ผู้ชายแท้ๆ ยุคสามก๊ก แต่งหน้า-ทาปาก-ใส่เสื้ออบร่ำ ?!?

นางเอียนสี โจผี โจสิด โจหยิน โจหอง โจเจียง ตำนานเรื่องสามก๊ก สามก๊ก
(จากซ้าย) นางเอียนสี, โจผี, โจสิด, โจหยิน, โจหอง,โจเจียง จาก “ตำนานเรื่องสามก๊ก” ที่ทีมศิลปวัฒนธรรม แต่งหน้า ทาปาก ให้สอดคล้องกับบทความ

ตั้งแต่ยุคก่อนราชวงศ์ฉินถึงราชวงศ์ฉินและฮั่น ผู้ชายจีนถือเอาความล่ำสันเข้มแข็งเป็นความงามในอุดมคติ มีแต่เด็กบําเรอกามและนักร้องนักแสดงอย่างพวกงิ้วที่จะสําอางอ่อนช้อย แต่ใน ยุคสามก๊ก ราชวงศ์วุ่ย และราชวงศ์จิ้น พวกผู้ชายค่อยๆ นิยม แต่งหน้า ที่พวกเขาชอบมากที่สุดคือ “ทาปาก” และ “ผัดหน้าทาแป้ง”

พงศาวดารสามก๊ก ภาควุ่ยก๊ก บทหวางเว่ย 2 ประวัติหลิวฟู บันทึกไว้ว่า โจสิดผู้ได้รับยกย่องว่าเป็น “ยอดคนเด่นแห่งรัชศกเจี้ยนอาน” เพื่อจะต้อนรับหานตานฉุนบัณฑิตขงจื้อผู้มีชื่อเสียง ถึงกับเคย “เข้าที่นั่งช้า ไม่พูดจากับใคร ขณะนั้นอากาศร้อน โจสิดจึงเรียกผู้ติดตามให้เอาน้ำมาให้เขาล้างหน้า แล้วทาแป้ง” แสดงชัดเจนว่าโจสิดทาแป้งนั้นเป็นเรื่องจริง

Advertisement

นอกจากโจสิดแล้ว ลูกผู้ดีมีตระกูลบางส่วนก็ชอบแต่งหน้าทาแป้ง หนังสือสื้อซัวซินอี่ว์ (เรื่องเล่าสํานวนใหม่) บรรพหญงจื้อ หลิวเซี่ยวทําคําอธิบายโดยยกข้อความจากหนังสือ “วุ่ยเลวี่ย (ประวัติสังเขปราชวงศ์วุ่ย)” มาว่า “โฮอั๋น (เหอเอี้ยน-จีนกลาง) หลงรูปตัวเอง ไม่ว่าจะทําอะไรผ้าแป้งไม่เคยห่างมือ เวลาเดินจะมองดูเงาตัวเอง”

คํา “ผ้า” ปกติหมายถึง วัสดุที่ทอจากไหม ผ้าแป้งในที่นี้ใช้ประโยชน์อย่างพัฟทาแป้งในปัจจุบัน เป็นถึง หลานโฮจิ้น (เหอจิ้น) แม่ทัพใหญ่ ลูกเลี้ยงของโจโฉและนักปรัชญาผู้โด่งดังสูงสุดคนหนึ่งในสมัยนั้น แต่โฮอันตลับแป้งไม่ห่างมือ ประจักษ์ชัดว่าเขา “เติมแป้งแต่งหน้า” ได้ทุกเวลา แสดงว่าโฮอั๋นทาแป้งแต่งหน้าอยู่เสมอ

ความนิยมแต่งหน้าทาแป้งนี้เข้มข้นยิ่งขึ้นตลอดมาจนถึงจุดสูงสุด ในยุคราชวงศ์ฉีและเหลียงแห่งราชวงศ์ใต้ ลูกหลานผู้ดีแต่งหน้าทาแป้งกันเกือบทุกคน ไม่ใช่แค่ทาแป้ง แต่ยังใช้ “ถูจู-ทาสีแดง” อีกด้วย คือใช้สีแดงแต่งหน้าทาปาก คล้ายการทาลิ้นจี่ในยุคหลัง

ในหนังสือ “เอี่ยนซื้อเจียซวิ่น (คําสอนตระกูลเอี๋ยน)” บทเชี่ยนเสว์ (เตือนให้ใฝ่ศึกษา) กล่าวว่า “ในยุครุ่งเรืองของราชวงศ์ใต้ลูกหลานผู้ดี…ไม่มีที่จะไม่อบเสื้อผ้า กันหน้า ทาแป้ง แต้มแต่งด้วยสีแดง” ความนิยมนี้พัฒนาไปจนทุกคนทําเหมือนกัน เห็นได้ถึงสมัยนิยมอันเข้มข้นในเรื่องนี้

