อะไรเอ่ย “ดอกไม้บานในถ้ำ ฝนฮำปีละเถี่ย?” ไขปริศนาลายแทงขุมทรัพย์พระธาตุศรีสองรัก

หลวงพ่อพระเจ้าใหญ่ วัดโพนชัย พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองด่านซ้าย

ความนำ

ช่วงกลางเดือนกันยายน 2559 ที่ผ่านมา หลายจังหวัดในประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากพายุราอี ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณชุมชนลุ่มน้ำหมันในท้องที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย บ้านเรือนประชาชนและหน่วยงานราชการหลายแห่งถูกน้ำจากแม่น้ำหมันล้นตลิ่งไหลเอ่อท่วม พระสงฆ์สามเณรจากวัดโพนชัยซึ่งเป็นวัดเก่าแก่และสำคัญคู่เมืองด่านซ้าย ต้องนั่งเรือท้องแบนออกบิณฑบาต ถือเป็นภาพเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่ชุมชนในหุบเขาได้มีโอกาสตักบาตรทางเรือ เมื่อเห็นภาพเหตุการณ์ฝนตกและน้ำท่วมเมืองด่านซ้ายครั้งนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงปริศนาคำทายพื้นบ้านของชาวด่านซ้าย ที่มีข้อความในคำทายเกี่ยวข้องกับฝนตกในรอบปี ซึ่งมีความน่าสนใจไม่น้อย ควรที่จะนำเสนอให้เป็นที่รับรู้และศึกษาตีความ และตอบปัญหาปริศนาคำทายดังกล่าว

ในบทความนี้ ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอปริศนาคำทายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองด่านซ้ายที่มีการบอกเล่าสืบต่อกันมาช้านาน ข้อความในคำทายเกี่ยวข้องกับฝนตก หลายคนเชื่อว่าเป็นลายแทงขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ในบริเวณรอบองค์พระธาตุศรีสองรัก หรือในบริเวณเมืองด่านซ้าย แต่แท้จริงแล้วปริศนาคำทายดังกล่าวกลับเป็นเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีของชาวด่านซ้ายที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน

อีหยังเอ๋า…ดอกไม้บานในถ้ำ ฝนฮำปีละเถี่ย?

เมื่อช่วงระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปจัดกิจกรรมอบรมสามเณรมัคคุเทศก์อาสา พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเมืองด่านซ้าย ณ วัดโพนชัย ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ภายในเขตชุมชนโบราณเมืองด่านซ้าย  ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการจัดกิจกรรมจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในระหว่างจัดกิจกรรมได้เห็นป้ายข้อความอยู่หน้าวิหารของวัด มีข้อความที่น่าสนใจว่า “อะไรเอ่ย…ดอกไม้บานในถ้ำ  ฝนฮำปีละเถี่ย” ทำให้เกิดความสงสัยและนำไปสู่การอธิบายและหาคำตอบของปริศนาคำทายนี้

ท่านเจ้าคุณพระสิริรัตนเมธี (บุญเพ็ง รตนเมธี ป.ธ.๖) เจ้าอาวาสวัดโพนชัย รองเจ้าคณะจังหวัดเลย และผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์เลย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้จัดทำป้ายข้อความดังกล่าวได้กรุณาอธิบายให้ผู้เขียนและสามเณรที่เข้าร่วมอบรมสามเณรมัคคุเทศก์ทราบว่า ภายในชุมชนเมืองด่านซ้ายปัจจุบันได้มีปริศนาคำทายบอกเล่าสืบต่อกันมาเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “อีหยังเอ๋า ดอกไม้บานในถ้ำ ฝนตกฮำปีละเถี่ย?” ซึ่งถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็จะตรงกับคำว่า “อะไรเอ่ย…ดอกไม้บานในถ้ำ ฝนตกลงมาใส่ปีละครั้ง” ที่ผ่านมาเคยมีชาวบ้านบางคนเชื่อว่าเป็น “ลายแทงสมบัติ” และพยายามที่จะค้นหาดอกไม้บานตามถ้ำเล็กถ้ำน้อยตามภูเขาภายในเขตเมืองด่านซ้าย แต่ก็ไม่มีใครสามารถไขปริศนาคำทายนี้ได้

