เสียน-สยาม ไม่ใช่ “สุโขทัย”? และสัมพันธ์ที่ไม่เคยคาดคิดกับมลายู?

แผนที่ Regnum Sian หรือ “ราชอาณาจักรสยาม” (ภาพจากห้องสมุด ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น)

บทความนี้ พรรณี ฉัตรพลรักษ์ แปลจาก การบรรยายพิเศษในพิธีเปิดศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาและการสัมมนาทางวิชาการที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ไม่ได้ระบุวันเวลา) ของ ศาสตราจารย์อิชิอิ โยเนะโอะ (พ.ศ. 2470-2553) นักวิชาการชาวญี่ปุ่น ที่เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นในเชิงประวัติศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการศูนย์เอเชียอาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต

ต่อมาได้มีการเผยแพร่ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับตุลาคม 2533 ใช้ชื่อว่า “เสียน-อยุธยา ไม่ใช่ ‘สุโขทัย’” ส่วนที่นำมาเผยแพร่นี้เป็นการคัดย่อมาเพียงบางส่วนเท่านั้น


 

วันนี้ ข้าพเจ้าอยากจะขอกล่าว ถึงข้อมูลใหม่ภาษาจีนที่ยังมิได้นำมาใช้กันแพร่หลายนักในการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ของไทยสมัยต้น ชื่อของเอกสารภาษาจีนก็คือ ต้า-เต๋อ-หนาน-ไห่-จื้อ (อักขรนุกรมภูมิ ศาสตร์ทะเลใต้สมัย ต้า-เต๋อ) เอกสารนี้ เฉิน ต้า-เจิ้น รวบรวมขึ้นในสมัยต้า-เต๋อ แห่งราชวงศ์หยวน ซึ่งระหว่าง ค.ศ. 1297-1307 รวมเวลา 11 ปี

มีรายงานว่าเดิมทีเดียวเอกสารนี้จัดทำไว้ 20 เล่ม ปัจจุบันมีเพียง 5 เล่ม ตั้งแต่เล่ม 6 ถึงเล่ม 10 เท่านั้นที่ยังคงเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดปักกิ่ง

เล่มที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของเราและเป็นเล่มที่น่าสนใจที่สุดคือ เล่ม 7 เอกสารเล่มนี้ประกอบด้วย หมวดต่างๆ เกี่ยวกับ “สินค้าพื้นเมือง” และ “สินค้าเข้า” พร้อมทั้งรายชื่อประเทศต่างๆ ที่จีนรู้จักคุ้นเคย ด้วยการคมนาคมติดต่อกันและกันทางทะเล เมื่อไม่นานมานี้ ศาสตราจารย์ยะมะโมะโตะ ศาสตราจารย์กิตติคุณ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้พิมพ์เอกสารน่าสนใจเล่มหนึ่ง โดยใช้เอกสารนี้ และเสนอการตีความใหม่ของประวัติศาสตร์ไทยตอนต้น ซึ่งข้าพเจ้าอยากจะขอกล่าวถึง

ประการแรกทีเดียว ข้าพเจ้าปรารถนาจะให้ท่านสนใจกับกาลสมัยที่มีการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้

ดังได้กล่าวมาแล้วแต่ต้นว่า หนังสือเล่มนี้รวบรวมขึ้นในระหว่าง ค.ศ. 1297-1307 นักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคุ้นเคยกับข้อมูลภาษาจีน ได้เคยอ้างถึง จู-ฟาน ลื้อ (บันทึกเกี่ยวกับคนต่างด้าว) ระหว่างต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 และ เต่า-อี๋ จื้อ-เลวี่ย (คำอธิบายย่อเกี่ยวกับประชาชนชาวเกาะ) ระหว่างกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 เรื่องแรกมีคำนำลงปี ค.ศ. 1225 ส่วนเรื่องหลังมีสองคำนำลงปี ค.ศ. 1349 และ ค.ศ. 1351 ไว้ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ความสำคัญของข้อมูลใหม่ของเรา จึงอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า ข้อมูลนี้ได้เข้ามาคั่นกลางระหว่างข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ที่ทราบกันดีแล้วสองเรื่อง ดังนั้นจึงเป็นการเพิ่มความเชื่อมโยงส่วนที่ขาดหายไปกว่าร้อยปีให้เต็มขึ้น

