ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2548 |
---|---|
ผู้เขียน | ศานติ-นวรัตน์ ภักดีคำ ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มศว ประสานมิตร |
เผยแพร่ |
บทคัดย่อ
บทความเรื่องนี้ต้องการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมจีนและวรรณกรรมเขมร จากการศึกษาพบว่าวรรณกรรมจีนมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมเขมรใน 2 ลักษณะ กล่าวคือ ประเภทที่ 1 คือวรรณกรรมเขมรที่แปลจากวรรณกรรมจีน วรรณกรรมเขมรกลุ่มนี้เป็นเรื่องที่แปลขึ้นจากวรรณกรรมจีนซึ่งส่วนหนึ่งแปลผ่านฉบับแปลภาษาไทย เช่น สามก๊ก ที่แปลจากฉบับของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) และไซ่ฮั่น กับวรรณกรรมที่แปลจากภาษาจีนโดยตรงซึ่งมักแปลจากนวนิยายกำลังภายใน
ส่วนประเภทที่ 2 วรรณกรรมเขมรที่แต่งโดยอาศัยเค้าโครงเรื่องจากวรรณกรรมจีน คือวรรณกรรมเขมรที่ได้นำเค้าโครงเรื่องจากวรรณกรรมจีน แต่ได้นำมาประยุกต์ ปรับปรุง และแต่งขึ้นใหม่ในรูปแบบคำประพันธ์ของเขมรเอง วรรณกรรมเขมรเหล่านี้ได้แก่เรื่อง เจียวกุน เต็กเช็ง หานบวน และเรื่องการสนทนาระหว่างกุมารกับนักปราชญ์ขงจื๊อ เป็นต้น อย่างไรก็ดีความนิยมเรื่องจีนในวงวรรณกรรมเขมรน่าจะมีไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับวรรณกรรมจีนที่แปลเป็นภาษาไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ความนิยมอีกส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลที่รับจากละคร “บาสัก” และอิทธิพลความนิยมเรื่องจีนจากประเทศไทย
บทนำ
จีนเป็นอู่อารยธรรมเอเชียอีกแหล่งหนึ่งนอกจากอินเดีย ด้วยความที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมอันยาวนาน วัฒนธรรมจีนจำนวนหนึ่งจึงมีการถ่ายเทสู่ประเทศใกล้เคียงโดยเฉพาะในประเทศที่มีชาวจีนเดินทางเข้าไปค้าขายหรือเข้าไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน เพราะชาวจีนเหล่านั้นยังคงรักษาวัฒนธรรมและประเพณีในด้านต่างๆ ของตนไว้อย่างครบถ้วน แม้ในเวลาต่อมาจะมีการผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ บ้างแต่ยังคงมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มชาวจีนให้สังเกตได้
ประเทศกัมพูชาเพื่อนบ้านใกล้ชิดของประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีชาวจีนโพ้นทะเลเข้ามาติดต่อค้าขาย กระทั่งอยู่อาศัยตั้งหลักแหล่งทำมาหากินเป็นเวลานานมาแล้วตั้งแต่สมัยฝูหนาน (ฟูนัน) ด้วยพบหลักฐานที่เป็นเอกสารของราชทูตจีนที่เดินทางเข้ามาในสมัยนั้นได้บันทึกไว้และมีการอ้างอิงสืบเนื่องมาในเอกสารจีนชั้นหลังด้วย
ถึงสมัยพระนคร จากหลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่าน่าจะมีชาวจีนอาศัยอยู่ในกัมพูชาเป็นจำนวนมาก ลวดลายศิลปะต่างๆ ที่ปรากฏ ณ ศาสนสถานในสมัยพระนครนี้มีลวดลายจีนผสมผสานปะปนอยู่ด้วย ทั้งยังปรากฏภาพชาวจีนในภาพสลักนูนต่ำที่ระเบียงปราสาทบายน พระนครหลวง และยิ่งชัดเจนมากขึ้นในบันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีเจินละของ “โจวต๋ากวาน” ที่เดินทางเข้ามายังกัมพูชาสมัยพระเจ้าศรีศรินทรวรมัน [1]
