“เรกนัม เสียน” (Regnum Sian) แผนที่ร่วมสมัย “ยุทธหัตถี” กับ ๑๙ ปีที่รอคอย

แผนที่ Regnum Sian หรือ “ราชอาณาจักรสยาม” (ภาพจากห้องสมุด ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น)

ผมเก็บหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มา ๑๙ ปี[๑] เพื่อเตือนใจว่าสักวัน…ผมจะนำแผนที่กลับไทยให้จงได้ 

นสพ.มติชน ฉบับวันพุธที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๓

หนังสือพิมพ์ในภาพเป็นรายงานข่าวการประมูลภาพและแผนที่โบราณจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อกลางปี ๒๕๔๓[๒] ไฮไลท์คือแผนที่สยามอายุกว่า ๔๐๐ ปี เนื้อหาข่าวระบุว่าเป็นแผนที่สมัยพระเอกาทศรถ พิมพ์ที่ประเทศฝรั่งเศสในสมัยอยุธยาตอนปลาย[๓] เมื่อทราบว่าแผนที่ถูกซื้อไปก็ใจหาย เสียดาย บอกย้ำตัวเองว่า…สักวัน ผมจะนำกลับประเทศไทย

แผนที่สำคัญอย่างไร ทำไมต้องนำกลับ

แผนที่นี้เป็นแผนที่พิมพ์ทองแดง (copperplate) ขนาด ๑๕๔ x ๒๒๗ มม. ให้ชื่อภาษาลาตินว่า Regnum Sian หรือ “ราชอาณาจักรสยาม” เขียนโดย โยฮานเนส เมเทลลุส (Johannes Metellus) นักแผนที่ชาวฝรั่งเศส[๔] ด้านหลังเป็นข้อความพรรณนาราชอาณาจักรสยาม ความยาว ๒ หน้ากระดาษ

แผนที่ Regnum Sian พิมพ์จำนวนทั้งสิ้น ๖ ครั้ง รวมอยู่ในสมุดแผนที่ (atlas) ฉบับภาษาลาติน ๓ ครั้ง ได้แก่ Theatrum Principum Orbis Universi พิมพ์ที่เมืองโคโลนจ์ (Cologne) ค.ศ. ๑๕๙๖/พ.ศ. ๒๑๓๙, Asia Tabulis Aeneis Secundum พิมพ์ที่เมือง Oberursel, 1600/๒๑๔๓ และ Speculum Orbis Terrae พิมพ์ที่เมือง Oberursel, 1602/๒๑๔๕ และรวมอยู่ในสมุดแผนที่ฉบับภาษาเยอรมัน ๓ ครั้ง ได้แก่ Theatrum, oder Schawspiegel (Cologne, 1596/๒๑๓๙), Eynkommen, Reichtumb und Schätz (Cologne, 1599/๒๑๔๒) และ Mundus Imperiorum (Oberursel, 1602/๒๑๔๕)[๕]

ความโดดเด่นของแผนที่มี ๔ ประการ คือ

๑. เป็นครั้งแรกที่ “สยาม” (SIAN) ปรากฏบนไตเติ้ล (title) ของแผนที่ แม้ก่อนหน้านี้คำว่า “สยาม” จะปรากฏบนแผนที่โปรตุเกสโดยเขียน Amssiam (1513/๒๐๕๖), Ansian (1529/๒๐๗๒) และ Siam (c.1535/๒๐๗๘) แต่เป็นการระบุตำแหน่งของกรุงศรีอยุธยาบนแผนที่ ไม่ได้ใช้เป็นชื่อของแผนที่ จึงอาจกล่าวได้ว่าแผนที่แผ่นนี้เป็นแผนที่สยามแผ่นแรก[๖]

๒. เป็นแผนที่สยามเพียงไม่กี่แผ่นที่พิมพ์ในสมัยอยุธยาตอนกลาง และแผ่นเดียวที่พิมพ์ในสมัยพระนเรศวร[๗]

๓. เป็นแผนที่ร่วมสมัยกับสงครามยุทธหัตถี พ.ศ. ๒๑๓๕ และสงครามตีเมืองละแวก พ.ศ. ๒๑๓๗ โดยพิมพ์ขึ้นหลังเหตุการณ์แรก ๔ ปี และเหตุการณ์หลัง ๒ ปี

