“สิบขันที” และ “ขุนนางกังฉิน” ปฐมเหตุความเสื่อมราชสำนักจีนสู่ยุคสามก๊ก

ขุนนาง ขันที จีน
(ภาพประกอบเนื้อหา) ภาพวาดขันทีภายในสุสานของเจ้าชายหลี่เสียน (Prince Zhanghuai) ราว 706 ปี ก่อนคริสตกาล

“สิบขันที” และ “ขุนนางกังฉิน” ปฐมเหตุความเสื่อมราชสำนักจีนสู่ยุค “สามก๊ก”

หลายท่านคงอยากรู้ว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้แผ่นดินจีนต้องแบ่งแยกเป็น 3 ก๊ก หรือเรื่อง สามก๊ก นี้ มีมูลเหตุมาจากอะไร เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจในการอ่านสามก๊ก ขอเล่าถึงปฐมเหตุอันเป็นที่มาของเรื่องสามก๊ก ดังนี้

ราว พ.ศ. 568 เมื่อเล่าปังซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ก่อตั้งราชวงศ์ฮั่น สืบเชื้อสายมาถึงเล่าส่วน เป็นกษัตริย์องค์ที่ 23 มีพระนามว่า พระเจ้าฮั่นเต้ เนื่องจากพระองค์ไม่มีพระราชโอรส จึงไปขอบุตรของเล่าจังกับนางตั้ง ชื่อว่า เล่าหลิง มาเป็นบุตรบุญธรรม เมื่อพระเจ้าฮั่นเต้สวรรคต เล่าหลิงได้สืบราชสมบัติทรงพระนามว่า พระเจ้าเลนเต้ และได้สถาปนาพระนางตังเป็นพระพันปีหลวง

พระเจ้าเลนเต้มีราชโอรส 2 พระองค์ องค์พี่มีนามว่า หองจูเปียน เกิดแต่พระนางโฮผู้เป็นอัครมเหสี องค์น้องชื่อ หองจูเหียบ เกิดแต่พระนางออง ซึ่งเป็นมเหสีรอง ต่อมาพระนางอองถูกพระนางโฮลอบวางยาพิษเสียชีวิต แต่ไม่มีผู้ใดกล้าปริปาก เพราะพระนางโฮมีน้องชายชื่อ โฮจิ๋น เป็นนายพลใหญ่ในราชสำนัก

พระเจ้าเลนเต้ทรงเสียพระทัยที่มเหสีรองเสียชีวิต จึงนำหองจูเหียบซึ่งกำพร้ามารดามาให้พระพันปี (ตัง) ช่วยเลี้ยงดู พระพันปี (ตัง) รักใคร่หองจูเหียบ และต้องการให้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าเลนเต้ แต่ขัดด้วยราชประเพณี เพราะมิใช่โอรสองค์โตที่เกิดจากมเหสีหลวงประการหนึ่ง และพระนางโฮกับนายพลโฮจิ๋นคอยขัดขวางอีกประการหนึ่ง

พระเจ้าเลนเต้เป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ คิดเพียงแต่ว่า พระเจ้าแผ่นดินคือ “โอรสสวรรค์” จะดลบันดาลสิ่งใดก็ย่อมได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงความชอบธรรม อีกทั้งยังหลงเชื่อคำป้อยอของเหล่าขันที จนเป็นเหตุให้เกิดจลาจลแย่งชิงความเป็นใหญ่ในราชสำนัก ต้องรบพุ่งฆ่ากันล้มตาย แตกแยกเป็นสามก๊ก ทั้งนี้เพราะผู้เป็นใหญ่ไม่เชื่อในคำโบราณที่ว่า

“ถ้าคานบนเอน คานล่างก็เบี้ยว ถ้าเสาเอกเฉียง เสาโทก็เฉ ถ้าผู้บังคับบัญชาเบื้องบนไม่มีเหตุผล ผู้ใต้บังคับบัญชาเบื้องล่างจะเป็นคนดีได้อย่างไร”

ความวุ่นวายทั้งปวง จึงบังเกิดขึ้น

สิบขันที หันหาอำนาจ

อันว่าพวก “ขันที” นั้น ถ้าคิดเพียงผิวเผินก็เป็นเพียงมหาดเล็กธรรมดา ไม่น่าจะมีอิทธิพลมากมายถึงขนาดครอบงำฮ่องเต้ได้ เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ ขอเล่าถึงความเป็นมาของขันทีจีนสักเล็กน้อย

