ความสัมพันธ์ “ชาวจีน” กับผู้ปกครองเชียงใหม่ ผ่านความเชื่อและพิธีกรรมในศาลเจ้าจีน

(ซ้าย) พระเจ้าอินทวิชยานนท์, (ขวา) เจ้าแก้วนวรัฐ

บทความนี้จะเน้นความสําคัญของชาวจีนที่คุมเศรษฐกิจของเชียงใหม่ และสาเหตุการตั้งศาลเจ้าจีนกับผู้ปกครอง จะอยู่ในส่วนที่เกี่ยวเชื่อมโยงกับความเชื่อ พิธีกรรม ตลาดการค้า และสังคมชาวจีนสมาคมต่าง ๆ ตลอดจนสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมจากศาลเจ้าจีนในอําเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ชาวจีนกับการเข้ามาในล้านนา ทําให้นําเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ จากเจ้าหลวงถึงกษัตริย์ไทย นําไปสู่ความเข้าใจผ่านงานสถาปัตยกรรมศาลเจ้าจีน เริ่มมาจากที่ชาวจีนและชาวล้านนามีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานทางการค้าขายกับชาวจีนยูนนาน

บุทบาทการเข้ามาค้าขายของชาวจีน ที่มีผลไปสู่ความสัมพันธ์กับเจ้าหลวง

จากการค้าขายแบบวัวต่างม้าต่าง พัฒนาเป็นการค้าขายทางเรือที่พ่อค้าจีนจากภาคกลางได้เข้ามาล่องเรือค้าขายและตั้งถิ่นฐานบริเวณย่านวัดเกตที่เป็นท่าเรือ และบริเวณตลาดต้นลําไย แนวถนนช้างม่อย และบ้านพ่อค้าเรืออยู่บริเวณตลาดต้นลําไย การค้าขายทางน้ำค่อนข้างคึกคักและมีความสําคัญในการลําเลียงขนส่งสินค้า

การอพยพของชาวจีนนั้นไม่ได้เข้ามาแค่หลังช่วงรัชกาลที่ 5 อย่างเดียว ก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังมีชาวจีนฮ่อ แต้จิ๋ว แคะ ไหหลํา อพยพมายังเชียงใหม่อีกด้วย

ทั้งนี้การค้าขายทางเรือทําให้ได้เข้าใจถึงการอพยพของชาวจีนเข้ามาในเชียงใหม่ จากการค้าขายทางเรือนั้นเป็นจุดสําคัญที่แสดงว่าชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานและมีบทบาทตั้งร้านค้าได้ผูกขาดภาษีอากร และเป็นเจ้าภาษีอากร มียศถาบรรดาศักดิ์ และได้เข้าไปเกี่ยวพันดูแลเศรษฐกิจของเมือง อีกทั้งได้รับความไว้วางใจจากเจ้าหลวง

วัดเกต ย่านชุมชนชาวจีนแห่งแรกในเชียงใหม่ (ภาพโดยหจช. จากหนังสือ ประวัติศาสตร์ล้านนา, สรัสวดี อ๋องสกุล)

ชาวจีนกับเจ้าหลวง

การเข้ามาของชาวจีนในเชียงใหม่ การค้าขายเป็นจุดสําคัญได้นําชาวจีนให้เข้ามาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความสัมพันธ์กับเจ้าหลวง โดยตัวเจ้าหลวงได้ให้ยศถาบรรดาศักดิ์แก่ชาวจีนเพื่อให้ชาวจีนจงรักภักดีมากขึ้น ซึ่งจะทําให้ได้ผลประโยชน์โดยชาวจีนจะช่วยจัดการดูแลภาษีอากรให้กับเจ้าหลวง หรือคอยทําหน้าที่ปกครองชาวจีนด้วยกัน

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีข้อมูลว่า เจ้าอินทวิชยานนท์ นั้นก็มีสัมพันธ์สนิทกับเจ้าภาษีอากรชาวจีน ชื่อจีนเต็ง เจ้าเมืองมักจะเชิญจีนเต็งมาร่วมรับประทานอาหารที่คุ้มหลวงอยู่เสมอ และถ้าเจ้าเมืองเชียงใหม่มีปัญหาใด ๆ ที่แก้ไม่ตก แทนที่จะปรึกษาหารือกับเจ้านายอื่น ๆ กลับปรึกษาหารือจีนเต็ง