ท่านเจ้าคุณพระสิริรัตนเมธี (บุญเพ็ง รตนเมธี ป.ธ.๖) ยังเล่าต่ออีกว่า เมื่อตอนอุปสมบทและมาจำพรรษาที่วัดโพนชัยใหม่ๆ เคยมีโยมผู้หญิงแก่ๆ คนหนึ่งมาถามว่า “อ้ายหม่อมรู้บ่ อีหยังเอ๋า ดอกไม้บานในถ้ำ ฝนตกฮำปีละเถี่ย?” (หลวงพี่รู้หรือเปล่า ว่าอะไรเอ่ย…ดอกไม้บานในถ้ำ ฝนตกลงมาใส่ปีละครั้ง) ซึ่งท่านเจ้าคุณก็ไม่สามารถตอบคำถามหรือไขปริศนาคำทายนี้ได้ ต่อมาโยมผู้หญิงดังกล่าวจึงเฉลยปริศนาและอธิบายคำตอบให้ฟัง และคำตอบนั้นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับลายแทงสมบัติแต่อย่างใด หากแต่เกี่ยวข้องกับประเพณีท้องถิ่นและวัดโพนชัย

วัดโพนชัย : อารามเก่าแก่คู่เมืองด่านซ้าย

วัดโพนชัย เป็นศาสนสถานที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหมันในเขตเมืองด่านซ้าย ตำแหน่งที่ตั้งของศาสนาคารที่สำคัญของวัดอยู่เนินสูง ซึ่งในภาษาถิ่นเรียกว่า “โพน” จึงมีชื่อเรียกว่า “วัดโพน” หรือ “วัดโพนชัย” วัดโพนชัยสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อไรนั้นไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในคราวเดียวกันกับการสร้างพระธาตุศรีสองรักในระหว่าง พ.ศ. 2103-2106 เนื่องจากภายในวัดมีพระเจดีย์ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับพระธาตุศรีสองรัก แต่มีขนาดเล็กและชะลูดกว่า

แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากภายในวัดโพนชัยและเมืองด่านซ้ายไม่ปรากฏหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการสร้างหรือเกี่ยวข้องกับวัดโพนชัยตั้งแต่สมัยเริ่มสร้างหรือหลังจากนั้นไม่นาน จึงทำให้ยากต่อการกำหนดหรือสันนิษฐานอายุของวัดได้ และเมืองด่านซ้ายเองก็มีผู้คนอาศัยอยู่สืบเนื่องช้านาน และมีการเคลื่อนไหวของผู้คนโดยตลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงศึกเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. 2369-71 ซึ่งเมืองด่านซ้ายได้รับผลกระทบจากสงครามอย่างมาก จึงมีความเป็นไปได้ว่าวัดโพนชัยอาจสร้างขึ้นหลังจากการสร้างพระธาตุศรีสองรัก คือประมาณพุทธศตวรรษที่ 23-24

ข้อสันนิษฐานดังกล่าวน่าจะสอดคล้องกับหลักฐานทางด้านศิลปกรรมที่ปรากฏภายในวัดโพนชัยปัจจุบัน เช่น กรณีงานศิลปกรรมของพระเจดีย์ประจำวัดโพนชัย ซึ่งเป็นพระเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ฐานต่ำทรงบัวเหลี่ยม คล้ายกับพระธาตุศรีสองรักแต่องค์ระฆังชะลูดกว่าและมีขนาดเล็กกว่า ประดิษฐานอยู่ด้านหลังของวิหารหลวง จากงานการศึกษาเรื่องธาตุอีสานของ อาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดพระเจดีย์รูปทรงเช่นนี้ไว้ในกลุ่มฐานต่ำ โดยมีพระธาตุศรีสองรักเป็นต้นแบบ โดยพระเจดีย์องค์นี้เป็นรูปแบบที่ลอกมาจากพระธาตุศรีสองรัก แต่ช่างได้ยืดส่วนยอดธาตุให้สูงเพรียวขึ้นกว่าเดิมเป็นลักษณะบัวเหลี่ยมคอขวด ส่วน ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงเดียวกันกับพระธาตุศรีสองรักหรือหลังจากนั้นเล็กน้อย

ปัจจุบันวัดโพนชัยเป็นวัดมีความสำคัญต่อชาวด่านซ้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่ประกอบพิธีกรรมงานบุญหลวง ซึ่งเป็นประเพณีที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานแล้ว จึงมีความเป็นไปได้ว่าภายหลังการตั้งเมืองด่านซ้ายขึ้นโดยอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรล้านช้าง วัดโพนชัยอาจเป็นวัดสำคัญที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับเมือง หรืออาจเรียกว่าเป็นวัดประจำเมืองก็ว่าได้

