ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
วรรณกรรม “สามก๊ก” มีกุนซืออัจฉริยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นซุนฮก, กาเซี่ยง, กุยแก, เตียนห้อง, บังทอง, ขงเบ้ง ฯลฯ กุนซือส่วนใหญ่ล้วนมีจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง เมื่อเลือกผู้นำอันเก่งกาจในดวงของตนแล้ว ก็มักจะติดตามเขาจนวันตาย ยกเว้นเพียง “กาเซี่ยง”
กาเซี่ยง (ค.ศ. 147-223) มีความพิเศษแตกต่างจากคนอื่นคือ ไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน เขาไม่เหมือนซุนฮกที่แม้จะทุ่มเทแรงกายให้โจโฉ แต่จิตใจกลับภักดีต่อราชสำนักฮั่นเสมอ ไม่เหมือนจอสิวผู้ที่ไม่ยอมรับฟัง มีแผนการแต่ไม่ใช้ ถึงตายก็ไม่ยอมเปลี่ยนใจไปจากอ้วนเสี้ยว แต่กาเซี่ยงไม่ได้ยึดติดกับผู้นำ รู้จักวางมือเมื่อถึงเวลาสมควร เข้าถึงแก่นแท้ของโลกมนุษย์
กาเซี่ยงมีผลงานสำคัญมากมาย เช่น ช่วยเตียวสิ้วรบชนะศึกใหญ่กับโจโฉที่เมืองลำหยง แต่วีรกรรมที่แสดงความสามารถและความสุขุมของกาเซี่ยง ที่มีการกล่าวถึงเสมอๆ มีอยู่ 2 ครั้ง คือ
1. โน้มน้าวเตียวสิ้วให้เข้ากับโจโฉ : ขณะที่อ้วนเสี้ยวจะส่งทูตมาผูกสัมพันธ์กับเตียวสิ้ว ได้มีจดหมายผูกไมตรีกับกาเซี่ยง
ขณะที่เตียวสิ้วกำลังจะตอบตกลงเป็นพันธมิตรกับทูตอ้วนเสี้ยว กาเซี่ยงกลับฝากคำพูดถึงทูตของอ้วนเสี้ยวว่า “แม้แต่พี่น้องแท้ๆ ยังอยู่ร่วมกันไม่ได้ แล้วจะอยู่ร่วมกับคนนอกได้อย่างไร” เพื่อยับยั้งการผูกไมตรีของสองฝ่าย
เตียวสิ้วคิดไม่ถึงว่ากาเซี่ยงจะคัดค้าน จึงสอบถามเหตุผลเป็นการส่วนตัว กาเซี่ยงให้เหตุผลว่า
ข้อแรก โจโฉอ้างราชสำนักบัญชาการขุนนางทั้งผอง นับว่าถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ข้อสอง อ้วนเสี้ยวแข็งแกร่ง หากไปเข้าร่วมกับเขาคงไม่เห็นความสำคัญ แต่โจโฉอ่อนแอกว่าอ้วนเสี้ยว หากไปเข้าร่วมก็เท่ากับเสริมเขี้ยวเล็บให้เขาต้องดีใจมากทีเดียว ข้อสาม ผู้มีอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ ย่อมไม่ถือสาความแค้นส่วนตัว (เนื่องจากโจโฉเอาอาสะใภ้เตียวสิ้วไปเป็นภรรยาน้อย ขณะที่ฝ่ายเตียวสิ้วเองก็ฆ่าลูกชาย และแม่ทัพของโจโฉไปหลายคน)
นอกจากนี้ กาเซี่ยงยังมองว่า ด้วยความสามารถของโจโฉ ในอนาคตเขาจะเป็นผู้นำคนสำคัญที่มีบทบาทสำคัญเหนืออ้วนเสี้ยว
