-กอง บก.) จังหวัดร้อยเอ็ด จะมีการจัดพิธีกรรมที่แตกต่าง แปลกตา น่าตื่นใจมากกว่าที่อื่นๆ หลายแห่ง คือ

๒ ควายฮาดหรือควายจ่ารุ่นเล็กที่เล่นสนุกร่วมในงานบุญบั้งไฟ จัดว่าเป็นกระบวนการสืบทอดผลิตซ้ำของสังคม
๓ ขบวนควายฮาดหรือควายจ่าอีกกลุ่มหนึ่งของบ้านหมูม้น กิ่งอำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด

เมื่อถึง วันโฮม หรือ วันแห่ ทางหมู่บ้านจะมีการจัดให้มีพิธีกรรม บวชควาย ที่เรียกคนที่บวชเป็นควายว่า ควายจ่า หรือ ควายฮาด ซึ่งจะทำพิธีบวชในตอนเช้า โดยคนที่จะบวชเป็นควายจะทาใบหน้าและร่างกายเปลือยท่อนบนด้วยดินหม้อจนดำไปทั้งตัว รอบขอบตาทาด้วยสีแดงเห็นชัดเจน สวมหัวมีเขาที่ทำขึ้นเองโดยสมมติเป็นเขาควาย สะพายเฉียงไหล่ด้วย “พรวนทาม” ที่เป็นเครื่องสัญญาณเสียงคล้องคอควาย

ที่เอวของคนที่บวชควายมีท่อน “อวัยวะเพศชาย” ทำด้วยไม้เนื้ออ่อนขนาดยาว-ใหญ่ ทาสีแดงที่ปลาย ผูกติดเอวอยู่ด้วยเชือก และมีสายเชือกผูกโยงไปข้างหลัง มีชายอีกคนหนึ่งที่สมมติเป็นเจ้าของควายจับปลายเชือกบังคับควาย เดินออกหน้าขบวนแห่ที่มีกลุ่มคนแต่งกายแปลกๆ ร่วมกันฟ้อนเซิ้งอย่างสนุกสนาน ประกอบดนตรีพื้นบ้านบรรเลงไปทั่วหมู่บ้าน

เจ้าของควายที่ว่าบังคับควายนี้ จริงๆ แล้วจะจับเชือกดึงบังคับท่อนอวัยวะเพศไม้ที่ผูกเอวควายจ่าหรือควายฮาด ให้ขยับกระดกขึ้นลงไปตามจังหวะดนตรีและตามต้องการสนุก

การบวชควายในวันแห่บั้งไฟนี้ต้องไปบวชกับ “ผีปู่ตา” ที่ดอนปู่ตา ซึ่งชาวอีสานเชื่อกันว่าเป็นผีประจำหมู่บ้าน ที่ชาวบ้านอีสานเชื่อกันว่าจะคอยปกป้องคุ้มครองคน-สัตว์เลี้ยงในหมู่บ้าน และช่วยเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของฟ้าฝนในปีนั้นๆ

คนที่บวชเป็นควายจ่าหรือควายฮาดในงานบุญบั้งไฟนี้ จะมีการสืบทอดกันต่อๆ มาตามสายเลือด หรือไม่ก็จะเลือกคนที่อยู่ในกลุ่มเครือญาติเดียวกันเป็นหลัก

ปกติแล้วจะมีการเล่นกันเป็นกลุ่มหลายขบวนอย่างสนุกสนานทุกวัน และต่อเนื่องกันหลายวันก่อนถึงวันงาน รวมทั้งกลุ่มของคนที่จะบวชเป็นควายด้วย แต่เมื่อเข้าพิธีบวชเป็นควายจ่าหรือควายฮาดกับเจ้าปู่แล้ว ก็จะ “เล่นจริง” ในพิธีกรรมทั้ง 2 วัน ด้วยลีลาท่าฟ้อนเลียนแบบกิริยาท่าทางของควายจริง ทั้งลีลาการเดิน วิ่ง เป็นสัด และลีลาการม้วนตัวลงปลักตมตามนิสัยควาย จนสุดความสามารถที่จะแสดงได้ ซึ่งยาก-หนัก และเหนื่อยมาก ฉะนั้นคนที่เข้าพิธีบวชเป็นควาย นอกจากจะเป็นคนที่มีลีลาการแสดงที่สวยงามถูกใจชาวบ้านแล้ว จะต้องเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรงด้วย

