ตำนาน “ตาม่องล่าย” ต้นกำเนิดเกาะดังแห่งอ่าวไทย มีที่ไหนบ้าง ?

ป้าย วนอุทยาน ตาม่องล่าย
วนอุทยานเขาตาม่องล่าย

ตำนานความเชื่อมักผูกพันกับวิถีชีวิต และหลายครั้งที่สะท้อนออกมาผ่านการตั้งชื่อสถานที่ เช่น “วนอุทยานเขาตาม่องล่าย” ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่หลายคนได้ยินแล้วอาจสงสัยว่าชื่อ ตาม่องล่าย หมายถึงอะไร?

เขาตาม่องล่าย มีที่มาจากตำนาน “ตาม่องล่าย” ตำนานพื้นถิ่นของชาวประจวบคีรีขันธ์และผู้ที่อาศัยในแถบอ่าวไทย เล่าสืบต่อกันมาว่า มีครอบครัวหนึ่ง สามีชื่อ “ตาม่องล่าย” ภรรยาชื่อ “นางรำพึง” มีลูกสาวผู้เลอโฉมนามว่า “นางยมโดย” มีหน้าตาสะสวยเป็นที่ต้องตาต้องใจบรรดาชายหนุ่มอย่างยิ่ง

ชื่อเสียงความงดงามของยมโดยล่วงรู้ไปถึงหูของ “เจ้าลาย” ลูกชายเจ้าเมืองในเขตเมืองเพชรบุรี กระทั่งปลอมตัวเป็นชาวประมงล่องเรือมาชมโฉมหญิงสาว เจ้าลายทำความรู้จักกับนางรำพึง ด้วยความสุภาพและขยันขันแข็ง ทำให้นางรำพึงยอมให้คบหากับนางยมโดย ขณะที่ตาม่องล่ายไม่พอใจ ด้วยคิดว่าเจ้าลายเป็นคนจน

ต่อมา “เจ้ากรุงจีน” ล่องเรือสำเภาจากเมืองจีนมาค้าขาย และถูกใจนางยมโดย จึงตีสนิทกับตาม่องล่าย แต่นางรำพึงไม่พอใจเป็นเหตุให้ทะเลาะกับตาม่องล่าย

เวลาต่อมา เจ้าลายให้ผู้ใหญ่มาสู่ขอนางยมโดยกับนางรำพึง นางรำพึงปิดบังไม่ให้ตาม่องล่ายรู้ ขณะที่ตาม่องล่ายก็ปิดบังเรื่องที่เจ้ากรุงจีนมาสู่ขอลูกสาวไม่ให้นางรำพึงรู้เช่นกัน

ทั้งเจ้าลายและเจ้ากรุงจีนต่างยกขบวนสู่ขอมาในวันเดียวกัน สองผัวเมียจึงทะเลาะกันอย่างรุนแรง หยิบข้าวของขว้างปาใส่กัน เมื่อขว้างไปตกที่ไหนก็เกิดเป็นเกาะในอ่าวไทยขึ้นมา เช่น หมวก กลายเป็น “เขาล้อมหมวก” บริเวณอ่าวเกาะหลัก (อ่าวประจวบฯ) งอบ กลายเป็น “แหลมงอบ” ในจังหวัดตราด กระบุง กลายเป็น “เกาะกระบุง” ในจังหวัดตราด ฯลฯ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความเสียใจให้นางรำพึงมากถึงขั้นตรอมใจตาย กลายเป็น “เขาแม่รำพึง” ในอำเภอบางสะพาน

ตาม่องล่ายเห็นว่านางยมโดยเป็นต้นเหตุของเรื่องทั้งหมด จึงจับลูกสาวฉีกออกเป็นสองซีก ซีกหนึ่งขว้างไปฝั่งบ้านของเจ้าลาย กลายเป็น “เกาะนมสาว” อำเภอสามร้อยยอด อีกซีกขว้างไปทางเมืองเจ้ากรุงจีน กลายเป็น “เกาะนมสาว” ในจังหวัดจันทบุรี