ขันที เป็นทาสหลวงในราชสำนัก ชาวบ้านครอบครัวใดยากจน ไม่อยากให้ลูกอดตาย ก็นำลูกมาขาย ถ้าเป็นหญิงก็ถวายตัวเป็นนางสนม ถ้าเป็นชายก็ถวายตัวเป็นขันที เนื่องจากฮ่องเต้จีนมีมเหสีหลายองค์ จึงต้องมีคนช่วยควบคุมดูแล จะมอบให้เชื้อพระวงศ์ เช่น น้องหรืออาเป็นผู้ดูแลแทนก็เห็นจะไม่เหมาะ เพราะกลัวปัญหาชู้สาว จึงเลือกทาสชายที่สมัครใจเป็นขันที โดยยอมให้บั่นองคชาติให้เหลือเพียง 1 ชุ่น (1 นิ้วฟุต) ซึ่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ในทางกามารมณ์ได้ นอกจากเป็นทางเดินของปัสสาวะ

ดังนั้น แม้ขันทีจะเป็นเพียงคนใช้ แต่ก็ควบคุมดูแลนางสนมซึ่งเป็นท้าวนางฝ่ายใน หากนางสนมคนใดมีลูก ขันทีก็ช่วยเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน จึงอยู่ในฐานะที่เป็นทั้งพี่เลี้ยงและอาจารย์ ครั้นทารกน้อยเติบโตขึ้นมียศศักดิ์ ขันทีนั้นก็พลอยมีอำนาจมากขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วย ดุจเดียวกับ สิบขันที ที่เคยฟูมฟักพระเจ้าเลนเต้ นอกจากนี้ฮ่องเต้ยังมอบหมายให้พวกขันทีเป็นหัวหน้าควบคุมทหารล้อมวังอีกด้วย ขันที่งมีอิทธิพล มากกว่ามหาดเล็กทั่วไป

เนื่องจากขันทีถูกกดดันในเรื่องเพศ ไม่อาจประกอบกามกิจอันแสดงถึงความเป็นชายชาตรีได้ ทั้งที่ยังมีความต้องการตามธรรมชาติอยู่ จึงต้องเบนความต้องการนั้นไปสู่การแสวงหาลาภ ยศ และอำนาจ เป็นการชดเชย เพื่อลบปมด้อยที่ถูกกดไว้ ด้วยการสร้างปมเด่นให้ตนมีอำนาจเหนือผู้อื่น เพราะฉะนั้นในประวัติศาสตร์ของจีน จึงไม่มีบุคคลใดเห็นแก่ลาภ ยศ และอำนาจ จนยอมทำความฉิบหายให้แก่บ้านเมืองมากเท่ากับพวกขันที ดังเรื่องราวใน “สามก๊ก” ที่จะนำเสนอต่อไปนี้

การที่ สิบขันที เข้าสิงพระเจ้าเลนเต้ ทำให้ขุนนางตงฉินที่ทำดีต่อแผ่นดิน หรือที่แท้ก็คือทำดีต่อองค์จักรพรรดิ มิได้รับความชอบตามควรแก่คุณความดี ส่วนพวก ขุนนางกังฉิน ที่ขูดรีดราษฎรเพื่อเอาทรัพย์ สินมาติดสินบนพวกขันที ต่างพากันได้ดีไปตาม ๆ กัน ประชาชนจึงเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า เมื่อทางการอ่อนแอ พวกโจรก็ออกปล้นสะดมชาวบ้าน เช่น พวกโจรโพกผ้าเหลืองที่มีเตียวก๊กเป็นหัวหน้า

พระเจ้าเลนเต้ มีรับสั่งให้เจ้าเมืองต่าง ๆ ช่วยกันปราบโจรโพกผ้าเหลือง แต่แม่ทัพนายกองที่ช่วยปราบโจรสำเร็จ กลับไม่ได้รับความชอบ แถมยังถูกใส่ร้ายให้ต้องอาญา ความเจ็บแค้นในอสัตย์ธรรมของพวกขันที จึงทวีความคุกรุ่นอยู่ในหมู่ข้าแผ่นดิน

ประจวบกับพระเจ้าเลนเต้ประชวรหนัก พวก สิบขันที เกรงว่า ถ้าสิ้นพระเจ้าเลนเต้ พวกตนจะลำบาก จึงหาทางยุยงพระพันปี (ตัง) ให้สนับสนุนหองจูเหียบโอรสองค์น้องขึ้นเป็นฮ่องเต้ หากทำสำเร็จพวกตนก็จะมีอำนาจตามไปด้วย ดีกว่าให้หองจูเปียนเป็นฮ่องเต้ ซึ่งเท่ากับเปิดช่องให้พระนางโฮกับนายพลโฮจิ๋นเป็นผู้ควบคุมราชสำนัก