เห็นแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า นี่คือพิธีกรรมที่น่าจะสะท้อนให้เห็นร่องรอยที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวัฒนธรรมการปลูกข้าวด้วยการใช้ควายไถนา ที่เรียกกันทั่วไปในปัจจุบันว่าทำนาข้าว ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของการปลูกข้าวในลักษณะการทำข้าวไร่ของผู้คนบนที่สูง ที่ใช้ไม้สักแทงดินแล้วหยอดเมล็ดข้าว ที่เรียกกันว่า “ข้าวหยอด” หรือ “ข้าวไร่”

ทั้งนี้เพราะมีร่องรอยหลักฐานหลายอย่างชวนให้คิดเช่นนั้น

จากการค้นพบหลักฐาน “เมล็ดข้าว” ในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี กำหนดอายุได้ประมาณ 3,500 ปีมาแล้ว แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีหลักฐานที่พอจะบอกให้รู้ถึงวิธีปลูกข้าวของคนในวัฒนธรรมบ้านเชียงได้

ถ้าย้อนพิจารณาจากสภาพสังคมของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานทั้งในที่สูงและที่ราบลุ่มแล้ว จะพบว่าคนที่อยู่ในที่สูงจะทำ “ไร่ข้าว” คือการนำเอาเมล็ดข้าวป่ามาปลูก ซึ่งมีมาช้านานแล้ว ส่วนคนพื้นที่ราบลุ่มจะทำนาข้าว” ด้วยวิธีการใช้แรงควายลากไถ

ฉะนั้นควายและไถจึงเป็นหลักฐานสำคัญของการทำนาข้าวของคนในที่ราบลุ่ม

แต่คนในอุษาคเนย์ที่มีวัฒนธรรมกินข้าว เริ่มทำนาข้าวมาตั้งแต่เมื่อไร?

เรื่องนี้คงต้องดูกันที่ร่องรอยของการใช้แรงงานควาย และคงต้องทำความเข้าใจเรื่อง “ไถ” ที่คนใช้ควายลากไถดินด้วย

เริ่มกันที่ร่องรอยของการใช้ควายไถนา พบมีปรากฏในตำนาน “พงศาวดารล้านช้าง” ที่กล่าวถึงพญาแถนส่งขุนใหญ่ทั้ง ๓ คือ ปู่ลางเชิง ขุนเด็ก และขุนคานลงมา “อยู่สร้างบ้านเมืองลุ่มกินปลา เฮ็ดนาเมืองลุ่มกินข้าว” และ “…ได้กินซี้นก็ให้ส่งขา ได้กินปลาก็ให้ส่งรอยแก่แถน…” นอกจากนี้พญาแถนก็ยัง “…ให้ควายเขาลู่แก่เขา จึงเอากันลงมาตั้งอยู่ที่นาน้อยอ้อยหนูก่อนหั้นแล…” ครั้นเมื่อพญาแถนหลวงให้ท้าวผู้มีบุญชื่อขุนบูลมมหาราชาธิราช ลงมาเมืองลุ่มลีดเลียง เมืองเพียงคักค้อย ที่นาน้อยอ้อยหนูแล้ว “ฝูงไพร่ก็อยู่ไถนาตกก้า ข้าก็อยู่พางฟันไร่เฮ็ดนากินแล…”

ร่องรอยจากพงศาวดารเหมือนจะบอกว่าผู้คนตระกูลไทยที่อยู่นาน้อยอ้อยหนู คือบริเวณที่ราบลุ่มขนาดเล็กในหุบเขาเขตเดียนเบียนฟูในเวียดนามเหนือ ใช้ควายไถนากันมานานแล้ว ซึ่งอาจสามารถทำได้ทั้งนาดำ และ นาหว่าน ก็ได้ แต่ตรงนี้ก็ยังไม่รู้ได้ว่ามีการใช้ควายไถนากันมาแต่เมื่อไร?

ส่วนไถที่ต้องใช้แรงควายลากนั้น เมื่อพิจารณาส่วนประกอบทุกส่วนของไถแล้ว พบว่าทำด้วยไม้จริงทั้งหมด ยกเว้นตรงส่วนปลายล่างสุดที่ใช้ไถดินขึ้นเท่านั้น ที่ต้องใช้เหล็กสวมเข้ากับส่วนที่เรียกว่า “ผาล” หรือ “สบไถ”

แต่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่พบเมล็ดข้าวนั้นเป็นยุคสำริด (โลหะผสมจากทองแดงกับดีบุก) ที่ใช้ทำเครื่องประดับและเครื่องมือ อาวุธต่างๆ มากมาย แต่ไม่พบหลักฐานผาลไถหรือสบไถที่ทำด้วยสำริด