๔. ถ้ามองในบริบทโลก แผนที่พิมพ์ในขณะที่เชกสเปียร์ (William Shakespeare) กวีชาวอังกฤษ และฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi) ขุนพลชาวญี่ปุ่น ยังมีชีวิต ทั้งยังพิมพ์ขึ้นในช่วงที่กองเรือฮอลันดาเริ่มคืบเข้ามายังน่านน้ำอุษาคเนย์ แผนที่ที่เขียนหรือพิมพ์ในช่วงนี้มีผลต่อการแผ่ขยายอิทธิพลของฮอลันดาเข้ามาในภูมิภาค นำไปสู่การจัดตั้งบริษัท วี.โอ.ซี (VOC) หรืออินเดียตะวันออกแห่งฮอลันดาในทศวรรษต่อมา (1602/๒๑๔๕)

แผนที่ Regnum Sian (ภาพจากห้องสมุด ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น)

ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเมเทลลุสเคยเดินทางเข้ามาสยาม นักแผนที่ส่วนใหญ่สมัยนั้นเขียนโดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากนักเดินเรือ บันทึกนักเดินทาง หรือแผนที่ที่พิมพ์ขึ้นก่อนหน้า จากการตรวจสอบแผนที่เอเชียและอุษาคเนย์ที่พิมพ์ระหว่าง ค.ศ. ๑๕๕๐/พ.ศ. ๒๐๙๓ค.ศ. ๑๕๙๕/พ.ศ. ๒๑๓๘ ได้ข้อสันนิษฐานว่าแผนที่ Regnum Sian น่าจะอาศัยต้นแบบจาก Asiae Novissima Tabula แผนที่เอเชียเขียนโดย เดอ โจด (Gerard de Jode, 1578/๒๑๒๑) เสริมด้วยข้อมูลจาก Il Disegno Della Terza Parte Dell’Asia แผนที่เอเชียโดยกาสตาลดี (Giacomo Gastaldi, 1561/๒๑๐๔) และ Indiae Orientalis แผนที่อุษาคเนย์โดยออร์เทเลียส (Abraham Ortelius, 1570/๒๑๑๓)

ผมลองไล่ดูเมืองท่าชายฝั่งทะเลอันดามันที่ปรากฏบนแผนที่ พบรายชื่อดังต่อไปนี้ เมาะตะมะ (Martabam), ทวาย (Tauay), ตะนาวศรี (Tanazarim), มะริด (Mareguim), ภูเก็ต (Iucalõa), เคดาห์ (Quedaa) และสิงคโปร์ (Cincapura)

ส่วนเมืองท่าทางชายฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ ปะหัง (Paam), กลันตัน (Calantan), ปัตตานี (Patane), นครศรีธรรมราช (Nucaon), เพชรบุรี (Perperi)

ในจำนวนเมืองท่าที่ปรากฏบนแผนที่ มีสองเมืองผมไม่กล้าสรุป เมืองแรกคือ Longur บนชายฝั่งอันดามัน เดิมทีผมเข้าใจว่าช่างแผนที่วางตำแหน่งของนครศรีธรรมราช (Longur/Nucaon) ซ้ำซ้อน หรืออาจหมายถึงสลังงอร์ (Selangor) ในมาเลเซีย แต่เมื่อตรวจสอบกับ Tertiae Partis Asiae แผนที่อุษาคเนย์ที่เขียนในเวลาไล่เลี่ยกัน (1593/๒๑๓๖) พบตำแหน่งของ Lungura อยู่ทางตอนใต้ของ Iucaloan (ภูเก็ต) และตำแหน่งของ Calangor (สลังงอร์) บริเวณช่องแคบมะละกา

ทำให้เชื่อว่า Longur ในแผนที่เมเทลลุสและ Lungura ในแผนที่อุษาคเนย์เป็นเมืองเดียวกัน คือ “ละงู” หรือบริเวณอ่าวปากบารา จังหวัดสตูล สันนิษฐานว่า Longur อาจเป็นจุดพักเรือในอดีต เมืองท่าแห่งนี้ยังปรากฏในแผนที่อังกฤษที่รวมอยู่ในจดหมายเหตุครอว์เฟิร์ด (1828/๒๓๗๑) และจดหมายเหตุเบาว์ริง (1857/๒๔๐๐) โดยเขียน Lungu[๘]

