เล่าปี่เป็นพระเจ้าอาจริงหรือ? ค้นประวัติศาสตร์ฉบับหลวง ดูนัยจากนิยายสามก๊ก

ในภาพพระเจ้าเหี้ยนเต้เสด็จออกว่าราชการมีขันทีและพระอาลักษณ์ยืนอยู่ข้างที่ประทับ ทางซ้ายตังสินยืนถือป้ายงา ทางขวาโจโฉยืนถือป้ายงาเข้าเฝ้าตามตำแหน่ง เล่าปี่คุกเข่าเข้าเฝ้ากราบทูลอยู่เบื้องหน้าพระพักตร์ (ภาพจิตรกรรมจากวัดประเสริฐสุทธาวาส เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร, คำบรรยายภาพจากหนังสือ สามก๊ก ศิลปกรรมจีนวัดไทยในบางกอก โดย ศานติ-นวรัตน์ ภักดีคำ)

เล่าปี่ เกิดในครอบครัวชาวบ้าน ฐานะยากจน ต้องสานเกือกทอเสื่อขาย แต่ในนิยายสามก๊กบทที่ 20 เขียนไว้ว่า เมื่อเล่าปี่เข้าเฝ้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ “โปรดให้เอาปูมประวัติราชตระกูลมาตรวจสอบดู” ที่แท้เล่าปี่เป็นทายาทรุ่นที่ 18 ของพระเจ้าฮั่นเก็งเต้ (ฮั่นจิ่งตี้) ตามที่ปรากฏในปูมประวัติ

นอกจากเล่าหงผู้เป็นปู่และเล่าเห็งผู้เป็นบิดาแล้ว (บรรพชนของเล่าปี่) ทุกคนล้วนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ ทั้งเล่าปี่ยังอาวุโสกว่าพระเจ้าเหี้ยนเต้หนึ่งรุ่น “เล่าเหี้ยนเต๊กคือพระเจ้าอาของพระเจ้าเหี้ยนเต้” เหี้ยนเต๊กเป็นชื่อรองของเล่าปี่

Advertisement

ตั้งแต่นั้นเล่าปี่จึงได้รับการยกย่องเป็น “พระเจ้าอา” และเขาตั้งตัวเองเป็นผู้สืบสายสันตติวงศ์ที่ถูกต้องของราชวงศ์ฮั่น

เล่าปี่เป็นพระเจ้าอาจริงหรือไม่ เมื่อสอบค้นประวัติศาสตร์ฉบับหลวงดูก็จะพบว่าคำ “พระเจ้าอา” นี้นิยายสามก๊กแต่งขึ้นมาเพื่อ “ยกเล่าปี่กดโจโฉ” จึงต้องเพิ่มเนื้อหานี้เข้ามา ตาม “พงศาวดารสามก๊ก ภาคสู่ซู (เรื่องของจ๊กก๊ก) บทประวัติองค์บุพราช (เล่าปี่)” บันทึกว่า เล่าปี่เป็นเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นจริง “เป็นอนุชนสืบเชื้อสายมาแต่ตงสานอ๋องเล่าเซ่ง (หลิวเซิ่ง) บุตรของเล่าเซ่งชื่อเล่าจิง (หลิวเจิน) รัชศกหยวนโซ่วปีที่ 6 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเล็กเสียเต๋งเฮ้า (ลู่เฉิงถิงโหว-พระยาตำบลลู่เฉิง) อยู่ที่เมืองตุ้นก้วน (อำเภอจัวเสี้ยน) ต่อมาส่งเงินบูชาพระเทพบิดรไม่ครบตามระเบียบจึงถูกปลด จึงตั้งครอบครัวอยู่ที่นั่น ปู่เล่าปี่ชื่อเล่าหง (หลิวสง) บิดาชื่อเล่าเห็ง (หลิวหง) วงศ์ตระกูลล้วนเป็นขุนนางหัวเมือง เล่าหงไดรับคัดเลือกเป็นบัณฑิตเซี่ยวเหลียน (ตงจวิ้นฟ่าน)”

