ที่มา นิตยภัต-เงินถวายพระสงฆ์สามเณรที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

บางส่วนของภาพ 21 พระคณาจารย์ ในพิธีมหาพุทธาภิเษก พ.ศ. 2482 ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์คำว่านิตยภัต (นิตะยะภัต) ว่า “อาหารหรือค่าอาหารที่ถวายแก่ภิกษุสามเณรเป็นประจำ” ส่วนในคู่มือการปฏิบัติงานนิตยภัต อธิบายว่า “นิตยภัต คือค่าภัตตาหารที่พระมหากษัตริย์ถวายแก่พระภิกษุสามเณร เนื่องจากนิตยภัตถวายให้พระสงฆ์เป็นประจำทุกเดือน เช่นเดียวกับเงินเดือนฆราวาส คนจำนวนมากจึงเรียกนิตยภัตว่าเงินเดือนสงฆ์

ในอดีตที่ผ่านมา บรรดาพระสงฆ์ซึ่งยกย่องให้เป็นผู้นำเพื่อบริหารกิจการของพระศาสนา นับตั้งแต่ชั้นสูงลงมาเป็นลำดับทั้งปวงนี้ พระมหากษัตริย์จะทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสมณกัปปิยภัณฑ์ เป็นเครื่องบำรุงถวายเป็นรางวัล เช่นเดียวกันกับข้าราชการทหารและพลเรือน

“กัปปิยภัณฑ์” คืออาหารคาวหวานที่โปรดพระราชทานแก่พระสงฆ์เป็นประจำวัน ประจำเดือน หรือแม้แต่ประจำปีก็ดี ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชานั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่สังฆการีนิมนต์พระสงฆ์เข้าไปรับพระราชทานอาหารบิณฑบาตในเวลาเช้าและอาหารฉันในเวลาเพล 100 รูป ที่พระบรมมหาราชวัง เป็นประจำ พระราชนิยมดังกล่าวนี้ แม้ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็คงทรงปฏิบัติต่อมา แต่เพิ่มพระราชทาน “เบี้ยหวัดเงินตราถวายประจำปี” ตามพระราชศรัทธา

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระราชดำริว่า การพระราชทานนิตยภัต 2 ประเภท คือ ถวายเป็นภัตตาหารสำรับเช้า และสำรับเพล กับถวายเป็นเงินรายเดือน (เดิมการถวายจากทางราชการแผ่นดินเป็นเงินหวัดเงินปี) แต่ไม่ปรากฏว่า พระสงฆ์ที่ได้รับเป็นพระสงฆ์ประเภทใด

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว การจ่ายนิตยภัตเป็นเงินมาปรากฏหลักฐาน ว่า พ.ศ. 2371 เมื่อพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์รูปใดแล้ว ก็พระราชทานนิตยภัตและกำหนดอัตรานิตยภัตไว้ด้วย ดังนี้ สมเด็จพระสังฆราช 5 ตำลึง, สมเด็จพระพนรัตน์ 5 ตำลึง, กรมหมื่นนุชิตชิโนรส 5 ตำลึง, พระพรหมมุนี 5 ตำลึง, พระพุทธโฆษา 5 ตำลึง, พระพิมลธรรม 4 ตำลึง 3 บาท และพระธรรมอุดม 4 ตำลึง 3 บาท

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีการกำหนดจำนวนเงินพระราชทานไว้ชัดเจนตามสมณศักดิ์ โดยวางอัตราระบุไว้ชัด แต่เรียกจำนวนเงินตรานั้นว่า “ตำลึง” ดังประกาศทรงแต่งตั้งพระราชาคณะในปีวอก พุทธศักราช 2451 ดังนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ออกพระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬาร ในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทวีธาภิเษก และสมโภชสิริราชสมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสัญญาบัตรแด่พระสงฆ์ในการพระฤกษ์ ประทับพระราชลัญจกรใหม่ คือ

ให้เลื่อนยศพระคุณคณาภรณ์ มีสมณศักดิ์เสมอตำแหน่งเทพพิเศษ มีนามว่า พระญาณวราภรณ์ สุนทรศีลวิสุทธินายก ไตรปิฏกเมธามหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิตวัดบวรนิเวศวิหาร พระอารามหลวง มีนิตยภัตราคาเดือนละ 6 ตำลึงกึ่ง มีฐานานุศักดิ์ ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าการเรียกชื่อนับจำนวนเงินตราอย่างสมัยก่อนว่า อัฐ ฬส ไพ เฟือง สลึง ตำลึง และชั่ง ไม่เป็นการนับพิกัดอัตราอย่างสากลที่ประเทศใช้ทั่วไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทางราชการออกประกาศเรียกชื่ออัตราการนับจำนวนเงินเสียใหม่ คำประกาศดังกล่าวนี้ได้ออกใช้เมื่อในราวปีกุน พุทธศักราช 2454 ฉะนั้น คำว่าตำลึงในที่ทั่วไปจึงงดใช้ ทั้งนี้รวมไปถึงอัตรานิตยภัตของบรรดาพระสงฆ์ที่ทรงสมณศักดิ์รับพระราชทานเงินนิตยภัตด้วย

