ผู้เขียน | หนุ่มบางโพ |
---|---|
เผยแพร่ |
เรื่องเล่าเกี่ยวกับชะตากรรมของโจรลักลอบขุดกรุจากโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีหลากหลายเรื่อง เรื่องเล่าหนึ่งคือ โจรลักลอบขุด “กรุวัดราชบูรณะ” โดนอาถรรพณ์จนสติฟั่นเฟือน แล้วแต่งเครื่องทรงของกษัตริย์ ถือ “พระแสงขรรค์” ออกไปรำที่ตลาดหัวรอ
เรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่? จากข้อมูลใน นิทรรศการเครื่องอยุธยา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา อธิบายไว้ พอจะสรุปได้ดังนี้
ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2500 มีโจรกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นราษฎรในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ร่วมมือกับตำรวจลักลอบขุดกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ เป็นเวลาถึง 3 คืน ตั้งแต่คืนวันที่ 25-27 กันยายน พ.ศ. 2500 กระทั่ง คืนวันที่ 27 กันยายน ขุดพบเครื่องทองจำนวนมากภายในกรุ จากนั้นโจรได้ทยอยนำเครื่องทองขึ้นมาห่อผ้า แล้วพากันไปแบ่งที่บ้านของโจรอีกคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ตรงข้ามวัดราชบูรณะ
เมื่อทำการแบ่งสมบัติปรากฏว่าจัดแบ่งไม่ลงตัว เพราะนายตำรวจหนึ่งในผู้ร่วมขบวนการ ซึ่งอยู่ในสภาพเมามายได้เลือกแต่ของชิ้นดี ๆ งาม ๆ ออกมา โดยอ้างว่าจะนำไปให้เจ้านาย โจรผู้ร่วมขบวนการด้วยกันเกิดไม่พอใจจึงดับตะเกียง แย่งของแย่งสมบัติ แล้วแยกย้ายกันหนีไป คงเหลือแต่พระแสงขรรค์พิงอยู่ข้างฝา กับเศษทองเล็กน้อยตกอยู่ที่บ้านหลังนั้น
ต่อมา ตำรวจผู้นั้นได้เดินไปที่บ้านพักของผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเล่าเรื่องว่ามีโจรลักลอบขุดกรุที่วัดราชบูรณะให้ฟัง ผู้กำกับการเห็นว่าถ้อยคำของตำรวจผู้นั้นมีพิรุธอยู่มาก จึงสงสัยว่าอาจได้ร่วมกระทำความผิดกับโจรกลุ่มนั้น จึงสั่งให้ควบคุมตัวไว้ก่อน พร้อมรีบพากำลังตำรวจไปที่บ้าน ซึ่งใช้แบ่งสมบัติในเช้ามืดวันที่ 28 ทันที กระทั่ง พบพระแสงขรรค์ และเศษทอง 1 กระป๋อง ที่โจรเจ้าของบ้านยอมนำมามอบให้ จึงดำเนินการจับกุมและยึดของกลางไว้เป็นหลักฐาน
จากนั้นผู้กำกับการได้มอบหมายให้ตำรวจติดตามจับกุมโจรร่วมขบวนการที่เหลือจนได้ทั้งหมด
อีกหลายปีต่อมา หนึ่งในโจรกลุ่มนั้นเมื่อเมาเหล้าได้นำ “ดาบลิเก” ไปเที่ยวรำเล่นอยู่ที่ตลาดหัวรอ ทำให้คนรุ่นหลังที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์การจับกุมเมื่อ พ.ศ. 2500 นำไปพูดเป็นเรื่องเดียวกันว่า ตำรวจจับกุมโจรลักลอบขุดกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะได้ เพราะคนร้ายเสียสติฟั่นเฟือนถือพระแสงขรรค์มาร่ายรำที่ตลาดหัวรอ จนเป็นเรื่องติดปากกันไปทั่ว และเล่าสืบต่อกันมาด้วยความเข้าใจผิดจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบัน พระแสงขรรค์องค์นี้จัดแสดงอยู่ที่อาคารเครื่องทองอยุธยา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
อ่านเพิ่มเติม :
- การถวาย “ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง” ทำไมต้องเป็น “ต้นไม้” ?
- “ลงรักปิดทอง” สุดยอดศิลปกรรมอันวิจิตรของไทย ทำอย่างไร?
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ธันวาคม 2565