พระธาตุศรีสองรัก คือใครรักกับใคร? ค้นต้นตอที่นำมาสู่ความศรัทธาและประเพณีพื้นถิ่น

พระธาตุศรีสองรัก
พระธาตุศรีสองรัก

พระธาตุศรีสองรัก คือใครรักกับใคร? ค้นต้นตอที่นำมาสู่ความศรัทธาและประเพณีพื้นถิ่น

…ขอจงเป็นเอกสีมาปริมณฑล เป็นอันเดียว กันเกลี้ยงกลมงามมณฑลเท่าพงศ์พันธุ์ลูกเต้าหลานเหลน อย่าได้ชิงช่วงล่วงด่านแดนแสนหญ้า อย่าได้ กระทําโลภเลี้ยวแก่กันจนเท่าเสี้ยงพระอาทิตย์ พระจันทร์เจ้าตกลงมาอยู่เหนือแผ่นดินอันนี้เทอญ… (บางตอนจากจารึกพระธาตุศรีสองรัก)

เมื่อประมาณ 400 ปีก่อน ณ บริเวณริมฝั่งน้ำหมัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตพื้นที่อําเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ได้เกิดเหตุการณ์สําคัญครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของสองอาณาจักรริมฝั่งโขง คือการประกาศราชไมตรีต่อกันระหว่างกรุงศรีอยุธยา และกรุงศรีสัตนาคนหุต โดยสร้าง พระธาตุศรีสองรัก เป็นองค์สักขีพยาน

พระธาตุศรีสองรักตั้งอยู่ริมฝั่งลําน้ำหมัน ห่างจากตัวอําเภอด่านซ้ายมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 3 กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2103-2106 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสําคัญของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ศิลปะล้านช้าง ตั้งอยู่บนฐานเขียงเตี้ย รองรับชั้นบัวคว่ำบัวหงายแบบย่อ มุมไม้สิบสอง โดยทําส่วนมุมให้ตวัดงอนขึ้น ถัดขึ้นไปเป็นองค์ธาตุทรงบัวเหลี่ยม ตกแต่งมุมด้านล่างทั้งสี่ด้านขององค์ธาตุด้วยกาบลายสามหยักและขมวดก้นหอย เหนือขึ้นไปเป็นส่วนยอดเรียวแหลมประดับด้วยฉัตรและเม็ดน้ำค้าง เมื่อมองโดยรวมคล้ายสามเหลี่ยมที่ส่วนฐานมั่นคง ปลายยอดสอบเรียว ดูเรียบง่ายและอ่อนช้อย

ด้านหน้าพระธาตุมีวิหารตั้งอยู่ เป็นอาคารปูนหลังใหม่ที่สร้างขึ้นแทนอาคารไม้หลังเดิมที่ทรุดโทรม

พระธาตุศรีสองรัก

ประวัติการสร้าง มีบันทึกในหลักศิลาจารึกกล่าวถึงการประกาศราชไมตรีและปักปันเขตแดนระหว่างกันของสองอาณาจักร เมื่อเทียบปีศักราชตรงกับรัชกาลของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา โดยสร้างพระธาตุศรีสองรักขึ้นเป็นสักขีพยานการประกาศสัตยาบันในครั้งนั้น

“เอาน้ำสัจจาในกระออมแก้วแห่งพระมหากษัตริย์เจ้าทั้งสองเจือกัน เป็นกระออมแก้วอันเดียวกัน แล้วจึงเอาน้ำในเมืองหงสาในกระออมทองแห่งมหากษัตริย์ทั้งสองเจือกัน เป็นกระออมทองอันเดียวกัน แล้วจึงเอาน้ำพัฒน์ตระพังจาในกระออมน้ำแห่งมหาอุปราช เจ้าทั้งสองเจือกัน เป็นกระออมน้ำอันเดียวกัน แล้วจึงเอาน้ำในกระออมแก้ว แล้วเอาน้ำในกระออมเงินแห่งมหาอํามาตย์ทั้งสองเจือกัน เป็นกระออมเงินอันเดียวกัน แล้วให้อ่านสัตยาว่าดังนี้ สมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้ากรุงศรีสัตตนาคสมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้าเอากรุงศรีอโยธิยา มหาดิลก…ขอจงเป็นเอกสีมาปริมณฑล เป็นอันเดียวกัน เกลี้ยงกลมงามมณฑลเท่าพงศ์พันธุ์ลูกเต้าหลานเหลน อย่าได้ชิงช่วงล่วงด่านแดนแสนหญ้า อย่าได้กระทําโลภเลี้ยวแก่กันจนเท่าเสี้ยงพระอาทิตย์พระจันทร์เจ้าตกลงมาอยู่เหนือแผ่นดินอันนี้เทอญ

ครั้นอ่านสัจจอธิษฐานทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว พระสงฆ์แลอํามาตย์ทั้งสองฝ่ายก็หลั่งน้ำสัจจในมหาปฐพี แม้สงฆ์ทั้งสองฝ่าย กษัตริย์ก็มีใจภิรมย์ชมชื่นยินดี มีเสน่หาไมตรีรักแพงกันเท่าเสี่ยงมหาปฐพี พุทธันดรกัป 1 แล้วบ่มิให้กระทําโลภเลี้ยงแก่กันเลย ตั้งแต่อันกระทําสร้าง แปลงอุทิศเจดีย์ศรีมหาธาตุให้เป็นเอกสีมาอันเดียวกันไว้ให้เป็นหลักด่านแต่หลักด่านนี้ไปน้ำของ แลน้ำน่านกึ่งกันนี้ แลน้ำของแลน้ำน่านก็บันด่านแดนกันโคกไม้ติดกันนี้แล แรก กระทําสร้างแปลงอุทิศเจดีย์ธาตุศรีสองรัก เจ้าสร้างปีวอกโทศก เถิงปีกุนเบญจศก เดือน 6 ขึ้น 14 ค่ำ ค่ำว่าได้จิตฤกษ์ราศีพระอาทิตย์สถิตศิริราชมีพระมหาอุปราชเจ้าทั้งสองพระยาพระหัวเมือง มันทมุขแสนหมื่นชุมนุมกันในอนาสัณฑ์สีมาสองรักเถึงเดือน 6 เพ็ญวัน 5 ก็ฉลองแลบริบวร…”

(บางตอนจากจารึกพระธาตุศรีสองรัก)

ศิลาจารึกดังกล่าว บันทึกข้อความเดียวกันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง กล่าวคือด้านหนึ่งใช้อักษรธรรมจารึกโดยฝ่ายกรุงศรีสัตนาคนหุต อีกด้านหนึ่งใช้อักษรขอม จารึกโดยฝ่ายกรุงศรีอยุธยา ข้อความกล่าวถึงพระราชพิธีกระทําสัตยาบัน การสร้างพระธาตุศรีสองรักขึ้นเป็นองค์สักขีพยาน โดยระบุปีที่เริ่มสร้างและแล้วเสร็จคือ

“..แรกกระทําสร้างแปลงอุทิศเจดีย์ธาตุศรีสองรัก เจ้าสร้างปีวอกโทศก เถิงปีกุนเบญจศก เดือน 6 ขึ้น 14 ค่ำ…”

ตรงกับ พ.ศ. 2103-2106 ซึ่งการที่มีจารึกระบุปีสร้างพระธาตุแน่ชัดนั้น นับเป็นประโยชน์อย่างมากในทางโบราณคดี คือนอกจากจะเป็นหลักฐานใช้สอบทานกับเอกสารประวัติศาสตร์อื่นแล้ว ยังสามารถใช้เป็นต้นแบบกําหนดอายุเจดีย์ที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันได้เป็นอย่างดี

จารึกพระธาตุศรีสองรัก ณ ปี 2542 เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์หอพระแก้ว เมืองเวียงจันท์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ส่วนหลักที่ตั้งอยู่ ณ พระธาตุศรีสองรัก เป็นหลักที่ทําจําลองขึ้นเมื่อปี 2449 โดยพระครูลุน (เจ้าอาวาสบ้านนาทุ่ม) เพี้ยศรีวิเศษและพระแก้วอาสา (เจ้าเมืองด่านซ้าย)

เนื่องจากเมื่อครั้งที่ฝรั่งเศสถอนกําลังออกจากเมืองด่านซ้าย เพื่อคืนดินแดนให้สยามตามสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม ปี 2449 (เมืองด่านซ้ายคือ ส่วนหนึ่งของดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตอนเหนือลําน้ำตามที่รัฐบาลสยามยกให้ฝรั่งเศสเมื่อปี 2446) ได้นําจารึกพระธาตุศรีสองรักกลับไปด้วย โดยบรรทุกใส่เรือล่องไปตามลําน้ำโขง แต่เรือเกิดล่มเมื่อถึงเขตอําเภอเชียงคาน ทําให้ศิลาจารึกจมอยู่ใต้แม่น้ำ ต่อมา หลุยส์ ฟิโนต์ (Louis Finote) ได้กู้จารึกดังกล่าวขึ้นจากน้ำ และนําไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ฮานอย ประเทศเวียดนาม

หลังจากนั้น เจ้ามหาอุปราชเพชรราชของลาว จึงทําหนังสือไปถึงสํานักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ ที่กรุงฮานอย เพื่อขอจารึกหลักนี้คืน และในปี 2523 กรมศิลปากรได้ขอสําเนาศิลาจารึกหลักนี้จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อศึกษาพบว่าเนื้อความขาดหายไปมาก เนื่องจากจารึกพระธาตุศรีสองรักอยู่ในสภาพชํารุดแตกเป็น 8 ชิ้น

