วรรณกรรม “สามก๊ก” ภาพสะท้อนความเป็น “อนิจจัง” ของประวัติศาสตร์จีนที่ต้อง “แตกแยก”

เล่าปี่ กวนอู เตียวหู ยุค สามก๊ก สาบาน ในสวนท้อ
ภาพคำสาบานในสวนท้อ ซึ่งเป็นการกล่าวร่วมสัตย์สาบานตนเป็นพี่น้องร่วมสายเลือดระหว่างเล่าปี กวนอู และเตียวหุย (ภาพจาก Wikimedia Commons)

หากท่านเป็นสาวกแฟนวรรณกรรม หรือมีโอกาสได้อ่านผลงานของหลอกว้านจง คือสามก๊ก 1 ในวรรณกรรมอมตะของจีน คงเคยเห็นสำนวนหนึ่งที่ถูกใช้เกริ่นนำเพื่ออารัมภบทก่อนเล่าเนื้อเรื่องทั้งหมด เป็นสำนวนแปลจากบทร้อยแก้วในย่อหน้าแรกของต้นฉบับภาษาจีน ความว่า

ธรรมดาของสรรพสิ่งในใต้หล้า เมื่อแยกกันนานย่อมรวม เมื่อรวมกันนานย่อมแยก

หากวิเคราะห์จะพบว่าสำนวนนี้สะท้อนความเป็นวัฏจักรของประวัติศาสตร์จีน เมื่อแผ่นดินจีนรวมกันภายใต้ผู้ปกครองหนึ่งเดียว จากนั้นก็แตกสลายกลายเป็นหลายแว่นแคว้น หลายเจ้าผู้ปกครอง อันสอดคล้องกับเนื้อเรื่องของสามก๊ก

“สามก๊ก” จากจดหมายเหตุสู่วรรณกรรมอมตะ

กลางคริสต์ศตวรรษที่ 2 ปลายราชวงศ์ฮั่น ทั้งจักรวรรดิเคยอยู่ใต้พระบรมเดชานุภาพของฮ่องเต้พระองค์เดียว ต่อมาเกิดกลียุคจากความล้มเหลวของราชสำนักที่มาพร้อมความฉ้อฉลของเหล่าขันที และมหันตภัยโจรโพกผ้าเหลือง ทำให้ราชวงศ์ฮั่นที่ยืนยงกว่า 400 ปี เกิดความแตกแยกเป็นกลุ่มอำนาจของเหล่าขุนศึกที่แย่งชิงดินแดนกัน กระทั่งเกิดเป็นสามก๊ก ได้แก่ แคว้นเว่ย (วุยก๊ก) แคว้นหวู่ (ง่อก๊ก) และแคว้นสู่ฮั่น (จ๊กก๊ก)

ก๊กทั้งสามล้วนมีฮ่องเต้ของตน ต่างทำสงครามเป็นระยะเวลากว่า 60 ปี เพื่อสถาปนาจักรวรรดิอีกครั้ง สุดท้ายตระกูล ซือหม่า ตั้งราชวงศ์จิ้นที่ทรงอำนาจจนสามารถรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียวได้ ดังที่กล่าวไปทั้งหมดนี้คือเนื้อเรื่องตามประวัติศาสตร์ ซึ่งปรากฏใน จดหมายเหตุสามก๊กหรือ ซานกว๋อจื้อ ที่เรียงเรียงโดยเฉินโซ่วอาลักษณ์ในราชวงศ์จิ้น

ส่วนสามก๊กฉบับวรรณกรรมที่เรารู้จักกัน เขียนโดย หลอกว้านจง (เกิด ค.. 1330) มีชีวิตอยู่ช่วงปลายราชวงศ์หยวนถึงต้นราชวงศ์หมิง นั่นหมายความว่าเขาเกิดหลังยุคสามก๊กล่วงเลยไปแล้วกว่าพันปี หลอกว้านจงใช้ซานกว๋อจื้อมาประกอบการประพันธ์สามก๊กฉบับวรรณกรรม หรือ ซานกว๋อเหยี้ยนอี้ ผูกเรื่องแต่ง ปนเรื่องจริง คล้ายบทละครเพื่อสร้างความสนุก

วรรณกรรมสามก๊กจึงมีความเป็นนวนิยายสูง และสำนวน ธรรมดาของสรรพสิ่งในใต้หล้า เมื่อแยกกันนานย่อมรวม เมื่อรวมกันนานย่อมแยก” ปรากฏครั้งแรกในวรรณกรรมของเขานี้เอง

