ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ |
เผยแพร่ |
วาทกรรม “ชิงสุกก่อนห่าม” เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การกล่าวหา “คณะราษฎร” ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย
ในแบบเรียน รายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม. 4-6 เล่ม 1 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง อธิบายว่า “ก่อนการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ในกรุงเทพฯ มีการออกหนังสือพิมพ์ของเอกชนหลายฉบับ… หนังสือพิมพ์เหล่านี้ได้พากันวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานที่บกพร่องของรัฐบาลอยู่บ่อยๆ อีกทั้งยังยกย่องระบบประชาธิปไตยอีกด้วย แต่รัฐบาลก็มิได้ลงโทษการตำหนิติเตียนของหนังสือพิมพ์แต่อย่างใด…” (ไพฑูรย์ มีกุศล และคณะ, 2553)
เรื่องข้างต้นตรงกันข้ามกับที่เขียนในหนังสือประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย โดย คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร น. 187 อธิบายไว้ว่า “ข้าราชการระดับสูงบางคนไม่พอใจสถานการณ์ดังกล่าวอย่างยิ่ง รัฐบาลร่างกฎหมายต่อต้านบอลเชวิค… หนังสือพิมพ์ถูกปิดมากขึ้น มีการใช้ความรุนแรงข่มขู่นักหนังสือพิมพ์บางคน รัฐบาลใช้กฎหมายคนเข้าเมืองเนรเทศนักเขียนปากกล้าหลายคน” (คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2557 : 187)
จะเห็นได้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะยอมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสรีโดยไม่มีการควบคุม เพราะนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาแล้วก็มีการจับกุมราษฎรที่วิจารณ์มาโดยตลอด เช่น การขังลืมเทียนวรรณ หรือกรณีของถวัติ ฤทธิเดช
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าเนื้อความในหนังสือแบบเรียนคลาดเคลื่อนกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
คณะราษฎร ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย
อีกกรณีหนึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญเช่นกันคือกรณีของกบฏบวรเดช เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2476 โดยในหนังสือแบบเรียนประวัติศาสตร์ ม. 4-6 เล่มเดิมกล่าวว่า “…การกบฏครั้งนี้มีผลกระทบกระเทือนต่อพระราชฐานะของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะคณะราษฎรเข้าใจว่า พระองค์ทรงสนับสนุนการกบฏ ทั้งๆ ที่ทรงวางพระองค์เป็นกลาง…” (ไพฑูรย์ มีกุศล และคณะ, 2553 : 133) พูดอย่างกระชับที่สุดคือพระองค์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกบฏบวรเดชแต่ประการใดเลย
อย่างไรก็ตาม เรื่องกบฏบวชเดชในแบบเรียนก็คือหนังคนละม้วนกับที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยได้เขียนบรรยายไว้ว่า “เมื่อกบฏบวรเดชเกิดขึ้น พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินทางเรือไปภาคใต้ไม่ได้ทรงสนับสนุนอย่างเปิดเผย ภายหลังทรงขอให้มีนิรโทษกรรมแก่ฝ่ายกบฏ คณะราษฎรเชื่อว่าพระองค์ทรงช่วยวางแผนและการเงิน ซึ่งต่อมามีหลักฐานว่าทรงให้เงินและกำลังใจ” (คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2557)
เนื้อหาข้างต้นที่คริสและผาสุกเขียนนั้นอ้างอิงมาจากหนังสือของณัฐพล ใจจริง อีกทอดหนึ่งคือเรื่อง ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) ซึ่งในหนังสือเล่มนี้เขียนว่า “พระองค์เจ้าบวรเดชขอเป็นผู้นำ “กองทัพสีน้ำเงิน” และได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจะ “เปลี่ยนแปลงใหม่” ซึ่งต่อมามีเช็คสั่งจ่ายของพระคลังข้างที่ให้แก่พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นจำนวน 200,000 บาท จากนั้น ม.จ. วิบูลย์สวัสดิวงศ์ ราชเลขานุการในพระองค์ก็ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับผู้นำกองทัพสีน้ำเงิน” (ณัฐพล ใจจริง, 2556 : 22-27) “กองทัพสีน้ำเงิน” ที่ว่านี้ก็คือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของฝ่ายเจ้าในการเอาชนะฝ่ายประชาธิปไตยหรือคณะราษฎรนั่นเอง