เมืองที่สองคือ Camburi อยู่ลึกเข้าไปในคาบสมุทร ผมคิดว่าน่าจะคัดลอกผิดจาก Caiiburi หมายถึงเมืองเก่าไชยบุรี ในจังหวัดพัทลุงปัจจุบัน

ข้อพึงระวังในการอ่านแผนที่คือ ไม่ควรเชื่อทุกสิ่งที่ปรากฏ ช่างแผนที่ส่วนใหญ่คัดลอกข้อมูลจากแผนที่ที่พิมพ์ขึ้นก่อนหน้า เมเทลลุสก็เช่นกัน ในยุคสมัยนั้นยังไม่มีช่างแผนที่คนใดได้เข้ามาในสยาม

แผนที่ Regnum Sian พบข้อผิดพลาดหลายจุด ที่ชัดเจนสุดคือตำแหน่งของ odia เหนือเพชรบุรี (Perperi) ตำแหน่งของ SIAN และเมืองท่า zacabedera บริเวณปากอ่าวไทย

ข้อผิดพลาดนี้ยังพบในแผนที่อุษาคเนย์ (Indiae Orientalis, 1570/๒๑๑๓) โดยออร์เทเลียส และแผนที่เอเชีย (Asiae Novissima Tabula, 1578/๒๑๒๑) โดย เดอ โจด โดยช่างแผนที่วางตำแหน่งทั้งสามในบริเวณเดียวกัน

ข้อเท็จจริงคือ odia บนแผนที่ไม่ใช่กรุงศรีอยุธยา SIAN เป็นชื่อเรียกราชอาณาจักรไม่ใช่ราชธานี และ zacabedera เป็นชื่อเรียกกษัตริย์อยุธยา ไม่ใช่เมืองท่าริมฝั่งอ่าวไทย

อะไรทำให้ผมมั่นใจ

ผมได้ตรวจสอบแผนที่และจดหมายเหตุพิมพ์ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ พบแผนที่เอเชีย (Il Disegno Della Terza Parte Dell’Asia, 1561/๒๑๐๔) โดยกาสตาลดี ช่างแผนที่อิตาลีผู้มีชื่อเสียงที่สุด แผนที่เอเชียของเขาให้รายละเอียดมากสุดและทันสมัยที่สุดในยุคนั้น

กาสตาลดีเป็นคนแรกที่วางตำแหน่ง odia เหนือเพชรบุรี (perperi) วางตำแหน่งของเมือง siri บริเวณปากอ่าวไทย ถัดไปทางตะวันออกเป็นเมืองท่า zacabedera เหนือชื่อ siri เขาเขียนกำกับด้วยตัวหนังสือขนาดใหญ่ REGNO DE SIAN (ราชอาณาจักรสยาม) สังเกตว่า SIAN ในที่นี้เป็นชื่อเรียกราชอาณาจักร ไม่ใช่กรุงศรีอยุธยา

ข้อความภาษาเยอรมันด้านหลังแผนที่ Regnum Sian พรรณนาราชอาณาจักรสยามในสมัยพระนเรศวร

ในแผนที่เอเชียแผ่นนี้ กาสตาลดีวางตำแหน่งของกรุงศรีอยุธยาลึกเข้าไปตอนใน โดยให้ชื่อว่า udia

ตำแหน่ง udia ในแผนที่สัมพันธ์กับ Odia ในแผนที่อุษาคเนย์ (Terza Tavola, 1554/๒๐๙๗) ที่เขาเขียนขึ้นก่อนหน้า และใกล้เคียงกับตำแหน่งที่ถูกต้องของกรุงศรีอยุธยา

odia และ siri บนแผนที่กาสตาลดีคือที่ใดถ้าไม่ใช่กรุงศรีอยุธยา แล้ว zacabedera มาจากไหน

กาสตาลดีเขียนแผนที่เอเชียในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ก่อนหน้านั้นราวสามสิบปีมีจดหมายเหตุเล่มสำคัญพิมพ์ที่กรุงปารีส เป็นจดหมายเหตุการเดินทางของปิกาเฟตตา (Antonio Pigafetta) ชาวอิตาลี โดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุชื่อเมืองท่าตามชายฝั่งอ่าวไทย

…Tubon/ Pehan/ Brabri Baugha/ Tudia. (laquelle est la cite ou habite le roy de Sia/ lequel sappelle Siri. Zacabedera)…[๙]

ถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า

ชุมพร, ปราณบุรี, เพชรบุรี, บางกอก?, อยุธยา. ซึ่งเป็นราชธานีที่ประทับของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยาม ผู้มีพระนามว่าศรีจักรพรรดิราช…

กาสตาลดีคงอ่านพบข้อความนี้ และวางตำแหน่งเมืองท่าสำคัญชายฝั่งอ่าวไทยตามที่เข้าใจ ไล่ตั้งแต่เพชรบุรี (Brabri/perperi), อยุธยา (Tudia/odia), ไปจนถึง “ศรี” (Siri/siri) และจักรพรรดิราช” (Zacabedera/zacabedera)

กาสตาลดีเข้าใจว่า odia เป็นเมืองท่าอยู่ถัดจากเพชรบุรี ทั้งยังเข้าใจว่า Siri และ Zacabedera เป็นเมืองท่าถัดจาก odia ซึ่งในความเป็นจริง Siri+Zacabedera คือศรีจักรพรรดิราช พระนามของกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

ช่างแผนที่คนอื่นๆ ทั้งออร์เทเลียส, เดอ โจด และเมเทลลุส ล้วนคัดลอกข้อมูลจากกาสตาลดี เลยผิดพลาดตามไปด้วย

ส่วนตำแหน่งกรุงศรีอยุธยาที่แท้จริงบนแผนที่ คือสัญลักษณ์อาคารสีแดงเหนือคำว่า SIAN แต่ไม่ระบุชื่อ

ทะเลสาบเชียงใหม่” (Chiamay lacus) เป็นเรื่องพิสดารพันลึก จนบัดนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ผมให้ข้อมูลได้เพียงว่าทะเลสาบในตำนานแห่งนี้ เคยเชื่อกันว่าเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสายสำคัญในภาคพื้นอุษาคเนย์ (ยกเว้นโขง) ปรากฏในแผนที่ฝรั่งจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ลาลูแบร์เป็นคนแรกๆ ที่ให้ความเห็นว่าทะเลสาบแห่งนี้ไม่มีจริง[๑๐]

แผนที่โบราณยิ่งเก่ามากยิ่งผิดพลาดมาก แต่นั่นไม่ได้ลดทอนความสำคัญของแผนที่ Regnum Sian เพราะเอกสารชั้นต้นสมัยพระนเรศวรนั้นนับชิ้นได้ ที่พอนึกได้เห็นจะเป็นหลักฐานจากทางสเปน ส่วนหลักฐานฮอลันดา ธีรวัต ณ ป้อมเพชร ชี้แจงว่าเอกสารร่วมสมัยที่หลงเหลืออยู่ล้วนเขียนหลังสมัยพระนเรศวรทั้งสิ้น[๑๑]

แผนที่ Regnum Sian ปัจจุบันไม่พบในท้องตลาด ส่วนสมุดแผนที่โดยเมเทลลุส อาทิ Asia Tabulis Aeneis Secundum (1600/๒๑๔๓) ปัจจุบันเหลือหลักฐานเพียง ๗ เล่ม[๑๒] ส่วน Speculum Orbis Terrae (1602/๒๑๔๕) ได้ถูกนำออกประมูลที่คริสตี้ส์ กรุงลอนดอน เมื่อกลางปี ในราคา ๒๙๙,๒๕๐ ปอนด์ (ราว ๑๒ ล้านบาท)[๑๓] ด้วยความที่หายากและราคาค่างวดสูงลิ่ว คงไม่มีพ่อค้ารายใดแบ่งแผนที่ออกขาย ถ้าใครอยากได้ต้องซื้อทั้งเล่ม

นี่คือเหตุผลทำไมผมต้องรอคอย ๑๙ ปีกว่าจะได้แผนที่แผ่นนี้ แต่แพงเท่าไหร่ก็ต้องซื้อ เพราะแผนที่สยามหรือเอกสารจดหมายเหตุสมัยพระนเรศวรปัจจุบันนับชิ้นได้ และในประเทศไทยอาจมีเพียงชิ้นเดียว

ผู้เขียน: ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช


เชิงอรรถ

[๑] มติชนรายวัน, ๒ สิงหาคม ๒๕๔๓, ๑๒.

[๒] การประมูลภาพเขียนและสิ่งพิมพ์โบราณ จัดโดยบริษัทคริสตี้ส์ ออคชั่น ประเทศไทย ดูรายละเอียดใน Christie’s Thailand, Siamese Impressions, Bangkok, 30 July 2000, #1515.

