ตัวตนของ “มลายู” หรือประเทศมาเลเซีย ในแบบเรียนไทย

มลายู มาเลเซีย
กัวลาลัมเปอร์, ประเทศมาเลเซีย (ภาพจาก Pixabay)

เรื่องราวเกี่ยวกับ มลายู หรือ “มาเลเซีย” ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ปรากฏในหนังสือเรียนของการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ระดับประถมถึงระดับมัธยมศึกษา ในหลักสูตรการศึกษา 3 หลักสูตรด้วยกัน คือ หลักสูตร พ.ศ. 2503, 2521 และ 2544 ซึ่งช่วงเวลานี้อินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายและเข้าถึงง่ายอย่างปัจจุบัน ความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับประเทศมาเลเซียของเยาวชนไทยจึงมีหนังสือเรียนฉบับกระทรวงศึกษาธิการเป็นเครื่องชี้นำและเป็นชุดความรู้หลัก

การอธิบายเกี่ยวกับประเทศมาเลเซียในตำราเรียนไทยนั้นคล้ายคลึงกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ คือ อธิบายถึงภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม ในฐานะประเทศร่วมภูมิภาค และบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติแบบเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ไทย โดยมีจุดสังเกตคือ แบบเรียนประวัติศาสตร์ของไทยมักยึดสถานภาพที่เหนือกว่าของรัฐไทยในอดีตมาอธิบายตัวตนของหัวเมืองมลายูหรือประเทศมาเลเซีย จากนั้นจึงแยกกันแบบต่างคนต่างไปหลังหัวเมืองเหล่านี้กลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

การอธิบายลักษณะดังกล่าวนอกจากจะมีลักษณะ “ยกตนข่มท่าน” แล้ว ยังถือเป็นการลดทอนคุณค่าของผู้คนอีกกลุ่มที่มีความเป็น “มลายู” ในดินแดนไทย นั่นคือบริเวณจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกับผู้คนในพื้นที่ประเทศมาเลเซีย ประวัติศาสตร์ของพวกเขาที่อาจนับได้ว่าเป็น “ประวัติศาสตร์ชาติ” จึงกลายเป็น “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น”

สำหรับภาพรวมการนำเสนอตัวตนของมลายู หรือประเทศมาเลเซีย โดยกระทรวงศึกษาธิการไทยนั้น ชปา จิตต์ประทุม นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา สถาบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาทำความเข้าใจและสรุปประเด็นไว้ในหัวข้อ “มาเลเซียในแบบเรียนของไทย” จากหนังสือ ชาตินิยมในแบบเรียนไทย (มติชน, 2552) ดังนี้


 

มลายู-มาเลเซีย ในแบบเรียนของไทย : ความรู้ที่พึงมี

เนื้อหาความรู้เกี่ยวกับ “มาเลเซีย” ที่ปรากฏในแบบเรียนของไทย ตั้งแต่หลักสูตร พ.ศ. 2503 จนถึงหลักสูตร พ.ศ. 2544…ได้สร้างภาพการรับรู้เรื่องมาเลเซียซึ่งเราสามารถพิจารณาได้ใน 2 สถานะ คือ สถานะการเป็นหัวเมืองมลายู และสถานะการเป็นประเทศ

สถานะแรก การเป็นหัวเมืองมลายู โดยเริ่มจากในสมัยสุโขทัย ที่มีอาณาเขตไปจนจรดแหลมมลายู เมืองประเทศราชที่มีเจ้าครองนครศรีธรรมราชดูแล และต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้แก่ไทย ในจำนวนเมือง 12 นักษัตรของนครศรีธรรมราชนี้ ปัตตานีและไทรบุรีมีความพยายามตั้งตนออกห่างอยู่บ่อยครั้ง

ครั้นเมื่ออังกฤษแผ่อิทธิพล เข้ามามีบทบาทในย่านนี้ ไทรบุรีก่อกบฏและแสวงหาความช่วยเหลือจากอังกฤษ ซึ่งต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดการกับไทรบุรีด้วยการแบ่งเมืองให้มีขนาดเล็กลง ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยจำต้องยกหัวเมืองมลายู อันได้แก่ ไทรบุรี (รัฐเกดะห์ในปัจจุบัน) กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้แก่อังกฤษ ที่สุดแล้วอังกฤษมีอิทธิพลเหนือรัฐคาบสมุทรมลายูได้ทั้งหมด

สถานะการเป็นประเทศ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคสงครามเย็น ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างค่ายโลกเสรีที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ กับค่ายโลกคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ ช่วงเวลานั้นอังกฤษอยู่ในระหว่างเตรียมการให้เอกราชแก่มาเลเซีย สำหรับมาเลเซียก็แสวงหาทางของตนเองเพื่อการสร้างชาติใหม่ ในที่สุดอังกฤษให้เอกราชแก่มาเลเซียในปี พ.ศ. 2500