นอกเหนือจากความสัมพันธ์ในฐานะผู้อาศัยพึ่งโพธิสมภารของชาวจีนในประเทศกัมพูชาแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานความนิยมหรืออิทธิพลวรรณกรรมจีนในประเทศกัมพูชาแต่อย่างใด จวบจนถึงพุทธศตวรรษที่ 24-25 จึงปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมจีนกับวรรณกรรมเขมร บทความเรื่องนี้ผู้เขียนต้องการที่จะเสนอภาพรวมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมจีนกับวรรณกรรมเขมรซึ่งน่าจะยังไม่ค่อยมีผู้ให้ความสนใจ เพื่อเปิดประเด็นในการศึกษาเปรียบเทียบอิทธิพลของวรรณกรรมจีนในวรรณกรรมไทยและวรรณกรรมเขมรต่อไป
วรรณกรรมจีนในวรรณกรรมเขมร
ฆีง หุก ฑี นักวรรณกรรมเขมร กล่าวถึงอิทธิพลวรรณกรรมจีนในวรรณกรรมเขมรว่า เอกสารเขมรประเภทต่างๆ ที่เก็บรักษาไว้ตามหอสมุดต่างๆ ทั้งในประเทศกัมพูชาและในทวีปยุโรปมีเอกสารเขมรที่เกี่ยวกับเรื่องจีนน้อยมาก ถ้าคิดก็จะประมาณ 1 ใน 1,000 [2]
แม้ว่าวรรณกรรมจีนจะมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมเขมรไม่มากนัก แต่เรื่องที่น่าจะนำมาศึกษาคืออิทธิพลวรรณกรรมจีนในวรรณกรรมเขมรมีความแตกต่างจากอิทธิพลวรรณกรรมอินเดียในวรรณกรรมเขมรอย่างไร
จากการศึกษาเปรียบเทียบภาพรวมระหว่างอิทธิพลวรรณกรรมจีนกับอิทธิพลวรรณกรรมอินเดียในวรรณกรรมเขมรพบว่ามีความแตกต่างกันคือ การรับอิทธิพลวรรณกรรมจีนในวรรณกรรมเขมรนั้นค่อนข้างรับมาในลักษณะ “การแปล” โดยไม่ได้แก้ไขหรือปรับวรรณกรรมจีนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมเขมรมากนัก
แต่สำหรับวรรณกรรมอินเดียที่มีอิทธิพลต่อวรรณกรรมเขมรในสมัยหลังพระนครเป็นอิทธิพลในลักษณะที่มีการกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมเขมรด้วย เช่น เรื่องรามายณะของอินเดียที่ถูกดัดแปลงจนมีรูปเป็น “รามเกรฺติ์ (เรียมเกรติ์)” ส่วนวรรณกรรมจีนเรื่อง “ไซ่ฮั่น” เมื่อเขมรรับเข้ามาก็ยังคงเป็น “ไซ่ฮั่น” แบบจีนอยู่นั่นเอง
อย่างไรก็ดีมีงานวรรณกรรมจีนบางเรื่องที่เขมรรับมาเฉพาะโครงเรื่องแล้วแต่งโดยใช้รูปแบบคำประพันธ์ร้อยกรองเขมรแทนที่จะแต่งเป็นร้อยแก้วตามต้นฉบับเดิม เช่น เรื่องเจียวกุน (ชาวคุน) หรือเรื่องเต็กเช็ง เป็นต้น
เมื่อพิจารณาจากรูปแบบการประพันธ์วรรณกรรมเขมรที่ได้รับอิทธิพลวรรณกรรมจีน อาจจัดแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1. วรรณกรรมเขมรที่แปลจากวรรณกรรมจีน
2. วรรณกรรมเขมรที่แต่งโดยอาศัยเค้าโครงเรื่องจากวรรณกรรมจีน
วรรณกรรมเขมรที่แปลจากวรรณกรรมจีน
วรรณกรรมเขมรที่แปลจากวรรณกรรมจีน หมายถึงวรรณกรรมเขมรที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมจีนในลักษณะของการแปล ดังนั้นจึงยังคงรักษารูปแบบวรรณกรรมจีนตามต้นฉบับเดิมไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบคำประพันธ์ให้ต่างจากเดิมมากนัก วรรณกรรมเขมรในกลุ่มนี้ได้แก่ “ไซ่ฮั่น” และ “สามก๊ก” ฉบับภาษาเขมร
วรรณกรรมเขมรที่แปลจากวรรณกรรมจีนสามารถแบ่งออกได้ 2 กลุ่ม ตามที่มาของเรื่อง คือ
วรรณกรรมเขมรที่แปลจากวรรณกรรมจีนผ่านวรรณกรรมไทย
วรรณกรรมเขมรกลุ่มนี้เป็นวรรณกรรมเขมรที่แม้จะแปลจากวรรณกรรมจีนก็จริง แต่มิได้รับการแปลจากต้นฉบับภาษาจีนโดยตรง หากแปลผ่านวรรณกรรมไทยอีกทอดหนึ่ง วรรณกรรมเขมรที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ สามก๊กฉบับภาษาเขมร เป็นต้น