วิหารหลวงวัดโพนชัย ซึ่งถูกอุปมาให้เป็นถ้ำในปริศนาคำทายท้องถิ่นเมืองด่านซ้าย

สรงน้ำหลวงพ่อพระเจ้าใหญ่ วัดโพนชัย : ที่มาแห่งปริศนาคำทาย

วิหารหลวง วัดโพนชัย ซึ่งเป็นอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ได้รับอิทธิพลจากรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านช้าง หันหน้าไปทางทิศใต้สู่แม่น้ำหมันและตัวชุมชนเมืองด่านซ้าย เป็นวิหารเก่าแก่คู่กับวัด เดิมเป็นวิหารโถง เสาไม้ แต่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาอย่างต่อเนื่อง ส่วนบนเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ส่วนล่างเป็นผนังก่ออิฐถือปูน มีช่องหน้าต่าง ภายในประดิษฐานพระประธานปูนปั้น วิหารหลวงหันหน้าไปทางทิศใต้ ปัจจุบันวิหารหลวงยังใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ให้อยู่ในสภาพค่อนข้างดี

ภายในวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อพระเจ้าใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 79 นิ้ว ประดิษฐานบนฐานชุกชีเป็นพระประธานภายในวิหารหลวง เมื่อพิจารณาจากพระพักตร์และพุทธศิลป์ หลวงพ่อพระเจ้าใหญ่เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง ฝีมือช่างท้องถิ่น สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวัดโพนชัย ปัจจุบันหลวงพ่อพระเจ้าใหญ่ถือเป็นพระพุทธรูปโบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองด่านซ้าย และเป็นพระพุทธรูปที่ชาวด่านซ้ายให้ความเคารพศรัทธาควบคู่กับพระธาตุศรีสองรัก มีเรื่องเล่าว่าใน พ.ศ. 2531 ช่วงนั้นเกิดสงครามบ้านร่มเกล้าระหว่างไทยกับลาวที่เขตรอยต่ออำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก กับอำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย มีคนเห็นน้ำสีแดงไหลออกจากพระเนตรของหลวงพ่อพระเจ้าใหญ่ วัดโพนชัย ชาวบ้านเชื่อว่าหลวงพ่อพระเจ้าใหญ่เกิดความเสียใจที่พี่น้องไทยลาวมารบราฆ่าฟันกันเอง

ท่านเจ้าคุณพระสิริรัตนเมธี (บุญเพ็ง รตนเมธี ป.ธ.๖) ได้ให้ข้อมูลว่า ช่วงวันสงกรานต์วันที่ 13 เมษายนของทุกปี จะมีการทำพิธีสรงน้ำหลวงพ่อพระเจ้าใหญ่ โดยเริ่มจากการนำน้ำสะอาดมาขัดล้างทำความสะอาดองค์พระก่อน จากนั้นก็จะมีการเปลี่ยนผ้าคลุมหรือผ้าอังสะ แล้วก็จะมีการถวายน้ำสรงซึ่งเป็นน้ำอบน้ำหอม โดยเริ่มจากพระเถระผู้เป็นประธาน ตามด้วยพระสงฆ์ สามเณร เจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม พ่อแสน นางแต่ง และพุทธศาสนิกชนทั่วไปตามลำดับ ก่อนที่จะมาสรงน้ำพระสงฆ์สามเณรเพื่อขอพรในช่วงวันสงกรานต์

หลวงพ่อพระเจ้าใหญ่ วัดโพนชัย ถูกอุปมาว่าประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำตามปริศนาคำทายท้องถิ่นเมืองด่านซ้าย

ในการถวายน้ำสรงหลวงพ่อพระเจ้าใหญ่ ในอดีตพุทธศาสนิกชนจะนำดอกไม้ที่นำมาถวายเป็นพุทธบูชาโยนขึ้นไปบนตักหรือส่วนต่างๆ ขององค์หลวงพ่อพระเจ้าใหญ่ด้วย ทำให้ในแต่ละปีหลังจากพิธีสรงน้ำหลวงพ่อพระเจ้าใหญ่เสร็จจะมีดอกไม้จำนวนมากกองเต็มหน้าตักหลวงพ่อพระเจ้าใหญ่และบริเวณบนฐานชุกชี ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นนำดอกไม้ใส่แจกันหรือวางบนพานดอกไม้แทน

จากพิธีกรรมการสรงน้ำหลวงพ่อพระเจ้าใหญ่ วัดโพนชัย ดังกล่าว นักปราชญ์โบราณจึงได้มีการผูกหรือแต่งคำขึ้นมาเป็นปริศนาคำทาย ดังสามารถอธิบายได้ดังนี้

“ดอกไม้บานในถ้ำ” ก็คือวิหารหลวงที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระเจ้าใหญ่นั้น ถูกอุปมาว่าเป็นเสมือนถ้ำที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และการถวายดอกไม้ในพิธีสรงน้ำหลวงพ่อพระเจ้าใหญ่เป็นประจำทุกปี ซึ่งแต่ละปีก็จะมีจำนวนมาก ก็เหมือนดอกไม้ที่มาเบ่งบานภายในถ้ำเพียง 1 ครั้งในรอบปี

