ผ่าหนังสือ “แบบเรียน” ยุคสุโขทัยถึงคณะราษฎร การศึกษาเจริญช้า เกี่ยวกับแบบเรียนไหม?

หนังสือ แบบเรียน แบบเรียนหลวง
ภาพหนังสือแบบเรียนหลวง จาก หนังสือ "ความเป็นมาของแบบเรียนไทย" กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ

ผ่าหนังสือ “แบบเรียน” ยุคสุโขทัยถึงคณะราษฎร การศึกษาเจริญช้า เกี่ยวกับแบบเรียนไหม?

แบบเรียนโบราณ

สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี มีตัวอักษรไทยเกิดขึ้น แต่ยังไม่มีแบบเรียนไทย ซึ่งสันนิษฐานว่า แบบเรียนไทยสมัยสุโขทัยคงเป็นแบบเรียนภาษาอื่น อาทิ ภาษาบาลี และภาษาเขมร เป็นต้น

ข้อความศิลาจารึกไม่น่าถือว่าเป็นแบบเรียน ควรเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีมากกว่า

หนังสือ “ประวัติกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2435-2507” กล่าวถึงประวัติการศึกษาไทย ดังนี้ :

“การศึกษาได้จัดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี (พ.ศ. 1781-1921) แต่เป็นการศึกษาแผนโบราณ ซึ่งเจริญรอยสืบต่อมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยกรุงสุโขทัย รัฐและวัดรวมกันเป็นศูนย์กลางแห่งประชาคม กิจกรรมต่างๆ ของรัฐและวัดย่อมเป็นการสอนประชาคมไปในตัว

วิชาที่เรียนคือภาษาบาลี ภาษาไทยและวิชาสามัญขั้นต้น สำนักเรียนมี 2 แห่ง แห่งหนึ่งคือวัด เป็นสำนักเรียนของบรรดาบุตรหลานขุนนางและราษฎรทั่วไป มีพระที่เชี่ยวชาญภาษาบาลีเป็นครูผู้สอน เพราะสมัยนั้นเรียนภาษาบาลีกันเป็นพื้น ใครรู้พระธรรมวินัยแตกฉานก็นับว่าเป็นปราชญ์ อีกแห่งหนึ่งคือ สำนักราชบัณฑิต ซึ่งสอนแต่เฉพาะเจ้านายและบุตรหลานข้าราชการเท่านั้น”

สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยังไม่มีแบบเรียนไทยเป็นแบบแผนแน่นอน การศึกษาทั่วไปตกอยู่กับวัด ราษฎรมักพาบุตรหลานไปฝากพระภิกษุเพื่อเรียนหนังสือไทยและบาลีตามสมควร เพื่อเตรียมตัวไว้เมื่อเติบใหญ่จะได้สะดวกแก่การอุปสมบท

ในสมัยนั้น วัดเป็นโรงเรียน พระภิกษุเป็นครู และที่เรียนคือกุฏิพระ

รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นสมัยที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางการศึกษามาก เพราะมีการติดต่อกับชาวต่างชาติชาวตะวันตก โดยเฉพาะบาทหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางเข้ามาสอนศาสนาคริสต์ในกรุงศรีอยุธยา ได้ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือแก่เด็กไทยด้วย

ดังนั้น ในรัชกาลดังกล่าวจึงมีการเรียนการสอนทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ นั่นคือนอกจากภาษาบาลี สันสกฤต และเขมรแล้ว ยังมีภาษาฝรั่งเศส มอญ และจีน อีกด้วย

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพระราชดำริว่า ถ้าไม่เอาธุระจัดการศึกษาให้รุ่งเรืองก็จะเสียเปรียบฝรั่งเศสที่เข้ามาตั้งโรงเรียนสอนหนังสือและเผยแพร่ศาสนาคริสต์

พระองค์ทรงเกรงว่าคนไทยจะหันไปเข้ารีตและนิยมแบบฝรั่ง จึงมีรับสั่งให้พระโหราธิบดี แต่งตำราเรียนหนังสือไทยขึ้นมาเล่มหนึ่ง เพื่อคนไทยจะได้มีแบบเรียนของตนเอง นั่นคือ “จินดามณี” ซึ่งเป็นแบบเรียนเล่มแรกของไทย

แบบเรียนเล่มแรก ?