ชะตากรรมสิบขันที

เมื่อพระเจ้าเลนเต้สวรรคต เตียวเหยียง หัวหน้าขันทีจะทำพิธียกหองจูเหียบโอรสองค์น้องขึ้นเป็นฮ่องเต้ แต่นายพลโฮจิ๋นไม่ยอม จึงใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม พวกขันทีหลบหนีไปได้ แล้วพวกขันทีก็ฆ่า เกน หวน ซึ่งเป็นขันที เพื่อให้เป็นแพะรับบาป จากนั้นเตียวเหยียงและพรรคพวกอีก 9 คนก็พากันไปหาพระนางโฮอัครมเหสี ใช้ศิลปะของขันทีกราบเท้าคร่ำครวญขอชีวิตว่า ความคิดทั้งหมดนั้นมิได้มาจากพวกตน แต่มาจากเกนหวน ซึ่งถูกพวกตนฆ่าตายแล้ว

พระนางโฮเห็นพวกสิบขันทีซึ่งเคยใหญ่โตโอ่อ่ามากราบไหว้ขอชีวิตตนเช่นนี้ ก็นึกพอใจ จึงยอมออกหน้ามิให้นายพลโฮจิ๋นผู้เป็นน้องชายทำอันตรายสิบขันที ส่วนนายพลโฮจิ๋นเกรงใจพระนางโฮ และคิดว่า อำนาจในราชสำนักทั้งหมดก็ตกอยู่ในมือของตนแล้ว จะกำจัดสิบขันทีเมื่อไรก็ย่อมได้ จึงยอมไว้ชีวิต ทำให้สิบขันทีมีโอกาสทำความฉิบหายให้ราชวงศ์ฮั่นต่อไปอีก

ฝ่ายพระพันปี (ตัง) ซึ่งต้องการให้หองจูเหียบขึ้นครองราชย์ แต่มาถูกขัดขวางด้วยพระนางโฮและนายพลโฮจิ๋นดังนี้ ก็รู้สึกขัดเคือง จึงเรียกสิบขันทีมาปรึกษา และได้รับคำแนะนำว่า พระพันปี (ตัง) ควรใช้สิทธิ์ ของสมเด็จย่าขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนหองจูเปียน ซึ่งเป็นเพียงยุวฮ่องเต้ และให้แต่งตั้ง ตังต๋ง ซึ่งเป็นน้องพระพันปี (ตัง) เป็นสมุหกลาโหม มีหน้าที่คุมกองทหาร เพื่อรอนอำนาจของนายพลโฮจิ๋น ความนี้ทราบถึงพระนางโฮ ทำให้เกิดการทุ่มเถียงกันเรื่องสิทธิ์ในการเป็นผู้สำเร็จราชการ

ฝ่ายพระพันปี (ตัง) อ้างว่า ตนเป็นแม่ของฮ่องเต้องค์ก่อน ส่วนพระนางโฮอ้างว่า ตนเป็นแม่ของฮ่องเต้น้อยองค์ปัจจุบัน จนถึงขั้นด่าทอกันรุนแรง ทำให้นายพลโฮจิ๋นโกรธ จึงนำทหารบุกไปจับพระพันปี (ตัง) และตังต๋งฆ่าเสีย

เมื่อสิ้นพระพันปี (ตัง) แล้ว พวกสิบขันทีก็หมดที่พึ่ง จึงเริ่มหาที่พึ่งพิงใหม่ ด้วยการติดสินบนน้องชายและมารดาของนายพลโฮจิ๋นให้ช่วยคุ้มครองตน ทำให้สิบขันทีมีน้องชาย มีมารดา และมีพระนางโฮเป็น เกราะป้องกันตนให้พ้นจากเงื้อมมือของนายพลโฮจิ๋น ทำให้นายพลโฮจิ๋นต้องคิดอุบายในการกำจัดสิบขันที

เป็นที่มาของการออกหนังสือเรียกกองทัพตามหัวเมืองต่าง ๆ ให้ยกมาประชิดเมืองหลวง แล้วให้อ้างว่า ต้องการฆ่าสิบขันทีอันเป็นตัวกาลีเมือง เพื่อทำให้พระนางโฮตกใจ กลัวว่าฮ่องเต้องค์น้อยจะได้รับอันตราย ก็จะยอมส่งตัวสิบขันทีแต่โดยดี ความคิดนี้รู้ถึงหู โจโฉ ก็ตกใจ เพราะการทำเช่นนั้นเป็นการชักศึกเข้าบ้าน จึงพยายาม คัดค้าน แต่โฮจิ๋นไม่ฟัง เพราะเห็นว่าโจโฉเป็นเพียงขุนนางเล็ก ๆ คนหนึ่ง โจโฉจึงได้แต่รำพึงว่า “แผ่นดินนี้จะเป็นอันตรายเพราะโฮจิ๋น” คนมองไม่เห็นการณ์ไกล ภัยก็จะมาถึงตัว คนไม่รู้จักตัดไฟ ภัยก็จะน่ากลัว

