ทำไมปัญญาชนยุคสามก๊กส่วนใหญ่คิดว่าชีวิตสั้น ควรหาความสุขให้ทันเวลา

ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊ก พระวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร

ทำไมปัญญาชนยุค “สามก๊ก” ส่วนใหญ่คิดว่า ชีวิตสั้น ควรหาความสุขให้ทันเวลา?

โจโฉมีร้อยกรองบทหนึ่งชื่อบทว่า “ต่วนเกอสิง-ลํานําเพลงสั้น” ทวีป วรดิลก แปลเป็นกลอนไว้ไพเราะมากทั้งบทดังนี้

ลำนำเพลงสั้น

ดื่มสุราพลางขับศัพท์บรรสาน   ชีวิตคนจะยืนนานสักเพียงไหน
ดุจน้ำค้างอรุณรางเหือดหายไป   วันครรไลมีแต่ทุกข์สุขน้อยนิด

ควรจักร้องเพลงสราญหาญเหิมฮึก   หากสำนึกในกมลอับจนจิต
สิ่งใดเล่าระงับทุกข์สุขสมคิด   เทพสุราปลดปลิดได้ดังใจ

มิตรท่านพรากจากไกลไปนักหนา   ในทรวงข้าเสาะแสวงอยู่แห่งไหน
เพราะมิตรนี้ที่ข้ายังฝังจิตใจ   เฝ้าตรึกตรองหมองฤทัยไม่เว้นวัน

เสียงกวางทองก้องไปไพรพนา   และเล็มหญ้าทุ่งกว้างช่างหฤหรรษ์
เชิญตีขิมเป่าขลุ่ยประโคมกัน   ผู้มีเกียรตินี่นันพลันมาเยือน

จันทร์อำไพใสสว่างกลางนภา   เมื่อใดจักไขว่คว้ามาเป็นเพื่อน
ยิ่งกังวลหม่นฤทัยไม่ลบเลือน   ดูเสมือนมิสุดสิ้นถวิลคิด

พร้อมพรักเพื่อนมาเยือนจากแดนไกล   เชิญปราศรัยดื่มสุราคราปลื้มจิต
รำพันความในใจยามใกล้ชิด   ความเป็นมิตรหนหลังฝังดวงใจ

เดือนกระจ่างส่องสว่างดาวบางตา   เห็นวิหคเหินฟ้าสู่ทิศใต้
เจ้าบินวนสามหนรอบต้นไม้   กิ่งใดหนอเกาะได้สมใจภักดิ์

อันขุนเขามิหน่ายสูงเสียดฟ้าไกล   มิหน่ายลึกทะเลใหญ่ได้ตระหนัก
หวังมีมิตรทั่วหล้ามาพร้อมพรัก   เยี่ยงโจวกงสูงศักดิ์คายข้าวปลา [1]

“ต่วนเกอสิง-ลำนำเพลงสั้น” เป็นชื่อทำนองเพลงของลำนำกรมดุริยางค์ยุคราชวงศ์ฮั่น เป็นเพลงประเภท “ร้องคลอดนตรี บันไดเสียงผิง (ชื่อบันไดเสียงของดนตรีจีน)” เดิมลำนำเป็นคำเรียกเพลง เพลงประเภทนี้ร้องอย่างไร ขาดการสืบทอดไปนานแล้ว

ร้อยกรองบท “ลำนำเพลงสั้น” คงจะเป็นเพลงพรรณนาอารมณ์ที่เสียงต่ำเบา สาระสำคัญในบทกวีลำนำเพลงสั้นของโจโฉบทนี้คือ หวังว่าจะมีคนเก่งจำนวนมากมาร่วมงานใหญ่รวบรวมแผ่นดินกับตนเป็นความกระหายอยากได้คนเก่ง ซึ่งเป็นสองวรรคสุดท้าย

แต่บทที่มีพลังดึงดูดใจผู้อ่านมากที่สุด กลับเป็นสี่วรรคแรก ที่ว่า “ดื่มสุราพลางขับศัพท์บรรสาน ชีวิตคนจะยืนนานสักเพียงไหน ดุจน้ำค้างอรุณรางเหือดหายไป วันครรไลมีแต่ทุกข์สุขน้อยนิด” ซึ่งแสดงอารมณ์ใคร่รีบหาความสุขหรือทำงานใหญ่ให้สำเร็จทันเวลา เพราะชีวิตมนุษย์สั้นน้อยนิดและมีทุกข์มากกว่าสุข อารมณ์ดังกล่าวนี้ทำให้คนหวนรำลึกถึงชีวิตดังที่กล่าวไว้ใน “ร้อยกรองโบราณ 19 บท” ยุคปลายราชวงศ์ฮั่นบทที่ 15 ซึ่ง อาจารย์ยง อิงคเวทย์ แปลไว้ว่า