ในรายชื่อประเทศต่างๆ ดังกล่าวไว้ข้างต้นนั้น ได้ระบุชื่อประเทศไว้มากถึง 145 ประเทศ ชาวจีนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 ได้ความรู้บางประการเกี่ยวกับประเทศเหล่านี้จากการคมนาคมติดต่อกันทางทะเล

ประเด็นน่าสนใจควรสังเกตตรงนี้ก็คือ การจัดชื่อประเทศต่างๆ ลง ไว้ในหนังสือเล่มนี้ เป็นการชี้ให้เห็นลำดับความสำคัญที่มีอยู่ในบรรดาประเทศเหล่านั้น เช่น มีบรรทัดหนึ่ง เริ่มต้นด้วย “เจิน-ล่า-กั๋ว” ต่อด้วยคำกริยา “กวั่น” ซึ่งมีความหมายว่า “ปกครอง” บรรทัดถัดไปเริ่มต้นในที่ต่ำลงมาเล็กน้อย และระบุชื่อของประเทศว่า เจิน-หลี่-ฝู่, เติง-หลิว-เหมย, ผู-กัน, หยง-หลี่ ทุกชื่อไม่มีคำต่อท้ายว่า “กั๋ว” (= ก๊ก) เลย จากตัวอย่างนี้ เราจึงมองเห็นได้ว่า ราชอาณาจักรที่เรียกชื่อว่า เจิน-ล่า ในตอนนั้นปกครองประเทศที่เล็กกว่าอยู่ 4 ประเทศ ได้แก่ เจิน-หลี่-ฝู่, เติง-หลิว-เหมย, ผู-กัน, หยง-หลี่

มีอยู่บรรทัดหนึ่งที่เริ่มต้นด้วย “เสียน-กั๋ว กวั่น” หมายถึง “ราชอาณาจักรในปกครองของเสียน” บรรทัดที่ถัดจากนี้ตรงตำแหน่งที่ร่นจากริมบรรทัดเข้าไปมาก พิมพ์ตัวอักษรจีนไว้ห้าตัวว่า “ซั่ง-สุ่ย-สู-กู-ตี่” ตัวอักษรสองตัวแรกทำให้เรานึกถึง “ซั่ง-สุ่ย” คำเดียวกันใน “อิ๋ง-หยา-เซิ่ง-หลาน” ของ หม่า ฮวน ซึ่งเป็นรายงานฉบับหนึ่งในบรรดาฉบับต่างๆ เกี่ยวกับการสำรวจเส้นทางทะเลของนายพลเจิ้ง-เหอ ผู้มีชื่อเสียง ได้นำมาสำรวจเมื่อครั้งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 15

คำว่า ซั่ง-สุ่ย ซึ่งอาจแปลคำต่อคำได้ว่า “น้ำตอนบน” หม่า ฮวน ให้คำอธิบายว่าคือเมืองตลาดค้า ตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงไปทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ 200 หลี่ (2 หลี่ = 1 กิโลเมตร-ผู้แปล) ข้อเท็จจริงที่ว่า คำ ซั่ง-สุ่ย ในตำราพิมพ์ของเรานั้นเรียงไว้ข้างหน้า สู-กู-ตี่ โดยไม่มีช่องว่างคั่นกลาง ซึ่งทำให้ศาสตราจารย์ยะมะโมะโตะเข้าใจว่าทั้งหมดเป็นชื่อเดียวกัน โดยเชื่อว่า ซั่ง สุ่ย เป็นคำประกอบที่ชี้บอกตำแหน่งที่ตั้งของ สู-กู-ตี่ นั่นคือ “สู-กู-ตี่ ที่ตั้งอยู่ตอนบนของแม่น้ำ”

ยุติปัญหาคำ ซั่ง-สุ่ยสู-กู-ตี่ ว่าเป็นคำผสมคำเดียวหรือเป็นสองชื่อแยกกันไว้ก่อน ประเด็นสำคัญปรากฏชัดเมื่อเราตระหนักว่า สู-กู-ตี่ เป็นการถ่ายเสียงสุโขทัยให้เป็นภาษาจีนวิธีหนึ่ง ที่เป็นอุทาหรณ์ เป็นที่ประจักษ์ว่าสุโขทัยนั้นอยู่ใต้การปกครองของอาณาจักรเสียน เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 1 หรือต้นคริสต์ศตวรรษถัดไป