เมื่อพิจารณาจากสถานะการเป็นประเทศแล้ว มาเลเซียในเนื้อหาของแบบเรียนได้เริ่มให้ภาพการรับรู้ด้วยการเปลี่ยนตำแหน่งการมอง จากหัวเมืองที่เคยอยู่ใต้การปกครองของไทย เป็นประเทศเพื่อนร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นเด็กไทยจึงเริ่มต้นรู้จักมาเลเซียที่ใบหน้าของ ตนกู อับดุรเราะห์มาน (Tunku Abdul Rahman) ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย เพราะว่าท่านนี้มีมารดาเป็นไทยและวัยเยาว์ท่านได้รับการศึกษาเบื้องต้นในประเทศไทย

Tunku Abdul Rahman (ภาพจาก Wikimedia Commons)

สถานะของการเป็นประเทศมาเลเซียเด่นชัดมากในช่วงสงครามเวียดนามครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2503-2518) เนื่องจากมีความหวาดระแวงกับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงได้ร่วมกันกับประเทศในภูมิภาคนี้ก่อตั้งสมาคมอาสา ซึ่งต่อมาพัฒนามาเป็นสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเชียน) เมื่อ พ.ศ. 2510 แรกเริ่มมีผู้ร่วมก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์…

หลักสูตรได้กำหนดให้เรียนรู้มาเลเซีย ในฐานะที่เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื้อหาจึงต้องรู้ลึกเกี่ยวกับกระบวนการสร้างชาติ สภาพการเมือง ระบบการปกครอง สภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อให้นักเรียนได้รู้ว่าต่างจากไทยอย่างไร แทนที่จะเน้นให้รู้ถึงความเป็นมลายูในมิติของโลกมาเลย์ ต่อมาเด็กไทยได้รู้จักใบหน้าของนายกรัฐมนตรี ตน มหฎิร มุฮัมมัด (Tun Mahathir Mohamad) เพิ่มขึ้นอีก 1 ภาพ เท่านั้น ความรู้จากแบบเรียนจบลงแต่เพียงนี้

ดังนั้น เมื่อพิจารณาความรู้ที่เรียนในระบบโรงเรียนแล้ว จะเห็นได้ว่าเนื้อหาที่เรียนยังไม่ทันในเงื่อนเวลา และไม่เพียงพอที่จะทำความเข้าใจ และสามารถอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ขาดหายไปได้ เมื่อผนวกกับเนื้อหาที่ถูกจำกัดวงให้เป็นไปตามแบบแผนแล้วก็ยิ่งดูห่างไกล ดังเช่น

1. ช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่ถูกตัดตอน เริ่มตั้งแต่ไทยจำต้องยกหัวเมืองมลายูทั้งสี่ให้แก่อังกฤษจนถึงอังกฤษให้เอกราชมาเลเซีย (พ.ศ. 2451-2500) ก็ไม่ปรากฏเนื้อหาในแบบเรียน สิ่งที่ตามมาคือ เราไม่สามารถเข้าใจและอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างคน/กลุ่มคนที่อยู่ในประเทศไทย กับคน/กลุ่มคนที่อยู่ในประเทศมาเลเซียได้ทั้ง ๆ ที่แต่เดิมคน/กลุ่มคนเหล่านี้มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาก่อน

ด้วยเหตุที่เราไม่ได้เรียนรู้ว่าหัวเมืองมลายูในส่วนที่อังกฤษปกครองมีความเป็นไปอย่างไร เมื่อพ้นจากไทยไปแล้ว และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของไทยไม่ได้รับการยกระดับขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติ ทำให้ข้อมูลของพื้นที่ “มลายู” ที่อยู่ในการปกครองของไทยเป็นศูนย์ การไม่ได้เรียนรู้เหตุการณ์ของช่วงเวลา 50 ปีนี้ ได้กลายเป็นบาดแผลของประเทศไทยที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้จนถึงวันนี้

2. ช่วงเวลาหลังจากก่อตั้งอาเซียนแล้ว เนื้อหาของความรู้มีความเคลื่อนไหวน้อยมาก ที่จะอธิบายเหตุการณ์หลังสงครามเย็น

ดังนั้น ความรู้ที่พึงประสงค์จึงเป็นความรู้ที่ทันในเงื่อนเวลา เมื่อพิจารณาจากบริบทของสังคมโลกที่ผ่านช่วงเวลาของสงครามเย็นและเข้าสู่ระเบียบโลกใหม่แล้ว ทั้งไทยและมาเลเซียต่างก็กำลังพัฒนาประเทศให้เป็นไปตามกติกาของสังคมโลก โดยเฉพาะการมีสถานะเป็นสมาชิกของความร่วมมือในระดับภูมิภาคร่วมกัน เช่น กลุ่มความร่วมมือเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และยังได้ผูกกระชับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจภายใต้กรอบความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจสามฝ่าย ที่เรียกว่า IMT-GT (Indonesia Malaysia Thailand Growth Triangle)

เนื่องจากความรู้ที่ปรากฏมิได้สะท้อนสภาพมาเลเซียในช่วงเวลาที่ขาดหายไป และที่เป็นปัจจุบัน ดังนั้น เราจึงควรช่วยกันเติมเต็มเนื้อหาความรู้มาเลเซียที่เป็นปัจจุบันปรากฏให้มากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม 2565