ฝ่ายสิบขันทีรู้ว่า นายพลโฮจิ๋นจะระดมเจ้าเมืองต่าง ๆ มากำจัดตน จึงรีบชิงลงมือก่อน ด้วยการทูลพระนางโฮว่า พวกตนต้องการขอโทษ และปรับความเข้าใจกับนายพลโฮจิ๋น ขอให้เชิญนายพลโฮจิ๋นเข้ามาในพระราชฐานชั้นใน นายพลโฮจิ๋นไม่รู้กลอุบาย จึงเข้ามาแต่เพียงลำพัง จึงถูกพวกสิบขันทีฆ่าตาย แล้วตัดศีรษะโยนออกมานอกวัง ฝ่ายองครักษ์ของโฮจิ๋นอันมี โจโฉ กับ อ้วนเสี้ยว เห็นดังนั้น จึงสั่งให้ทหารของตนบุกเข้าไปข้างใน ไล่ฆ่าฟันทุกคนที่เป็นขันที

ฝ่าย เตียวเหยียง หัวหน้าสิบขันที ก็จับตัวยุวฮ่องเต้และหองจูเหียบองค์น้องไว้เป็นตัวประกัน แล้วหลบหนีออกนอกวัง แต่ในที่สุดก็ถูกฆ่าตาย ระหว่างทางที่ทหารอัญเชิญสองกุมารกลับวังนั้น เผอิญพบกับ ตั๋งโต๊ะ จึงช่วยอารักขานำสองกุมารส่งคืนแก่พระนางโฮ ทำให้ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลกิจการในราชสำนักในเวลาต่อมา

แต่ตั๋งโต๊ะเป็นคนหยาบช้า เมื่อตนมีอำนาจก็สั่งปลดหองจูเปียนออกจากฮ่องเต้ แล้วให้หองจูเหียบองค์น้องขึ้นเป็นแทน โดยตั้งตนเองเป็นผู้สำเร็จราชการ ใช้อำนาจที่มีอยู่รีดนาทาเร้นทรัพย์สินของราษฎร และฉุดคร่าลูกเมียชาวบ้านตามอำเภอใจ รวมทั้งกระทำการหยาบช้าต่าง ๆ ต่อหองจูเหียบ หรือ พระเจ้าเหี้ยนเต้

พระเจ้าเหี้ยนเต้ จึงมีหนังสือลับบอกไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ให้ช่วยกันกำจัดตั๋งโต๊ะ เมื่อกำจัดตั๋งโต๊ะได้แล้ว โจโฉ ซึ่งมีกำลังพลมากที่สุด ก็คิดตั้งตนเป็นใหญ่เสียเอง พระเจ้าเหี้ยนเต้ทรงคับแค้นพระทัยถึงกับกรีดพระโลหิตเขียนเป็นหนังสือไปยังเมืองต่าง ๆ ขอให้ช่วยกันปราบโจโฉ ฝ่ายโจโฉก็อ้างว่าพวกหัวเมืองที่ยกทัพมานั้นเป็นกบฏ จึงทำสงครามรบพุ่งกันอยู่หลายสิบปี

สุดท้ายหัวเมืองต่าง ๆ ก็แยกออกเป็น 3 ฝ่าย หรือ 3 ก๊ก คือ โจโฉ ก๊กหนึ่ง เล่าปี่ ก๊กหนึ่ง และ ซุนกวน อีกก๊กหนึ่ง จึงเรียกว่า “สามก๊ก” หรือ ยุคสามก๊ก

การที่ผู้คนต้องรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย ก็มีสาเหตุมาจากพระเจ้าเลนเต้ทรงอ่อนแอ และหลงเชื่อสิบขันทีที่ชอบรับสินบน เที่ยวยุยงให้ใครต่อใครผิดใจกัน เพียงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงความ ฉิบหายของบ้านเมือง

คติบริหาร

ข้อคิดจากพระเจ้าเลนเต้และสิบขันที

“มังกรถ้าไร้หัว หางก็ตีกันเอง”
“ถ้าคานบนเอน คานล่างก็เบี้ยว
ถ้าเสาเอกเฉียง เสาโทก็เฉ
ถ้าผู้บังคับบัญชาเบื้องบนไม่มีเหตุผล
ผู้ใต้บังคับบัญชาเบื้องล่างจะเป็นคนดีได้อย่างไร”

ข้อคิดจากนายพลโฮจิ๋นตามมุมมองของโจโฉ

“คนมองไม่เห็นการณ์ไกล ภัยก็จะมาถึงตัว
คนไม่รู้จักตัดไฟ ภัยก็จะน่ากลัว”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กันยายน 2563