ส่วนเหตุผลที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชขอเจริญราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ อาจเป็นไปได้ว่าทรงหาแนวร่วมต้านทานการรุกรานจากพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้กษัตริย์พม่า ที่พยายามทําสงครามกับดินแดนใกล้เคียงเพื่อขยายอาณาเขต ซึ่งพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชน่าจะทรงเล็งเห็นว่ากรุงศรีอยุธยากําลังประสบปัญหาจากการถูกรุกรานเช่นเดียวกัน

นอกจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับการจดบันทึกบนศิลาจารึกแล้ว ยังมีตำนานพื้นบ้านกล่าวถึงมูลเหตุการสร้างพระธาตุศรีสองรัก โดยนําคติความเชื่อท้องถิ่นเข้ามาเชื่อมโยง

ตํานานสํานวนแรกกล่าวถึงการสร้างพระธาตุศรีสองรักว่า สร้างเพื่อเป็นองค์สักขีพยานการประกาศราชไมตรีของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ล้านช้าง และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา โดยขณะกําลังก่อสร้างพระธาตุ ได้ป่าวประกาศให้ชาวบ้านนําสิ่งของมีค่ามาทําบุญบรรจุในพระธาตุ แต่มีชายหญิงคู่หนึ่งชื่อคงและมั่น ฐานะยากจนไม่มีแก้วแหวนเงินทองมาทําบุญเช่นคนอื่น ๆ จึงตั้งจิตอธิษฐานขออุทิศตัวเองถวายเป็นพุทธบูชา เข้าไปอยู่ภายในพระธาตุ แล้วให้ช่างก่ออิฐปิดตาย เมื่อสิ้นชีวิตลง ดวงวิญญาณจึงสิงสถิตอยู่เพื่อดูแลรักษาพระธาตุตลอดไป

ส่วนสํานวนที่สองนั้น มีที่มาจากความรักของชายหญิงคู่หนึ่ง ที่ถูกผู้ใหญ่กีดกัน ทําให้ต้องแอบหนีมาพบกัน โดยเลือกสถานที่ภายในพระธาตุ เพราะมิดชิดจากผู้คน จนวันหนึ่งช่างก่อสร้างได้มาก่ออิฐเพื่อปิดพระธาตุโดยไม่ทราบว่ามีคนอยู่ภายใน ทําให้คนทั้งสองออกมาไม่ได้และสิ้นใจตายอยู่ในพระธาตุนั้น ชาวบ้านจึงขนานนามพระธาตุนี้ว่า “พระธาตุศรีสองรัก” เพื่อเป็นอนุสรณ์ความรักมั่นของคนทั้งสอง

นอกจากนี้ยังมีตํานานอีกสํานวนหนึ่ง เป็นการนําความเชื่อทางศาสนาเรื่องพระบรมสารีริกธาตุมาผูกรวมด้วย โดยเล่ากันว่า เมื่อกษัตริย์ทั้งสองตกลงใจกระทําสัญญาไม่รุกรานกัน จึงให้เสนาอํามาตย์ออกหาสถานที่เพื่อก่อสร้างพระธาตุ จากการสํารวจได้พบอูบมุงแห่งหนึ่งริมฝั่งลําน้ำอู ภายในมีห่อผ้าสีดําบรรจุอัฐิไว้ ซึ่งไม่สามารถสืบทราบได้ว่าเป็นอัฐิของผู้ใด ต่อมากษัตริย์ทั้งสองนิมิตตรงกันว่า มีชายแต่งกายชุดขาวมาเข้าเฝ้าและกราบทูล ว่า อูบมุงแห่งนี้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนองคุลีนิ้วก้อยของพระพุทธเจ้า ดังนั้น ทั้งสองพระองค์จึงตัดสินพระทัยให้สร้างพระธาตุศรีสองรักขึ้นในที่แห่งนี้โดยครอบทับอูบมุงไว้

อย่างไรก็ตาม แม้ตํานานจะเป็นเรื่องเล่าสืบกันมา ซึ่งบางสํานวนอาจมีเค้าความจริงอยู่บ้าง หรือไม่มีเลยก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากเรื่องราวเหล่านี้คือ ความเชื่อถือ และศรัทธาของคนในท้องถิ่นที่มีต่อพระธาตุศรีสองรักว่า นอกจากจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีดวงวิญญาณบรรพบุรุษสิงสถิตอยู่ เพื่อปกปักรักษาและคุ้มครองให้พวกเขาอยู่เย็นเป็นสุขแล้ว ยังเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระพุทธเจ้า ซึ่งชาวพุทธให้ความเคารพนับถือ สะท้อนแนวคิดเรื่องบาปบุญ และการใช้จารีตทางศาสนาเป็นระเบียบควบคุมสังคมให้ยึดมั่นกระทําความดี

อันส่งผลให้เกิดประเพณีการทําบุญพระธาตุศรีสองรัก เป็นประจําทุกปีสืบจนปัจจุบัน ในวันเพ็ญเดือน 6 ตามฤกษ์สร้างพระธาตุเมื่อครั้งอดีต

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ตุลาคม 2562