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้เกี่ยวกับหนังสือ “จินดามณี” ดังนี้

“จินดามณี เป็นตำราเรียนหนังสือไทย แต่งไว้พิสดารตั้งแต่หัดอ่านเขียนจนถึงหัดแต่งโคลงฉันทกาพย์กลอนบอกไว้ในตำนานนั้นว่า พระโหราชาวเมืองโอฆบุรี (คือเมืองพิจิตร) เป็นผู้แต่ง…ด้วยปรากฏในเรื่องพงศาวดารรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ว่า เมื่อพวกบาทหลวงฝรั่งเศสเข้ามาตั้งสอนศาสนาคริสตัง ในพระนครศรีอยุธยานั้น มาตั้งโรงเรียนขึ้นสำหรับสอนหนังสือแก่เด็กไทยด้วย อาศัยเหตุนั้นเห็นว่าคงเป็นเพราะสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชดำริว่า ถ้าฝ่ายไทยเองไม่เอาธุระจัดบำรุงการเล่าเรียนให้รุ่งเรืองก็จะเสียเปรียบฝรั่งเศส พระโหราฯ คงเป็นปราชญ์มีชื่อเสียงว่าเชี่ยวชาญอักขรสมัยอยู่ในครั้งนั้น สมเด็จพระนารายณ์จึงมีรับสั่งให้เป็นผู้แต่งตำราสอนหนังสือไทยขึ้นใหม่”

“จินดามณี” เป็นแบบเรียนไทยสมัยอยุธยาเล่มเดียวเท่านั้น ที่เหลือตกทอดปรากฏเป็นหลักฐานมาจนทุกวันนี้

ในหอสมุดแห่งชาติปรากฏว่า หนังสือ “จินดามณี” มีหลายฉบับและมีความแตกต่างไปจากเดิม ทั้งนี้เพราะใช้เป็นตำราแบบเรียนภาษาไทยกันอย่างแพร่หลายมาแต่สมัยอยุธยา ซึ่งยังไม่มีเครื่องพิมพ์จึงได้แต่คัดลอกลายมือกันต่อมา ซึ่งย่อมจะคลาดเคลื่อนจากต้นฉบับเดิม

ธนิต อยู่โพธิ์ ได้ชำระสอบสวนและทำเชิงอรรถข้อความที่แตกต่างกันพร้อมกับแบ่งประเภทของหนังสือ “จินดามณี” ไว้ 4 ประ เภท ดังนี้ :

1. “จินดามณี” ฉบับความแปลก คือ เป็นฉบับที่มีข้อความแปลกไปจาก “จินดามณี” ฉบับอื่น ๆ มีอยู่ 2 ฉบับ คือ ฉบับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ประทาน 1 เล่ม (หมายเลขที่ 1) และฉบับที่เป็นสมบัติเดิมของหอสมุดแห่งชาติ 1 เล่ม (หมายเลขที่ 1/ก) ทั้งสองเล่มนี้เป็นสมุดไทยดำเส้นรง

2. “จินดามณี” ฉบับความพ้อง คือ ฉบับที่มีข้อความพ้องกันเป็นส่วนมาก มีหลายเล่มสมุดไทย หอสมุดแห่งชาติซื้อไว้บ้าง มีผู้ให้บ้าง เข้าใจว่าบางเล่มตรงกับที่หมอสมิทเคยได้ไปทำต้นฉบับพิมพ์จำหน่ายที่โรงพิมพ์ครูสมิทบางคอแหลม จ.ศ. 1232 (พ.ศ. 2413)

3. “จินดามณี” ฉบับพระนิพนธ์กรมหลวงวงษาธิราชสนิท คือฉบับที่เป็นบทนิพนธ์ใหม่สมัยรัตนโกสินทร์ เป็นคำโคลง กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงแต่งตามรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้กุลบุตรและกุลธิดาได้เล่าเรียน โดยยึดถือเอา “จินดามณี” ของพระโหราธิบดีเป็นหลักในการแต่ง