การที่เจ้าเมืองเชียงใหม่ให้ความไว้วางใจจีนเต็ง เข้าใจว่าเจ้านายส่วนใหญ่พึ่งพาอาศัยไม่ได้ เพราะแทนที่จะสนใจกิจการบ้านเมือง กลับใช้ชีวิตสนุกสนานกับการเล่นการพนันและการเสพสุรา สําหรับข้าราชการส่วนกลางที่อยู่ปฏิบัติราชการในเชียงใหม่นั้น ส่วนมากจะใช้ตําแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์แก่ตนมากกว่าที่จะช่วยเหลือราชการอย่างแท้จริง คงมีนายภาษีอากรชาวจีนเท่านั้นที่พอจะพึ่งพาอาศัยได้ เพราะตลอดเวลาที่ชาวจีนเข้ามาดำเนินธุรกิจในตัวเมืองเชียงใหม่ไม่ปรากฏว่าได้กระทําการใด ๆ ที่ส่อให้เห็นว่าจะเข้ามาแทรกแซงเกี่ยวกับการเมืองภายใน คงมุ่งเข้ามาทําการค้าขายและแสวงหาความร่ำรวยแต่เพียงอย่างเดียว จึงเป็นความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวจีนกับเจ้าอินทวิชยานนท์

จีนเต็งยังผูกใจเจ้านายต่าง ๆ โดยการแจกจ่ายเงินอีกด้วย อีกทั้งยังทําหน้าที่จัดเก็บภาษีให้กับเจ้าหลวงด้วย จะเห็นว่าบางทีคนจีนก็จะถูกแต่งตั้งเป็นท่านขุนหรือพระยาต่าง ๆ ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เจ้าหลวงมีคนทําหน้าที่เก็บภาษีอากรคือชาวจีนที่ไว้วางใจได้ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ชาวจีนก็ได้ยกฐานะตัวเองกับสะดวกต่อการค้าขาย

หัวหน้าคนจีนที่ดูแลปกครองชาวจีนในเชียงใหม่ เจ้าหลวงได้แต่งตั้งหัวหน้าคนจีนและยศถาบรรดาศักดิ์แก่หัวหน้าคนจีน เรียกว่าหัวหน้าฝ่ายจีน หรือภาษาพูด นายอําเภอเจ็ก มีหน้าที่รับ ผิดชอบต่อเจ้าหลวงในการรักษาความสงบเรียบร้อยในชุมชนชาวจีน มีอํานาจที่จะจับกุมและสั่งลงโทษสถานเบา แต่ไม่มีสิทธิลงโทษสถานหนัก

หัวหน้าคนจีนชื่อตู้ กว้าน เซิ่ง นั้นมีกระทั่งคุกอยู่ภายในบ้าน ตามปกติเจ้าหลวงจะยอมรับฟังคําพูดของหัวหน้าคนจีน เมื่อเขาบอกว่าอาชญากรผู้นั้นจะไม่กระทําผิดอีกหรือพยายามที่จะหลบหนี เป็นการชี้ให้เห็นถึงการยอมรับซึ่งกันและกันของเจ้าหลวงกับหัวหน้าคนจีน ที่แสดงว่า หัวหน้าคนจีนยอมรับจงรักภักดีต่อการปกครองจากเจ้าหลวงของเชียงใหม่

ความสัมพันธ์ของเจ้าแก้วนวรัฐ กับชาวจีน เถ้าแก่ง่วนชุนแห่งตันตราภัณฑ์ ในวัยหนุ่มเถ้าแก่เป็นผู้จัดการฝ่ายขายสินค้ากระป๋อง ได้ติดต่อเจ้านายฝ่ายเหนือตั้งแต่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี และพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐมาเป็นเวลานาน ในตําแหน่งหน้าที่การงานต้องเสนอสินค้าเครื่องกระป๋องจากต่างประเทศ เจ้านายทั้งสองพระองค์ทรงรู้จักดีจึงได้สนับสนุนสร้างอาคารให้นายห้างตันง่วนชุน บุญคุณความดีของเจ้าแก้วนวรัฐจะต้องเอาใจใส่และรับใช้ในส่วนตัวตลอดมามิได้ละเลยเฉยเมยต่อเจ้านายทั้งสองพระองค์ ในปีใหม่หรือเทศกาลตรุษจีนจะต้องนําสรรพสินค้าแปลก ๆ ใหม่ ๆ ไปถวายเป็นประจํา และเสด็จพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ก็ทรงเป็น “เจ้าประจํา” สั่งสรรพสินค้าเครื่องกระป๋องจากห้างตันฮั่วง้วน (อาคารหลังแรกของตันตราภัณฑ์) ของนายห้างตันง่วนชุนเป็นประจําตลอดพระชนมชีพ

