เผยแพร่ |
---|
สมเด็จ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ “เจ้าฟ้าปัญญาดี” ความหวังของรัชกาลที่ 5
“…ความหวังใจอยู่ในลูก ว่าจะมาช่วยแบกหามความลำบากของพ่อ เมื่อเวลาแก่และโทรมลงพอให้เปนที่เบาใจบ้าง เปนความจริงพ่อรู้สึกความชรามาถึงบ้างแล้ว จึงทำให้มีความวิตกวิจารณ์ในการภายน่ามาก…”
เป็นข้อความหนึ่งในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่โปรดพระราชทาน จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสขณะกำลังทรงศึกษาวิชาการทหารอยู่ในประเทศเยอรมนี
ข้อความตอนนี้แสดงถึงความหวังของพระองค์ที่ทรงมีต่อพระราชโอรสพระองค์นี้ในการที่จะทรงสำเร็จการศึกษาเสด็จกลับมาช่วยแบ่งเบาพระราชภาระ และความหวังของพระองค์ก็ทรงได้รับการตอบสนองจากพระราชโอรสพระองค์นี้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเรื่องราชการบ้านเมือง หรือเรื่องส่วนพระองค์ ก็โปรดพระราชทานความไว้วางพระราชหฤทัยมอบหมายให้พระราชโอรสพระองค์นี้ ทรงรับปฏิบัติและทำทุกสิ่งที่มีพระราชประสงค์ก็สำเร็จสมดังพระราชหฤทัยทุกประการ ดังปรากฏหลักฐานในพระราชหัตถเลขาหลายฉบับที่ทรงมีถึงพระราชโอรสในโอกาสต่างๆ ตลอดรัชสมัย
สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิตุฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เป็นพระราชโอรสซึ่งมีคุณสมบัติดีเด่นในทุกด้าน คือ ทั้งมีพระปรีชาสามารถด้านการศึกษา และพระจริยวัตรปฏิบัติพระองค์งดงาม ซึ่งมาจากหลายปัจจัย
ปัจจัยสำคัญคือการที่มีพระราชชนนีที่ทรงสนพระทัยและมีความรู้ด้านหนังสือจนโปรดให้ทรงดำรงตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์ หรือที่เรียกันในสมัยนั้นว่า “ไปรเวตสิเกรตารี” ทำให้มีโอกาสใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ทรงทราบถึงพระราชอัธยาศัย สถานการณ์บ้านเมือง ตลอดจนพระบรมราโชบาย และพระราชวิเทโศบาย ทรงนำสิ่งที่ทรงทราบมาใช้เป็นแนวทางในการอบรมสั่งสอน แนะนำ ทั้งเรื่องการศึกษา การวางพระองค์ และการปฏิบัติพระองค์ จนพระราชโอรสพระองค์นี้ประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้าน
โดยเฉพาะด้านการศึกษา ทรงเป็นทั้งเจ้าฟ้าปัญญาดี และทรงมีทั้งพระวิริยะอุตสาหะจนได้รับคำชมเชยเสมอๆ ดังเช่น ขณะทรงศึกษาพื้นฐานภาษาเยอรมันขณะประทับอยู่ที่อังกฤษ เจ้าพระยาพระเสร็จสุเรนทราธิบดี พระอภิบาลได้ถวายรายงานว่า ทรงเรียนภาษาเยอรมันที่อังกฤษเพียงเดือนเศษก็เกือบจะรับสั่งโต้ตอบได้ จนอาจารย์ชาวเยอรมันออกปากชมว่า “…ไม่เคยเห็นและไม่เคยสอนเด็กใดที่เรียนรู้ได้เร็วดังนี้เลย…” และเมื่อเสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารที่ประเทศเยอรมนี ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยก็ชมว่า “…ทูลกระหม่อมชายทรงเล่าเรียนดีและรวดเร็วเฉียบแหลมเกินที่จะเปรียบทียบกับเด็กเยอรมันมาก…”
เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาก็ยังได้รับคำชมเชยจากพระจักรพรรดิไกเซอร์ดังปรากฏเรื่องนี้ในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงพระราชโอรสพระองค์นี้ว่า “…ด้วยพ่อมีความยินดีนักในการที่เจ้าไล่วิชาได้คำสรรเสริญของเอมเปรอในครั้งนี้ นับว่าเปนทุนวิเศษสำหรับตัวสืบไปภายน่า..” และในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานสมเด็จพระปิจุฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี ความว่า “…เกือบจะรับประกันได้ว่าลูกเราคนนี้ไม่เสียคนเลยเปนอันขาด หลักแหลมมั่นคงมาก ควรจะดีใจได้เปนแท้..”