4. “จินดามณี” ฉบับหมอบรัดเลย์ รวบรวมพิมพ์จำหน่าย คือฉบับที่มีทั้งประถม ก กา แจกลูก กับประถมมาลาและปทานุกรม พิมพ์รวมอยู่ในเล่มเดียวกัน “จินดามณี” ฉบับหมอบรัดเลย์รวบรวมนี้ ต่อมาโรงพิมพ์พานิชศุภผล ได้เอามาพิมพ์จําหน่ายอีกเมื่อ ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448)

ดังนั้น กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการจึงถือว่า “จินดามณี” เป็นแบบเรียนไทยเล่มแรก และเป็นแม่บทของแบบเรียนสมัยต่อมาอีกหลายเล่มที่แพร่หลายตั้งแต่สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น

แบบเรียนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ในช่วงตอนต้นสมัยยังคงใช้หนังสือ “จินดามณี” เป็นแม่บท แต่ปรากฏว่ามีแบบเรียนเกิดขึ้นใหม่อีกเล่มหนึ่งนั่นคือ “ประถม ก กา” แจกลูกสำหรับเพิ่งหัดเรียน

หนังสือ “ประถม ก กา” พิมพ์ที่โรงพิมพ์ครูสมิท ตำบลบางคอแหลม ร.ศ. 109 (พ.ศ. 2433) ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งและไม่รู้ว่าแต่งเมื่อใด

สันนิษฐานว่าแต่งในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อใช้เป็นแบบเรียนเบื้องต้น โดยนำเอาแบบแผนของหนังสือ “จินดามณี” มาปรับปรุงให้ง่ายขึ้น และแต่งคำประพันธ์ประกอบเรื่องสำหรับช่วยให้อ่านแตกฉานและจดจำง่าย

หนังสือ “ประถม ก กา” ต่อมามีผู้แต่งขึ้นเลียนแบบอีก เรียกชื่อเหมือนกันบ้าง เพี้ยนไปบ้าง ลักษณะการแต่งเป็นคำกลอนและกาพย์เริ่มแต่ แม่ ก กา ไปจนถึงแม่เกยมารวมไว้เป็นบทๆ

หนังสือ “ประถม ก กา” รุ่นหลังมีหลายฉบับด้วยกัน อาทิ ฉบับของเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ (หม่อมราชวงศ์จิต สุทัศน์ ณ อยุธยา) พิมพ์ที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ เมื่อ ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2549) ซึ่งรวบรวมขึ้นสำหรับชั้นมูลศึกษา

นอกจาก “ประถม ก กา” จะใช้เป็นแบบเรียนแล้ว ยังมีแบบเรียนอีกเล่มหนึ่งถัดมาคือ “ประถมมาลา” หรือ “ปถมมาลา”

เชื่อกันว่าผู้แต่ง “ประถมมาลา” คือ พระเทพโมลี (ผึ้งหรือพึ่ง) แห่งวัดราชบูรณะ ในสมัยรัชกาลที่ 3

หนังสือ “ประถมมาลา” เป็นหนังสือที่จัดเป็นเบื้องกลาง ผู้เรียนต้องแจกลูกและผันอักษรได้ก่อนแล้วจึงอ่านเป็นทำนอง แบบเรียนเล่มนี้แต่งไว้เป็นคำกาพย์ เริ่มตั้งแต่ แม่ ก กา ถึงแม่เกย มีคำอธิบายวิธีอ่านและเรียนขอม และมีคำอธิษฐานของผู้แต่งซึ่งกล่าวถึงลักษณะแต่งโคลงตอนท้ายเล่มอีกด้วย

นอกจากแบบเรียนดังกล่าวมาแล้วคือ “จินดามณี” “ประถม ก กา” และ “ประถมมาลา” ยังมีแบบเรียนอื่นๆ อีก อาทิ “อักษรนิติ์” ซึ่งแต่งโดยพระอมราภิรักขิต (เกิด อมโร) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อศิษยานุศิษย์ของท่านได้ศึกษาเล่าเรียน แต่ไม่แพร่หลายเท่ากับแบบเรียน 3 เล่มข้างต้น