ความแตกต่างของข้อมูลระหว่างแบบเรียนกับหนังสือประวัติศาสตร์ของนักวิชาการสมัยใหม่นั้น อาจกล่าวได้ว่าด้านหนึ่งเป็นเพราะความไม่ทันสมัยของข้อมูล หรืออาจเป็นเพราะประวัติศาสตร์ไทยในสมัยประชาธิปไตยถูกทำให้บิดเบี้ยวมาช้านาน โดยความบิดเบี้ยวที่ว่านั้นบางกรณีก็เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตซ้ำ (reproduction) หนังสือประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ความผิดอะไรในการพิมพ์ซ้ำ แต่คงเป็นเรื่องยากพอสมควรสำหรับคนนอกวงการประวัติศาสตร์ที่จะเข้าใจความซับซ้อนของมัน
นอกจากปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างแบบเรียนกับงานเขียนทางประวัติศาสตร์กระแสรองแล้ว ยังพบว่าข้อมูลและเนื้อหาประวัติศาสตร์สมัย 2475 นั้นถูกตัดต่อหรือทำให้หายไปอยู่บ่อยครั้ง เพื่อให้แลดูว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านนั้นไม่มีความรุนแรง
ตัวอย่างเช่น ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ข้อที่ 4 ในหนังสือแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยจะเขียนเพียงแค่ว่า “4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน” แต่ข้อความดั้งเดิมตามประกาศของคณะราษฏรคือ “4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้” ซึ่งในแบบเรียนของสำนักพิมพ์บางแห่งก็ได้ตัดออกไป (ณรงค์ พ่วงพิศ และ วุฒิชัย มูลศิลป์, 2552)
น่าสังเกตว่านอกเหนือไปจากแบบเรียนแล้ว เรามักจะพบการตัดข้อความท่อนหลังนี้ออกไปเสมอในหลายเว็บไซต์ด้วยเช่นกัน เพราะการลงข้อมูลฉบับเต็มทั้งหมดอาจนำไปสู่ปัญหาทางกฎหมายบางมาตรา ซึ่งภาวะเช่นนี้สะท้อนถึงบรรยากาศ (sphere) ของคนในสังคมที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว หรือการตัดออกก็เพราะกลัวจะไปกระทบต่อศรัทธากระแสหลักของสังคม
เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 “ชิงสุกก่อนห่าม” หรือไม่?
ในสังคมไทยมักมีการถกเถียงกันอยู่เสมอว่า เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นการ ชิงสุกก่อนห่าม ของคณะราษฎรหรือไม่ เพราะฝ่ายหนึ่งก็จะอ้างว่ารัชกาลที่ 7 กำลังทรงเตรียมการมอบรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนในสมัยของพระองค์ แต่ถูกคณะราษฎรปฏิวัติเสียก่อน ความคิดเช่นนี้มีมานานแล้วและยังคงปรากฏในหนังสือแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยในปัจจุบัน ดังข้อความจากหนังสือแบบเรียนเล่มเดียวกันกล่าวว่า
“รัชกาลที่ 7 ทรงสนับสนุนการปกครองที่มาจากประชาชน แต่พระองค์มีพระราชวินิจฉัยว่าการปกครองระบอบนี้จะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยฝึกหัดประชาชนให้รู้จักใช้สิทธิในการออกเสียง…” (ไพฑูรย์ มีกุศล และคณะ, 2553 : 127)
นอกจากนี้ยังเขียนด้วยว่า “รัชกาลที่ 7 ทรงมีแผนที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่าในรัชกาลนี้มีร่างรัฐธรรมนูญถึง 2 ฉบับ ฉบับแรก… บัญญัติให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้อำนาจแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี… ฉบับที่สอง… ไม่เห็นด้วยที่จะประกาศใช้ด้วยเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา ควรให้ประชาชนได้มีประสบการณ์ในการปกครองตัวเองมากกว่าที่เป็นอยู่ก่อน แผนพัฒนาการปกครองของรัชกาลที่ 7 จึงสิ้นสุดลงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง…” (ไพฑูรย์ มีกุศล และคณะ, 2553 : 127)
การนำเสนอว่ารัชกาลที่ 7 ได้ทรงสั่งให้คนร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้ว แล้วเมื่อต่อกับอำนาจในการมอบให้นั้น ก็อาจตีความได้ว่าพระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญของประชาธิปไตยไม่ระดับใดก็ระดับหนึ่ง แต่เราควรตั้งคำถามต่อว่ามีหลักฐานอื่นใดหรือไม่ที่สะท้อนถึงการเตรียมการ “ฝึกหัดประชาชน”