หรือว่าผู้คนในวัฒนธรรมบ้านเชียงจะยังทำไร่ข้าวด้วยวิธีหยอด เหมือนผู้คนในที่สูงในยุคแรกๆ ตามที่ตำนานพงศาวดารล้านช้าง ว่า “ฟันไร่เฮ็ดนากิน” โดยใช้เครื่องมือสำริดแทงหรือขุดดิน? ซึ่งพอกล่าวได้ว่าเป็นพัฒนาการของการทำนาที่ดีกว่าการใช้ไม้สักแทงดิน เพราะโลหะสำริดน่าจะมีประสิทธิภาพดีกว่าไม้

๘ การทำพิธีบวช-สึกควายฮาดหรือควายจ่าในบริเวณที่ตั้งศาลปู่ตา
๙ บางช่วงเวลาที่เล่นกันในขบวนมากๆ เหนื่อยมากนักก็พักผ่อนบ้างก็ได้ เพราะต้องเล่นทั้งสองวันติดต่อกัน
๑๐ นี่ก็ควายฮาดหรือควายจ่าอีกตัวหนึ่งในคณะเล่นที่บ้านหมูม้น กิ่งอำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด
๑๑ บริเวณศาลปู่ตา (ศาลพระภูมิเจ้าปู่พระยาหลวงเถ้าเจ้าโฮงแดง) บ้านแมด กิ่งอำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ใช้เป็นสถานที่บวชควายและสึกควายในงานบุญบั้งไฟ

ที่ผ่านมาแม้จะยังไม่พบหลักฐานผาลไถหรือสบไถที่ทำด้วยเหล็กในที่ใดๆ ก็ตาม แต่จากการสำรวจศึกษาโบราณคดีในภาคอีสานของ รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้พบร่องรอยหลักฐานการถลุงเหล็กกระจายอยู่ทั่วไปในเขตที่ราบลุ่มทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งมีการกำหนดอายุไว้ประมาณ 2,500 ปี และท่านยังได้เสนออีกว่า การค้นพบเหล็กนี้เป็นการค้นพบเทคโนโลยีขั้นสูงของผู้คนในยุคสมัยนั้น และเหล็กเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ชุมชนในทุ่งกุลาสามารถขยายตัวจากชุมชนหมู่บ้าน จนพัฒนาขึ้นเป็น “เมือง” ที่มีการจัดระเบียบสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้นในหลายๆ ด้าน

วัฒนธรรมการใช้ไถทำนาข้าว ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของผู้คนในยุคเหล็กด้วย เพราะคนน่าจะต้องใช้เหล็กทำผาลไถกันในช่วงเวลาประมาณ 2,500 ปี นับตั้งแต่มีการถลุงเหล็กได้

และก็น่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมการปลูกข้าวครั้งยิ่งใหญ่ของคนในยุคนั้น คือการเปลี่ยนแปลงจากวิธีการใช้ไม้หรือสำริดแทงดิน แล้วหยอดเมล็ดข้าว มาเป็นการใช้ควายไถนา จนกระทั่งมีผลให้มีการพัฒนาขยายชุมชนขึ้นเป็นเมืองได้เป็นแห่งแรก

จะเห็นได้ว่าร่องรอยในตำนานพงศาวดารล้านช้างที่ว่า พญาแถนให้ “อยู่สร้างบ้านเมืองลุ่มกินปลา เฮ็ดนาเมืองลุ่มกินข้าว” โดยการส่ง “ควายเขาลู่” เพื่อใช้ “ไถนาตกก้า” นั้น น่าจะเป็นเงื่อนเค้ารากเหง้าเดิมที่ยังเหลือให้เห็นอยู่ใน “พิธีกรรมบวชควาย” ในบุญบั้งไฟ โดยผ่านความเชื่อผีปู่ตาผู้คุ้มครองหมู่บ้าน และเสี่ยงทายฟ้าฝนในการทำนา รวมทั้งหลายแห่งในปัจจุบันก็ยังพบว่ามีการฆ่าควายเพื่อใช้เลี้ยงผีปู่ตาอีกด้วย

ทั้งความเชื่อเรื่องพญาแถนผู้สร้างบ้านแปลงเมือง และพิธีกรรมบวชควาย จึงดูคล้ายจะเป็นร่องรอยเชิง “สัญลักษณ์” ของการปฏิวัติวัฒนธรรมการทำนาครั้งสำคัญที่สัมพันธ์สอดคล้องกับหลักฐานโบราณคดียุคเหล็กเมื่อ 2,500 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 เมษายน 2560