กฤษณา สินไชย และรัตนา ฦาชาฤทธิ์ กล่าวว่า “หนังสือที่เรียนในเบื้องต้นส่วนมาก ใช้ ประถม ก กา ซึ่งเป็นหนังสือที่หาไม่ได้ง่ายๆ เพราะครั้งนั้น ยังไม่มีการพิมพ์ โดยคัดลอกมาจากครู หรือพอจะหาได้จากพวกสมุดข่อย เมื่ออ่านหนังสือแตกแล้วก็อ่าน สุบินฑกุมาร ประถมมาลา จินดามณี แล้วจึงอ่านหนังสือประกอบอื่นๆ ต่อไป มีเสือโค จันทรโครบ สังข์ทอง กากี พระยาฉันททันต์ สวัสดิรักษา ที่สูงขึ้นไปถึงชั้นวรรณคดีก็อ่านอนิรุธคำฉันท์ สมุทรโฆษคำฉันท์”

ร้อยเอกเจมส์ โลว์ ชาวอังกฤษรับราชการอยู่เกาะปีนัง ได้คิดทำตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2371 และได้พิมพ์หนังสือที่เขาแต่งขึ้นเองคือ ตำราไวยากรณ์สำหรับชาวต่างประเทศเรียนเล่มหนึ่ง

ดร. ดี.บี. บรัดเลย์ หรือหมอบรัดเลย์ ได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นและคิดทำตัวอักษรไทยสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2380 แต่ต้องส่งไปหล่อตัวพิมพ์ที่เมืองนอก

พ.ศ. 2384 หมอบรัดเลย์ สามารถหล่อตัวพิมพ์อักษรไทยได้เองเป็นครั้งแรก หนังสือที่พิมพ์ทั้งหมดล้วนแต่เป็นหนังสือสอนศาสนาคริสต์

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศทรงโปรดฯ ให้สั่งเครื่องพิมพ์มาตั้งที่บวรนิเวศ เพื่อพิมพ์หนังสือทางพระพุทธศาสนา

ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์แล้วทรงโปรดฯ ให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในพระบรมมหาราชวังเรียกว่า “โรงพิมพ์หลวง” แต่ก็ยังมิได้พิมพ์หนังสือแบบเรียนแม้แต่น้อย

แบบเรียนหลวง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้มีการปฏิรูปการศึกษาโดยตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2414 โดยมีพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก

หลักสูตรที่สอนในโรงเรียนหลวงได้แก่ การอ่าน การเขียน การสะกดตัวลายมือ การคัดสำเนาหนังสือ การเขียนจดหมาย เครื่องหมายวรรคตอน และไวยากรณ์

พระยาศรีสุนทรโวหาร ได้แต่งหนังสือแบบเรียนหลวงขึ้นใช้เป็นหลักสูตรในโรงเรียนหลวง 6 เล่ม คือ

1. มูลบทบรรพกิจ
2. วาหนิติ์นิกร
3. อักษรประโยค
4. สังโยคพิธาน
5. ไวพจน์พิจารณ์
6. พิศาลการันต์

หนังสือ 6 เล่มนี้ เป็นหนังสือชุดเรียกว่า “แบบเรียนหลวง” ดังนั้น คำว่า “แบบเรียน” จึงเพิ่งมีเรียกและใช้กันตั้งแต่ พ.ศ. 2414 เป็นต้นมา

พ.ศ. 2427 มีการสอบไล่หนังสือไทยขึ้นเป็นปีแรกในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ โดยกำหนดให้เรียนรู้จากหนังสือแบบเรียนหลวงทั้ง 6 เล่มดังกล่าว ดังประกาศการเรียนหนังสือสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งออก ณ วันศุกร์ เดือนสามขึ้นสองค่ำ ปีระกา สัปตศก จุลศักราช 1247 (พ.ศ. 2428) มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“กำหนดวิชาที่จะไล่นั้น ชั้นประโยคต้นจะสอบวิชาตลอดแบบเรียนหลวงทั้งหกเรื่อง คือแต่มูลบทบรรพกิจจนจบพิศาลการันต์ ถ้าผู้ใดไล่ได้ตลอดก็จะได้หนังสือสำหรับตัวใบหนึ่ง ลงชื่อข้าหลวงพร้อมกับรับรองว่าผู้นั้นเป็นคนมีความรู้จริง…”

ต่อมาโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ได้เพิ่มวิชาที่เรียนขึ้นอีกคือสอนวิชาความรู้ต่างๆ ที่ต้องการใช้สำหรับเสมียนในราชการพลเรือนตามกระทรวงต่างๆ ด้วย

พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้จัดการสอนเป็น 2 ชั้น โดยอนุโลมเรียกตามวิธีสอบพระปริยัติธรรมคือเรียกการสอบครั้งแรกซึ่งจัดเป็นชั้นต่ำว่า “ประโยค 1” และเรียกการสอบที่ตั้งขึ้นใหม่ซึ่งจัดเป็น ชั้นสูงว่า “ประโยค 2”

การเรียนสำหรับสอบไล่ประโยค 1 ใช้หนังสือมูลบทบรรพกิจจนถึงพิศาลการันต์ เมื่อสอบไล่ได้ประโยค 1 แล้ว ถ้าไม่ออกทำงานก็เข้าเรียนประโยค 2 ต่อไปได้ วิชาประโยค 2 มี 8 อย่างคือคัดลายมือ เขียนตามคำบอกทานหนังสือแต่งจดหมาย แต่งแก้กระทำความ ย่อความ เลขและบัญชี

“แบบเรียนหลวง” ชุดดังกล่าวมีความสำคัญต่อประวัติการศึกษาของชาติมาก เพราะเป็นแบบเรียนหลวงชุดแรกที่ใช้เป็นแบบหัดอ่านเบื้องต้นของนักเรียนเมื่อ 100 ปีก่อน แทนที่จะสอนกันอย่างไม่มีแบบแผนตั้งแต่สมัยกาลก่อน และเพราะก่อนหน้านั้นขึ้นไปไม่มี “แบบเรียนหลวง” ซึ่งทางราชการจัดพิมพ์ขึ้นเป็นมาตรฐานดังที่กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินการจัดทำอยู่ดังทุกวันนี้

นอกจาก “แบบเรียนหลวง” ชุดนี้แล้ว พระยาศรีสุนทรโวหาร ยังได้แต่งหนังสืออีกหลายเล่ม เพื่อใช้ประกอบแบบเรียนหลวง” ชุด 6 เล่ม ได้แก่ ไวพจน์ ประพันธ์ ปกีรณำ-พจนาดถ์ อุไภยพจน์ นิติสารสาธก อนันตวิภาค ต้นรำพรรณนามพฤกษา และสัตวาภิธาน สำหรับใช้เรียน

วิชาที่เรียนรองลงมาจากภาษาไทยได้แก่ เลข หนังสือเลขรุ่นแรก ๆ มักเขียนโดยชาวต่างประเทศ เช่น ตำราคิดเลขของมิสเตอร์ รอบินซอนและตำราเลขอย่างฝรั่งของหมอแวนได เป็นต้น

พ.ศ. 2427 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้นเป็นแห่งแรกคือ โรงเรียนวัดมหรรพาราม และในปีรุ่งขึ้นพระองค์ โปรดฯ ให้ขยายโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรออกไปตามมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศทั้งหมด 34 แห่ง

แบบเรียนเร็ว

เมื่อโรงเรียนหลวงจัดตั้งขึ้นแพร่หลายตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว ปรากฏว่าการศึกษาเล่าเรียนของไทยเจริญก้าวหน้าขึ้นมาก ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้ประกาศตั้ง “กรมศึกษาธิการ” เป็นกรมหนึ่งในราชการฝ่ายพลเรือน โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบัญชาการกรมศึกษาธิการ ใน พ.ศ. 2430 และโปรดฯ ให้โอนโรงเรียนต่างๆ ที่มีอยู่มาขึ้นกับกรมศึกษาธิการ ทั้งหมด

“แบบเรียนหลวง” ชุด 6 เล่ม ของพระยาศรีสุนทรโวหารที่ใช้เป็นแบบเรียนมาตลอด ตั้งแต่ พ.ศ. 2414 ก็ถูกยกเลิกมิให้ใช้เป็นแบบเรียน โดยประกาศของกรมศึกษาธิการเมื่อ พ.ศ. 2431 อีกต่อไป เนื่องจากเหตุผลว่า ลูกชาวไร่ชาวนาที่เรียนแบบเรียนหลวง ไม่สามารถอ่านออกและเขียนได้ เพราะมีโอกาสเรียนเพียงปีละ 3 เดือน พอถึงฤดูทำนาก็ต้องกลับไปช่วยพ่อแม่ทำนา เมื่อเสร็จการทำนาก็กลับมาเรียนใหม่ ซึ่งก็ลืมของเก่าที่เคยเรียนมาหมด ต้องตั้งต้นกันใหม่อีก

