เผยแพร่ |
---|
“สามก๊ก” ไม่เพียงเป็นวรรณกรรมจีน (อิงประวัติศาสตร์) หากแต่ยังเป็นตำราพิชัยยุทธในหลายด้าน ตั้งแต่เชิงการรบการทำสงคราม บริหารจัดการ และอื่นๆ อีกมากมาย ในบรรดาบทเรียนอันมหาศาลในเรื่อง มีผู้แยกแยะหลักการที่กองทัพจีนในสมัยสามก๊กต้องมีและถือเป็นแนวปฏิบัติเอาไว้
บทความเรื่อง “ม้ามืด (3)” เขียนโดย “หลวงเมือง” (นามปากกาของนายสำราญ ทรัพย์นิรันดร์) คอลัมนิสต์ในตำนานผู้ล่วงลับ เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน 2559 เนื้อหาส่วนหนึ่งเอ่ยถึงหลัก 7 ข้อที่กองทัพจีนพึงใช้เป็นแนวปฏิบัติเอาไว้ เนื้อหาส่วนหนึ่งในบทความมีดังนี้ (เน้นคำและจัดย่อหน้าใหม่ – กองบก.ออนไลน์)
…หลักที่กองทัพจีนในสมัยสามก๊กถือเป็นแนวปฏิบัติอันจะบกพร่องเสียมิได้ คือ
1.หาผู้มีปัญญาไว้เป็นที่ปรึกษา ทั้งด้านทหารและพลเรือน
2.ผู้มีฝีมือสำหรับเป็นทหารเสือ
3.รู้รักษาเสบียงอาหารและเส้นทางการลำเลียงต่างๆ
4.บำรุงขวัญกำลังพลให้ฮึกเหิมและภักดีด้วยบำเหน็จรางวัล
5.การข่าวและโต้จารกรรม
6.หน่วยสงครามจิตวิทยา คือ แผนกร้องด่าท้าทาย และพักรบ
7.สหโภชน์ คือ แผนกทำอาหารเลี้ยงทหารทุกระดับ
จะเห็นได้ว่าทั้งฝ่ายเล่าปี่ โจโฉ และซุนกวน ต่างมีที่ปรึกษาระดับเซียนเหยียบเมฆทั้งสิ้น และผู้เป็นใหญ่ก็นับถือที่ปรึกษาของพวกเขา ยกเว้นกรณีที่เป็นเรื่องส่วนตัวอย่างยิ่ง ที่ปรึกษาอาจหมดความสำคัญก็ได้ เช่น เมื่อครั้งที่ตั๋งโต๊ะมีอำนาจขนาดผู้สำเร็จราชการของพระเจ้าเหี้ยนเต้ แล้วเสียรู้ขุนนางผู้ใหญ่เรื่องผู้หญิง คือ หลงนางเตียวเสี้ยนซึ่งเป็นแฟนของลิโป้บุตรเลี้ยง
ลิยูบุตรเขยของตั๋งโต๊ะไปเตือนว่า ทหารเสือสำคัญกว่าผู้หญิง คนขนาดตั๋งโต๊ะจะหาอนุภริยาที่สวยขนาดไหนสักกี่สิบคนก็ได้ ควรยกหญิงนั้นให้ลิโป้เสีย เพราะคนเขารักกันมาก่อน ลิยูทู่ซี้เกลี้ยกล่อมตั๋งโต๊ะพ่อตาจนแกโกรธ ตวาดให้ว่า “ถ้าลื้อรักลิโป้นักก็ยกเมียลื้อให้เขาไป” เมียของลิยูคือลูกสาวตั๋งโต๊ะ ใครจะไปกล้า ลิยูลาพ่อตาออกมาหน้าทำเนียบ พบนายทหารคนสนิทหนุ่มๆ มารอรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ลิยูก็พูดพอให้ได้ยินทั่วกันว่า
“เราท่านทั้งนี้จะพากันฉิบหายเพราะอีนางเตียวเสี้ยนคนนี้เป็นมั่นคง”
ส่วนเรื่องการข่าวนั้น ทุกก๊กมีฝ่ายข่าวที่ขีดความสามารถสูงยิ่ง ไม่ว่าฝ่ายเดียวกันหรือฝ่ายตรงข้ามทำอะไร การที่จะไม่รู้หรือรอดหูรอดตาไปได้เป็นไม่มี หน่วยงานที่ท่านผู้อ่านสามก๊กและเกร็ดพงศาวดารจีนได้ผ่านตาเสมอๆ คือถ้าฝ่ายไหนไม่ออกมารบนานๆ ฝ่ายตรงข้ามจะส่งหน่วยร้องด่าท้าทายไปดำเนินการ