นายห้างตันง่วนฮุนได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในฐานะประธานสุขาภิบาล ให้เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการสุขาภิบาลคนหนึ่ง และท่านเป็นบุคคลสําคัญคน หนึ่งของชาวจีนในเชียงใหม่ที่คอยคุ้มครองสวัสดิภาพทุกรูปแบบให้แก่พี่น้องชาวจีนในเชียงใหม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเจ้าหลวงจะได้รับการจงรักภักดีเอาใจใส่และมีสินค้าแปลก ๆ ใหม่ ๆ มา ถวายเจ้าหลวงจากนายห้างตันง่วนชุน และถ้าชาวจีนมีเจ้าหลวงอุปถัมภ์หรือไว้วางใจทําให้ชาวจีนสะดวกในการค้าขาย มีเจ้าประจําเป็นเจ้าหลวงเปรียบเสมือนได้รับสิทธิพิเศษอีกด้วย

สัญลักษณ์พระป้ายในเชียงใหม่ และความหมายการสร้างศาลเจ้าจีน

เชียงใหม่นั้นก็มีการสร้างพระป้ายขึ้น สัญลักษณ์นี้ปรากฏคล้ายกับสิ่งที่แสดงความสัมพันธ์ของชาวจีนกับเจ้าหลวง ในสถาปัตยกรรมจีน ที่ศาลเจ้าตลาดวโรรสซึ่งแต่เดิมเป็นกาดเก่าแก่และมีข่วงเมรุที่บรรจุอัฐิเจ้านายฝ่ายเหนือ ได้มีการพัฒนาเป็นตลาดโดยเจ้าดารารัศมี จัดทําห้องแถวต่าง ๆ ซึ่งตลาดนี้เป็นที่เรือสินค้านําสินค้ามาขาย ตลาดวโรรสเป็นจุดที่มีศาลเจ้าจีนตั้งอยู่ ศาลเจ้าจีนสร้างจากแรงศรัทธาจากลัทธิเต๋า และมีความเชื่อพื้นบ้านประกอบอยู่ ศาลเจ้าจีนจึงเป็นเสมือนที่พึ่งทางใจของชาวจีน

ชาวจีนสร้างศาลเจ้าเป็นประเพณีความเชื่อมาแต่โบราณ เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือสร้างเพื่อเป็นศาลเจ้าประจําตระกูลเช่นกัน การสร้างศาลเจ้าตามความนิยมเพื่อแก้บน เพื่อการค้า ศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ ศาลเจ้าในเมืองจีนนอกจากเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้านแล้ว ก็ยังเป็นสถานศึกษาของบุตรหลานหรืองานฉลอง ศาสนสถานนั้นก็กลายเป็นแหล่งชุมชนของชนทุกชั้นเหมือนตลาดนัดที่ผู้คนจับจ่ายซื้อของตามประสงค์ ศาลเจ้ายังเป็นศูนย์รวมการละเล่นชนิดต่าง ๆ ให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมในงานเทศกาลต่าง ๆ

ศาลเจ้ากวนอู

ประวัติของศาลเจ้าไม่มีผู้ใดบันทึกไว้ แต่เล่าสืบต่อกันมาว่าชาวจีนที่ก่อตั้งศาลเจ้าบู้เบี้ย เป็นพวกอั้งยี่ ซึ่งย่อมจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในศิลปะการต่อสู้หรือวิทยายุทธ์อยู่บ้าง จึงเป็นที่รู้จัก สันนิษฐานว่าอั้งยี่อพยพมาจากกรุงเทพฯ บทบาทของอั้งยี่ที่ก่อตั้งศาลเจ้าเป็นไปในลักษณะกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น คล้ายกับกลุ่มอิทธิพลของจีนเต็งที่มีอิทธิพลต่อแรงงานคนจีนในเมืองเชียงใหม่ กล่าวคือสามารถควบคุมสั่งการแรงงานเหล่านั้นได้ ในระยะที่การขนส่งสินค้าระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ยังอาศัยทางรถไฟเพียงทางเดียว อั้งยี่กลุ่มนี้ก็ควบคุมแรงงานคนจีนที่สถานีรถไฟ ทั้งยังมีกิจการที่เกี่ยวพันกับอํานาจ อิทธิพล

ความหมายของศาลเจ้าบ่งบอกถึงประวัติการก่อตั้งศาลเจ้า บู้ หรือบู๊ แปลว่าวิทยายุทธ์ เบี้ย แปลว่าศาลเจ้า