ทั้งนี้ โดยให้เปลี่ยนมาใช้หนังสือ “แบบเรียนเร็ว” ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ขึ้นใหม่เป็นชุดแทน เพื่อให้อ่านได้ภายใน 3 เดือน จำได้ง่ายและจับใจเด็ก

หนังสือ “แบบเรียนเร็ว” ชุดนี้มี 3 เล่มคือ “แบบเรียนเร็วเล่ม 1” “แบบเรียนเร็ว เล่ม 2” และ“แบบเรียนเร็ว เล่ม 3” เริ่ม ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2431 แต่ปรากฏว่ายังมีการเรียนการสอนโดยใช้ “แบบเรียนหลวง” ชุด 6 เล่มในโรงเรียนบางแห่ง เพราะไม่มีการ บังคับใช้ “แบบเรียนเร็ว” ทั้งหมด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ว่า “แบบเรียนเร็วทั้ง 3 เล่มนี้ แม้ข้าพเจ้าเป็นผู้คิดเองแต่งเองและได้ตรวจตราแก้ไขเอง แต่ก็ได้อาศัยเจ้าพนักงานในกรมศึกษาธิการเป็นผู้ช่วยอีกหลายคนคือ หม่อมเจ้าประภากร และพระยาวิสุทธ์ สุริยศักดิ์แต่งโดยมาก เพราะข้าพเจ้าทำไว้ได้หน่อยหนึ่งก็ต้องไปราชการประเทศยุโรป ได้มอบให้พระยาวิสุทธ์สุริยศักดิ์ทำต่อมาจนสำเร็จ ในเวลาข้าพเจ้าไม่อยู่นั้น ในขั้นแรก ได้แนะนำวิธีให้ขุนบัญญัติวรวาท (รัตน์) เป็นผู้สอนในชั้น เมื่อได้ตั้งโรงเรียนเร็วได้ให้ขุนประสารอักษรพรรณ์ (เสงี่ยม) เป็นผู้สอน ต้องอาศัยความฉลาดและความหมั่นของผู้เป็นครูด้วยจึงสอนได้เร็ว”

ส่วนภาษาอังกฤษได้ใช้หนังสือชุดบันได (Ladder of Knowledge Series) หรือที่เรียกว่า “Fifty Steps in English” ของเซอร์ โรเบิร์ต มอแรนต์ เป็นหลัก ซึ่งได้เรียบเรียงขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2433 มีคำอธิบายทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยเป็นหนังสือชุดมี 5 เล่ม เรียกว่าบันไดเล่ม 1 บันไดเล่ม 2 เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังปรากฏว่า ใน พ.ศ. 2433 มีการสอนแบบเรียนภาษาไทยในชั้นประโยค 3 ซึ่งกรมศึกษาธิการให้มีการเรียนภาษาไทยเพิ่มขึ้นเป็น 3 ประโยคจากเดิม 2 ประโยค ซึ่งก็คือระดับประถมศึกษาในสมัยนั้น ภาษาไทยที่ต้องเรียนในชั้นประโยค 3 ซึ่งก็คือระดับมัธยมในสมัยนั้น ได้แก่ อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ และฉันทลักษณ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้ตั้งกระทรวงธรรมการขึ้น โดยรวมเอากรมศึกษาธิการกับกรมธรรมการ ซึ่งมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเข้าเป็นกระทรวงเดียวกัน เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 และได้มีการประกาศตั้งโรงเรียนมูลศึกษาขึ้นในวัดทั่วไปทั้งในเมืองหลวงและหัวเมือง

แบบเรียนภาษาไทยยังคงใช้ “แบบเรียนเร็ว เล่ม 1-2-3” และอักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ และฉันทลักษณ์ เช่มเดิมเป็นหลักซึ่งยังประโยชน์ทั้งการอ่าน เขียนลายมือ เขียนตามคำบอกและเรียนรู้เรื่องไวยากรณ์ควบคู่กันไป