ฆีง หุก ฑี กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมไทยกับวรรณกรรมเขมรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแปลวรรณกรรมจีนไว้ว่า “…เรื่องเหล่านี้เข้ามาตามช่วงที่วัฒนธรรมไทยโดยเฉพาะเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 วรรณกรรมเขมรได้รับวัฒนธรรมไทย วรรณกรรมจีนได้เข้ามาตามไทยด้วย ตัวอย่างเรื่องจีน สามก๊ก กับไซ่ฮั่นมีแปลเป็นภาษาไทยในศตวรรษที่ 19 ด้วย…” [3]
เหตุที่เรื่องจีนได้รับความนิยมมากเนื่องจากความเจริญด้านการพิมพ์ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467 เป็นต้นมา หนังสือพิมพ์ภาษาเขมรได้ถือกำเนิดขึ้น เช่น หนังสือ “กัมพุชสุริยา” ที่เป็นวารสารวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2469, หนังสือ “สฺรุกแขฺมร (เมืองเขมร)” เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2470 หนังสือ “นครวตฺต (นครวัด)” เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2479
วารสารภาษาเขมรที่เกิดขึ้นนี้นิยมลงเรื่องจีนด้วย สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นความนิยมที่แพร่มาจากประเทศไทย เพราะในช่วงเวลาเดียวกันนี้หนังสือพิมพ์ทุกฉบับของไทยต้องลงเรื่องจีน เนื่องจากประชาชนนิยมอ่านเรื่องจีนแพร่หลายมากขึ้น [4] โดยเฉพาะเรื่องสามก๊กฉบับภาษาเขมร
นอกจากนี้ยังมีการแสดงละคร “บาสัก” ซึ่งเป็นละครเขมรที่ได้รับอิทธิพลมาจากละครจีนและละครเวียดนาม ก็นิยมนำเรื่องจีนมาเล่น เรื่องที่นิยมมากได้แก่ สามก๊ก, เจียวกุน, โลจา (หรือหล่าจา ในเรื่องห้องสิน), ซิยิ่นกุ้ย และเต็กเช็ง ทำให้วรรณกรรมจีนเป็นที่นิยมแพร่หลายในกัมพูชาด้วย
“สามก๊ก” ฉบับภาษาเขมร แปลโดยออกญาวิบุลราชเสนา (นูกน) ลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร “กัมพุชสุริยา” เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2491 เล่มที่ 2 โดยชี้แจงว่าเรื่องนี้แบ่งเป็นบท มีทั้งหมด 78 บท แต่ไม่ทราบว่าลงพิมพ์ในกัมพุชสุริยาจนจบสมบูรณ์หรือไม่ [5]
ที่มาของ “สามก๊ก” ฉบับภาษาเขมรนี้ ญุก แถม บรรณาธิการวารสาร “กัมพุชสุริยา” ได้เขียนคำนำอธิบายเรื่อง “สามก๊ก” ไว้ในวารสารกัมพุชสุริยา เล่ม 2 ปี พ.ศ. 2491 ว่า
“...เฉพาะประเทศเสียม [ไทย] ได้แปลเรื่องสามก๊กจากภาษาจีนเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2345 ตรงกับ ค.ศ. 1802 ในสมัยที่ยังไม่มีโรงพิมพ์สำหรับพิมพ์หนังสือเผยแพร่เลย เมื่อถึงสมัยที่เกิดโรงพิมพ์สำหรับพิมพ์หนังสือต่างๆ ได้แล้ว ก็จัดการพิมพ์เรื่องสามก๊กนี้เผยแพร่เป็นหลายครั้ง เรื่องสามก๊กที่จัดการพิมพ์ครั้งหลังที่สุดในปี พ.ศ. 2470 [ค.ศ. 1927]
สันนิษฐานว่าฉบับพิมพ์ครั้งหลังนี้เองที่ออกญาวิบุลราชเสนา (นูกน) ผู้แทนราษฎรได้แปลออกเป็นเขมรภาษาจบครบสมบูรณ์แต่ไม่มีโอกาสจะเผยแพร่เรื่องนี้ต่อมาอีกหลายปี ภายหลังสุดท่านได้นำสำเนาแปลเรื่องสามก๊กมามอบให้พุทธศาสนบัณฑิตย์เพื่อให้จัดการพิมพ์เผยแพร่ตามต้องการ
ข้าพเจ้าขอกล่าวเป็นตัวแทนในนามพุทธศาสนบัณฑิตย์ขอแสดงความขอบคุณท่านออกญาวิบุลราชเสนา (นูกน) และขอสรรเสริญความพยายามที่ได้พยายามขวนขวายแปลเรื่องอันยาวนี้จนครบถ้วนสมบูรณ์ เพียงแต่ในโอกาสทุกวันนี้พุทธศาสนบัณฑิตย์ไม่สามารถจัดการพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือเล่มต่างหากได้ จึงนำเรื่องนี้มาลงเผยแพร่ในวารสารกัมพุชสุริยานี้เป็นตอนๆ ไปก่อน...” [6]