2. การแต่งตั้งทายาทของโจโฉ : เมื่อเตียวสิ้วมาอยู่กับจโฉ กาเซี่ยงได้เป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาของโจโฉด้วย ต่อมาโจโฉอายุมากขึ้นก็เตรียมมองทายาทของตนเองระหว่างลูกชาย 2 คน คือ โจผีและโจสิด ว่าควรให้คนใดคนหนึ่ง โจผีวัยวุฒิเหมาะสม แต่โจสิดคุณวุฒิเหมาะสม
กาเซี่ยงที่อยู่ข้างโจผี รู้ดีว่าโจผีฝีมือสู้โจสิดไม่ได้ จึงแนะนำว่าให้โจผีสงบจิตใจให้มาก สงวนท่าที และให้ทำตัวเป็นบุตรกตัญญูอยู่โอวาท
ส่วนท่าทีกับโจโฉ เพราะกาเซี่ยงรู้ดีว่าโจโฉไม่ใช่คนที่จะยอมให้ใครมีอิทธิพลเหนือตนเอง หรือชักจูงได้ง่ายๆ จึงไม่เคยเอ่ยปากเรื่องนี้เอง รอจนโจโฉเป็นฝ่ายเรียกไปถามความคิดเห็น กาเซี่ยงก็ตอบรับคำหนึ่งแล้วก็ไม่ปริปากอันใด จนโจโฉต้องถามซ้ำว่าคิดอะไรอยู่
กาเซี่ยงตอบว่า “ข้ากำลังคิดเรื่องอ้วนเสี้ยวกับเล่าเปียว”
คำพูดประโยคเดียวของกาเซี่ยง ด้วยท่าทีธรรมดาที่สุด กลับมีน้ำหนักให้โจโฉต้องฉุกคิด
เพราะในอดีต อ้วนเสี้ยวและเล่าเปียว ไม่ได้แต่งตั้งบุตรคนโตเป็นทายาท แต่เลือกบุตรชายคนถัดๆ มาแทน ทำห้พี่น้องฆ่าฟันกันเองจนเกิดเป็นศึกสายเลือด สุดท้ายถูกโจโฉฉกฉวยโอกาสจัดการกวาดล้างไปทีละคน
โจโฉฟังแล้วก็ฟังแล้วก็หัวเราะชอบใจ คลี่คลายเรื่องแต่งตั้งทายาท เพราะคำพูดประโยคเดียวของกาเซี่ยง
“กาเซี่ยง” เข้าใจโลกมนุนย์ รู้จักถอนตัวออกมาเมื่องานสำเร็จ บั้นปลายชีวิตของกาเซี่ยง เขารู้ตัวดีว่ามิใช่ขุนนางเก่าแก่ของโจโฉ กังวลว่าความสามารถของตนจะสั่นคลอนสถานะของนาย และนำภัยมาสู่ตนเอง จึงปิดตัวเอง ซ่อนเร้นความสามารถ ถอนตัวออกวงการ เขาจึงเป็นกุนซือเพียงไม่กี่คนในสามก๊ก ที่ปกป้องตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัย สามารถใช้ชีวิตสุขสบายจนถึงบั้นปลายชีวิต
อ่านเพิ่มเติม :
- วรรณกรรม “สามก๊ก” ภาพสะท้อนความเป็น “อนิจจัง” ของประวัติศาสตร์จีนที่ต้อง “แตกแยก”
- เล่าปี่เป็นพระเจ้าอาจริงหรือ? ค้นประวัติศาสตร์ฉบับหลวง ดูนัยจากนิยายสามก๊ก
- เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ตำนานแห่งสามก๊ก สาบานเป็นพี่น้องกันในสวนท้อจริงหรือ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
หลี่อันสือ (เขียน), วราง ตติยะนันท์ และปิยะพร แก้วเหมือน (แปล). ยอดวีรบุรุษ สามก๊ก : 33 ผู้มีใจสูง, สำนักพิมพ์มติชน, กันยายน 2558.
หลี่อันสือ (เขียน) เกียรติศักดิ์ ฟงปรีชากุล (แปล). สงครามสามก๊ก: 26 ยุทธวิธีสู่ชัยชนะ, สำนักพิมพ์มติชน, มกราคม 2558.
เผยแพร่ในระบบออนลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กรกฎาคม 2563