ด้านเจ้าลายเดินทางกลับบ้านไปตรอมใจตาย กลายเป็น “เขาเจ้าลาย” อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ส่วนตาม่องล่ายเกิดความเสียใจ จึงถือไหเหล้าไปนั่งดื่มอยู่บริเวณเขาริมทะเล เมามายจนตายจากไป กลายเป็น “เขาตาม่องล่าย” เป็นตำนานเล่าขานสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้

จะเห็นได้ว่าตำนานเรื่องนี้เป็นการอธิบายปรากฏการณ์ที่มาของสิ่งต่าง ๆ โดยพยายามผูกโยงเรื่องเล่าจากพื้นที่ในจินตนาการกับพื้นที่จริง เพื่ออธิบายที่มาประวัติของชุมชน อันเป็นลักษณะร่วมกันของตำนานพื้นบ้านต่าง ๆ ในโลก

เมื่อพิจารณาจากเนื้อเรื่อง เหตุการณ์ที่สิ่งของรวมถึงตัวละครในเรื่อง กลายเป็นชื่อเรียกกลุ่มเกาะต่าง ๆ แพร่กระจายออกไปทั่วอ่าวไทย ทั้งประจวบคีรีขันธ์ที่เป็นต้นเรื่อง ไปยัง เพชรบุรี จันทบุรี ตราด ฯลฯ แสดงให้เห็นถึงร่องรอยการขยายอาณาเขต หรือดินแดนที่มีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติมาแต่เดิม อาจมีการอพยพย้ายถิ่น และไปสร้างบ้านเมืองใหม่ในเวลาต่อมา เป็นเสมือนร่องรอยการบอกอาณาเขตของคนกลุ่มเดียวกัน มีบรรพบุรุษร่วมกัน แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ชุมชนบริเวณอ่าวไทยมีต่อกัน

นัยต่อมาคือ แสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลกภายนอกกับชุมชนรอบอ่าวไทย เพราะบ้านเมือรอบอ่าวไทยเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการค้าโลกมาแต่โบราณ ทำให้เกิดความหลากหลายของชาติพันธ์ุ เห็นได้จากเจ้ากรุงจีนที่ล่องเรือจากจีนมาค้าขาย

ส่วนเรื่องที่นางรำพึงสนับสนุนให้ลูกสาวแต่งงานกับเจ้าลาย ขณะที่ตาม่องล่ายให้ท้ายเจ้ากรุงจีน ท้ายสุดก็ทะเลาะกันขึ้น อาจมีนัยถึงความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับภายนอกที่ไม่ได้มีมิตรภาพอย่างเดียว แต่ก็มีความขัดแย้งด้วย

ประเด็นสุดท้าย การนำชื่อตัวละครในตำนานมาตั้งเป็นชื่อสถานที่ เมื่อเวลาผ่านย่อมสร้างความผูกพันให้คนในท้องถิ่น เกิดการผูกโยงตำนานเข้ากับความเชื่อเรื่องการบูชาผีบรรพบุรุษที่มีมานานในสังคมไทย กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพบูชานับถือ มีบทบาทเป็นที่พึ่งทางใจ และสร้างอัตลักษณ์ร่วมกันของคนในชุมชน ภายหลังจึงมีการสร้าง “ศาลตาม่องล่าย” เพื่อสักการะและขอโชคลาภ

“ตาม่องล่าย” จึงไม่ได้เป็นเพียงตำนานพื้นบ้าน แต่ยังสะท้อนวิถีชีวิต ความคิด และความเชื่อของผู้คนในพื้นที่นั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. 2565. การเดินทางของตำนานตาม่องล่ายจากอ่าวไทยสู่ท้องถิ่นต่าง ๆ: การศึกษาการแพร่กระจายและแตกเรื่องของตำนานตาม่องล่ายในสังคมไทย. วารสารภาษาและวรรณคดีไทย. ปีที่ 39 ฉบับที่ 2 

นิทานเรื่องตาม่องล่าย นิทานพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์. เข้าถึงเมื่อ 29 มีนาคม 2566 จาก https://nitanstory.com/tamonglai-prachuap-khiri-khan/

สมโภชน์ วาสุกรี. ตำนานโบราณพื้นบ้าน เรื่อง ตาม่องล่าย. ตราด: สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตราด, 2559.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มีนาคม 2566