ส่วนชื่อตรอกเหล่าโจ๊วก็มีความหมายโยงถึงบรรพบุรุษเก่าเดิม คําว่า เหล่า แปลว่าอาวุโสหรือสูงอายุ โจ๊วคือบรรพบุรุษ ส่วนที่ชื่อกลายเป็นศาลเจ้ากวนอูในเวลาต่อมาก็ไม่ได้ห่างไปจากความเป็นมาของการก่อตั้ง เพราะเทพเจ้ากวนอูเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์

ศาลเจ้าบู้เบี้ยปัจจุบันรู้จักในชื่อศาลเจ้ากวนอู ตั้งอยู่ในตลาดข่วงเมรุ หรือตรอกเหล่าโจ๊ว ทางด้านทิศตะวันตกของตลาดวโรรส ศาลเจ้าแห่งนี้ป้ายบอกอายุศาลเจ้าไม่น้อยกว่า 120 ปี แต่ คาดว่าอายุไม่น่าจะถึง เพราะจากการคํานวณโดยยึดหลักจากการพิราลัยของเจ้าอินทวิชยานนท์ ในปี พ.ศ. 2440 แต่ศาลเจ้าแห่งนี้กลับสร้างก่อนซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะการสร้างพระป้ายนั้นเพื่อ กราบไหว้ผู้ล่วงลับไปแล้ว ศาลเจ้าแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ ในรูปแบบศิลปกรรมต่าง ๆ ศาลแห่งนี้เป็นสถานที่ที่ชาวจีนกราบไหว้สักการะ ดังนั้นจึงควรจะมีแต่สถาปัตยกรรมลวดลายศิลปกรรมศาลเจ้าหรือประติมากรรมเทพเจ้าจีน แต่พบว่ามีศาลของเจ้าหลวงเชียงใหม่และแม่เจ้าทิพเกสร ซึ่งมีพระนามของท่านสลักเอาไว้ทั้งภาษาจีนและตัวอักษรธรรมล้านนา ซึ่งน่าจะเป็นศาลเจ้าจีนที่ชาวจีนสร้างให้กับเจ้าหลวงเป็นศาลเจ้าประจําตระกูล เพราะคนจีนที่เมืองจีนมีการสร้างศาลเจ้าประจําตระกูล ศาลเจ้าประจําตระกูลของกษัตริย์ก็มีเช่นกัน

ซึ่งการศึกษาจากประวัติศาสตร์สังคมจีนในไทย สังเกตว่าสมาคมลับช่วงนี้ที่สัมพันธ์กันกับในประวัติศาสตร์ว่าเทพเจ้ากวนอูเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของสมาคมที่มีการค้าฝิ่น และอื่น ๆ อยู่ ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าศาลเจ้ากวนอูในปัจจุบันมีสมาคมดนตรีจีนอยู่ด้วย จากหลักฐานคําบอกเล่าว่าคนสร้างศาลเจ้าจีนเป็นคนจีนที่อพยพขึ้นมาซึ่งเป็นพวกอั้งยี่ สมาคมลับของจีนคือพวกอั้งยี่มีการจัดโครงสร้างหัวหน้าอาวุโสต่าง ๆ ดื่มเลือดสาบาน อุทิศตนให้แก่ภราดรภาพ และรักษาความลับของสมาคมโดยพิธีกรรมและสัญลักษณ์ทางศาสนากวนอู ถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่มอิทธิพลอั้งยี่แต่กลุ่มนี้ก็ได้แสดงถึงความจงรักภักดีต่อเจ้าหลวงในการสร้างศาลเจ้าหลวง เพราะการเข้ามาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ มีแต่ความสะดวกสบายทางการค้าขาย และชาวจีนได้รับความยุติธรรมกับสิทธิพิเศษต่าง ๆ จากเจ้าหลวงเป็นอย่างดี

สมาคมในปัจจุบันที่ตั้งอยู่ข้างศาลเจ้ากวนอูเป็นสมาคมสอนดนตรีจีน ในปัจจุบันชาวจีนได้ยกเจ้าหลวงของเชียงใหม่ว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นเทพของชาวจีน ซึ่งแสดงถึงการยอมรับ เข้ามาพึ่งพระบารมีของเจ้าหลวงเชียงใหม่ จึงมีพระป้ายและศาลเจ้าหลวงให้เคารพบูชาคล้ายกับที่กรุงเทพฯ ที่รัชกาลที่ 4 มีคติการสร้างพระป้ายให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า