ไม่ว่าหลอกว้านจงจะจงใจหรือไม่ก็ตาม สำนวนนี้ได้สะท้อนความอนิจจัง ของสภาพบ้านเมือง เพราะอธิบายการสลับไปมาระหว่างความเป็นเอกภาพกับความแตกแยก เป็นวัฏจักรที่หมุนเวียนแม้ในสรรพสิ่งอื่น ๆ ด้วย ยิ่งหากได้ศึกษาประวัติศาสตร์จีนจะพบว่าสำนวนนี้ไม่ได้สะท้อนแค่ยุคสามก๊กแค่ยุคเดียว แต่ได้เข้าถึงแก่นสำคัญของประวัติศาสตร์จีน โดยตลอดสมัยประวัติศาสตร์ จีนวนเวียนอยู่กับช่วงเวลาที่รวมเป็นจักรวรรดิและแตกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย ซ้ำร้ายบางยุคสมัยกินเวลายาวนานกว่าสามก๊กเสียอีก หากสำนวนเปรียบเหมือนการถ่ายทอดโลกทัศน์ของหลอกว้านจง การอธิบายสภาวะดังกล่าวด้วยเหตุการณ์ประวัติศาสตร์จะแทบไม่ต่างจากการเล่าประวัติศาสตร์จีนตลอด 4,000 ปีเลย

วัฏจักรแห่งอำนาจ

ประมาณ 2,000 ก่อนคริสตกาล จีนเริ่มต้นยุค 3 ราชวงศ์แรกได้แก่ ราชวงศ์เซี่ย ชาง และโจว (ตะวันตก) ระบอบกษัตริย์ซึ่งพัฒนาจากผู้นำชนเผ่ายังไม่มีแนวคิดโอรสสวรรค์ที่ชัดเจน โครงสร้างรัฐยังเป็นสังคมทาสและระบบศักดินา มีการกระจายอำนาจโดยการส่งชนชั้นสูงไปปกครองเมืองหรือแคว้นต่าง ๆ ทำให้ขาดความเป็นเอกภาพ

เมื่อเข้าสู่สมัยราชวงศ์โจวตะวันออก ที่แบ่งเป็น 2 ยุค คือ ยุคชุนชิว (770-476 ก่อนคริสตกาล) แบ่งเป็นแว่นแคว้นมากมายที่ค่อนข้างเป็นอิสระต่อราชสำนัก ระบบศักดินาทำให้แว่นแคว้นเพิ่มพูนอำนาจ หลังเกิดสงครามขยายอำนาจจึงเข้าสู่ยุคจ้านกว๋อ (475-221 ก่อนคริสตกาล) ที่เหลือแคว้นใหญ่เพียง 7 แคว้น ทำสงครามห้ำหั่นกัน แผ่นดินจีนยิ่งห่างไกลจากความเป็นเอกภาพ กระทั่งฉินอ๋องสามารถผนวกแคว้นทั้ง 7 และสถาปนาราชวงศ์ฉินสำเร็จ

ราชวงศ์ฉิน (221-206 ปีก่อนคริสตกาล) กลายเป็นราชวงศ์แรกที่ปกครองจีนอย่างเป็นเอกภาพ แต่การปกครองอย่างโหดเหี้ยมและกดขี่ ทำให้จักรวรรดิฉินเผชิญกบฏชาวนาที่ลุกลามไปทั่ว ไม่นานก็ปรากฏกลุ่มต่อต้านมากมายมุ่งโค่นล้มราชวงศ์ฉิน

หนึ่งในกลุ่มผู้กล้า คือ หลิวปัง (พระเจ้าฮั่นเกาจู่) สามารถพิชิตกลุ่มอำนาจอื่น ๆ แล้วสถาปนา ราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสตกาล.. 220) อันเป็นจุดเริ่มต้นยุคแห่งความภาคภูมิใจของชาวจีน ราชวงศ์ฮั่นพยายามที่จะสร้างจักรวรรดิให้ยิ่งใหญ่ ส่งเสริมอำนาจแก่ศูนย์กลางการปกครองให้มีเสถียรภาพ ทำให้บ้านเมืองสงบสุข สภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ประเพณีรุ่งเรือง จนได้รับการยกย่องว่าเป็น ยุคแห่งความร่มเย็นเป็นสุข