เอกสารประกาศเลื่อนสมณศักดิ์ของพระราชาคณะ ตามคำประกาศ ปีชวด พุทธศักราช 2454 ดังนี้

ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาค 2454 พรรษากาล ปีตยุบัน จันทโคจร มุสิกสมพัตสร กัตติกมาส สุกกปักษ์ ทุติยดิรวิวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก 131 พฤศจิกายนมาส ทสมสุรทินโดยกาลนิยม พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระราชาคณะผู้ทรงคุณธรรมปรากฏในสาวกมณฑลซึ่งสมควรจะเลื่อนตำแหน่งขึ้นตามคุณวุฒิยังมีอีกหลายรูป

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เลื่อนพระญาณวราภรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร มีสมณศักดิ์พิเศษเสมอตำแหน่งธรรม มีนิตยภัตราคาเดือนละ 28 บาท มีฐานานุศักดิ์ ตั้งฐานานุกรมได้ 6 รูป คือ พระครูปลัดญาณวัฒน์ มีนิตยภัตราคาเดือนละ 6 บาท 1 พระครูวินัยธร 1 พระครวินัยธรรม 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1 รวม 6 รูป

ยุคปัจจุบัน พระสงฆ์ที่ได้รับสมณศักดิ์ นับตั้งแต่พระครูชั้นสัญญาบัตร พระราชาคณะชั้นต่างๆ สมเด็จพระราชาคณะ และสมเด็จพระสังฆราช จะไม่ปรากฏอัตราราคานิตยภัตในสัญญาบัตร หิรัญบัฏ และสุพรรณบัฏ ที่ทรงพระกรุณาโปรดแต่งตั้ง หรือสถาปนาเช่นที่ผ่านมา รวมไปถึงบรรดาพระสงฆ์ที่ได้รับการแต่งตั้งสืบต่อจากพระสงฆ์รูปนั้นๆ ซึ่งเรียกกันว่า พระครูฐานานุกรมชั้นสัญญาบัตร มีพระครูปลัดชั้นธรรม และรวมไปถึงพระครูสัญญาบัตรชั้นอื่นๆ อีกด้วย แต่ราชการจัดสรรเงินงบประมาณไว้สำหรับถวายเมื่อได้รับการแต่งตั้งหรือสถาปนาไว้ต่างหาก

เงินดังกล่าวคงเรียกว่านิตยภัตตามเดิม สำหรับอุปถัมภ์บำรุงแด่พระสงฆ์ ที่ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นประจำปีทั่วประเทศ โดยมีหลักเกณฑ์ในการเบิกจ่ายนิตยภัตว่า พระสงฆ์รูปใดได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ รัฐบาลจัดถวายเงินนิตยภัตตามลำดับชั้นของสมณศักดิ์เป็นประจำ แต่หากว่าพระสงฆ์สมณศักดิ์รูปนั้นได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งซึ่งเรียกว่า พระสังฆาธิการด้วย จะถวายเงินนิตยภัตเฉพาะอัตราที่สูงกว่าเพียงตำแหน่งเดียว

ตัวอย่างเช่น พระราชาคณะชั้นราชมีอัตรานิตยภัตถวายเดือนละ 240 บาท ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค ซึ่งมีอัตรานิตยภัตที่จัดถวายเดือนละ 400 บาท ดังนี้ ก็คงได้รับการถวายเพียงตำแหน่งเดียว คือ ตำแหน่งเจ้าคณะภาคตัดนิตยภัตในฐานะสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นราชออก

อัตรานิตยภัตทุกตำแหน่ง กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินงานจัดสรรตั้งงบประมาณ และรวมถึงมีหน้าที่ในการเบิกจ่ายด้วย เฉพาะในส่วนภูมิภาค นั้นกรมการศาสนาจะได้ทำความตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัด โดยโอนเงินไปตั้งจ่ายทางคลังจังหวัด เพื่อสะดวกแก่การเบิกจ่ายถวายพระสมณศักดิ์ และพระสังฆาธิการดังกล่าวก็ย่อมทําได้

บางของส่วนบัญชีอัตรานิตยภัต (ข้อมูลจากคู่มือการปฏิบัติงานนิตยภัต)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ (พิมพ์ครั้งที่ 32 ในงานบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน (บุญอัฏฐะ) อุทิศให้ นายกอง ศรีสมุทร และนางพูล ศรีสมุทร)

ส่วนกิจการคณะสงฆ์ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม. คู่มือการปฏิบัติงานนิตยภัต, โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, พ.ศ. 2555

เริง อรรถวิทย์. ความรู้เรื่องพิธีธรรมเนียมสงฆ์, คณะสงฆ์วัดชนะสงคราม พิมพ์ถวายเป็นมุทิตาสักการะ ในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2564