อายุสาหาเต็มร้อย   มักจะพลอยห่วงพันปี
ทิวารัสส์รัตติทัฆ์   ไยมิเที่ยวด้วยชวาลา [2]

หฤหรรษ์ให้ทันกาล   อย่าผัดนานถึงอนาคตา
คนเขลาเฝ้าห่วงธนา   รุ่นหลังพากันไยไพ

หวังเป็นเซียนหวางจื่อเฉียวไป   ฤๅจะได้สมใจปอง

สารัตถะของ “ลำนำเพลงสั้น” ของโจโฉย่อมต่างกับร้อยกรองบทนี้ แต่อารมณ์สะเทือนใจที่แสดงออกมาว่า “ดื่มสุราพลางขับศัพท์บรรสาน ชีวิตคนจะยืนนานสักเพียงไหน” นั้น ทำให้คนตื่นเต้นชื่นชมเช่นเดียวกับร้อยกรองโบราณบทนี้

ปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกการเมืองวุ่นวาย สังคมสั่นคลอน ผู้มียศศักดิ์ไม่มั่นคง เช้าไม่อาจประกันได้ว่าจะรอดไปถึงค่ำ ตั๋งโต๊ะ ซัวหยง อ้องอุ้น ล้วนพบจุดจบอย่างรวดเร็วไปในการช่วงชิงอำนาจ ปัญญาชนผู้มีชื่อเสียง วิ่งหาที่พึ่ง ไปอยู่กับขุนศึกผู้มีอำนาจ แต่ก็ยากที่รักษาชีวิตไว้ได้ ขงหยง เอี้ยวสิ้ว จีคาง ล้วนถูกประหาร

ส่วนปัญญาชนชั้นล่างและชาวบ้านยิ่งไร้ที่พึ่งต้องร่อนเร่บ้างตายกลางถนน ผู้คนตายในยุคจลาจลนีมากมายประมาณมิได้ โจโฉกล่าวไว้ในกวีนิพนธ์อีกบทหนึ่งของเขาว่า “กระดูกขาวพราวทุ่งถิ่น พันลี้สิ้นเสียงไก่ขัน” เป็นสภาพอันน่าสลดรันทดใจ ทั้งยังมีโรคระบาดที่ผู้คนหวาดผวาเกิดติดต่อกันแรมปีร่วมไปกับไฟสงคราม

ช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์จุ้ย และจิ้นนี้ ในพงศาวดารมีข้อความประเภท “เมืองหลวงเกิดโรคระบาดใหญ่” “แถบจิ่วเจียง หลู่เจียงเกิดโรคระบาดใหญ่” “เกิดโรคระบาดใหญ่ในมณฑลเก็งจิ๋ว” “เมืองอ้วนเซีย ฮูโต๋เกิดโรคระบาดใหญ่” “โรคระบาดใหญ่คนตายมาก ที่เหอซั่วก็เหมือนกัน” บันทึกอยู่มาก

บทความเรื่อง “ซัวอี้ชี่-เล่าเรื่องโรคระบาด” ของโจผีกล่าวว่า รัชศกเจี้ยนอาน ปีที่ 22 (ค.ศ. 217) เกิดโรคระบาดใหญ่ ทำให้เกิดสภาพ “ตายยกครอบครัว หรือตายหมดทั้งตระกูล” ทำให้สังคมเกิดปรากฏการณ์ “ทุกบ้านมีศพสุดโศกา ทุกเคหามีเสียงโศกร่ำไห้” ปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ในกลุ่ม “เจ็ดเธียรเจี้ยนอาน” อย่าง เฉินหลิน สี่ว์ก้าน อิงช่าง และหลิวเจิน ก็ล้วนตายเพราะโรคระบาดในคราว เดียวกัน