คำนำของญุก แถม มีบางประเด็นที่น่าสงสัยอยู่บ้าง เนื่องจากข้อมูลใน “ตำนานหนังสือสามก๊ก” พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2471 พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงสามก๊กฉบับแปลภาษาเขมรว่า “…แปลเป็นภาษาเขมร แปลเมื่อใดหาทราบไม่ ยังไม่ได้พิมพ์…” [7] และมีเชิงอรรถอธิบายว่า “…ที่แปลเป็นภาษาเขมรนั้น เข้าใจว่าแปลจากฉบับพิมพ์ภาษาไทยที่ได้ไปจากกรุงเทพฯ…” [8]
อีกทั้งการที่คำชี้แจงของออกญาวิบุลราชเสนา (นูกน) กล่าวว่าเรื่องสามก๊กมี 78 ตอน (ที่จริงตามฉบับไทยมี 87 ตอน) แสดงว่าออกญาวิบุลราชเสนา (นูกน) น่าจะแปลจากฉบับพิมพ์ของราชบัณฑิตยสภา เมื่อ ปี พ.ศ. 2471 (ไม่ใช่ 2470 ตามที่ญุก แถม อ้างไว้) เนื่องจากฉบับพิมพ์ก่อนหน้านี้ไม่มีการจัดแบ่งเป็นตอน
ดังนั้นหากเชื่อตามข้อมูลในตำนานหนังสือสามก๊ก พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สามก๊กฉบับภาษาเขมรก็อาจมีฉบับอื่นที่แปลเก่ากว่าฉบับของออกญาวิบุลราชเสนา (นูกน) แต่ไม่เป็นที่รู้จักในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ควรมีการศึกษาต่อไป
นอกจากเรื่องสามก๊กฉบับภาษาเขมรแล้ว ยังปรากฏว่ามีการถ่ายทอดวรรณกรรมอิงพงศาวดารจีนเป็นภาษาเขมรอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่อง “ไซ่ฮั่น” แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเรื่องนี้ไม่มีชื่อผู้แปลหรือช่วงเวลาที่แปล
ต้นฉบับเรื่อง “ไซ่ฮั่น” ฉบับแปลภาษาเขมรที่พบต้นฉบับในปัจจุบันเป็นฉบับที่คัดลอกในกระดาษขนาดใหญ่มี 21 หน้า สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 เอกสารชุดนี้เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดสมาคมอาซี (เอเชีย) กรุงปารีส หมายเลข B.39 ภาค 10 เดิมเป็นเอกสารของเอเตียน เอโมนีเยร์ [9]
ไซ่ฮั่น เป็นเรื่องจีนที่น่าจะแปลจากซีฮั่นทงสูเหยี่ยนอี้ ของเจินเหว่ย แต่งในสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911-2187) มีความยาว 8 ม้วน ต้นฉบับเรื่องไซ่ฮั่นฉบับเก่าแก่ที่สุดที่พบเป็นฉบับพิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้ในรัชสมัยว่านลี่ ปีที่ 10 (พ.ศ. 2155) ฉบับที่แพร่หลายแบ่งเป็น 101 ตอน ยังมีฉบับที่แบ่งเป็น 100 ตอน และ 106 ตอนอีกด้วย แต่เนื้อความยาวเท่ากัน เพียงแต่แบ่งบทต่างกัน
ต้นฉบับแปล “ไซ่ฮั่น” ฉบับภาษาเขมรแปลที่มีอยู่ไม่จบสมบูรณ์ตามต้นฉบับเดิม เพราะเริ่มเรื่องที่อิหยินถูกนำมาเป็นตัวประกันที่แคว้น “เตียว (จ้าว)” และเรื่องราวมาจบลงที่จิ๋นอ๋องเจิ้ง (จูร เจง) สังหารลี้ปุดอุยเสียชีวิต และกล่าวถึงนครทั้งเจ็ด มาอ่อนน้อมเป็นเมืองขึ้นส่งเครื่องบรรณาการมาถวายจิ๋นอ๋องเจิ้ง (จูร เจง) เป็นประจำทุกปีเท่านั้น ในขณะที่ต้นฉบับเดิมจบลงเมื่อฮั่นโกโจสถาปนาราชวงศ์ฮั่นตะวันตกได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าเรื่อง “ไซ่ฮั่น” ฉบับภาษาเขมรนี้แปลจากฉบับภาษาไทยหรือแปลจากฉบับภาษาจีนโดยตรง
วรรณกรรมเขมรที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมจีนโดยตรง
วรรณกรรมเขมรกลุ่มนี้เป็นงานแปลวรรณกรรมจีนเป็นภาษาเขมรโดยตรง เป็นงานวรรณกรรมที่รุ่งเรืองมากในแวดวงของกรุงพนมเปญ เป็นวรรณกรรมของเมืองหลวง ส่วนชาวเมืองที่ทำนาทำสวนส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านวรรณกรรมที่ได้รับอิทธิพลจีนนี้
วรรณกรรมจีนแปลเริ่มมีความนิยมแพร่หลายยิ่งขึ้นเมื่อมีการออกหนังสือพิมพ์ของเอกชนขึ้นในปี พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา วรรณกรรมจีนแปลมีมากขึ้น กล่าวคือโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ต่างๆ ต้องพิมพ์วรรณกรรมจีนที่แปลเป็นภาษาเขมรเป็นเล่มเล็กๆ ออกเผยแพร่ทุกวันเหมือนหนังสือพิมพ์ธรรมดา จบเรื่องหนึ่งต่อด้วยอีกเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ “มาตุภูมิ” ที่ “ซืง ภืก ทอ (สืง ภืก ถ)” เป็นบรรณาธิการ โดยมีชื่อเรียกกลุ่มผู้แปลและเรียบเรียงว่า “กลุ่มนักนิพนธ์มาตุภูมิพนมเปญ (กฺรุม อฺนก นิพนฺธ มาตุภูมิ ภฺนํเพญ)”
ผู้แปลวรรณกรรมจีนเป็นภาษาเขมรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดมี 2 คน คือ “ฮี เมง งี” กับ “เสง วุฑฒี”
วรรณกรรมจีนที่แปลเป็นภาษาเขมรนี้โดยมากน่าจะเป็น “วรรณกรรมจีนกำลังภายใน” เป็นหลัก ตัวอย่างเช่น
ซูปิกเองไต้ (สูปิก เอง ตาย) ฮี เมง งี แปล พิมพ์โดยหนังสือพิมพ์มาตุภูมิ เมื่อปี พ.ศ. 2512
ฎาวนาค (แปลว่า ดาบนาค-สันนิษฐานว่าน่าจะได้แก่เรื่องดาบมังกรหยก หรืออาจจะเป็นเพ็กฮ้วยเกี่ยมที่ตัวเอกใช้กระบี่งูทองเป็นอาวุธ ทั้ง 2 เรื่องเป็นผลงานของกิมย้ง) ฮี เมง งี แปล พิมพ์โดยหนังสือพิมพ์มาตุภูมิ เมื่อปี พ.ศ. 2515
พิภพนาค (แปลว่า แผ่นดินนาค-สันนิษฐานว่าน่าจะได้แก่เรื่องแปดเทพอสูรมังกรฟ้า ผลงานของกิมย้ง) ฮี เมง งี แปล พิมพ์โดยหนังสือพิมพ์มาตุภูมิ เมื่อปี พ.ศ. 2516
ลุกซาวฝุง (ลุก สาว หฺวุง-น่าจะได้แก่เรื่องเล็กเซียวหง ผลงานของโกวเล้ง) เสง วุฑฒี แปล พิมพ์โดยโรงพิมพ์เขมรพาณิช เมื่อปี พ.ศ. 2516 [10]
วรรณกรรมเขมรที่แต่งโดยอาศัยเค้าโครงเรื่องจากวรรณกรรมจีน
วรรณกรรมเขมรที่แต่งโดยอาศัยเค้าโครงเรื่องจากวรรณกรรมจีน หมายถึงกลุ่มวรรณกรรมเขมรที่ได้นำเค้าโครงเรื่องจากวรรณกรรมจีน แต่ได้นำมาประยุกต์ ปรับปรุง และแต่งขึ้นใหม่ในรูปแบบคำประพันธ์ของเขมรเอง วรรณกรรมเขมรกลุ่มนี้แม้มีไม่มากนักแต่น่าจะนำมากล่าวถึงเพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาเปรียบเทียบกับอิทธิพลจีนในวรรณกรรมไทยต่อไป
วรรณกรรมเขมรที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่
1. นางเจียวกุน (นางชาว คุน) เรื่องนี้น่าจะนำเค้าโครงเรื่องมาจากตำนานจีนเรื่องนาง “หวังเจาจวิน” 1 ใน 4 ยอดหญิงงามของจีนที่ต้องเดินทางไปแต่งงานกับหัวหน้าเผ่าซุงหนูในคริสต์ศตวรรษที่ 1 (สมัยราชวงศ์ฮั่น) ซึ่งนักประพันธ์จีนจำนวนมากได้นำมาแต่งเป็นคำประพันธ์ต่างๆ นับแต่อดีตจวบจนปัจจุบันในรูปแบบร้อยกรองและร้อยแก้ว [11]
แต่ความน่าสนใจของเรื่องนี้อยู่ที่กวีเขมรได้นำมาแก้ไขเรื่องราวเสียใหม่โดยเปลี่ยนว่าเป็นเรื่องความรักเรื่องหนึ่งระหว่างกษัตริย์จีนกับกษัตริย์เขมร แต่ต่อมาได้เกิดรบกันขึ้นเพราะปรารถนาโฉมงามผู้มีชื่อว่าเจียวกุนเท่านั้น
