ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
ในบรรดางานศิลปกรรมชั้นสูงของไทย งาน “ลงรักปิดทอง” ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าและแสดงออกถึงภูมิปัญญากับความรู้ด้านศิลปะอันโดดเด่น ปราณีต มีเอกลักษณ์ และเป็นภาพแทนอันวิจิตรงดงามเป็นอันดับต้น ๆ ในหมู่ศิลปกรรมทั้งหลาย เป็นงานศิลปหัตถกรรมไทยแขนงหนึ่งที่จัดอยู่ในงาน “ช่างสิบหมู่” ประเภท ช่างรัก วัสดุสำคัญคือ ยางรัก ที่ได้จากการเจาะต้นรัก หรือต้นน้ำเกลี้ยง ทาเคลือบเพื่อการตกแต่งสถาปัตยกรรมไทย ทั้งช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ซุ้มประตูหน้าต่าง เป็นต้น
ยางรัก มักถูกนำไปทาเคลือบผิวพระพุทธรูปในโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ เพื่อให้มีผิวเรียบเป็นมันวาว แล้วปิดทับด้วย ทองคำเปลว เพื่อให้เกิดความวิจิตรงดงาม ผลงานที่ถูกสร้างด้วยกระบวนการดังกล่าวเรียกว่า “งานลงรักปิดทอง” มีวิธีการและเทคนิค ดังนี้
1. ลงรักปิดทองผิวเกลี้ยง หรือที่ช่างเรียกว่า “ปิดทองทึบ” เช่น การปิดทองคำเปลวพระพุทธรูปที่หล่อด้วยโลหะ แกะสลักไม้ ปั้นปูนสด หรือปูนซีเมนต์ เพื่อให้ผิวพระพุทธรูปมีความสวยงามเปล่งปลั่งดุจสร้างด้วยทองคำแท้ทั้งองค์ ช่างรักจะทาเคลือบพื้นผิวจนขึ้นเงาแล้วปิดทองคำเปลว 100% เรียกว่า “ทองคัด” ทำให้ไม่มีร่องรอยของคราบหรือสีที่แตกต่างบนเนื้อทอง ได้ผลงานที่เรียบมันสม่ำเสมอ
2. ลงรักปิดทองล่องชาด คือ การลงรักปิดทองลงบนลวดลายที่เกิดจากการปั้น แกะสลัก เพื่อให้เกิดเป็นลายนูนและพื้นหลังลึก ช่างรักจะลงรักปิดทองเฉพาะส่วนที่นูน ทาสีแดงลงพื้นหลัง สมัยโบราณนิยมใช้ ชาด เป็นที่มาของชื่อเทคนิคข้างต้น
3. ลงรักปิดทองร่องกระจก คล้ายวิธีลงรักปิดทองล่องชาด แต่เพิ่มกระบวนการหลังเสร็จขั้นตอนลงรักปิดทองตัวลายที่แกะสลักหรือปั้นนูนแล้ว มีการประดับกระจกสีต่าง ๆ เป็นพื้นหลังหรือส่วนที่ว่างเว้นจากการลงรักปิดทองในขั้นต้น เพื่อเพิ่มความแวววาว และทำให้เกิดความระยิบระยับเมื่อกระทบแสง ใช้กระจก 2 ชนิด คือ กระจกเกรียบ (กระจกจีน) เป็นกระจกบาง ๆ ใช้กรรไกรตัดได้ กับกระจกแก้ว ซึ่งหนากว่า
4. ลงรักปิดทองลายฉลุ ใช้วิธีการ “ตอกลาย” เจาะกระดาษเป็นต้นแบบลวดลาย แล้วนำแบบที่ตอกฉลุไปทาบนพื้นสีต่าง ๆ ที่มีความเหนียวพอเหมาะต่อการปิดทองคำเปลว แล้วปิดทองคำเปลวไปตามช่องว่างของลาย วิธีนี้นิยมใช้ในพื้นที่สูงที่ทำงานประณีตได้ยาก เช่น เพดานของอาคาร วิหาร โบสถ์ ฯลฯ