หลังจากรัชกาลที่ 4 สวรรคต รัชกาลที่ 5 ก็ทรงสร้างพระป้ายให้เพื่อแสดงความเป็นกษัตริย์และเทพของชาวจีน และชาวจีนมีการตั้งโต๊ะบูชาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดําเนินผ่านย่านสําเพ็ง กับปัจจุบันคนจีนที่เยาวราชก็มีซุ้มเฉลิมพระเกียรติให้กับรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ 9)

ศาลเจ้าสันป่าข่อย

ตลาดวโรรสนั้นอยู่ในชุมชนชาวจีนที่ติดกับท่าน้ำ จึงเป็นการค้าขายทางเรืออยู่ระหว่างตลาดต้นลําไยกับตลาดสันป่าข่อยซึ่งอยู่ใกล้สถานีรถไฟ น่าสนใจว่าได้เกิดชุมชนชาวจีนสร้างตลาดสันป่าข่อยขึ้น ซึ่งการค้าทางเรือของเชียงใหม่ได้สิ้นสุดลงเมื่อมีการสร้างสถานีรถไฟเชียงใหม่ ก็เลยหันมาขนส่งสินค้าทางรถไฟขึ้นแทน จึงมีตลาดขึ้นเพื่อการค้าขายดังเช่นตลาดวโรรส ตลาดต้นลําไยที่อยู่ใกล้ท่าเรือ แต่ที่นี่อยู่ใกล้สถานีรถไฟ ซึ่งตลาดนี้คาดว่าอายุน่าจะมากกว่า 30 ปี

ตลาดสันป่าข่อยในอดีตเคยเป็นเขตที่ดินของเจ้านายฝ่ายเหนือ (สัมภาษณ์อาจารย์สมโชติ อ๋องสกุล)

พระป้าย และรูปเจ้าแก้วนวรัฐ ศาลเจ้าสันป่าข่อย เชียงใหม่

สันนิษฐานของผู้เขียน ที่นี่ก็มีองค์ประกอบของคติความเชื่อ ซึ่งเป็นการแสดงความเป็นศาลเจ้าหลวงได้ แม้จะไม่เป็นสถาปัตยกรรมที่มีแบบแผนเสามังกรต่าง ๆ ซุ้มประตูทางเข้าอื่น ๆ เพราะว่าศาลเจ้านี้สร้างอยู่ภายในตึกแถว ซึ่งตามความเชื่อแล้วการสร้างศาลเจ้าในตลาดเพื่อการค้าขายที่รุ่งเรือง ภายในศาลเจ้ามีรูปถ่ายเจ้าแก้วนวรัฐ มีอักษรจีนแกะสลักพระป้าย ซึ่งแปลว่ากษัตริย์แห่งประเทศนี้ (จากการแปลของชาวจีน) แต่ว่าไม่มีอักษรธรรมล้านนา กลับมีอักษรภาษาไทยเรียกเจ้าแก้วนวรัฐนั้นว่าเจ้าพ่อหลวง ซึ่งแสดงถึงว่าการสร้างพระป้ายเป็นการแสดงว่าต้องการให้คนจีนเคารพบูชายอมรับการปกครองของเจ้าหลวงเปรียบเสมือนเทพเจ้า กราบไหว้เพื่อแสดงความกตัญญต่อเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเชียงใหม่ นอกจากนั้นมีจิตรกรรมฝาผนังแบบจีนและลวดลายประดับต่าง ๆ

แต่ก็จะเห็นได้ว่าตลาดกับศาลเจ้าจีนหาคําบอกเล่าไม่ได้ว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่ตลาดน่าจะอายุเท่ากับศาลเจ้าจีน จากการสัมภาษณ์สมาคมที่ตั้งอยู่ด้านข้างศาลเจ้าก็มีสมาคมอยู่ด้วย ซึ่งน่าสนใจมาก จะเห็นได้ว่าสมาคมลับของคนจีนสัมพันธ์กับเทพเจ้ากวนอูด้วย ที่ศาลเจ้าสันป่าข่อยนั้นนอกจากมีเทพเจ้าปุ่นเถ่ากง ปุ่นเถ่าหม่า เป็นหุ่นแกะสลัก แต่จะเห็นรูปกวนอูซึ่งตั้งบูชาเพื่อสิริมงคลในการค้าขาย ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีคุณธรรมตามคําสอนของขงจื้อ

