อยุธยาขาย “ยางรัก” ส่งตลาดนอกฟันกำไรอย่างงาม แม้ผลิตเองไม่ได้

ลงรัก ยางรัก ปิดทอง

รัก” ที่คนไทยใช้เรียก “น้ำรัก” หรือ “ยางรัก” นั้น ไม่สามารถหาได้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ดังนั้น การได้ยางรักมาจึงมี 2 ทาง คือ ได้มาด้วยการซื้อขายแลกเปลี่ยนในฐานะสินค้า และได้มาในฐานะส่วยหรือบรรณาการที่ส่งมาจากรัฐตอนในของแผ่นดิน ซึ่งเป็นแหล่งที่เต็มไปด้วยของป่านานาชนิด เป็นสินค้าที่มีราคาแพง และเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ

แหล่งยางรัก

ยางรักเป็นหนึ่งในส่วยของป่าสำคัญจากหัวเมืองประเทศราชหรือรัฐตอนในของแผ่นดิน จากทางภาคเหนือ (ล้านนา) และจากทางภาคตะวันออก-ภาคอีสาน (ล้านช้าง) ยางรักจากทั้ง 2 เขตนั้นมีความแตกต่างกัน เพราะชนิดของสายพันธุ์รัก โดยมากแล้วต้นรักจะเติบโตได้ดีในสังคมของไม้ในป่าเต็งรังที่ระดับความสูงตั้งแต่ 100-600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือในเขตภูเขา

Advertisement

ในสมัยอยุธยาไม่มีบันทึกที่แน่ชัดว่าอยุธยามีความต้องการใช้ยางรักปริมาณเท่าใด แต่ต้องมีความต้องการใช้เป็นปริมาณมหาศาล เพื่อใช้ลงรักในงานด้านพระพุทธศาสนา เช่น ลงรักพระพุทธรูปก่อนปิดทอง การทำตู้พระธรรม บานประตูหน้าต่างในวัด และงานประดับมุก รวมถึงยังใช้ในการสร้างพระราชวังและตำหนักอีกด้วย

ลายรดน้ำ ลงรัก ปิดทอง
ลายรดน้ำ (ภาพจากหนังสือ ลายรดน้ำ สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2555)

นิโกลาส์ แชรแวส ชาวฝรั่งเศสผู้เดินทางเข้ามาในอยุธยาตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม ว่ามียางไม้ชนิดหนึ่งได้จากป่าใกล้ ๆ เขตกัมพูชาถูกนำมาใช้ในงานด้านศิลปกรรม

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่ายางรักที่ใช้ในงานศิลปกรรมของอยุธยาส่วนใหญ่ได้มาจากทางภาคตะวันออก-ภาคอีสาน หรือเขมร เพราะเป็นเขตที่อยุธยาสามารถควบคุมได้ดีกว่าทางภาคเหนือหรือล้านนามาก 

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อธิบายว่า “ยางรักที่ใช้ในอยุธยาคงมีทั้งได้มาในฐานะที่เป็นส่วย และสินค้าที่ซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะการซื้อขายแลกเปลี่ยนในฐานะสินค้าคงเป็นกิจกรรมการค้าที่กระทำกันอย่างกว้างขวาง ดังที่ปรากฏใน คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ว่าในฤดูเดือนสามเดือนสี่ (หรือราวเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม) เกวียนบรรทุกสินค้าจากเมืองนครราชสีมาจะนำ ‘น้ำรัก’ และของป่าอื่น ๆ ได้แก่ ขี้ผึ้ง ปีกนก ผ้าตรางผ่าสายบัวสี่คืบน่าเกบทอง ผ้าตาบัวปอกตาเลดงา และหนังเนื้อ เอนเนื้อ เนื้อแผ่น ครั่งไหม กำยาน ดีบุก หน่องา ของป่าต่าง ๆ มาที่ ‘บ้านศาลาเกวียน’ ซึ่งอยู่ทางเหนือของเกาะเมืองอยุธยา ที่บ้านศาลาเกวียนนั้นมี ‘มีศาลาใหญ่ห้าห้องสองหลัง’ เพื่อให้พ่อค้าพักระหว่างทำการค้าที่อยุธยา”