ด้วยเหตุที่ชีวิตเปราะบางเช่นนี้ บ้านเมืองจลาจลไม่มีสิทธิจะมั่งคั่งสูงศักดิ์ได้ ชีวิตจึงมีค่าควรถนอมสูงสุด ความคิดหาความสุขให้ทันเวลา วันนี้มีเหล้าวันนี้ดื่ม จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนตระหนักขึ้นเองและแพร่หลายในยุคสามก๊กและราชวงศ์จิ้น

คนจีนโบราณอายุเคลื่อนเท่าไร? อายุเฉลี่ยเป็นเกณฑ์วัดคุณภาพชีวิตและสุขภาพของคนแต่ละยุคในประวัติศาสตร์ อีกทั้งเป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงความสุขมวลรวมของยุคสมัย ศาสตราจารย์เจิ้งเจิ้ง แห่งมหาวิทยาลัยนานกิงและคณะได้สอบค้นจากพงศาวดาร 24 ราชวงศ์ เช่น สื่อจี้ ฮั่นซู ซึ่งเป็นพงศาวดารของทางราชการ มีความเชื่อถือได้สูง แล้วค้นเพิ่มจากจดหมายเหตุของท้องถิ่น ปูมประวัติวงศ์ตระกูลและเอกสารอื่น เช่น นามานุกรมบุคคลในประวัติศาสตร์จีน กาลานุกรมบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จีน

ได้ผลสรุปว่า คนจีนโบราณยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตกอายุยืนที่สุด เกิน 70 ปี ยกเว้นราชวงศ์ถัง หมิง และชิง มีเกินอยู่บ้างบางส่วน อายุเฉลี่ยต่ำสุดได้แก่ราชวงศ์วุ่ย-จิ้น ยุคห้าชนเผ่าสิบหกแคว้นและยุคห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร ทั้งหมดนี้ยุคห้าชนเผ่าสิบหกแคว้น (ร่วมยุคกับราชวงศ์จิ้น) อายุต่ำสุดเพียง 50 กว่าปี ยังมีคนรวบรวมว่าฮ่องเต้ที่ทราบปีเกิดปีตายแน่นอนมีทั้งหมด 209 องค์ คิดอายุเฉลี่ยได้เพียง 39.2 ปี

แน่นอนว่าผลการศึกษาข้างต้นนี้ได้ข้อมูลจากบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ หากคิดรวมถึงคนทั่วไปซึ่งมีอัตราการตายในวัยเด็กและวัยทารกสูงมากแล้ว อายุเฉลี่ยข้างต้นนี้ต้องลดไปอีกมาก มีหลักฐานที่เกี่ยวข้องบ่งบอกว่า ราวสองพันปีก่อนในอดีต มนุษย์มีอายุเฉลี่ยเพียง 20 ปีเท่านั้น ในศตวรรษที่ 18 เพิ่มเป็น 30 ปีโดยประมาณปลายศตวรรษที่ 19 ก็ยังราว 40 ปีเท่านั้น อายุเฉลี่ยของคนจีนโบราณก็ไม่น่าจะสูงกว่าตัวเลขดังกล่าวเท่าไรนัก

แน่นอนว่าคนในยุคสามก๊กคงไม่เห็นผลวิจัยนี้ แต่รับรู้จากสถานการณ์จริง “ลำนำเพลงสั้น” ที่ว่า “ดื่มสุราพลางขับศัพท์บรรสาน ชีวิตคนจะยืนนานสักเพียงไหน…” ซึ่งเป็นทั้งคำถามและข้อเตือนใจในการใช้ชีวิตที่แสนสั้นของพวกเขา

อธิบายเพิ่มเติม :

[1] บาทสุดท้ายแปลสลับวรรค ตัวบทภาษาจีนมีใจความว่า (โจโฉปรารถนา) จะเอาเยี่ยงโจวกง (รัฐบุรุษต้นราชวงศ์โจว) เมื่อทราบว่าแขกมาเยือน แม้ตนกำลังกินข้าวอยู่ก็จะรีบคายข้าวออกมาต้อนรับ ทำให้มีคนเก่งจากทุกสารทิศมาร่วมงานด้วย-ผู้แปล

[2] สองวรรคนี้มีความหมายว่า กลางคืนยาว กลางวันสั้น ควรจุดโคมออกท่องเที่ยว-ผู้แปล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความคัดย่อจาก หลี่ฉวนและคณะ-เขียน, ถาวร สิกขโกศล-แปล . 101 คำถามสามก๊ก, สำนกัพิม์มติชน, พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ กรกฎาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2565