กระรอกด่อน ตำนานและความเชื่อของภาคอีสาน

กระรอก สีขาว กระรอกด่อน
กระรอกสีขาว (ภาพจาก pixabay.com)

“กระรอกด่อน” คือกระรอกสีขาวเผือก ดวงตาสีแดง คำว่า “ด่อน” หมายถึง ขาวหรือเผือก, ขาวแดง (หอสมุดแห่งชาติ. 2554 : 144) แต่มีสีที่แตกต่างออกไปผิดจากสีขาวธรรมดา ดังนั้นด่อนกับขาวจึงไม่เหมือนกัน ด่อนจึงอาจเป็นสีขาวแบบประหลาด ที่ไม่มีอยู่หรือสามารถเห็นอย่างคุ้นเคยตามปกติ

ตามความเชื่อแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีตำนานนิทานที่บอกเล่าสืบทอดต่อกันมาเกี่ยวกับกระรอกด่อน โดยมีที่มาของเรื่องจากตำนาน “ผาแดง-นางไอ่” เริ่มแรกกล่าวถึงเมืองเอกชะธีตา (บางตำนานเรียก เอกธีตา) มีพระยาขอมเป็นกษัตริย์ และมีบุตรธิดารูปโฉมงดงามชื่อ นางไอ่คำ ความงามของนางเลื่องลือไปถึงท้าวผาแดงแห่งเมืองผาโพง ท้าวผาแดงจึงขี่ม้าจอบมาหานางและได้พูดคุยกันจนเกิดเป็นความรัก จึงให้สัญญากันว่าจะมาสู่ขอตามประเพณี

จนถึงกลางเดือนหก พระยาขอมจัดงานบุญบั้งไฟขอฝนจากพญาแถน มีการบอกบุญไปยังเมืองต่างๆ ให้เข้าร่วม ท้าวผาแดงก็ได้นำบั้งไฟจำนวนนับหมื่นไปร่วมจุดด้วยแม้ไม่ได้รับใบบอกบุญ ท่ามกลางงานบุญบั้งไฟที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่นั้น ท้าวภังคี พญานาคผู้เป็นลูกชายของสุทโธนาคแห่งเมืองศรีสัตตนาคนหุต ได้แปลงกายมาร่วมงานและหลงรักในความงามของนางไอ่คำเช่นกัน จึงกลับลงบาดาลไปด้วยความรักและความปรารถนา

ครั้นกลับมาเมืองเอกชะธีตาอีกครั้ง ท้าวภังคีได้แปลงกายเป็นกระรอกด่อนแขวนกระดิ่งไว้ที่คอ และปีนป่ายกระโดดไปมาใกล้ๆ ปราสาทของนางไอ่คำ เมื่อนางเห็นกระรอกด่อนก็เกิดอยากได้ จึงสั่งให้นายพรานมาจับ นายพรานได้ยิงกระรอกด่อนด้วยหน้าไม้ ซึ่งก่อนจะสิ้นใจท้าวภังคีได้อธิษฐานว่า “ขอให้ร่างกายของข้านี้ ได้เป็นอาหารให้คนกินได้ทั้งเมือง แจกจ่ายอย่างไรก็ไม่มีวันหมด”

เมื่อกระรอกด่อนตาย ชาวเมืองจึงนำเนื้อมาประกอบอาหารแจกจ่ายกันอย่างทั่วถึง ยกเว้นแต่พวกแม่หม้ายที่ถูกรังเกียจจึงไม่ได้รับจากเนื้อกระรอกให้รับประทาน เป็นขณะเดียวกับที่ท้าวผาแดงได้มาที่เมืองเอกชะธีตา เมื่อทราบว่าอาหารที่นำมาต้อนรับทำจากเนื้อกระรอกด่อนก็เกิดความแคลงใจคิดว่ากระรอกด่อนนี้ไม่น่าจะเป็นกระรอกธรรมดา ถ้าเสวยเข้าไปอาจเป็นภัยต่อบ้านเมืองได้