โดยสรุปแล้ว ยางรักของอยุธยามีที่มาจาก 2 แหล่งหลัก คือแหล่งแรกจากทางภาคเหนือจากทางเชียงใหม่จะผ่านมาที่เมืองปากน้ำโพ และแหล่งที่ 2 จากทางภาคตะวันออก-ภาคอีสาน จากแถบแม่น้ำป่าสักและที่ราบสูงโคราช หรือรวมถึงจากกัมพูชาด้วย 

ในแง่ของส่วย ในเอกสาร คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่ายางรักเป็นหนึ่งในส่วยของป่าที่เรียกเก็บจากราษฎร ซึ่งส่วยของป่าที่เรียกเก็บนี้ยังมีรายการอื่น ๆ อีก เช่น น้ำมันยาง น้ำผึ้ง ชัน สีน้ำรัก เป็นต้น โดยกลไกสำคัญที่ทำให้ส่วยรักและของป่าต่าง ๆ สามารถส่งมาที่อยุธยาได้นั้นมาจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ดังเห็นได้จากกฎหมายพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนที่เริ่มตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่มีการระบุถึง “ตำแหน่งขุนเทพณราชสมุบาญชีย์ เรียกส่วยจากหัวเมืองและแขวงจังหวัด” และมีการตราไว้ไม่ต่ำกว่า 19 มาตรา

การค้ายางรักของอยุธยา

ยางรักเป็นสินค้าออกเก่าแก่ชนิดหนึ่งและเป็นที่ต้องการของต่างประเทศอย่างมาก โดย โทเม พิเรส์ ชาวโปรตุเกสที่เข้ามาที่มะละกา ระหว่าง พ.ศ. 2055-2057 ได้บันทึกไว้ว่า กำยาน ชะมดเช็ด และยางรัก เป็นสินค้าออกสำคัญของอยุธยาที่ส่งไปขายยังประเทศจีน โดยระบุว่าสินค้าเหล่านั้นมีต้นกำเนิดมาจากทางพม่าและเชียงใหม่

เอกสารของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา หรือ VOC ได้บันทึกถึงการค้าขายยางรักในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ให้ข้อมูลว่ายางรักเป็นหนึ่งในสินค้าออกที่สำคัญของอยุธยาที่ควบคุมการค้าโดยราชสำนัก และ VOC ก็พยายามที่จะซื้อขายยางรักนี้เพื่อส่งไปขายยังประเทศญี่ปุ่นด้วย เหตุที่ญี่ปุ่นมีความต้องการยางรักในปริมาณสูง อาจเอาไปใช้สำหรับทำเครื่องใช้ประเภทถ้วยชามและกล่องไม้ต่าง ๆ ที่เรียกว่า “ชิกกิ” (Shikki) ซึ่งทางญี่ปุ่นและริวกิวมีความนิยมใช้อย่างมาก

และในเอกสารของฮอลันดา พ.ศ. 2179 บันทึกว่า “พ่อค้าเจเรเมียส ฟอน ฟลีต (วัน วลิต) ได้ประสบกับความยุ่งยากหลายประการในการจัดหาสินค้าไปประเทศญี่ปุ่น… พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงขัดขวางฟอน ฟลีต ในการส่งสินค้าไปประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากพระองค์ทรงส่งเรือสำเภา 3 ลำไปกวางตุ้งแล้ว โดยบรรทุกสินค้าไปประมาณ 13,000 หาบ มีไม้ฝาง ตะกั่วจำนวนมาก ยางรัก งาช้าง ขนนก รังนก นอแรด และหนังกวางอีกจำนวนเล็กน้อย และด้วยความมุ่งหมายนั้นจึงได้ผูกขาดเรือสินค้าทุกลำเท่าที่จะหาได้สิ้น”