จิตรกรรม สามก๊ก วัดประเสริฐสุทธาวาส
จิตรกรรมฝาผนังเรื่อง “สามก๊ก” ภายในพระอุโบสถวัดประเสริฐสุทธาวาส ธนบุรี

ผืนแผ่นดินจีนประกอบด้วยชาติพันธ์ุมากมาย ชาวจีนกระจายตัวอาศัยในพื้นที่เขตลุ่มแม่น้ำฮวงเหอและฉางเจียง ชนกลุ่มหลักนี้เรียกตนเองว่าชาวฮั่น แทนการเรียกตามชื่อแคว้นหลังการสถาปนาราชวงศ์ฮั่น ขณะพื้นที่ห่างไกลออกไปทางใต้ ภาคตะวันตก และที่ราบทางเหนือ ยังมีชาวเขาและกลุ่มชนเผ่าอนารยชนที่ชาวฮั่นเรียกว่า ชนเผ่านอกด่าน ซึ่งจักรพรรดิฮั่นพยายามอย่างยิ่งที่จะสานสัมพันธ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ราชวงศ์ต้องเผชิญหน้ากับคนป่าแดนเถื่อน เพราะคนกลุ่มนี้เคยก่อปัญหาให้ชาวจีนและสั่นคลอนอำนาจราชสำนัก อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จักรวรรดิในอดีตล่มสลาย

ช่วงเวลาสี่ร้อยกว่าปีของราชวงศ์ฮั่น หลายครั้งที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของทางการ เหตุเหล่านี้หากถูกซ้ำเติมด้วยการแก้ปัญหาที่ไม่ดีพอ หรือแม้แต่การฉ้อราษฎร์บังหลวง มักเป็นที่มาของการก่อกบฏและการจลาจลโดยชาวนาเป็นระยะ แต่ราชสำนักสามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้เสมอมา หากไม่นับการสูญเสียอำนาจช่วงสั้น ๆ จากขุนนางที่สถาปนาราชวงศ์ใหม่ (ราชวงศ์ซิน) ถือว่าราชสำนักฮั่นมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งพอสมควรก่อนถึงสมัยปลายราชวงศ์

กลางคริสต์ศตวรรษที่ 2  ความอ่อนแอที่เกิดจากภายใน มีตัวการคือ ขุนนาง เชื้อพระวงศ์ และขันทีที่รวบอำนาจไว้กับตนและพวกพ้อง สร้างยุคแห่งความทุกข์เข็ญไปทั่ว เค้าลางแห่งความแตกแยกจึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง สุดท้ายการต่อต้านจากประชาชนทวีความรุนแรงจนเกิดการปฏิวัติโดยชาวนาที่ยิ่งใหญ่และรุนแรงกว่าครั้งใด ๆ เรียกว่าโจรโพกผ้าเหลือง

แม้ถูกปราบปราม แต่การหยืนหยัดต่อสู้กว่า 30 ปีของโจรโพกผ้าเหลือง ส่งผลให้ราชวงศ์ฮั่นที่เสื่อมโทรมอยู่แล้วเกือบสิ้นอำนาจ กระทั่ง ค.. 196 เฉาเชา (โจโฉ) เชิญฮ่องเต้เสด็จไปยังเมืองสวี่ซาง (ฮูโต๋) เสมือนเป็นการปิดฉากราชวงศ์ฮั่นโดยปริยาย ราชสำนักเหลือเพียงชื่อและถูกใช้เพื่ออ้างความชอบธรรมเท่านั้น สภาวะนี้เองนำไปสู่ยุคสามก๊ก ก่อนสุดท้าย สือหม่า หยัน (สุมาเอี๋ยน) เป็นผู้สถาปนาราชวงศ์จิ้น ยุติยุคแห่งความแตกแยกและรวมแผ่นดินจีนขึ้นใหม่อีกครั้ง