น่าสังเกตว่าศาลเจ้าเช่นศาลเจ้ากวนอูมีความสัมพันธ์กับสมาคมลับอั้งยี่ ศาลเจ้าสันป่าข่อยก็มีรูปกวนอูอยู่ด้วยจะเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่สมาคมจีนที่นี่ก็มีกิจกรรมร่วมกันจัดงานงิ้วด้วย และศาลเจ้า จีนที่นี่ก็น่าจะเป็นศาลเจ้าอีกแห่งที่ชาวจีนให้ความเคารพศรัทธายกย่องในความเป็นเทพของเจ้าหลวงเชียงใหม่ โดยการสร้างศาลเจ้าหลวงแห่งนี้ให้แก่เจ้าแก้วนวรัฐ เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าแก้วนวรัฐเหมือนเช่น ชาวจีนแต้จิ๋ว นายชู โอสถาพันธุ ที่ได้อพยพมาจากเมืองจีนมาปักหลักอยู่เชียงใหม่ มีกิจการมากมาย และได้สร้างตลาดสดขึ้นในบริเวณคุ้มเก่าเจ้าแก้วนวรัฐ ก็เลยตั้งชื่อตลาดนวรัฐเป็นอนุสรณ์

การเปลี่ยนแปลงการปกครองกับชาวจีนในเชียงใหม่

เมื่อมีการรวมอํานาจทางการปกครองขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา หัวหน้าคนจีนในเชียงใหม่จึงถูกแต่งตั้งโดยตรงจากกรุงเทพฯ และถูกลดอํานาจลงเหลือมีหน้าที่ไกล่เกลี่ยและค้ำ ประกัน นอกจากนี้การรวมอํานาจยังทําให้บทบาทของเจ้าหลวงเชียงใหม่ได้สิ้นสุดอํานาจการบริหารลง จนมาถึงพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐซึ่งเป็นเจ้าหลวงองค์สุดท้ายซึ่งอยู่ร่วมสมัยกับรัชกาลที่ 7

ดังที่กล่าวไปแล้วว่าชาวจีนได้สร้างศาลเจ้าขึ้นเพื่อแสดงความจงรักภักดีและเคารพบูชาเจ้าหลวงเปรียบเป็นเทพเจ้า แต่ก็ปรากฏว่าชาวจีนในเชียงใหม่ก็ได้แสดงความเคารพแก่กษัตริย์ไทยเช่นกัน

เมื่อรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสเชียงใหม่ ก็จะเห็นถึงการที่ชาวจีนได้มาแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไทย พ่อค้าจีนจังหวัดเชียงใหม่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท มีตัวแทนพ่อค้ากล่าวต้อนรับ และได้นํากิมฮวยอั้งติ๋วกับหีบกาไหล่ทองบรรจุคําถวายชัยมงคล ทูลเกล้าฯ ถวาย ที่หลังหีบมีอักษรจีนลงยา 4 คํา ว่า “เซี้ยว ซิ่ว บ้อ เกียง” แปลว่า “ขอให้พระองค์มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน”

จะเห็นว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการรวมอํานาจ เชียงใหม่ก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยาม และ ราวจีนในเชียงใหม่ก็พยายามเข้ามาแสดงความจงรักภักดีต่อรัชกาลที่ 7

ซึ่งต่อมา พ.ศ. 2501 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จประพาสเชียงใหม่ กลุ่มพ่อค้าจีนได้ทําซุ้มเฉลิมพระเกียรติ มีนักเรียน ลูกเสือ และราษฎรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ของชาวจีนในเชียงใหม่กับกษัตริย์ของไทย ประเทศสยามที่เปลี่ยนชื่อมาเป็นประเทศไทย การปกครองที่เปลี่ยนไปเชียงใหม่ถูกปกครองด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด อยู่ภายใต้รัฐบาล มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเพียงหนึ่งเดียว ไม่มีเจ้าประเทศราชอื่น ๆ คนล้านนาก็ไม่มีเจ้าหลวงอีกต่อไป แต่มีพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์เดียว

เมื่อไม่มีเจ้าหลวงคนล้านนา ไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงยกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นเจ้าพ่อหลวงเพื่อแสดงถึงการเคารพจงรักภักดีต่อกษัตริย์ ซึ่งคนจีนก็มีต่อรัชกาลที่ 9 โดยจะกล่าวถึงศาลเจ้าหลวงอีกแห่งที่เป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ไทย