[๓] ข้อมูลในเนื้อหาข่าวคลาดเคลื่อนหลายแห่ง เช่น แผนที่แผ่นนี้พิมพ์ในสมัยพระนเรศวร ไม่ใช่สมัยพระเอกาทศรถ ตรงกับอยุธยาตอนกลาง ไม่ใช่อยุธยาตอนปลาย อ่านรายละเอียดคำชี้แจงในบทความ

[๔] เมเทลลุส (Jean Matal หรือ Johannes Metellus) เกิดที่ Burgundy ค.ศ. ๑๕๒๐ เสียชีวิตที่ Augsburg ค.ศ. ๑๕๙๗ เพียงหนึ่งปีภายหลังเขาพิมพ์แผนที่สยามแผ่นนี้ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน Valerie Scott, Tooley’s Dictionary of Mapmakers, revised edition K-P (Riverside, CT: Early World Press, 2003), 243; Peter H. Meurer, Atlantes Colonienses: Die kölner schule der atlaskartographie 1570-1610 (Bad Neustadt: Verlag Dietrich Pfaehler, 1988), 162-196.

[๕] Peter H. Meurer, Atlantes Colonienses, 162-196; Susan Gole, “An Early Atlas of Asia,” The Map Collector, No. 45 (Winter 1988), 20-26.

[๖] Amssiam พบในแผนที่เกาะสุมาตราตอนบนและคาบสมุทรมลายูโดย Francisco Rodrigues (1513/๒๐๕๖) Ansian พบในแผนที่โลกโดย Diogo Ribeiro (1529/๒๐๗๒) Siam พบในแผนที่อุษาคเนย์โดยช่างแผนที่นิรนาม (c.1535/๒๐๗๘) ดูรายละเอียดใน Armando Cortesão and Avelino Teixeira da Mota, Portugaliae Monumenta Cartographica, Vol. 1 (Lisbon, 1960), 79-84, 99-106, 123-124.

[๗] นอกจาก Regnum Sian ยังมีแผนที่ “สยาม” อีกแผ่นพิมพ์ในสมัยอยุธยาตอนกลาง แต่ใช้ชื่อ “Malacca” แผนที่แผ่นนี้พิมพ์ที่อัมสเตอร์ดัม ค.ศ. ๑๖๑๖ ตรงกับสมัยพระเจ้าทรงธรรม ดู Ir. C. Koeman, Atlantes Neerlandici, Vol. II (Amsterdam: Theatrum Orbis Terrarum, 1969), 258-260.

[๘] แผนที่ Map of the Kingdoms of Siam and Cochin China (London, Henry Colburn, 1828) รวมอยู่ในจดหมายเหตุครอว์เฟิร์ด (Journal of an Embassy from the Governor-General of India to the Courts of Siam and Cochin China) และแผนที่ Map of Siam and Its Dependencies (London: John W. Parker & Son, 1857) รวมอยู่ในจดหมายเหตุเบาว์ริง (The Kingdom and People of Siam).

[๙] Antonio Pigafetta, Le voyage et navigation, faict par les Espaignolz es Isles de Mollusques (Paris, Simon de Colines, c. 1525), 72.

[๑๐] ลาลูแบร์ (Simon de la Loubère) ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาสยามในสมัยพระนารายณ์ได้สอบถามชาวสยามที่เคยเดินทางไปเชียงใหม่ ได้ความว่าทะเลสาบแห่งนี้อาจ “ตั้งอยู่ไกลกว่าที่เราคาดคิด หรือไม่ได้มีขึ้นจริง” ดู Thomas Suárez, Early Mapping of Southeast Asia (Singapore: Periplus Editions, 1999), 156.

[๑๑] ธีรวัต ณ ป้อมเพชร, “หลักฐานตะวันตกเกี่ยวกับรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช,” ใน วุฒิชัย มูลศิลป์, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ๔๐๐ ปีของการครองราชย์, ฉบับปรับปรุงแก้ไข (คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย, ๒๕๓๓), ๓๔.

[๑๒] Susan Gole, “An Early Atlas of Asia,” 20.

[๑๓] Christie’s London, Beyond the Horizon: The Mopelia Collection of Fine Atlases and Travel Books, Sale #17699, 5 June 2019, Lot #13.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ตุลาคม 2562