สิ้นยุค สามก๊ก เอกภาพยังไม่ยั่งยืน

ชะตากรรมของราชวงศ์จิ้นแทบไม่ต่างจากราชวงศ์ฉิน เพราะมีสงครามกลางเมือง ทั้งชนเผ่านอกด่านหลั่งไหลเข้ามา ราชวงศ์จิ้นคงอยู่ไม่นานก็ล่มสลาย เข้าสู่ยุคราชวงศ์เหนือใต้ และมีการรวมแผ่นดินจีนขึ้นใหม่ในสมัยราชวงศ์สุย แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็ได้กรุยทางให้ราชวงศ์ถัง (.. 618-907) ที่สร้างจักรวรรดิให้มั่นคงจนถูกยกย่องว่าเป็นยุคแห่งความร่มเย็นเป็นสุขอีกครั้ง

หลังผ่านจุดสูงสุดของความมั่งคั่ง จักรวรรดิถังจึงล่มสลาย แผ่นดินกลับสู่ความแตกแยกเป็นหลายแคว้นและเผชิญปัญหาจากอนารยชน แม้แต่ราชวงศ์ซ่ง (.. 960-1279) ที่แข็งแกร่งขึ้นมาก็ได้เพียงคุมเชิงกับอาณาจักรชนเผ่าที่รายล้อมเหล่านั้น ก่อนจะถูกราชวงศ์หยวนผนวกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิมองโกล และวัฏจักรแห่งอำนาจนี้ยังคงปรากฏไปจนสิ้นสุดยุคราชวงศ์จีน

อย่างไรก็ตาม จีนแทบไม่เคยขจัดปัญหาเดิม ๆ ที่เป็นเหตุแห่งความแตกแยกได้ ทั้งการฉ้อราษฎร์บังหลวง กบฏชาวนาหรือชนชั้นล่าง การสะสมอำนาจของหัวเมือง หรือแม้แต่การจัดการกับชนเผ่าอนารยชน สิ่งเหล่านี้ยังคงปรากฏทุกยุคสมัย ล่วงเลยไปถึงยุคสังคมนิยม ก็ยังสะท้อนภาพจากสำนวนในวรรณกรรมสามก๊กนี้ได้เสมอ

จิตรกรรม สามก๊ก วัดบวรนิเวศวิหาร
จิตรกรรมฝาผนังเรื่อง “สามก๊ก” ภายในพระวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร พระนคร

ประวัติศาสตร์แห่งความเป็นเอกภาพและความแตกแยกของจีน ได้ส่งเสริมโลกทัศน์แก่หลอกว้านจง ในฐานะที่เขามีโอกาสรับรู้เรื่องราวของทั้งก่อนและหลังสมัยสามก๊ก สำนวน ธรรมดาของสรรพสิ่งในใต้หล้า เมื่อแยกกันนานย่อมรวม เมื่อรวมกันนานย่อมแยกที่อาจเป็นร้อยแก้วเกริ่นนำนวนิยาย แต่สำนวนนี้กลับทรงพลังเหมือนสัจธรรม ที่ไม่เพียงใช้อธิบายสมัยสามก๊ก แต่รวมถึงประวัติศาสตร์ประเทศจีนทั้งหมด

นอกจากนี้ วัฏจักรแห่งอำนาจยังสะท้อนผ่านพฤติกรรมของตัวละครสามก๊ก เช่น การชุมนุมทัพ 18 หัวเมือง เพื่อปราบต่งจั๋ว (ตั๋งโต๊ะ) แต่สุดท้ายคณะพันธมิตรนี้ขัดแย้งกันเองก่อนจะสลายตัวไป หรือแม้แต่พันธมิตรระหว่างหลิวเป้ย์ (เล่าปี่) กับซุนเฉวียน (ซุนกวน) ที่ร่วมต้านทัพเฉาเชา พอจบสงครามพวกเขาก็ผันตัวเป็นศัตรูกัน

สุดท้ายแล้วเราอาจจะพบว่าภายใต้เรื่องราวหมดของสามก๊กมีข้อความหนึ่งที่จริงแท้ที่สุด คือ “ไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เรืองวิทยาคม. (2546). สามก๊กฉบับคนขายชาติ. กรุงเทพฯ : บ้านพระอาทิตย์.

หลี่เฉวียน. (2556). ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. เขมณัฏฐ์ ทรัพย์ชัยเกษม, ผู้แปล. กรุงเทพฯ : มติชน.

จักรวรรดิในกำแพง : ใต้หล้ารวมกันแล้วแยกกัน (โดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล). สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2562, จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_123957

จักรวรรดิในกำแพง : จิ้นตะวันออกตั้งอยู่ดับไป” (โดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล). สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2562, จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_143871


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มิถุนายน 2562