นอกจากทาแป้งแต่งหน้าแล้ว ผู้ชายใน ยุคสามก๊ก ยังนิยมอบร่ำเสื้อผ้า โจผีก็ชอบเรื่องนี้ พงศาวดารสามก๊กจี่ ภาควุ่ยก๊ก บทประวัติฟางงี้ บันทึกไว้ว่า “องค์กษัตริย์ (โจผี) ขี่ม้า ม้าไม่ชอบกลิ่นหอมของเสื้อผ้า ตกใจกัดหัวเข่าของพระองค์ จึงกริ้วมาก สังหารม้านั้นทันที” พระเจ้าวุ่ยเหวินตี้ โจผีอบรําเสื้อผ้า กลิ่นหอมฉุนจนม้าผวากัดเอาหัวเข่าพระองค์

ดังนั้น ตั้งแต่รัชศกเจี้ยนอานปลายราชวงศ์ฮันเป็นต้นมา ผู้ชายก็ชอบแต่งหน้าอบร่ำเสื้อผ้า กล่าวได้ว่าเป็นความนิยมพิเศษของยุคสมัย ถ้าเช่นนั้นทําไมผู้ชายยุคนั้นจึงนิยม แต่งหน้า

เรื่องนี้มีความสัมพันธ์กับความนิยมในยุคนั้นอย่างยิ่ง ในสังคมจีน ยุคราชวงศ์ฮั่น, สืบเนื่องมาจากความรุ่งเรืองของลัทธิขงจื๊อ, กิริยาวาจาของผู้มีการศึกษาถูกกล่อมเกลาให้เป็นมาตรฐานตามแบบแผนจริยธรรมของลัทธินี้

กรอบแห่งมาตรฐานนี้กําหนดให้คนต้องรักษาคุณธรรมประเพณีในเรื่องต่างๆ ในทางความคิดต้องยอมรับและปฏิบัติตาม “ซานกัง-หลักทั้งสาม (ประมุขเป็นหลักของขุนนาง, สามีเป็นหลักของภรรยา, บิดาเป็นหลักของบุตร-ผู้แปล) ยอมรับอํานาจรัฐและลัทธิเทวราชทางการปกครองโดยอัตโนมัติ ห้ามแสดง “ความเห็นชั่วร้ายนอกรีต” พฤติกรรมภายนอกต้องปฏิบัติตามจารีตและหลักการทั้งหลายของลัทธิขงจื้อ ห้ามทําตามใจตัว

กล่าวโดยสรุป ตามข้อกําหนดดังกล่าว ผู้มีการศึกษาต้องเชื่อฟัง กตัญญูต่อบุพการี เคารพรักพี่น้อง ประหยัด ขยัน จงรักภักดี อ่อนน้อมถ่อมตน รักษาจารีต ใฝ่พัฒนาตนให้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม ดังนั้น ผู้มีการศึกษาในยุคนี้ส่วนมากจะมีบุคลิก ภาพสํารวม วิธีคิดและพฤติกรรมของพวกเขาจะมีลักษณะร่วมกันมาก ต่างกันน้อย แสดงออกถึงลักษณะพิเศษของบุคลิกภาพกลุ่มซึ่งขาดความเป็นปัจเจก

แต่ทว่าเนื่องจากความเสื่อมโทรมของจักรวรรดิฮั่น มาตรฐานอันค่อนข้างจะแข็งทื่อตายด้านของลัทธิขงจื๊อนี้ค่อยๆ ถูกละเลยไม่เป็นที่ยอมรับของผู้คน ปัญญาชนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งถึงกับเริ่มคิดที่จะทลายกรอบมาตรฐานนี้ โจโฉเป็นตัวแทนของคนกลุ่มนี้ ประกาศรับสมัคร คนของเขาระบุชัดเจนว่า “ขอเพียงเก่งก็รับบรรจุ”

สังคมยุคนั้นตอบสนองเรื่องนี้ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ผู้คนจึงยิ่งไม่อยากรับกรอบมาตรฐานของลัทธิขงจื๊อมาจํากัดวิถีชีวิตคน ดังนั้น พฤติกรรมที่ต้องการความเป็นปัจเจกของตนจึงค่อยๆ ปรากฎ ผู้ชายแต่งหน้าใช้เครื่องสําอางก็เป็นผลิตผลโดยตรงของค่านิยมดังกล่าว (เฉิงเสี่ยวฮั่น)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หลี่ฉวนจวินและคณะ เขียน, ถาวร สิกขโกศล แปล. 101 คำถามสามก๊ก, กรุงเทพฯ : มติชน 2556.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2562