ท้าวผาแดง นางไอ่ และพญานาคท้าวสุทโธนาค (ภาพจาก http://dewimagine555.blogspot.com/2016/07/blog-post_12.html)

เมื่อท้าวสุทโธนาคทราบเรื่องที่ลูกชายถูกสังหาร จึงยกกองทัพนาคจากบาดาลขึ้นมาไล่ฆ่าทุกคนที่กินเนื้อกระรอกด่อน ท้าวผาแดงพานางไอ่คำขี่ม้าหนีพญานาคก็ไล่ตาม จนในที่สุดพญานาคก็ได้ตัวนางไอ่คำและปล่อยท้าวผาแดงกับพวกแม่หม้ายไปเพราะไม่ได้กินเนื้อกระรอกด่อน เมืองขอมทั้งเมืองได้จมลงสู่บาดาล กลายเป็นเมืองหนองหาน มาจนถึงปัจจุบันนี้ (หนองหาน เป็นชื่อหนองน้ำที่ปรากฎ 2 จังหวัด คือ อุดรธานีและสกลนคร)

มีข้อสันนิษฐานว่า กระรอกด่อนเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่มีสีขาวอย่างประหลาด อาจหมายถึงเกลือใต้ดิน เพราะผู้คนในแถบหนองหานอาศัยอยู่บนพื้นที่เกลือ ซึ่งเป็นความหายนะที่ฝังอยู่ใต้ดินที่พร้อมจะผุดขึ้นมาทำลายล้างผู้คนเช่นเดียวกับพญานาคจากเมืองบาดาล ถ้ากระรอกด่อนหมายถึงความขาวและความเค็ม ตำนานผาแดงก็เปรียบเสมือนอุทาหรณ์ที่บรรพบุรุษต้องเตือนคนรุ่นหลังให้ระวังถึงภัยธรรมชาติ สีขาวและความเค็มอาจหมายถึง “แร่โปรแตส” (Protasimn) ที่จะถูกขุดขึ้นมาใช้ในอุตสาหกรรมซึ่งชาวหนองหานไม่มีส่วนแบ่งในความมั่งคั่งมหาศาลนั้น

กระรอกสีขาวเผือก (ด่อน) (ภาพจาก http://aqua.c1ub.net/forum/lite.php?topic=64124.0)

หรืออีกนัยหนึ่ง อาจหมายถึงคนผิวขาวชาติตะวันตก ที่ดั้นเข้ามาในพื้นที่ เหมือนกับพญานาคและเหล่าเสนานาคที่ดั้นพื้นมาจากบาดาล คนผิวขาวได้นำวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเป็นกระแสหลักจนกลืนรากเหง้าของวัฒนธรรมพื้นถิ่นเก่าจางหายลงไป เมื่อภัยขาวกล้ำกลายเข้ามา ความหายนะและความวิบัติก็จะเกิดขึ้นเมื่อนั้น

นอกจากนี้ในแถบอีสานยังมีการจำลองเอากระรอกเผือกมาเป็นสิ่งบูชา โดยมีสรรพคุณความขลังต่างๆ ว่า ใครใช้จะเป็นผู้ยอดแห่งความสำเร็จ สมหวัง ไม่พลาดพลั้งหรือล้มเหลว ผู้ใดครอบครองจะเป็นมงคลยิ่งใหญ่อีกด้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อความศรัทธาของแต่ละบุคคล แต่ตำนานที่มีบันทึกไว้ในตำนานพื้นบ้านของภาคอีสานของ “กระรอกด่อน” ในเรื่องผาแดง-นางไอ่ก็ยังคงมีการเล่าสืบต่อๆ มาจนถึงทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วีณา วีสเพ็ญ … [และคนอื่นๆ] (กองบรรณาธิการ). 2555. ผาแดง – นางไอ่. มหาสารคาม : โครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กรกฎาคม 2560