ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
วิชาคงกระพันชาตรี ศาสตร์เก่าแก่ที่ชายไทย “สายบู๊” นิยมเรียนกัน
เมื่อพูดถึง “วิชาคงกระพันชาตรี” ภาพแรกที่นึกถึงก็คือ ผู้ที่ร่ำเรียนจะฟันแทงไม่เข้า หากแท้จริงแล้ววิชานี้มิได้มีเนื้อหาจำกัดเพียงเท่านั้น ทั้งยังเป็นศาสตร์เก่าแก่ที่ชายไทยสมัยโบราณนิยมเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานสาย “บู๊” ทั้งหลาย
วิชาคงกระพันชาตรี มีเนื้อหารายละเอียดใดบ้าง เทพย์ สาริกบุตร เรียบเรียงไว้ใน “คู่มือชายชาตรี” (อ้างอิงตามประคอง นิมมานเหมินท์) พอสรุปได้ดังนี้
วิชาคงกระพันชาตรี เป็นวิชาที่ชายไทยสมัยโบราณนิยมเรียนรู้ เพื่อใช้ในการสู้รบ ประกอบด้วย 5 วิชาด้วยกันคือ วิชาคงกระพัน, วิชาชาตรี, วิชาแคล้วคลาด, วิชามหาอุด และวิชาแต่งคน แต่ละวิชามีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป คือ
วิชาคงกระพัน เป็นวิชาที่ทำให้ร่างกายมีความสามารถทนทานต่อคมอาวุธต่างๆ ผู้เรียนแม้จะถูกแทง, ฟาด, ทุบ, ตี จากอาวุธใดๆ ก็ไม่เป็นอันตรายแก่ร่างกาย (ยกเว้นการแทงสวนทวารหนักจึงจะตาย) วิธีทำให้คงกระพันมีหลายวิธี ได้แก่ เสกของกินหรือของทาตัว, ใช้เครื่องราง, สัก, ฝังเข็ม ฯลฯ
ทว่าแม้จะฟังแทงไม่เข้า แต่ร่างกายก็ได้รับความเจ็บปวดอยู่บ้าง จึงต้องเรียน “วิชาชาตรี” คู่กันไป
วิชาชาตรี ทำให้เมื่อถูกทำร้ายร่างกายจะไม่เจ็บปวด เป็นวิชาที่ทำให้ผู้เรียนตัวเบา สามารถกระโดดขึ้นสูงได้ถึง 3 วา ก็มี, ทำให้ของหนักๆ ที่จะมากระทบตัวเบาลง ใครฟาดลงมาด้วยแรงเต็มกำลังก็กลายเป็นเพียงแค่การสะกิดเบาๆ วิชาชาตรีใช้การบริกรรมคาถาแล้วเอามือทั้งสองลูบไปตามตัว
แต่วิชาชาตรีก็มีจุดอ่อนที่เป็นอันตรายของผู้เรียนคือ ของเบา ที่จะกลายเป็นของหนัก
วิชาแคล้วคลาด มีคุณเหนือกว่า 2 วิชาข้างต้น ผู้มีวิชาแคล้วคลาด ถ้ามีใครมุ่งร้ายคิดทำอันตรายก็เป็นอันให้หลีกเลี่ยงไป ทำให้ไม่เจ็บตัว ถึงจะเป็นการต่อสู้หรือทำร้ายซึ่งหน้าใดๆ ก็จะสามารถพลิกแพลงรอดตัวไปได้ วิชาแคล้วคลาดมีหลายวิธี เช่น ทำเครื่องรางพกติดตัว, ใช้คาถาภาวนา ซึ่งเป็นที่นิยมมาก ฯลฯ
วิชาจังงัง ที่ใช้แปลงกายให้คนจำไม่ได้ และวิชาพรหมสี่หน้า ที่ทำให้มองดูเสมือนมีหลายหน้า ที่นักมวยนิยมใช้ทำให้อีกฝ่ายชกไม่ถูก ก็จัดอยู่ในวิชาแคล้วคลาด
วิชามหาอุด ใช้วิธีบริกรรมคาถา เป็นวิชาที่ใช้เฉพาะเจาะจงกับอาวุธบางประเภท เช่น ปืน, หน้าไม้, ลูกดอก ฯลฯ เมื่อว่าคาถาแล้ว อาวุธดังกล่าวเหมือนถูกอุดหรือปิดให้ใช้งานไม่ได้ ทั้งยังมีผลให้ผู้ยิงมีอันเป็นไป
วิชาแต่งคน มีผลการคุ้มครองทั้งตนเองและผู้อื่น บรรดาแม่ทัพนายกองในอดีตส่วนใหญ่จึงเรียนรู้วิชานี้ วิชาแต่งคนมักใช้คาถาเสกน้ำมัน, หมากพลู, ปูน ฯลฯ แล้วให้ไพร่พลใช้ของที่เสกเพื่อคุ้มครองตนเอง
เทพย์เคยเล่าไว้ว่า เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เป็นแม่ทัพไปปราบเจ้าอนุเวียงจันทน์ และคราวเป็นแม่ทัพไปช่วยเขมรปราบญวน ได้ใช้วิชาแต่งคนด้วยการให้ไพร่พลทาน้ำมันงาเสก เพื่อคุ้มครองกำลังของกองทัพ
อ่านเพิ่มเติม :
- “เทพย์ สาริกบุตร” นักโหราศาสตร์ชั้นครู ผู้เคยให้ฤกษ์คณะรัฐประหารจนต้องหนีบวช
- หุ่นพยนต์ แห่ง ขุนช้างขุนแผน ศาสตร์ไม้เด็ดเปลี่ยนหุ่นหญ้าเป็นกองทัพ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ประคอง นิมมานเหมินท์. “คงกระพันชาตรี” ใน, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม 2, มูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤษภาคม 2567