เรื่องนี้กวีเขมรเชื้อสายจีนได้นำมาแต่งเป็นคำประพันธ์เขมรประเภทบทพากย์ 7 และบทพากย์ 8 (กลอน 7 กลอน 8) เก็บรักษาไว้ที่พุทธศาสนบัณฑิตย์หมายเลข 1381 มีทั้งหมด 9 ผูกจบ วรรณกรรมเรื่องนี้พุทธศาสนบัณฑิตย์คัดลอกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2486 ตามที่ ญุก แถม ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า
“…เรื่องนี้กวีไม่ได้เริ่มเรื่องของตนโดยกล่าวสรรเสริญพระรัตนตรัยเหมือนกวีคนอื่น เปลี่ยนเป็นเริ่มโดยแถลงความรักส่วนตัวไป ต่อจากนั้นกวีจึงแถลงบทนมัสการพระรัตนตรัยรำลึกคุณมารดาบิดา ครูอาจารย์ เป็นต้น ชี้แจงกาลปริเฉทและชีวประวัติบ้าง รวมทั้งต้นเหตุที่ผู้แต่งได้แต่งเรื่องจีนมาเป็นภาษาเขมร…
…หากพิจารณาดูชื่อตัวละครก็ดี ชื่อเมืองก็ดี ชื่อภูเขาก็ดี ชื่อแม่น้ำลำคลองก็ดี ชื่อตัวละครยักษ์ก็ดี ฤาษีก็ดี เทพยดาก็ดีล้วนแต่เป็นชื่อจีนทั้งหมดไม่มีชื่อเขมรเลย มีแต่การบรรยายทัศนียภาพธรรมชาติต่างๆ เช่น ไพรพฤกษา ปักษี มฤคา และมัจฉา เป็นต้น จึงมีแบบเขมร…” [12]
ผู้แต่งกล่าวว่าเรื่องนี้ผู้แต่งได้ยินคุณป้าเล่าให้ฟัง เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความไพเราะจึงนำมาแต่งขึ้น ตรงกับในรัชกาลสมเด็จพระนโรดม ในวันเสาร์ เดือนเจตร ปีระกานักษัตร พ.ศ. 2340 ในท้ายเรื่องผู้แต่งกล่าวว่าตนเองชื่อว่า “ทูจ” แซ่ “ตัน” เป็นจีนฮกเกี้ยน บวชเรียนแล้วอาจารย์ตั้งชื่อว่า “อาน วาต่ (อาน ว็วต)” [13] ในที่นี้ขอยกตัวอย่างโดยแปลข้อความในส่วนที่กล่าวว่าได้นำเค้าเรื่องมาจากเรื่องจีน ดังนี้
“…ขยมจึ่งเรียนยก
เป็นกาพย์ลบองลเบิก
จริงจากบูราณ
จากเมืองจีนมา
โยนยกมาได้
นิยายนิทาน
แปรเป็นคำเขมร…” [14]
2. เรื่องเต็กเช็ง (ติก เฉง) เรื่องนี้สันนิษฐานว่าผู้แต่งจะเป็นคนเดียวกับที่แต่งเรื่องนางเจียวกุน เพราะในต้นเรื่องนางเจียวกุน ผู้แต่งกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “…เป็นเรื่องก่อนชื่อเต๊กเช็ง…” ดังนั้น “ตัน ทูจ” น่าจะแต่งเรื่องนี้เป็นภาษาเขมรด้วย เรื่องเต็กเช็งกล่าวถึงวีรบุรุษจีนสมัยราชวงศ์ซ้อง (ซ่ง) ชื่อว่า “เต็กเช็ง (ตี้ชิง)” [15]
วีรกรรมของเต็กเช็ง (ตี้ชิง) ในนิยายอิงพงศาวดารจีนสามารถดูได้จากบ้วนฮวยเหลา น่าจะแปลจากว่านฮวาโหลวเอี่ยนอี้ แต่งในสมัยราชวงศ์ชิง ผลงานของ หลียวี่ถาง มี 14 ม้วน 68 ตอน โหงวโฮ้วเพงไซ น่าจะแปลจากอู๋ฮู่ผิงซีเฉียนจ้วน แต่งในสมัยราชวงศ์ชิง ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง มี 14 ม้วน 122 ตอน โหงวโฮ้วเพงหนำ น่าจะแปลจากอู๋ฮู่ผิงหนานโฮ่วจ้วน แต่งในสมัยราชวงศ์ชิงไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง มี 6 ม้วน 42 ตอน
3. เรื่องหานบุน (หาน บุน) เรื่องนี้มีต้นฉบับใบลานเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส หมายเลขเอกสาร 319 ในบัญชีคัมภีร์ของอูเชียง ซึ่งไม่จบเพราะมีเพียงผูกเดียว แต่ยังมีอีกฉบับหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ เลขที่ 163 มี 3 ผูกจบ มีชื่อเรื่องระบุไว้ในต้นฉบับตัวเขียนว่า “หานบุน ผูก 1 (งูขาว, งูดำ)”, “หานบุน เรื่องจีนกล่าวถึงงูขาวงูดำผูก 2” และ “หานบุนเรื่องจีนงูขาวงูดำ ผูก 3 จบ” [16]
ผู้แต่งชื่อว่า “กวย” ได้กล่าวถึงประวัติตนเองไว้ในต้นเรื่องว่า กวีเป็นชาวเขมรเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน เกิดที่พนมเปญ ได้บวชเรียนที่วัดสระจก เรียนแต่งคำประพันธ์เป็นครั้งแรกในวันพุธ แรม 1 ค่ำ เดือนอาษาฒ ปีวอกโทศก จุลศักราช 1222 ตรงกับพุทธศักราช 2403 [17]