เสียน เคยพิสูจน์กันว่าคือสุโขทัย แต่ไม่นานมานี้ นักวิชาการได้เสนอว่า เพชรบุรีหรือสุพรรณบุรีก็อาจจะเป็นเสียนที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง = ทฤษฎีสุโขทัยไม่มีเหตุผลสนับสนุนได้อีก เพราะการกล่าวที่ว่า “สุโขทัยปกครองสุโขทัยอยู่” นั้นเห็นจะไม่มีเหตุผลเลย ด้วยเหตุนี้เสียน จึงต้องเป็นอาณาจักรไทยอีกอาณาจักรหนึ่งนอกเหนือไปจากสุโขทัย

ข้อเท็จจริงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งเราอาจตัดตอนมาจากข้อความสั้นๆ นี้ก็คือ วันเวลาที่อาจจะเป็นไปได้ของการสูญเสียอิสรภาพของสุโขทัย ทั้งนี้หมายความว่า ระหว่าง ค.ศ. 1297-1307 สุโขทัยตกอยู่ใต้การปกครองของราชอาณาจักรเสียนของไทยแล้ว เป็นการบังเอิญที่ช่วงเวลานี้รวมเอา ค.ศ. 1298 ไว้ด้วย ปีนี้เป็นปีที่เข้าใจกันว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชจบชีวิต อันขึ้นชื่อลือนามของพระองค์แล้ว

ในบทความไม่นานมานี้ของ ศาสตราจารย์ยะมะโมะโตะ ได้เสนอสมมุติฐานที่น่าสนใจว่า เสียน อาจเป็นอยุธยาซึ่งเชื่อกันว่ามีอยู่นานแล้วในชื่อของอโยธยาก่อนที่จะมีการก่อตั้งเมื่อจุลศักราช 712 หรือ ค.ศ. 1351 ตามที่กล่าวอ้าง ศาสตราจารย์ยะมะโมะโตะ อ้างเหตุผลสนับสนุนข้อความคล้ายๆ กันพบใน หวัง ต้า-หยวน และหม่า ฮวน ในเรื่องสถานที่ใกล้ๆ ของ เสียน และ เสียน-หลัว ทางชายฝั่งทะเล

ข้าพเจ้ายังไม่พร้อมที่จะสืบค้นไปถึงสมมุติฐานใหม่ เสียน = ทฤษฎีอยุธยาในที่นี้ แต่ข้าพเจ้าต้องการจะชี้ให้เห็นความสำคัญประการหนึ่งของประวัติศาสตร์อยุธยาที่ค่อนข้างถูกละเลยไป นั่นก็คือความสัมพันธ์ใกล้ชิดอย่างที่ไม่เคยคาดไว้กับโลกมลายู

ขออ้างหลักฐานบางประการ ในประเด็นนี้

(1) จากประวัติศาสตร์ราชวงศ์หยวน ชาวเสียน ได้รับคำเตือน เมื่อ ค.ศ. 1295 จากพระราชโองการของราชสำนักมองโกลมิให้ทำอันตราย หม่า-ลี่-ยู-เอ่อ และให้คงรักษาสัญญานี้ไว้ ความตอนนี้ชวนให้คิดว่า เสียนอาจใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงโลกมลายูเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13

(2) หวัง ต้า-หยวน ผู้เขียน เรื่อง เต่า-อี๋ จื้อ-เลวี่ย ไว้เมื่อ ค.ศ. 1349 หรือ 1351 ว่า เสียน เข้าโจมตี ตัน-หม่า-ซี “ในปีที่ผ่านมา ไม่นานนี้” ชี้กันว่า ตัน-หม่า-ซี คือ เกาะสิงคโปร์สมัยใหม่นี้เอง และคนไทยอาจเข้าตีเกาะสิงคโปร์เมื่อๆ ประมาณทศวรรษที่ 3 หรือ ทศวรรษที่ 4 ของคริสต์ศตวรรษที่ 14

