10 พ.ค. 2404 : วันประสูติสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรีฯ ราชเลขานุการิณีในรัชกาลที่ 5

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี ทรงถ่ายภาพ ร่วมกับ พระราชโอรส พระราชธิดา พระราชนัดดา
สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี (ประทับพระเก้าอี้อุ้มเด็ก) ซ้ายสุดคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ถัดมาคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ซึ่งเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาสองพระองค์

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ประสูติเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2404 ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี และทรงเป็นพระภรรยาเจ้า ตำแหน่งพระราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

พระราชโอรสและพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ที่ประสูติแต่สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรีฯ มี 2 พระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้นราชสกุลบริพัตร

Advertisement

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรีฯ ทรงเป็นเอตทัคคะด้านอักษรศาสตร์ของราชสำนักฝ่ายใน ทรงรับราชการเป็นราชเลขานุการิณีส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 5 หรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “ไปรเวตสิเกรตารี” ทรงมีหน้าที่คัดพระกระแสรับสั่งราชการเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

เหตุที่ทรงรับราชการเป็นราชเลขานุการิณีส่วนพระองค์ เนื่องจากทรงได้รับการศึกษามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ มีความรู้ความสามารถแตกฉานในด้านต่าง ๆ เพราะทรงสนพระทัยศึกษาวิชาหนังสืออย่างจริงจัง ทำให้ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากรัชกาลที่ 5 ให้ถวายงานรับใช้อย่างใกล้ชิด และสามารถสนองพระราชานุกิจพระบรมราชสวามีได้อย่างดีเยี่ยม

โดยสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรีฯ ทรงปฏิบัติหน้าที่วันละ 2 เวลาเป็นปกติ คือบ่าย 4 โมง รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นพระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์ ทอดพระเนตรหนังสือราชการแผ่นดินที่ยังค้าง สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรีฯ ทรงพระอักษรถวายตามรับสั่งจนถึงบ่าย 5 โมง และอีกเวลาหนึ่งคือ หลังจากรัชกาลที่ 5 เสวยพระกระยาหารเวลา 23 นาฬิกา เสด็จเข้าที่ประทับพระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์ ประทับบนพระยี่ภู่ (ที่นอน) และมีหนังสือราชการแผ่นดินวางด้านข้าง สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรีฯ ทรงหมอบเขียนหนังสือตามรับสั่ง บางครั้งถึงรุ่งเช้าก็มี

ภาพถ่าย สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี เจ้าคุณจอมมารดาสำลี
จากซ้าย: สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร (ขานพระนามว่า ทูลกระหม่อมหญิง), พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี, เจ้าคุณจอมมารดาสำลี และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

ครั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ พระโอรส ทรงศึกษาที่วิทยาลัยเสนาธิการ ประเทศเยอรมนี สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรีฯ มีหนังสือถึงพระโอรสอยู่สม่ำเสมอ ทรงกวดขัดและเข้มงวดให้พระราชโอรสขยันหมั่นเพียรตั้งใจศึกษาให้สมดั่งพระราชประสงค์ของพระราชบิดาที่จะให้พระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้าสเร็จการศึกษาด้านทหารโดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังทรงเตือนมิให้ทอดทิ้งภาษาไทยและใส่ใจการเขียนภาษาไทยให้ถูกต้อง ดังความตอนหนึ่งในลายพระหัตถ์ว่า “…ลูกเขียน ‘สิญจน์ห้าสิญจน์แปด’ ดังนี้ ผิด อย่างนี้เรียกด้ายสายสิญจน์ เขาใช้ ‘ศีล’ อย่างนี้”

ภายหลังเมื่อรัชกาลที่ 5 สวรรคต และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรีฯ มีพระชนมายุมากขึ้นแล้วจึงกราบถวายบังคมลาเสด็จมาประทับที่วังบางขุนพรหม ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาอยู่เสมอจึงทรงอนุบาลพระนัดดาและให้การศึกษาอย่างเข้มงวด โดยทรงจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในวังที่คนทั่วไปเรียกขานว่า “บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้”

หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล ทรงเล่าถึงการเรียนการสอนในวังบางขุนพรหมว่า “…ในการเรียนใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด ไม่เคยแปลเปนไทยแลนักเรียนก็ไม่พูดไทยกับครูเลย ส่วนวิชาที่เรียนไม่เฉพาะแต่ภาษาอังกฤษเท่านั้น ต้องเรียนเลข ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ แลท่องโคลงกลอน เหมือนนักเรียนชั้นมัธยมของเราเมื่อครั้งกระโน้นเว้นแต่เรียนเปนภาษาอังกฤษ หนังสือเรียนทั้งหมดครูสั่งมาจากเมืองนอก ตลอดจนหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์แลรายเดือนสำหรับเด็กอ่าน เมื่อแรกเรียนงงๆ ไปบ้าง แต่เมื่อฟังครูพูดแต่ภาษาอังกฤษกรอกหูอยู่ทุกวัน ในที่สุดก็พูดกันรู้เรื่อง…”

พระนัดดาในสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรีฯ 5 พระองค์คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธวงษวิจิตร, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิสิฐสบสมัย, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจันทรกานตมณี ทรงสำเร็จการศึกษาจาก “บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้” จึงทรงเป็นเจ้านายสตรีที่มีความรู้รอบด้าน ฉลาด มีไหวพริบดี และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งทรงเชิญไปสนทนาด้วยเสมอ ๆ ที่พระที่นั่งบรมพิมาน เพราะสามารถสนองพระราชกระแสและโต้แย้งด้วยเหตุผล คารมคมคายทันท่วงที ชนิดที่เรียกว่า “ทันกัน”

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรีฯ ทรงสนพระทัยการศึกษาส่วนพระองค์มาตั้งแต่พระเยาว์ เมื่อเจริญพระชนมายุมีพระโอรส พระธิดา พระนัดดา ก็ทรงให้ความสำคัญกับเชื้อพระวงศ์มาโดยตลอด รวมไปถึงข้าราชสำนักในตำหนักก็ทรงสนับสนุนให้เหล่าข้าหลวงนางในได้รับการศึกษามีความรู้รอบตัวเพื่อนำความรู้นั้นประดับตัวไว้เป็น “เครื่องมือ” เมื่อออกเรือนไปแล้ว

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรีฯ สิ้นพระชนม์ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 สิริรวมพระชนมายุ 66 พรรษา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2562