“ตี่จู๋เอี๊ย” ศาลเจ้าของชาวจีนโพ้นทะเล ที่คนจีนแผ่นดินใหญ่ไม่มี และไม่ยินดีที่จะมี!?

ตี่จู๋เอี๊ย ที่ คนจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่มี
ตี่จู๋เอี๊ย (ภาพจาก : พัฒนพงษ์ อายุวนานนท์)

หากได้เข้าไปเยี่ยมเยียนบ้านของคนจีนโพ้นทะเล หรือแม้แต่คนจีนที่ย้ายมาอยู่ที่ไทย ร้านค้า ร้านอาหาร สถานที่ประกอบธุรกิจต่าง ๆ คงจะได้เห็นศาลเจ้าหลังเล็ก ๆ ตั้งอยู่บนพื้น สะท้อนถึงความสำคัญของ “ตี่จู๋เอี๊ย” ศาลเจ้าของคนจีนโพ้นทะเล เป็นอย่างมาก แต่รู้หรือไม่ว่า “คนจีนแผ่นดินใหญ่” กลับไม่ได้คิดเช่นนั้น

ตี่จู๋เอี๊ย เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า “เทพเจ้าของที่ดิน” หรือเรียกง่าย ๆ คือ เจ้าที่หรือผีบ้านผีเรือน แต่ที่จริงแล้วในภาษาจีนอื่น ๆ เช่น กวางตุ้ง ไหหลำ และแคะ ก็มีคำเรียกของตัวเองที่แตกต่างกันไป เพราะตั้งตี่จู๋เอี๊ย เหมือนกัน อย่าง ไหหลำ ก็เรียกว่า ดีตู่กง หรือกวางตุ้ง เรียกว่า เต่ยจี๋ 

ตี่จู๋เอี๊ย ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สัมพันธ์กับความเป็นอยู่ของลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลอย่างมาก จะมีการจัดน้ำชา ขนมไหว้เมื่อถึงวันพระและเทศกาลต่าง ๆ ของจีน และหากมีใครในครอบครัวเสียชีวิต เพิ่งคลอดลูกก็ต้องจุดธูปกล่าวท่าน

ในช่วงแรกศาลเจ้าที่เราเห็นยังไม่ได้สวยงามน่าดูชมเหมือนปัจจุบัน ยังใช้กระดาษสีแดง หมึกดำ เขียนอักษรจีนว่า “ตีจู่ซิ่งอุ่ย” หรือที่สิงสถิตของเทพเจ้า มุมขวาปรากฏอักษรจีนว่า “ตึ่ง” มาจากตึ่งนั้ง คือ คนไทย (ต่อมาใช้คำว่า ตง แทนตึ่ง มาจากคำว่าตงกก ประเทศจีน) และมุมซ้ายบนเขียนว่า “ฮวง” คือ คนไทย มาจากคำว่า ฮวงนั้ง ก่อนที่จะเขียนว่า ไท แทน ฮวง

การเปลี่ยนกระดาษปิดที่ ตี่จู๋เอี๊ย ศาลเจ้าของคนจีนโพ้นทะเล จะเปลี่ยนทุก ๆ ปี ในเทศกาลตรุษจีน ก่อนจะย้ายมาใช้กระจกพิมพ์สี เป็นศาลเจ้าสีแดงหลังเล็ก ๆ ในปัจจุบัน

ทว่า ใน “จีนแผ่นดินใหญ่” กลับไม่มีศาลเจ้าที่เรียกว่า “ตี่จู๋เอี๊ย” และไม่คิดจะมีที่บ้านด้วย เพราะอะไร?

ในหนังสือ “ตัวตนคน ‘แต้จิ๋ว’” (สำนักพิมพ์มติชน) เขียนโดย เสี่ยวจิว ได้กล่าวไว้ว่า “แม้ตี่จู๋เอี๊ยจะเป็นเทพเจ้าที่ใกล้ชิดและคุ้นเคยกับคนจีนโพ้นทะเลเป็นอย่างยิ่ง แต่ไม่ใช่กับคนจีนในเมืองจีน ลิ้มเฮียเล่าให้ฟังว่า ที่เมืองจีนไม่ค่อยเห็นตี่จู๋เอี๊ย ในบ้านจะไหว้เจ้าเตาเป็นหลัก 

แต่ถ้าพูดถึงเทพเจ้าที่ทำหน้าที่เหมือนผู้ใหญ่ของบ้านแบบตี่จู๋เอี๊ยนั้น ที่เมืองจีนมี ‘แป๊ะกง-เจ้าที่ประจำหมู่บ้าน’”

ด้านอาจารย์ ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน ได้พูดถึงไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน ว่า… 

“ที่เมืองจีนถือว่าถ้าบ้านไหนมีตี่จู๋เอี๊ย ไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เพราะแสดงว่าเป็นบ้านที่อาศัยเขาอยู่ ไม่มีผีบรรพชนของตนคอยคุ้มครอง จึงต้องตั้งตี่จู๋เอี๊ยไว้คอยคุ้มครองแทน จะตั้งป้ายสถิตวิญญาณหรือแกซิ้งของบรรพบุรุษไม่ได้ เพราะไม่ใช่บ้านของตัวเอง

ฉะนั้นเวลาไปบ้านญาติหรือบ้านเพื่อนที่เมืองจีน ไม่ควรไปถามถึงตี่จู๋เอี๊ยของบ้านเขา เพราะถือเป็นการดูถูกว่าไม่มีปัญญามีบ้านเป็นของตนเอง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

เสี่ยวจิว. ตัวตนคน ‘แต้จิ๋ว’. กรุงเทพฯ: มติชน, 2554.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน 2567