(3) ในหนังสือเล่มเดียวกัน 4 กล่าวอ้างว่าชาวเสียนนั้นก้าวร้าว และชอบทำการสำรวจทางทะเลเสมอๆ ผู้เขียนเขียนว่า “ถ้ามีความยุ่งเหยิงเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ (ชาวเสียน) ก็จัดเรือ 110 ลำ บรรทุกสาคูจนเต็ม แล่นมุ่งหน้าไปโดยไม่กลัวความตาย” ข้อความตอนนี้แสดงให้เห็นว่า เสียน ตั้งอยู่ตรงที่มีสาคูอุดมสมบูรณ์ เป็นอาหารหลักสำหรับนักรบผู้ชำนาญการเดินทะเล และเป็นสินค้าสำคัญสำหรับชาวมลายู

(4) จาก จี. อาร์ ทิบเบตส์ ผู้ซึ่งได้ศึกษาตำราภาษาอาหรับที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฝั่งทะเลของผืนแผ่นดินใหญ่เหนือแหลมเนเกรส ซึ่งก็คือหัวแหลมด้านตะวันตกเฉียงใต้ของพม่าตอนล่างทางอ่าวเบงกอล ซึ่งนักเดินเรือชาวอาหรับคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 รู้จักว่า Najirashi นั้น ส่วนใหญ่เป็นของสยามและเรียกกันว่า บารร์ อัล-สยาม หรือ มุล อัล-สยาม ซึ่งหมายถึง “ฝั่งทะเลสยาม” หรือ “แผ่นดินใหญ่สยาม” คำเหล่านี้ใช้กับแหลมมลายูไปจนถึงสิงคโปร์ด้วย (Thibbet, 1979 : 233)

(5) มีเรื่องน่าสนใจพบในหนังสือ Suma Oriental ของโทเม่ ปิเรส ซึ่งชวนให้เข้าใจว่ามีชาวสยามอยู่ในภาคใต้ส่วนใหญ่ของแหลมมลายู เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องปรเมศวร เจ้าชายปาเลมบังผู้ก่อตั้งมะละกา เมื่อปรเมศวรออกจากสุมาตราและหนีไปสิงคโปร์ ได้ไปพบกับหัวหน้าชาวพื้นเมืองชื่อ สัม ฮะยี สิงหปุระ (Sam Agy Symgapura) ราชบุตรเขยของพระเจ้าแผ่นดินสยาม (ภรรยาของ ฮะยี สิงหปุระ (Agy Symgapura) เป็นราชธิดาประสูติแต่พระสนมคนหนึ่งซึ่งเป็นธิดาของขุนนางคนสำคัญคนหนึ่งของปัตตานี) เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงทราบข่าวราชบุตรเขย ทรงตัดสินพระทัยโจมตีและผลที่สุดก็ขับไล่ปรเมศวรออกไปอยู่ที่ มู อาร์ (Suma Oriental II : 231-232) เหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นในช่วงปีแรกๆ ของคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถ้าไม่เกิดก่อนหน้านี้

(6) อิ๋ง-หยา เซิ่ง-หลาน ของ หม่า ฮวน บันทึกไว้เมื่อ ค.ศ. 1433 ว่า (มะละกา) เดิมมิได้ตั้งขึ้นเป็น “ประเทศ” และมีหัวหน้าคนหนึ่งปกครอง ดินแดนนี้อยู่ใต้เขตอำนาจศาลของ เสียน-หลัว หรือสยาม ต้องส่งบรรณาการทุกปีเป็นทองคำสี่สิบเหลี่ยง (และ) ถ้าไม่ (ส่ง) เสียน-หลัว ก็จะส่งคนมาโจมตี (อิ๋ง-หยา เซิ่ง-หลาน : 106)

สิ่งเหล่านี้คือความรู้เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งอาจช่วยชี้ให้เห็นความเกี่ยวข้องอย่างแท้จริงของอยุธยาต่อโลกมลายูตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 13-15 ถ้าเช่นนั้น ทำไมอยุธยาจึงกังวลกับแหลมมลายูมาก? หมายความว่า ที่เดิมของอยุธยาอยู่ทางใต้หรือ?

ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าอยากจะอ้างข้อความตอนหนึ่งในบทที่ว่าด้วย เสียน-หลัว ของ หม่า ฮวน ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าพิศวงสงสัยมานานแล้ว เมื่อพูดถึงกษัตริย์แห่ง เสียน-หลัว หม่า ฮวน เขียนไว้ว่า กษัตริย์ (แห่ง เสียน) เป็น “ชาวสั่วหลี่” คำชี้แจงนี้ยังปรากฏในบทเกี่ยวกับจามปาด้วย ในการออกความเห็นเรื่องนี้ เจ.วี.มิลล์ส เขียนไว้ว่า หม่า ฮวน ใช้คำในความหมายที่หละหลวมมาก โดยใช้คำนี้กับกษัตริย์ไทยและศรีลังกาเช่นกัน ไปในทางแสดงความเป็นเชื้อสายอินเดียของกษัตริย์ (Mils, 1970 : 79)

อย่างไรก็ตาม คำสั่วหลี่ อาจตีความกันต่างๆ ดังการที่อ้างถึงสถานที่บางแห่งบนแหลมมลายู ที่ที่พวกโจละเคยมีอยู่ที่นั่นอย่างเข้มแข็ง (Wheatley, 1961 : 199-203) ศาสตราจารย์อิคุตะ ชิเงะรุ ก็เช่นกัน ให้ความเห็นว่า คำนั้นไม่ควรนำไปเกี่ยวข้องกับคำ “โจละ” บนฝั่งโคโรมานเดล แต่ควรจะตีความกันว่าเป็นการชี้สถานที่แห่งหนึ่งในแหลมมลายู (Ikuta, 1990 : 41-42)

เท่าที่ข้าพเจ้ากล่าวมานี้ อาจฟังดูเป็นเรื่องค่อนข้างแปลก เพราะการอ้างเหตุผลเกี่ยวกับอยุธยาตอนต้น ส่วนมากมักจะอ้างถึงเมืองเชียงใหม่ทางเหนือ แต่ไม่อ้างถึงทางใต้ เป็นเรื่องยากจริงๆ ที่จะรวบรวมหลักฐานอ้างอิงถึงโลกมลายู แต่หลักฐานทางเอกสารบางเล่มที่ข้าพเจ้าอ้างถึงข้างต้นนั้น เข้าใจว่ามีจำนวนจำกัด จึงยังคงต้องขอให้นักประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้นพิจารณากันต่อไป

ในหนังสือที่ชวนให้เกิดความคิดเรื่อง สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา จิตร ภูมิศักดิ์ อารัมภบทด้วยการกล่าวนำเรื่อง “ปาฏิหาริย์และเพดานความคิด” เขาชี้ให้เห็นว่า มีเพดานความคิดบางอย่างที่มองไม่เห็น ซึ่งมักจะคุมเราไว้มิให้คิดอย่างอิสระในเรื่องประวัติศาสตร์ สำหรับประวัติศาสตร์อยุธยา ตามเหตุผลของจิตร ปี พ.ศ. 1893 (จุลศักราช 712) ปีที่มีการบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ว่าเป็นปีก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา เขาโต้ว่า “เพดานความคิด” นี้ทำให้เราเกิดความเชื่อว่า ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อยุธยาควรจะเกิดขึ้นภายหลังปีนี้ และพยายามที่จะคิดว่ากาลเวลาก่อนหน้าปีนี้ เป็นเรื่องไม่เข้าประเด็นและไม่ยอมรับกัน หรือมิฉะนั้นก็พยายามที่จะตีความไปในทางหนึ่งจนกระทั่งเข้ากันได้กับลำดับวันเดือนปีที่สามารถรับได้

จุดประสงค์สำคัญของการพูดเช้านี้ของข้าพเจ้าก็เพื่อนำเรื่องความสัมพันธ์ของอยุธยากับโลกมลายูที่ประมาณการไว้ต่ำตามแบบเดิม ขึ้นมาตั้งข้อสังเกต และมาชักชวนให้ท่านสำรวจว่าเป็น “เพดานความคิด” อีกเรื่องหนึ่งด้วยหรือไม่ในประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยอยุธยาที่จิตรชี้ไว้

เนื่องในวโรกาสประกอบพิธีเปิดศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์นี้ ข้าพเจ้าหวังว่าคงไม่เป็นการผิดกาลเทศะ ที่จะระลึกถึงข้อคิดเห็นที่ดีของนักประวัติศาสตร์ผู้ล่วงลับไปแล้ว ผู้ตั้งความพยายามไว้สูงสุดในอันที่จะเปิดขอบฟ้าใหม่ให้ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยกว้างขึ้น จนวาระสุดท้ายของชีวิตของเขาทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 สิงหาคม 2565