แต่ก็ได้มีแบบเรียนภาษาไทยเพิ่มเติมเข้ามาอีกคือ “หนังสือวิชาน่ารู้เรื่องตัวของเราเอง” “พระราชพงศาวดารย่อตอนกรุงเก่า” “พระราชพงศาวดารพิสดารเล่ม 1” และ “พระราชพงศาวดารพิสดาร เล่ม 2”

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้เรียนภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ฟิสิกส์ กลศาสตร์ สรีรวิทยา และ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการเรียนการสอนวิชาอื่นๆ อีกด้วยให้ทันกับยุคสมัย มิใช่เรียนแต่วิชาภาษาไทยอย่างเดียวดังแต่กาลก่อน อีกทั้งยังได้มีการปรับปรุงระบบการศึกษาใหม่ตามแบบอย่างต่างประเทศ

แบบเรียนใหม่

คณะราษฎรได้เข้ายึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. 2475 รัฐบาลในสมัยนั้นได้ประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ อันทำให้แบบเรียนได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภาษาไทย

พ.ศ. 2476 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้มอบลิขสิทธิ์หนังสือแบบเรียนภาษาไทย ชื่อว่า “แบบเรียนใหม่” ให้กระทรวงศึกษาธิการ หนังสือ “แบบเรียนใหม่” นี้ แบ่งเป็น 2 ภาค คือ “แบบเรียนใหม่ ภาค 1” และ แบบเรียนใหม่ ภาค 2” มีคำอธิบายวิธีสอนไว้อย่างชัดเจนและแต่ละบทยังมีวิธีสอนกำกับอีกด้วย การสอนมุ่งการฝึกปฏิบัติให้ได้ผลจริงจัง

นอกจากนี้ พระยาธรรมศักดิ์มนตรี ยังได้แต่งแบบสอนอ่านใหม่อีกชุดหนึ่งเพื่อประกอบการเรียนหนังสือชุดนี้มีด้วยกัน 7 เล่ม เนื้อหาในชุดแบบสอนอ่านทั้ง 7 เล่มนี้ มุ่งสร้างเสริมความเป็นพหูสูตรให้เด็กทุกระดับชั้น ตลอดจนมุ่งอบรมให้นักเรียนเป็นพลเมืองที่มีสมรรถภาพและเป็นที่ต้องการของสังคมไทย และกระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้ใช้ในโรงเรียนได้

พระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้แสดงเจตจำนงไว้ว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าการอบรมพลเมืองควรเป็นไปในทางอบรมให้มีน้ำใจเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักกีฬา และเป็นพลเมืองดี ประการต้นจะให้คนอยู่ในอำนาจแห่งเหตุผล และประการที่ 2 ที่ 3 จะให้คนเป็นที่ไว้ใจได้ ถ้าใครประกอบด้วยคุณธรรมทั้ง 3 ประการนี้แล้ว ผู้นั้นจะเป็นนายเป็นบ่าว เจ้าหรือเป็นข้าก็ควรใช้ได้ทั้งนั้น”

ใน พ.ศ. 2476 แบบเรียนที่ขออนุญาตใช้ในโรงเรียนนั้น กระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้แต่เฉพาะในการพิมพ์คราวหนึ่งๆ เท่านั้น เมื่อต้องการพิมพ์ใหม่อีกคราวใด เจ้าของแบบเรียนจะต้องขออนุญาตใหม่ทุกคราวไป

การขออนุญาตใช้แบบเรียนในโรงเรียนเมื่อก่อนนี้ ผู้ขออนุญาตต้องเสียค่าตรวจ ต่อมา เมื่อสมัยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ธรรมเนียมเสียค่าตรวจได้ยกเลิก แต่ต้องส่งหนังสือที่พิมพ์แล้วให้แก่กระทรวงศึกษาธิการคราวละ 25 เล่ม

กระทรวงศึกษาธิการได้แก้ไขหลักสูตร และประมวลการสอนขั้นต่างๆ เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้ในวิทยาการและปฏิบัติการสูงขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งทำให้แบบเรียนไทยได้รับการปรับปรุงทั้งเนื้อหาและวิชามากขึ้น อีกทั้งทันสมัยขึ้นกว่าแต่ก่อน รู้จักใช้ภาพประกอบที่มีสีสด ตัวหนังสือชัดเจน เช่น แบบสอนอ่านชุด “สุดา คาวี” ของ อภัย จันทวิมล ซึ่งดัดแปลงมาจากหนังสือเรียนชุด Janet and John ซึ่งใช้อยู่ในนิวซีแลนด์ แบ่งออกเป็น 4 ตอน คือ “มาดูอะไร” “ไปเล่นด้วยกัน” “ออกไปข้างนอก” และ “ฉันออกจากบ้าน”