กรรมวิธีการลงรักปิดทอง
1. ใช้ยางรักน้ำเกลี้ยงทาในส่วนที่ต้องปิดทองคำเปลว ปล่อยให้ยากรักมีความเหนียวได้พอดี ซึ่งต้องใช้ทักษะความชำนาญของช่างในการสังเกตความพอดี จึงจะสามารถปิดทองได้สวย
2. ใช้ทองคำเปลวชนิดคัดพิเศษปิดในส่วนที่เป็นผิวเรียบ ถ้าปิดที่เป็นลายแกะสลัก ปิดทองล่องชาด ปิดทองร่องกระจก จะใช้ทองคำชนิดไม่คัดก็ได้ จากนั้นใช้แปรงหรือพู่กันกระทุ้งส่วนที่ต้องการจะปิดทอง เพื่อให้ทองคำเข้าถึงส่วนต่าง ๆ ของชิ้นงานได้อย่างทั่วถึง
ความเป็นมาของเครื่องรัก
คนไทยรู้จักการใช้ยางรักทาเคลือบสิ่งของ ภาชนะ เครื่องใช้ พระพุทธรูป และลวดลายต่าง ๆ ไม่น้อยกว่าสมัยสุโขทัย จากการพบหลักฐานการลงรักปิดทองพระพุทธรูปทั้งที่หล่อด้วยโลหะ ปั้นปูนสด หรือจักสานด้วยไม้ไผ่ แล้วลงรักปิดทองคำเปลว
ในอยุธยาพบหลักฐานการใช้ยางรักสืบต่อกันมาทั้งลงรักปิดทองพระพุทธรูป ลวดลายประดับตกแต่ง รวมถึงหลักฐานงานเขียนน้ำยาหรดาล หรือลายรดน้ำ เมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีการสร้างศิลปกรรมและการตกแต่งเมืองหลวงให้มีความงามวิจิตรดังกรุงศรีอยุธยา ก่อนจะมีความเจริญรุ่งเรืองในระดับ “ยุคทอง” ของงานศิลปกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ก่อนศิลปกรรมแบบตะวันตกจะเข้ามาผสมผสานในสมัยรัชกาลที่ 4-5
งานลงรักปิดทอง แม้เป็นงานที่สร้างขึ้นโดยเกี่ยวข้องกับศาสนาและพระมหากษัตริย์ แต่เพราะความเคร่งครัด-ระเบียบจึงทำให้เกิดงานสร้างสรรค์และถ่ายทอดอย่างเป็นระบบ ก่อนจะผ่อนคลายความเคร่งครัดของการนำมาใช้ในภายหลัง เกิดเป็นงานฝีมือของช่างพื้นบ้านที่สร้างงานลงรักปิดทองสำหรับการประดับตกแต่งตามอาคารบ้านเรือน ทำให้รูปแบบศิลปกรรมไทยนี้ได้รับการสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดำรงอยู่ของช่างหัตถศิลป์ ประณีตศิลป์ชั้นสูง
อ่านเพิ่มเติม :
- “ช่างสิบหมู่” มีอะไรบ้าง เป็นมาอย่างไร และมีส่วนในงานศิลปกรรมไทยอย่างไร
- ศิลปกรรมที่ศาลเจ้าจีน-วัด-โรงเจ ความหมายในความงาม
- อยุธยาขาย “ยางรัก” ส่งตลาดนอกฟันกำไรอย่างงาม แม้ผลิตเองไม่ได้
อ้างอิง :
อาจารย์สนั่น รัตนะ, ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2566) : “งานศิลปหัตถกรรมประเภท ลงรักปิดทอง”. <https://www.sacit.or.th/uploads/items/attachments/cdeb62ca10f63c94f575fa8f7f7a2b1f/_2b017d2593959b9b50b5d33f353487f2.pdf>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2566