เขาก่นด่ากันแหลกทุกภาษาไม่ว่าแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหลำ กวางตุ้ง แคะ เจ้าหน้าที่หน่วยนี้จะต้องชำนาญการด่าอย่างแสบไส้ที่สุด ขนาดกวนอูป่วยอยู่ยังต้องออกไปรบ
ส่วนอีกหน่วยหนึ่งซึ่งเป็นแผนกจิตวิทยาเช่นกัน แต่เป็นฝ่าย “พักรบ” พวกนี้ไม่เหนื่อยนัก เพียงแต่นำ “เมี้ยนเจี้ยนป้าย” ไปแขวนไว้หน้าประตูค่าย ก็เป็นเข้าใจกันว่า ขอทุเลาการรบชั่วคราว
ขงเบ้งเมื่อใกล้อวสาน สติปัญญาก็คงจะอ่อนด้อยลงบ้าง เช่น เขาเห็นว่าข้าศึกคือฝ่ายสุมาอี้ไม่ออกรบหลายวัน ไม่ทราบว่าสุมาอี้ซึ่งเป็นแม่ทัพที่สำคัญคนหนึ่งซุ่มดำเนินกลศึกอะไรอยู่ จึงนำกางเกงในสตรีบรรจุหีบ พร้อมจดหมายฉบับหนึ่ง สั่งให้พลบริการแบกหีบนั้นไปให้แก่สุมาอี้ที่ค่าย สุมาอี้เปิดหีบเห็นสิ่งของและจดหมายก็เปิดซองออกอ่าน มีข้อความว่า
“สุมาอี้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองลกเอี๋ยง ยกกองทัพออกมาจะทำสงครามด้วยเรา เหตุใดจึงนิ่งอยู่แต่ในค่ายช้านาน มิได้ออกรบพุ่งให้รู้จักฝีมือแลความคิดกันไว้ อันธรรมดาเป็นชายชาติทหารแล้วมิได้ออกมาจากค่ายฉะนี้ ก็เหมือนหนึ่งผ้าซับในกางเกงของหญิงซึ่งเราให้ไปนั้น แลเราทำการมาให้ทั้งนี้ หวังจะให้สุมาอี้อัปยศแก่ทหารทั้งปวง จะได้มีมานะออกรบพุ่งด้วยเรา”
สุมาอี้แม่ทัพข้าศึกแจ้งในหนังสือดังนั้นก็โกรธอยู่ในใจ แต่ทำเป็นหัวเราะแล้วสรรเสริญขงเบ้งว่ามีสติปัญญา สั่งจัดอาหารเลี้ยงทหารผู้นำสารนั้นให้อิ่ม ให้เสื้อผ้า แล้วสุมาอี้ก็ถามทหารผู้นำสารอย่างเป็นกันเองว่า “ทุกวันนี้ขงเบ้งยกมาทำการศึก ยังกินนอนปกติอยู่หรือ ประการหนึ่งให้กำชับตรวจตราทแกล้วทหารพร้อมมูลอยู่หรือประการใด”
ทหารนำสารของขงเบ้งตอบสุมาอี้โดยซื่อว่า “แต่มหาอุปราช (ขงเบ้ง) ยกกองทัพมานี้จะกินอาหารสิ่งของก็น้อย นอนก็ไม่ปกติ ด้วยตรวจตราทหารให้รักษาค่ายเป็นการใหญ่อยู่”
ทหารรายงานต่อไปว่า “สุมาอี้จึงว่า ซึ่งขงเบ้งคิดการศึกดังนี้ก็มีความทุกข์ใหญ่หลวง เห็นอายุขงเบ้งจะสั้นเสียแล้ว เราคิดวิตกอยู่ ถ้าหาขงเบ้งไม่ อันจะทำการสงครามด้วยผู้ใด เห็นจะไม่สู้สนุก”
คำพูดของสุมาอี้แม่ทัพข้าศึก เทพบุตรแห่งสมรภูมิเหมือนฟ้าผ่าลงไปในหัวใจของขงเบ้ง ท่านทั้งสองนี้กระทำสงครามแก่กันเหมือนท่านจอมพล รอมเม็ล ราชสีห์แห่งทะเลทราย กับท่านนายพล มอนต์โกเมอรี่ ซึ่งถือว่าสงครามคือยุทธกีฬา ไม่นึกถึงความตายใดๆ นอกจากชัยชนะเท่านั้น
ขงเบ้งว่าแก่คนสนิทว่า สุมาอี้มีปัญญาล่วงรู้ทุกข์สุขเรา คนสนิทก็ว่าท่านตรากตรำทำงานจนซูบผอมถึงเพียงนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าจะเป็นเหมือนที่สุมาอี้พูด
ขงเบ้งได้ฟังดังนั้นก็ร้องไห้
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2564