ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“ศึกอะแซหวุ่นกี้” หรือ “ศึกเมืองพิษณุโลก” เป็นสงครามในสมัยกรุงธนบุรี มีเหตุการณ์สำคัญคือ อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่า ขอดูตัว เจ้าพระยาจักรี (รัชกาลที่ 1) และทำนายว่าจะได้เป็นกษัตริย์ในภายภาคหน้า
ใน พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ซึ่งสันนิษฐานว่าชำระข้อความเพิ่มขึ้นจาก พระราชพงศาวดารฉบับ พันจันทนุมาศ (เจิม) และ พระราชพงศาวดาร ฉบับบริติชมิวเซียม ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนี้
“ครั้นรุ่งขึ้นเจ้าพระยาจักรีขี่ม้ากั้นสัปทน ยกพลทหารออกไปยืนม้าให้อแซหวุ่นกี้ดูตัว อแซหวุ่นกี้ถามว่า อายุเท่าใด บอกไปว่าอายุได้สามสิบเศษ จึงถามถึงอายุอแซหวุ่นกี้บ้าง ล่ามบอกว่าอายุได้เจ็ดสิบสองปี แล้วอแซหวุ่นกี้พิจารณาดูรูปดูลักษณะเจ้าพระยาจักรี แล้วสรรเสริญว่า รูปก็งามฝีมือก็เข้มแข็ง สู้รบเราผู้เป็นผู้เฒ่าได้ จงอุตส่าห์รักษาตัวไว้ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแท้
แล้วให้เอาเครื่องม้าทองสำรับหนึ่งกับสักหลาดพับหนึ่ง ดินสอแก้วสองก้อน น้ำมันดินสองหม้อมาให้เจ้าพระยาจักรี แล้วว่าจงรักษาเมืองไว้ให้มั่นคง เราจะตีเอาเมืองพระพิษณุโลกให้จงได้ในครั้งนี้ ไปภายภาคหน้าพม่าจะมาตีไทยไม่ได้อีกแล้ว และในเพลาวันนั้นไทยเข้าไปกินอาหารในค่ายพม่า ก็มิได้ทำอันตรายแก่กัน แล้วก็ต่างคนต่างกลับไปเมืองไปค่าย…”
สิ่งที่ทำให้เรื่องอะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรีมีตัวตนและคงอยู่ในสังคมไทยอย่างชัดเจนขึ้น คือ เมื่ิอถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งในแบบเรียนวิชาภาษาไทย แบบเรียนนี้มีชื่อเรียกอย่างลำลองว่า “มานะ มานี ปิติ ชูใจ” ตามชื่อตัวละครในแบบเรียน
โดยปรากฏอยู่ในแบบเรียนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เล่ม 2 บทที่ 12 เกียรติศักดิ์นักรบไทย กล่าวถึงครูให้นักเรียนแบ่งกลุ่มจัดนิทรรศการในหัวข้อ “เกียรติศักดิ์นักรบไทย” โดยนักเรียนแต่ละกลุ่มเลือกวีรบุรุษวีรสตรีคนสำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น พระยาพิชัยดาบหัก, พันท้ายนรสิงห์, พระศรีสุริโยทัย, ท้าวเทพสตรี, ท้าวศรีสุนทร, ท้าวสุรนาร, ชาวบ้านบางระจัน สำหรับกลุ่มของมานะกับวีระ เลือกเจ้าพระยาจักรี
นิทรรศการกลุ่มของมานะกับวีระยังได้คัดโคลงสี่สุภาพ “กษัตริยานุสรณ์” พระราชนิพนธ์ของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงพระนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2516 มาประกอบนิทรรศการด้วย โคลงสี่สุภาพนี้ในแบบเรียนถูกคัดมาส่วนหนึ่ง เริ่มที่อะแซหวุ่นกี้ยกทัพมาถึงเมืองพิษณุโลก และตั้งค่ายล้อมเมือง จนถึงตอนทำนายว่าเจ้าพระยาจักรีจะได้เป็นกษัตริย์
“ทัพอะแซหวุ่นกี้ มารอน รานแฮ
สองฟากฝั่งสาคร ค่ายล้อม
พลสามหมื่นสลอน ดูดาษ
ปรปักษ์แห่ห้อม แม่น้ำลำแคว”
……..
“อุตส่าห์รักษ์อาตม์ไว้ จงดี
ตัวท่านนั้นบุญมี ภาคหน้า
จะเป็นปิ่นธรณี ผดุงเขต
มธุพจน์อันข้า กล่าวแล้วเป็นจริง”
แบบเรียนดังกล่าวนำมาใช้ประกอบการเรียนการสอนตามหลักสูตรประถมศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2521 โดยใช้ประกอบการเรียนการสอนตั้งแต่ พ.ศ. 2521-2537 ซึ่งการจัดทำแบบเรียนชุดนี้อาจใช้เวลาจัดทำก่อนหน้า พ.ศ. 2521 ราว 4 ปี คือตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2516-2520
เบื้องหลังของการนำเรื่อง อะแซหวุ่นกี้ ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี มาใช้ในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการนี้ สืบเนื่องจากในยุคนั้นเกิดกระแสขวาจัด พิฆาตซ้าย และการต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง ที่ปรากฏมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2490 เรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ทำให้รัฐได้จัดทำแบบเรียนที่ปลูกฝังแนวคิดเรื่องชาตินิยม โดยใช้กรอบเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพระปรีชาสามารถของกษัตริย์ในอดีต ที่ได้กระทำการปกป้องแผ่นดินไทยจากศัตรูให้คงอยู่ และสร้างชาติให้เจริญ เพื่อหวังให้เกิดสำนึกและกระตุ้นให้คนไทยสามัคคี รักชาติ และช่วยกันต่อต้านศัตรูของชาติ ซึ่งก็คือคอมมิวนิสต์
ข้อหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นแนวคิดดังกล่าวอยู่ในช่วงท้ายของบท ชูใจได้ถามมานะกับวีระว่า ต้องทำพิธีบวงสรวงในการจัดทำนิทรรศการหรือไม่ วีระตอบว่า
“การที่เรานำเอาประวัติศาสตร์คุณความดีของท่านที่ได้ป้องกันประเทศชาติ ไม่ให้ข้าศึกศัตรูทำลาย และสร้างเสริมเมืองไทยให้อยู่รอดปลอดภัยมาจนบัดนี้ มาแพร่เกียรติคุณก็เพื่อลูกหลานได้ทราบ และเจริญรอยตามท่านในเรื่องความรักชาติและความเสียสละเพื่อบ้านเมือง เราไม่ต้องบวงสรวงก็ได้ เพราะเราก็จัดทำด้วยความเคารพเทินทูนวีรกรรมของท่านอยู่เสมอ”
นี่คือแบบเรียนชั้นประถมศึกษา คือแบบเรียนต้านคอมมิวนิสต์ ตามแบบฉบับของ “มานะ มานี ปิติ ชูใจ”
อ่านเพิ่มเติม :
- ค้นหลักฐานศึกอะแซหวุ่นกี้ กับ “ธรรมเนียมการดูตัว” สะท้อนอะไรได้บ้าง
- ศึกอะแซหวุ่นกี้ ตีเมืองพิษณุโลก และอะแซหวุ่นกี้ ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี?
อ้างอิง :
วริศรา ตั้งค้าวานิช. (มกราคม, 2561). ประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า และอนุสาวรีย์ในเหตุการณ์อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 39 : ฉบับที่ 3
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2564