ข้อความตอนนี้ทำให้ทราบว่าเล่าปี่เป็นอนุชนสืบเชื้อสายมาจากเล่าเซ่งโอรสที่เกิดจากสนมของพระเจ้าฮั่นเก็งเต้ เล่าเซ่ง (ไม่ทราบปีเกิด-113 ปีก่อนคริสตกาล) มีโอรส 120 กว่าองค์ มีประวัติอยู่ในพงศาวดารราชวงศ์ฮั่น (ฮั่นซู) เล่าจิง (หลิวเจิน) โอรสองค์หนึ่งมาเป็นพระยาอยู่ที่อำเภอตุ้นก้วน เนื่องจากส่งส่วยบูชาพระเทพบิดรไม่ครบตามที่ระเบียบกำหนดจึงถูกถอดจากบรรดาศักดิ์ เลยตั้งรกรากอยู่ที่อำเภอนี้ ปีที่ถูกปลดเป็นรัชศกหยวนซั่ว ปีที่ 2 (127 ปีก่อนคริสตกาล) รัชกาลพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ เนื่องจากเล่าจิงบรรพชนห่างจากเล่าปี่หลายชั่วคนถูกปลดเป็นสามัญชน จึงไม่สามารถสอบค้นสายสกุลให้ชัดเจนได้

ดังนั้น ในพงศาวดารสามก๊กจึงบอกสายสกุลของเล่าปี่ย้อนขึ้นไปได้แค่เล่าหง (หลิวสง) ผู้เป็นปู่ จากเล่าจิงถึงเล่าหงเป็นเวลา 200 กว่าปี ช่วงเวลาห่างกันมากเช่นนี้ สายสกุลในปูมประวัติของแซ่จึงไม่ชัดเจน ดังนั้น หูซานเสิ่ง นักประวัติศาสตร์ช่วงปลายราชวงศ์ซ่งต้นราชวงศ์หยวน จึงเขียนไว้ใน “พงศาวดารจือจื้อทงเจี้ยน (คันฉ่องส่องเพื่อการปกครอง) บรรพฮั่นจี้ (ราชวงศ์ฮั่น)” บทที่ 52 ว่า “สู่ซู (เรื่องของจ๊กก๊ก) กล่าวไว้ว่า เล่าปี่เป็นอนุชนของเล่าเซ่งผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาตำบลลู่เฉิงถิง แต่จากชั้นปู่ขึ้นไป ไม่สามารถสอบค้นสายสกุล (ว่าบรรพบุรุษชื่ออะไร) ได้”

เมื่อเล่าปี่ขึ้นครองราชย์ก็ไม่รู้จะเอาใครเป็นปฐมวงศ์ของสายสกุลสายตรงของตนประดิษฐานไว้ในศาลพระเทพบิดร ประวัติเล่าปี่ (ในพงศาวดารสามก๊ก) เผยซงจือจึงบันทึกอธิบายเสริมว่า “แม้องค์บุพราช (เล่าปี่) จะกล่าวว่าพระองค์สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าฮั่นเก็งเต้ แต่ช่วงเวลาห่างไกลมาก สายสกุลไม่ชัดเจน แม้จะสืบสันตติวงศ์มาจากราชวงศ์ฮั่น แต่ไม่รู้จะเอากษัตริย์องค์ใดเป็นปฐมวงศ์ตั้งศาลพระเทพบิดร”

ดังนั้น จึงต้องบูชาบรรพบุรุษทุกคนตั้งแต่พระเจ้าฮั่นโกโจ (ฮั่นเกาจู่) ลงมา แม้สายสกุลของเล่าปี่จะไม่ชัดเจน

การที่บอกว่าเล่าปี่เป็นอนุชนรุ่นที่ 18 ของพระเจ้าฮั่นเก็งเต้ (ฮั่นจิ่งตี้ กษัตริย์องค์ที่ 4 ของราชวงศ์ฮั่น) และเป็น “พระเจ้าอา” ของพระเจ้าเหี้ยนเต้นั้นเป็นการลากเข้าความพูดเพ้อเจ้อกันไปเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มา :

เฉิงเสี่ยวฮั่น. “เล่าปี่เป็นพระเจ้าอาจริงหรือ?” 101 คำถามสามก๊ก. หลี่ฉวนจวินและคณะ, เขียน. ถาวร สิกขโกศล, แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. น.42-44


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤษภาคม 2560