กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับข่าวลือว่าทรงเป็น “เจ้านาย” ที่ร่ำรวย

สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับข่าวลือว่าทรงเป็น “เจ้านาย” ที่ร่ำรวย

“…เพราะผู้ที่เกลียดชังได้พากันเสแสร้งส่งข่าวลือว่าฉันมีเงินมากมายเกินความจริงไปตั้งหลายร้อยเท่า จนผู้ที่ไม่รู้ความจริงหรือไม่มี วิจารณญาณหลงเชื่อกันไปได้…”

เป็นข้อความที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงปรารภถึงข่าวลือที่ว่า ทรงเป็นเจ้านายที่ร่ำรวย ซึ่งคณะราษฎรถือเป็นข้ออ้างข้อหนึ่งที่ว่า เจ้าเอาเปรียบสามัญชนจนร่ำรวย เพื่อเป็นสาเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

ความร่ำรวยของเจ้านายเป็นเรื่องที่คนภายนอกให้ความสนใจใคร่รู้ เพราะแตกต่างอย่างชัดเจนกับคนธรรมดาทั่วไป ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของบ้านเมือง นับแต่มีวังที่ประทับใหญ่โตสวยงาม มีเครื่องอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย ราคาแพง มีผู้คนคอยรับใช้ไม่ต้องทำงานบ้าน แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์สวยงาม เครื่องประดับมีค่า อาหารการกินอุดมสมบูรณ์

แต่คนไทยสมัยโบราณมีความเชื่อว่า ความแตกต่างกันของมนุษย์เกิดจากบุญทำกรรมแต่ง ผู้ที่ทำบุญมาดีในอดีตชาติก็จะเกิดมามีบุญวาสนาสุขสบายในชาตินี้…

…หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงทรงกล่าวไว้ว่า “…สมาชิกของสมาคมชั้นสูงจักต้องมีทั้งทรัพย์และมีทั้งเชื้อตระกูลสูง จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสองสิ่งนี้ไม่ได้…”

แต่เพราะทรงระวังเรื่องการเสื่อมเสียพระเกียรติยศ จึงไม่ทรงสามารถประกอบอาชีพอื่นเพื่อหารายได้ด้วยพระองค์เอง ต้องมีผู้ทำแทน การหารายได้ส่วนใหญ่นิยมใช้ทรัพย์ที่ได้รับพระราชทานมาแต่เดิมมาหาผลประโยชน์เพิ่มเติม เช่น ให้ที่ดินเช่าทำนา ออกเงินให้กู้เก็บดอกเบี้ย บางพระองค์ลงทุนสร้างโรงสี ตึกแถวให้เช่า

ผู้ที่หาผลประโยชน์ด้วยวิธีดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นพระราชวงศ์ฝ่ายใน เจ้านายฝ่ายหน้าส่วนใหญ่ไม่ใคร่มีเวลา เพราะจะต้องทรงมุ่งมั่นกับการปฏิบัติราชการ ซึ่งราชการทั้งหมดเป็นไปตามพระบรมราโชบาย พระราชประสงค์ และพระราชอัธยาศัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้านายแต่ละพระองค์มิอาจทรงกำหนดได้เองตามพระทัย

ในส่วนเจ้านายเองก็มีพระสำนึกตลอดเวลาว่าการปฏิบัติราชการของพระองค์เป็นหน้าที่ ผลที่ทรงได้รับตอบแทนจากพระปรีชาสามารถคือการได้เฉลิมพระอิสริยยศตามลําดับซึ่งเป็นเครื่องบำรุงฐานะทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เจ้านาย พระองค์ใดได้ทรงเลื่อนกรมหรือได้เฉลิมพระยศ แม้จะได้รับพระราชทานเงินทั้งรายเดือนและรายปีเพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายอันเนื่องมาจากการต้องรักษาพระเกียรติยศย่อมจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้เจ้านายฝ่ายหน้าบางพระองค์มีพระดำริลงทุนในธุรกิจด้วยพระองค์เอง เพื่อหารายได้เพิ่มเติม

แต่ส่วนใหญ่มักประสบกับความล้มเหลวอันเนื่องมาแต่ทรงขาดทั้งความรู้และประสบการณ์ ไม่เข้าใจวิธีการลงทุน ไม่มีความชำนาญในกิจการที่ทำ ไว้ใจให้ผู้อื่นดูแลหรือทำแทน ทำให้เกิดการรั่วไหลในส่วนการออกเงินให้กู้หรือให้เช่า หากได้คนไม่ดีเป็นผู้ทำแทนพระองค์ก็มักไม่ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย

กรมพระนครสวรรค์ฯ เป็นเจ้านายอีกพระองค์หนึ่งที่มีพระบารมีมากล้น เพราะมีพระปรีชาสามารถเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระเจ้าแผ่นดิน ทั้ง 3 รัชสมัย คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณในหน่วยงานสำคัญหลายหน่วยงาน ทำให้ทรงรอบรู้สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้เป็นผลสำเร็จ จนเป็นที่นับถือในพระปรีชาสามารถ เลื่อมใสศรัทธาในพระจริยวัตร

ยิ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงเป็นเสมือนเสาหลักของการบริหารบ้านเมือง ทรงได้รับความไว้วางพระทัยให้บริหารงานหน่วยงานสำคัญ ๆ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และยังทรงเป็นประธานสภาอภิรัฐมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ในการสั่งราชการงานแผ่นดิน เป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร

ครั้งเสด็จพระราชดำเนินเพื่อรักษาพระเนตร ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และยังมีงานด้านพลเรือนที่ต้องทรงรับผิดชอบ เช่น ทรงเป็นอุปนายกสภากาชาด งานในหน้าที่ทั้งทางทหาร พลเรือนมากมาย จนทรงไม่มีเวลาแม้แต่จะทรงคิดทำงานส่วนพระองค์ หรือแม้แต่จะทรงเอาพระทัยใส่ในพระพลานามัย

ดังที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยทรงเล่าไว้ว่า “ในตอนหลังนี้เกือบไม่มีเวลาจะได้ทรงพักผ่อนเลย เพราะนอกจากทรงเป็นเสนาบดีมหาดไทย ซึ่งต้องมีงานหนักประจำอยู่เสมอแล้ว ยังทรงละทิ้งทางสภานายกของกาชาดสยามไม่ได้ ทั้งต้องประทับเป็นประธานในที่ประชุมแทบทุกชนิด… การเจ็บการตายของใครๆ ก็ต้องทรงดูแลเอื้อเฟื้อ…”

และในตำแหน่งประธานสภาอภิรัฐมนตรีนี้เอง ที่ทำให้ต้องทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณ ซึ่งจ่ายขาดดุลมาแต่รัชกาลก่อน เป็นเหตุให้ทรงถูกเพ่งเล็งว่าทรงร่ำรวยมีเงินมากมาย ดังที่หม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม พระชายาทรงบันทึกไว้ว่า “…ตั้งแต่เข้าไปเป็นกรรมการการคลัง ก็เลยถูกลือว่ามั่งมี มีเงินตั้ง 100 ล้าน ต่อมาก็เพิ่มขึ้นเป็น 200 ล้าน ไม่ทราบว่าเอาเงินมาจากไหนจึงมีมากมายถึงเพียงนี้…”

ทั้งนี้เพราะหม่อมเจ้าหญิงประสงค์สมทรงทราบถึงรายรับรายจ่ายภายในวังเป็นอย่างดี ภายในวังซึ่ง ประกอบด้วยพระตำหนักใหญ่ พระตำหนักสมเด็จที่ประทับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และผู้คนที่อยู่ในวังอีกเกือบ 500 คน ก็ทำให้รายจ่ายภายในวังแต่ละเดือนละปีเป็นจำนวนมากกว่าเงินเดือนและเงินปี ดังที่นายนราภิบาล (ศิลป เทศะแพทย์) เลขานุการของพระองค์เล่าไว้ว่า

“…เงินเดือนท่านเดือนละ 4,000 บาท เลี้ยงคนทั้งวัง เกือบ 500 คน แขกไปใครมาท่านก็ทรงเลี้ยง ท่านไม่เคยเบิกเงินหลวงสักทีท่านจะรวยได้อย่างไร…”

รายรับและรายจ่ายในวังแต่ละวังมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ผู้คนภายนอกไม่อาจที่จะรู้ถึงความเป็นไปที่แท้จริงของเจ้านาย จึงเชื่อแต่ข่าวลือดังที่ทรงปรารภว่า “…ข่าวลือว่าฉันมีเงินมากมายเกินความจริงไปตั้งหลายร้อยเท่า จนผู้ที่ไม่รู้ความจริงหรือไม่มีวิจารณญาณหลงเชื่อกันไปได้…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจาก “กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับข่าวลือว่าทรงเป็นเจ้านายที่ร่ำรวย” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2556 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2566