ส่วนคำว่า “ฝนฮำปีละเถี่ย” (ฝนตกลงมาใส่ปีละครั้ง) คือการถวายน้ำสรงหลวงพ่อพระเจ้าใหญ่ที่จะมีการทำพิธีถวายน้ำสรงเพียงปีละครั้ง เฉพาะวันที่ 13 เมษายนของทุกปีเท่านั้น จึงอุปมาการสรงน้ำนั้นเหมือนดังฝนที่ตกลงมาใส่หลวงพ่อพระเจ้าใหญ่

บทส่งท้าย

คำตอบหรือความหมายโดยรวมของคำทาย “อีหยังเอ๋า ดอกไม้บานในถ้ำ ฝนฮำปีละเถี่ย?” จึงหมายถึงพิธีกรรมสรงน้ำหลวงพ่อพระเจ้าใหญ่ วัดโพนชัย พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวด่านซ้าย ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวง วัดโพนชัย แต่ละปีจะมีการถวายน้ำสรงเพียงปีละ 1 ครั้ง และในการสรงน้ำก็จะมีการถวายดอกไม้เป็นพุทธบูชาร่วมด้วย แต่องค์หลวงพ่อพระเจ้าใหญ่เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ไม่สามารถอัญเชิญมาสรงน้ำด้านนอกวิหารหลวงได้ จึงต้องมีการถวายน้ำสรงภายในวิหารหลวงที่ถูกอุปมาให้เป็นถ้ำ ปริศนาคำทายนี้จึงไม่ได้เป็นลายแทงขุมทรัพย์อย่างที่มีชาวบ้านบางคนโดยเฉพาะคนที่ชอบเรื่องเล่นแร่แปรธาตุ หรือคำทำนายเกี่ยวกับฝนตกน้ำท่วมอย่างที่บางคนเข้าใจแต่อย่างใด

ในประเด็นปริศนาคำทายที่ปรากฏในหลายๆ ท้องถิ่นที่เคยเชื่อกันว่าเป็นปริศนาลายแทงขุมทรัพย์นั้น อาจจะมีลักษณะคล้ายกับปริศนาคำทายที่เมืองด่านซ้าย โดยคนรุ่นเก่าได้ใช้ภูมิปัญญาผูกคำทายขึ้นมาเพื่อให้ลูกหลานรุ่นหลังได้ใช้ความรู้ความคิดและดึงดูดความสนใจให้สานต่อพิธีกรรมหรือวัฒนธรรมของชุมชนก็เป็นได้ หากศึกษาสืบค้นอย่างละเอียดลึกซึ้ง อาจจะพบปริศนาคำทายลักษณะเช่นนี้ในเมืองด่านซ้ายเพิ่มเติมอีก

และปริศนาคำทายก็เป็นกุศโลบายชั้นยอดที่คนรุ่นเก่าสร้างขึ้น เพื่อดึงดูดความสนใจของคนรุ่นหลัง เมื่อใดก็ตามที่มีการขึ้นต้นประโยคว่า “อะไรเอ่ย?” ย่อมมีความน่าสนใจเสมอ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารอ้างอิง :

เติม วิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2542.

ธีระวัฒน์ แสนคำ. เมืองพิษณุโลก : ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของหัวเมืองใหญ่ภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐแบบจารีต. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554.

วินัย พงศ์ศรีเพียร. “จารึกพระธาตุศรีสองรัก : มรดกความทรงจำแห่งจังหวัดเลย ว่าด้วยสัญญาทางไมตรีศรีอโยธยา-ศรีสัตนาคนหุต พ.ศ. 2103,” ใน 100 เอกสารสำคัญ : สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ 6. กรุงเทพฯ : โครงการวิจัย “100 เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย” ในความสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2554.

วิโรฒ ศรีสุโร. ธาตุอีสาน. กรุงเทพฯ : เมฆาเพรส, 2539.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. เจดีย์ พระพุทธรูป ฮูปแต้ม สิม ศิลปะลาวและอีสาน. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, 2555.

______. พระพุทธรูปสำคัญและพุทธศิลป์ในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2554.

สัมฤทธิ์ สุภามา และคณะ. พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ดินแดนแห่งสัจจะและไมตรี. เลย : มูลนิธิพระธาตุศรีสองรัก, 2556.

สัมภาษณ์บุคคล (ตำแหน่งในเวลานั้น-กองบก.ออนไลน์)

พระปลัดยุรนันท์ สุมงฺคโล ครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน วัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย

พระสิริรัตนเมธี (บุญเพ็ง รตนเมธี ป.ธ.6) รองเจ้าคณะจังหวัดเลย เจ้าอาวาสวัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2561