อย่างไรก็ตาม ล้านช้างเป็นอีกเขตหนึ่งที่สามารถผลิตยางรักได้มาก ในเอกสารฮอลันดาบันทึกไว้ว่าเมื่อ พ.ศ. 2184 “ราชทูตคนหนึ่งจากล้านช้างได้มาถึงกรุงศรีอยุธยากับพ่อค้าลาวบางคน นำทองคำ กำยานและยางรักมาขาย พวกเขาตั้งใจขายกำยานและยางรักให้แก่คนของเราบ้างในราคาพอสมควร”

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เอกสารของฮอลันดาได้บันทึกได้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2206 “ผู้แทนผู้สำเร็จราชการพึงพอใจในคำตอบนี้ เพราะหวั่นเกรงอยู่เรื่องจะหาสินค้าไม่ได้เต็มที่สำหรับจะนำไปขายยังประเทศญี่ปุ่นฤดูหน้า เมื่อปีที่แล้วใบสั่งเรื่องยางรักสำหรับเนเธอร์แลนด์และสุรัตก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จลุล่วงไปได้”

การกรอก ยางรัก
การกรอกยางรักในภาคเหนือ (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2558)

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อธิบายว่า “จากเนื้อความข้างต้นเป็นไปได้สูงว่า บริษัทอินเดียตะวันออกคงต้องแข่งขันกับพระคลังสินค้า เพื่อหายางรักไปขายยังต่างประเทศ แต่น่าสังเกตด้วยว่าในอินเดียเองคงมีความต้องการใช้ยางรักเช่นกัน เพราะใบสั่งซื้อยางรักเป็นใบสั่งซื้อจากเมืองสุรัต (Suratte) เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจ เพราะในอินเดียเองก็มีวัฒนธรรมการทำภาชนะจากยางรักเช่นกัน”

ถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงใช้นโยบายผูกขาดสินค้าและเข้มงวดเรื่องการค้าผ่านระบบพระคลังและพระคลังสินค้าแทบไม่ต่างจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีส่วย 9 ชนิดที่ถูกผูกขาดเป็นสินค้าส่งออก ได้แก่ งาช้าง ฝาง ตะกั่วนม ไม้ดำ ไม้แดง ชัน รัก จันทน์ชะมด และครั่ง

ทั้งนี้ การที่พระคลังสินค้าผูกขาดสินค้าใดแสดงว่าสินค้านั้นตลาดจะต้องมีความต้องการสูง มีราคาดี และสามารถทำกำไรได้มาก 

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ กล่าวสรุปเกี่ยวกับยางรักสมัยอยุธยาไว้ 2 ประการว่า

“ประการแรก ยางรักจากทางล้านนาเข้ามาในอยุธยาในฐานะที่เป็นสินค้า อาจมีเป็นส่วยบ้างในช่วงสั้น ๆ ที่อยุธยามีอำนาจเหนือเมืองเชียงใหม่ ส่วนยางรักจากทางภาคตะวันออก-อีสาน และกัมพูชาเข้ามาในฐานะที่เป็นสินค้าและส่วย 

ประการที่ 2 อยุธยาเป็นพ่อค้าขายยางรักรายใหญ่ ซึ่งต่อมาบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาได้เข้ามามีส่วนแบ่ง เพราะได้รับสิทธิ์ในการค้ากับญี่ปุ่น อยุธยาทำหน้าที่เพียงส่งวัตถุดิบให้กับญี่ปุ่น และซื้อยางรักที่กลายเป็นผลิตภัณฑ์แล้วกลับมา ส่วนจีนอาจเป็นการส่งไปในฐานะที่เป็นบรรณาการและสินค้า น่าเสียดายที่ผู้เขียนไม่สามารถค้นข้อมูลได้ตามที่ใจต้องการ อีกทั้งเอกสารว่าด้วยการศึกษาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับจีน ก็ไม่ค่อยให้ความสนใจกับน้ำรักมากนัก อาจเป็นเพราะเป็นสินค้าที่มีราคาไม่สูงมาก”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. (มิถุนายน, 2558). ส่งส่วยด้วยรัก. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 36 : ฉบับที่ 8.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2564