นักประวัติศาสตร์มักถูกสอนเสมอว่าต้องเชื่อในหลักฐานชั้นต้น (primary source) และเชื่อในพยานผู้เห็นเหตุการณ์ (eyewitness) ยิ่งคนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์ยิ่งมีความน่าเชื่อถือเสียด้วย
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างหลักฐานชิ้นหนึ่งขึ้นมา คือบันทึกของทูตญี่ปุ่นชื่อ ยาสุกิจิ ยาตาเบ ได้กล่าวว่า “ประชาชนสยามไม่เคยได้รับการฝึกฝนทางการเมือง ไม่มีอิสรภาพในการพูด หากไม่มีการปฏิวัติและรอให้พระปกเกล้าฯ ปฏิรูปการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น ‘รอไปอีกหนึ่งร้อยปีก็ไม่มีทางสำเร็จ’ ” (อ้างจาก ณัฐพล ใจจริง, 2556)
ความจริงข้อนี้อาจเห็นได้จากพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 7 เองที่ทรงกล่าวว่า “ประเทศนี้พร้อมแล้วหรือยังที่จะมีการปกครองแบบมีผู้แทน… ตามความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าขอย้ำว่าไม่” (อ้างจาก ทวีศักดิ์ ตั้งปฐมวงศ์, 2555 : 43)
ณัฐพล ใจจริง ได้อธิบายไว้ชัดว่า แท้จริงแล้วเป้าหมายของรัชกาลที่ 7 หาใช่การไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่คือการรวบอำนาจจากเสนาบดีและพระประยูรญาติให้กลับคืนสู่กษัตริย์อีกครั้ง ดังเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับแรกนั้น “ใน พ.ศ. 2469 พระปกเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้พระยากัลยาณไมตรีร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนรูปการปกครองขึ้น สาระสำคัญในร่างกฎหมายฉบับนี้คือ กษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย… และไม่มีสภานิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีแต่เพียงองคมนตรีสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งของกษัตริย์…” และกฎหมายฉบับที่ 2 ใน พ.ศ. 2474 สาระสำคัญคือ กษัตริย์มีอำนาจสูงสุด (ณัฐพล ใจจริง, 2556 : 8)
ความจริงแล้ว ในหนังสือแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยยังมีการพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์ไทยกับประชาธิปไตยอีกหลายเรื่อง ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามในการทำให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นผลมาจากการสั่งสมและเตรียมการของกษัตริย์ไทยมาช้านานแล้ว โดยปักหมุดหมายตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตัวอย่างเช่นการอธิบายว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามคำแหงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย และนำไปเปรียบเทียบกับแมกนาคาต้า (Magna Carta) ผลจากการตีความดังกล่าวทำให้กษัตริย์ไทยโบราณกลายเป็นกษัตริย์ประชาธิปไตยไปโดยอัตโนมัติ (ทวีศักดิ์ ตั้งปฐมวงศ์, 2555 : 42)
ทั้งหมดนี้ก็คือกระบวนการที่ต้องการทำให้ฐานะของกษัตริย์เปรียบได้กับการเป็นผู้ก่อรากฐานของประชาธิปไตยจากต้นทางของชาติไทยนับแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน เท่ากับว่าประชาธิปไตยของคณะราษฎรเป็นเพียงจุดสะดุดของสายธารประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนั้นมาตลอด
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดห้องประชุมครั้งแรกของ “คณะราษฎร” 7 ผู้ก่อตั้งพูดคุยเรื่องอะไรกัน?
- ผ่าหนังสือ “แบบเรียน” ยุคสุโขทัยถึงคณะราษฎร การศึกษาเจริญช้า เกี่ยวกับแบบเรียนไหม?
- หมุดหาย คณะราษฎรโผล่ : บทสำรวจงานเขียนเกี่ยวกับ “ปฏิวัติ 2475”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “บทสนทนาประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยและข้อเสนอสู่อนาคต” เขียนโดยพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2559
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563