ศาลเจ้าปุงเถ่ากง

เมื่อก่อนศาลเจ้าแห่งแรกของเชียงใหม่นี้จะอยู่ติดริมน้ำปิง ซึ่งอยู่ในย่านการค้าทางเรือ แต่ในปัจจุบันที่มีการตัดถนนผ่านมีตึก อาคารได้บดบังศาลเจ้าซึ่งสร้างโดยกลุ่มชาวจีนที่ค้าขายทางน้ำเมื่อประมาณ 129 ปีก่อน ว่ากันว่าบริเวณนี้ในอดีตเคยเป็นวัดมาก่อน ชื่อว่าวัดเณรจิ๋ว วัดนี้มีเจดีย์ (ซึ่งมีทรงคล้ายลักษณะกับเจดีย์วัดเกต) บรรจุพระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้าเอาไว้ และวัดก็ร้างในเวลาต่อมา ศาลเจ้านี้ตั้งอยู่บริเวณที่เดิมของวัดเณรจิ๋ว ซึ่งศาลเจ้าแต่เดิมเป็นศาลเจ้าอาคารไม้ชั้นเดียวเล็ก ๆ ทางการได้รื้อถอนเอาซากปรักหักพังของเจดีย์ออกไป ซึ่งก็มีเรื่องเล่าเชื่อมโยงพระธาตุนี้กับที่วัดเกต เพราะเป็นชุมชนชาวจีนเหมือนกัน เริ่มบูรณะเป็นอาคารกึ่งตึกกึ่งไม้เมื่อ พ.ศ. 2519

ต่อมา พ.ศ. 2539 ได้มีการสร้างศาลเจ้าเป็นอาคารรูปแบบปัจจุบัน การรวมกลุ่มสมาคมช่วยกันปรับปรุงมีกิจกรรมงานงิ้วประจําปี ภายในอาคารมีการประดับตกแต่งสวยงาม ทั้งปูนปั้น จิตรกรรม ลวดลายต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการสร้างศาลเจ้าใหม่ และฉลองในปี พ.ศ. 2542 เพื่อเป็นการฉลองปีพระชนมพรรษาครบ 6 รอบของรัชกาลที่ 9 ได้ติดตราสัญลักษณ์พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบไว้ ล้วนแล้วแต่แสดงถึงการสร้างสัญลักษณ์ว่านี่เป็นศาลเจ้าของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นการแสดงความจงรักภักดียกย่องกษัตริย์ เหมือนที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมของจังหวัดเชียงใหม่สมาคมไหหนํา (ที่นี่เรียกตัวเองว่าไหหนําไม่ใช่ไหหลํา) จัดงานขบวนแห่เทิดพระเกียรติเนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา พร้อมทั้งฉลององค์เจ้าแม่ทับทิมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2542

ศาลเจ้าปุงเถ่ากง เชียงใหม่

สรุป

จากการศึกษาประวัติศาสตร์ร่วมกับศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมเข้ามาวิเคราะห์ถึงบทบาทของชาวจีนตั้งแต่การเข้ามาค้าขายแบบวัวต่างม้าต่าง จนพัฒนามาค้าขายทางเรือ การเปลี่ยนแปลง การอพยพโยกย้ายของชาวจีนเข้ามาในอําเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อเข้ามาค้าขายก็ต้องอาศัยการพึ่งพิงกับเจ้าหลวงและเจ้านายฝ่ายเหนือของเชียงใหม่ เพราะในฐานะที่ไม่ใช่คนในอาณาจักร หรือคนของประเทศ การค้าขายจึงจําเป็นที่ต้องมาพึ่งพิงการค้ากับ เจ้าหลวงและเจ้านายซึ่งมีอํานาจควบคุมเศรษฐกิจและการเมือง การมีความสัมพันธ์ในการช่วยเก็บภาษีอากรทําให้ชาวจีนมีฐานะ ร่ำรวย และยังได้รับความไว้วางใจถึงขนาดเจ้าหลวงได้ขอคําปรึกษากับชาวจีน การค้าขายที่ทําได้สะดวกกับการที่ได้รับความไว้วางใจ ทําให้เป็นการยกฐานะตัวเอง มียศถาบรรดาศักดิ์ มีฐานะที่มั่นคง คอยดูแลชาวจีนด้วยกันเอง

จากสมัยเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ถึงสมัยของเจ้าแก้วนวรัฐ ชาวจีนก็ได้สร้างความสัมพันธ์มีการค้าขายกับเจ้าหลวงและแสดงความจงรักภักดีหาสินค้าใหม่ ๆ ไปถวายกับเจ้าหลวง ความสัมพันธ์ อันดีทั้งด้านการค้าขายทําให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการสุขาภิบาล ซึ่งนอกจากยกฐานะมั่นคงค้าขายร่ำรวยจนได้เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการสุขาภิบาล ทําหน้าที่คอยให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพทุกรูปแบบให้แก่ชาวจีนในเชียงใหม่แล้ว การเข้าไปมีสัมพันธ์กับเจ้าหลวงทําให้มีสวัสดิภาพปลอดภัยในการ ดําเนินชีวิตและการค้าขาย มีสิทธิพิเศษต่าง ๆ

การสร้างพระป้ายสัญลักษณ์แสดงถึงความสัมพันธ์ของชาวจีนกับเจ้าหลวง ในสถาปัตยกรรมศาลเจ้าจีนที่ตลาดวโรรส ที่แต่เดิมเป็นกาดเก่าแก่มีศาลเจ้าจีนและพระป้ายเป็นสัญลักษณ์ที่เจ้า หลวงเป็นตัวแทนเทพเจ้าที่ปกปักรักษาและสนับสนุนทางการค้า เพราะการสร้างศาลเจ้าจีนมีความหมายการสร้างศาลเจ้าจีนในตลาดการค้าจะรุ่งเรือง ซึ่งนอกจากการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าแล้วชาวจีนได้สร้างความสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ ความเชื่อและพิธีกรรมอีกด้วย เพื่อแสดงถึงความเคารพ ความมั่นคง ความปลอดภัยจาก ความแตกต่างของชนชาติจีนที่มาอาศัยในอาณาจักรล้านนา จึงต้องเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองและนับถือเจ้าหลวงหรือกษัตริย์ เปรียบเสมือนที่นับถือฮ่องเต้ เป็นการแสดงความจงรักภักดีจากการสร้างพระป้ายในศาลเจ้าจีนที่ศาลเจ้ากวนอูและศาลเจ้าจีนในตลาดสันป่าข่อย

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอาณาจักรล้านนาที่ปกครองโดยเจ้าหลวงค่อย ๆ สูญเสียการปกครองบริหารอาณาจักร เป็นการรวมศูนย์อํานาจจากส่วนกลาง จนถึงช่วงรัชกาลที่ 7 ชาวจีนก็ได้มาถวายความจงรักภักดีแก่พระมหากษัตริย์ไทย นําสิ่งของมีค่ามาถวายเพื่อแสดงความจงรักภักดี จวบจนรัชกาลปัจจุบันการปกครองของเจ้าหลวงไม่มีหลงเหลืออยู่ มีแต่การปกครองโดยผู้ว่าราชการภายใต้รัฐบาลมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเพียงหนึ่งเดียว ที่คนล้านนาและชาวจีนถือเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แสดงความจงรักภักดี มีการสร้างศาลเจ้าจีนที่ปรับปรุงขึ้นมาใหม่ฉลองปีพระชนมพรรษา 6 รอบ เพื่อเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 9 ติดตราสัญลักษณ์ แท่นเล่าประวัติศาลเจ้าปุงเถ่ากง สะท้อนถึงการสร้างความเชื่อเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ และศาลเจ้าแม่ทับทิมมีขบวนแห่เทิดพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนม พรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2542 เป็นการจัดงานร่วมกับฉลององค์เจ้าแม่ทับทิม

แสดงถึงความจงรักภักดีที่มีต่อกษัตริย์ไทยบนฐานของความเชื่อและพิธีกรรม

ซึ่งจะเห็นได้จากบทบาทศาลเจ้าจีนแสดงถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของชาวจีนกับเจ้าหลวงถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ศาลเจ้าจีนที่เปลี่ยนเป็นศาลเจ้าหลวง ที่แสดงให้เห็นว่าชาวจีนพยายามแสดงความจงรักภักดี จากการพึ่งพระบรมโพธิสมภารของเจ้าหลวงในเชียงใหม่ถึงเจ้าพ่อหลวงที่เป็นสถาบันกษัตริย์ไทย ความเชื่อ พิธีกรรมเป็นสิ่งที่น่าสนใจของศาลเจ้าจีนในเชียงใหม่ เป็นการเพิ่มคุณค่าทางการศึกษาความหลากหลาย วัฒนธรรมในประเทศไทยที่พบได้ นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรม ลวดลาย องค์ประกอบศิลป์ ความเชื่อเทพเจ้าของชาวจีนที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เก็บรักษาของศาลเจ้าจีน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กรกฎาคม 2562