วรรณกรรมเขมรที่ได้รับอิทธิพลวรรณกรรมจีนเรื่องนี้แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทบทกากคติ (ตรงกับกาพย์สุรางคนางค์ของไทย) สันนิษฐานว่าเรื่องหานบุนน่าจะได้อิทธิพลจากตำนานจีนเรื่องนางพญางูขาว เนื้อเรื่องของวรรณกรรมเขมรเรื่องนี้กล่าวว่า
“ที่เมืองชีวตุงตวนครอบครองโดยเจ้าฝ่ายเมืองหนึ่งนามหางชีวหัวร์ ในเมืองนี้มีบุรุษคนหนึ่งชื่อองค์ ภริยาชื่อนางตนสี แล้วมีลูกสาวคนหนึ่งนามนางตาวองค์ ได้แต่งงานกับบุรุษนามสีกงโหร์ สามีภรรยานี้ได้บุตรคนหนึ่งชื่อหานบุน ถึงอายุได้ 5 ปี กำพร้าบิดามารดาไปอาศัยอยู่กับน้าสาวและน้าชาย ถึงอายุ 16 ปี น้าชายเอาไปให้เรียนหากินรับใช้เศรษฐีคนหนึ่ง ภายหลังหานบุนได้รักนางงูขาวและนางงูดำ คือนางงูขาวรับเป็นภรรยา ส่วนนางงูดำรับเป็นชู้” [18]
4. เรื่องการสนทนาระหว่างกุมารกับนักปราชญ์ขงจื๊อ (การสนฺทนารวางกุมารนิงอฺนกปฺราชฺญกุงชื) วรรณกรรมเขมรเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมจีน แต่ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง ไม่กล่าวถึงช่วงเวลาที่แต่ง แต่สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งในพุทธศตวรรษที่ 24-25 เรื่องนี้กล่าวถึงเด็กคนหนึ่งชื่อเจ้าถุก อายุ 7 ขวบ ได้ทำให้นักปราชญ์ขงจื๊อแพ้ด้วยสำนวนโวหารและปัญญา
แต่กวีนิพนธ์เขมรเอามาปรับเปลี่ยนเป็นแบบเขมร และได้ปรับคติเป็นพุทธศาสนาด้วยเห็นข้อความในตอนต้นมีบทนมัสการและกล่าวถึง “กรุงราชคฤห์” ซึ่งหมายถึงประเทศจีน ดังมีข้อความตามที่แปลเป็นภาษาไทยได้ดังนี้
“เนา ณ นคร
บุรีบวร
สมมตนามา
ราชคฤห์ธานี
บุรีรัฐฐา
กษัตริย์ทรงนาม
ชื่อเจ้าจินกุง” [19]
วรรณกรรมเขมรเรื่องนี้มีหลายฉบับ เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดในกรุงปารีส มีทั้งที่เป็นเอกสารบันทึกบนใบลานและบันทึกบนกระดาษ [20]
บทสรุป
จากที่กล่าวมาทั้งหมดอาจสรุปได้ว่าวรรณกรรมจีนในประเทศกัมพูชาอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ อิทธิพลจีนในลักษณะของการแปลวรรณกรรมจีนเป็นวรรณกรรมเขมร ประเภทที่ 2 คืออิทธิพลด้านโครงเรื่องที่กวีเขมรนำมาแต่งเป็นวรรณกรรมเขมรโดยอาศัยรูปแบบคำประพันธ์แบบเขมร
น่าสังเกตว่าความนิยมเรื่องจีนในวงวรรณกรรมเขมรน่าจะมีไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับวรรณกรรมจีนที่แปลเป็นภาษาไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ที่แปลวรรณกรรมอิงพงศาวดารจีนเป็นจำนวนถึง 34 เรื่อง ไม่นับรวมการแปลวรรณกรรมกำลังภายใน ในยุคหลัง) ทั้งนี้น่าจะเป็นที่นิยมเฉพาะในกลุ่มชาวเขมรเชื้อสายจีนด้วย (โดยเฉพาะจีนฮกเกี้ยน)
ความนิยมวรรณกรรมจีนในวรรณกรรมเขมรอีกส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลที่รับจากละคร “บาสัก” และอิทธิพลความนิยมวรรณกรรมจีนจากประเทศไทย ซึ่งประเด็นเหล่านี้คงต้องมีการศึกษาเปรียบเทียบกันต่อไป
เชิงอรรถ :
[1] โปรดดูรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ใน เฉลิม ยงบุญเกิด. บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ. (พระนคร : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2510), หน้า 1-39.