พระราชดำรัสนี้แสดงให้เห็นถึงความคาดหวังและมั่นพระราชหฤทัยในความสำเร็จของพระราชโอรสพระองค์นี้ คือ “…แต่เจ้าพึงรู้เถิดว่าพ่อเชื่อในความฉลาดของเจ้ามาก แลเชื่อความรักความนับถือพ่อ ซึ่งได้สังเกตเห็นว่ามีในตัวเจ้ามาก ความไม่พอใจอย่างใด พ่อจึงไม่ได้ปิดบังส้อนเร้นเจ้า…”
และยังปรากฏหลักฐานในพระราชหัตถเลขาหลายฉบับที่แสดงถึงความวางพระราชหฤทัย ทรงปรึกษาและบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ อย่างไม่ปิดบังซ่อนเร้น โดยเฉพาะเรื่องพระสุขภาพพลานามัยซึ่งมิได้เปิดเผยมากนัก ก็ทรงเล่าให้พระราชโอรสพระองค์นี้ให้ทรงทราบ เช่น ก่อนที่จะเสด็จฯ ไปรักษาพระองค์ที่ยุโรป พ.ศ. 2450 ทรงเล่าว่า “…สังเกตดูมันเพลียใช้ไม่ได้ครึ่งตัว ก่อนเวลาจะตายจึงรีบจดหมายในเวลากำลังรู้สึกเช่นนี้ ให้เปลี่ยนอิริยาบท อาการกลายไปแล้วนึกบอกไม่ถูก…” และ “…ที่จริงพ่อกำลังนี้ไม่สบายในการที่เจ็บยอดอกแต่ก่อน เดี๋ยวนี้ย้ายสถานมันเปนข้างซ้าย เดี๋ยวนี้ก็กลายเป็นข้างขวา เสียวปราดๆ อยู่เสมอ แต่สาเหตุนั้นจะเปนด้วยเลือดฝาดอไรไม่บริบูรณ์ อย่างไรก็ตาม เกี่ยวด้วยท้องผูกเหลือเกินนั้นอย่างหนึ่งเปนแน่…”
และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระอาการประชวรและฟื้นฟูพระพลานามัยในทวีปยุโรป ครั้งนั้นก็โปรดไว้วางพระราชหฤทัยให้พระราชโอรสพระองค์นี้ เป็นผู้ควบคุมบัญชาการอำนวยการเสด็จฯ ครั้งนี้ ซึ่งก็ทรงรับสนองพระเดชพระคุณพระราชภารกิจที่ทรงมอบหมายจนสำเร็จเรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัย
ในส่วนการบริหารบ้านเมือง พระราชโอรสพระองค์นี้ทรงได้รับความเชื่อมั่นในพระปรีชาสามารถไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ตามลำดับคือ เป็นเสนาธิการทหารบก ตามที่ได้ทรงศึกษามา
ข้อมูลจาก
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. “สมเด็จพระเจ้าฟ้าบริพัตร ‘เจ้าฟ้าปัญญาดี’ ความหวังของพระบรมชนกนาถ, ศิลปวัฒนธรรม มิถุนายน 2557
ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 29 มีนาคม พ.ศ. 2562