การพิมพ์แบบเรียน

กระทรวงศึกษาธิการได้ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2493 ว่าด้วยการจัดทำตำราและแบบเรียนขึ้น โดยมีสาระสำคัญดังนี้

“ต่อไปนี้ บรรดาหนังสือที่ใช้ในโรงเรียนได้จะต้องเป็นแบบเรียนที่ชนะการประกวด หรือเป็นหนังสือที่กระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เห็นสมควรเรียบเรียงขึ้นเองเท่านั้น กำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิของกระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่พิจารณาแบบเรียนและกำหนดวิธีการจัดแบบเรียนตามนโยบาย”

ทั้งนี้ ให้โรงพิมพ์คุรุสภาจัดพิมพ์ได้แห่งเดียว ส่วนการพิมพ์ของโรงพิมพ์เอกชนให้ระงับ ครั้นเมื่อตั้งกรมวิชาการเมื่อ พ.ศ. 2495 แล้ว งานนี้ก็ตกเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเรื่อยมา ซึ่งหลังจากใช้หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2503 แล้ว ได้เปิดโอกาสให้ครูเลือกแบบเรียนได้มากขึ้น

วินิจ วรรณถนอม กล่าวว่า “การเรียนจากประสบการณ์ตรงจะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีกว่าการเรียนจากสิ่งอื่น…แต่บางอย่างเราไม่สามารถจัดหาให้แก่ผู้เรียนได้ เพราะขึ้นอยู่กับประเพณี วัฒนธรรม โอกาส เหตุการณ์ และธรรมชาติไม่อำนวย ยิ่งสภาพสังคมปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยแล้ว ผู้เรียนยิ่งไม่มีเวลาที่จะใฝ่หาความรู้จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือคือ ‘แบบเรียน’ เป็นเครื่องช่วยให้เกิดการเรียนรู้ เพราะแบบเรียนเป็นแหล่งรวมประสบการณ์ชีวิตที่ได้รับการกลั่นกรองมาบรรจุไว้เพื่อให้คุณค่าแก่ผู้เรียนมากที่สุด ยิ่งความก้าวหน้าทางวิชาการขยายตัวออกไปเท่าไร แบบเรียนก็ยิ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว”

จะเห็นได้ว่าการศึกษาของไทยในสมัยก่อนเจริญอย่างเชื่องช้า เนื่องจากสาเหตุสำคัญคือความขัดสนในเรื่อง แบบเรียน แต่หลังจากที่มี แบบเรียน และโรงเรียน เป็นระบบเดียวกันแล้ว การศึกษาของไทยได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะแบบเรียนเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้สำเร็จหลักสูตร

แบบเรียนที่ดีขึ้นกับยุคสมัยและจุดมุ่งหมายทางการศึกษาของชาติ แบบเรียนที่ดีในยุคสมัยหนึ่งอาจกลายเป็นแบบเรียนที่ใช้ไม่ได้ในอีกยุคสมัยหนึ่งก็ได้

การแต่งแบบเรียนสมัยก่อนเป็นหน้าที่ของปราชญ์ทางภาษาผู้อยู่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์หรือผู้มีบทบาทอยู่ในวงราชการและพระภิกษุเท่านั้น คนธรรมดาสามัญไม่มีโอกาสที่จะสร้างแบบเรียนได้…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจากบทความในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2528 บทความต้นฉบับปรับปรุงเนื้อหาจาก

ความเป็นมาของแบบเรียนไทย
กฤษณา สินไชย และรัตนา ฦาชาฤทธิ์
ฝ่ายห้องสมุดศูนย์พัฒนาหนังสือ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ

ว่าด้วยเรื่องแบบเรียนภาษาไทย
โครงการตำรา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก

พัฒนาการแบบเรียนไทย
วินิจ วรรณถนอม
ภาควิชาภาษาไทย วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤษภาคม 2562