[2] ฆีง หุก ฑี. ทิฏฺฐภาพทูเทาไนอกฺสรสาสฺตฺรแขฺมร. (Paris : L”Harmattan, 1997), หน้า 149.
[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 160.
[4] ความนิยมเรื่องจีนทำให้มีการแปลวรรณกรรมอิงพงศาวดารจีนจำนวนมากในช่วงรัชกาลที่ 4-6 โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานหนังสือสามก๊ก. (กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543), หน้า 35.
[5] ฆีง หุก ฑี. ทิฏฺฐภาพทูเทาไนอกฺสรสาสฺตฺรแขฺมร. หน้า 160.
[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 161.
[7] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานหนังสือสามก๊ก. หน้า 28.
[8] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
[9] ฆีง หุก ฑี. ทิฏฺฐภาพทูเทาไนอกฺสรสาสฺตฺรแขฺมร. หน้า 153.
[10] ฆีง หุก ฑี. ทิฏฺฐภาพทูเทาไนอกฺสรสาสฺตฺรแขฺมร. หน้า 161.
[11] โปรดดูประวัติของหวังเจาจวินได้ใน ถาวร สิกขโกศล. สี่ยอดหญิงงามผู้พลิกประวัติศาสตร์จีน. (กรุงเทพฯ : บริษัท สร้างสรรค์บุ๊ค จำกัด, 2544), หน้า 48-71.
[12] ฆีง หุก ฑี. ทิฏฺฐภาพทูเทาไนอกฺสรสาสฺตฺรแขฺมร. หน้า 150.
[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า 152.
[14] ฆีง หุก ฑี. มาลีบทอกฺสรสิลฺป์แขฺมรสตวตฺสที 19. (ภฺนํเพญ, 2003), หน้า 67.
[15] ฆีง หุก ฑี. ทิฏฺฐภาพทูเทาไนอกฺสรสาสฺตฺรแขฺมร. หน้า 153.
[16] ฆีง หุก ฑี. มาลีบทอกฺสรสิลฺป์แขฺมรสตวตฺสที 19. (ภฺนํเพญ, 2003), หน้า 66.
[17] ฆีง หุก ฑี. ทิฏฺฐภาพทูเทาไนอกฺสรสาสฺตฺรแขฺมร. หน้า 158.
[18] ฆีง หุก ฑี. มาลีบทอกฺสรสิลฺป์แขฺมรสตวตฺสที 19. หน้า 66.
[19] เรื่องเดียวกัน, หน้า 75.
[20] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
บรรณานุกรม
ฆีง หุก ฑี. ทิฏฺฐภาพทูเทาไนอกฺสรสาสฺตฺรแขฺมร. Paris : L”Harmattan, 1997.
______. มาลีบทอกฺสรสิลฺปแขฺมรสตวตฺสที 19 (มาลีบทอักษรศิลป์เขมรศตวรรษที่ 19). ภฺนํเพญ, 2003.
ชิดก๊กไซ่ฮั่น. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ตำนานหนังสือสามก๊ก. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2543.
ถาวร สิกขโกศล. สี่ยอดหญิงงามผู้พลิกประวัติศาสตร์จีน. กรุงเทพฯ : บริษัท สร้างสรรค์บุ๊ค จำกัด, 2544.
จงกวั๋วเหวินเสวี๋ยต้าฉือเตี่ยน. ซ่างไฮ่ฉือซูชูป่านเซ่อ. พิมพ์ครั้งที่ 1.
จงกวั๋วต้าป่ายเคอเฉวียนซู. จงกวั๋วเหวินเสวีย. จงกวั๋วต้าป่ายเคอเฉวียนซูชูป่านเซ่อ. พิมพ์ครั้งที่ 1.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ตุลาคม 2560