รัชกาลที่ 5 ปลอมพระองค์เสด็จประพาสต้น เพื่อทรงทราบสภาพที่แท้จริง แต่ประชาชนจำได้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้น กำแพงเพชร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ประทับนั่งขวาสุด) ขณะเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 พ.ศ. 2449 ที่เมืองกำแพงเพชร

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงปลอมพระองค์ เสด็จประพาสต้น เพื่อทรงทราบสภาพที่แท้จริง แต่มิวายถูกประชาชนจำได้

“—เที่ยวไล่ตามสุ่มเอาตัวที่รู้จักด้วยรูปแหละเป็นที่ตั้ง เพราะรูปนั้นกันได้สารพัด ผีก็ไม่หลอก ไข้เจ็บก็รักษาได้ เสมาก็แช่กินน้ำหายเจ็บ—“

เป็นวาทะตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระยายมราชลงวันที่ 21 ตุลาคม ร.ศ. 127 ทรงเล่าถึงการเสด็จประพาสต้น ซึ่งเป็นการเสด็จเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถส่วนพระองค์ ไม่โปรดให้้จัดการรับเสด็จอย่างเป็นทางการ

การเสด็จที่เรียกว่าประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มี 2 ครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. 2447 ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2449

การเสด็จครั้งแรกนั้นนับเป็นการเสด็จที่ทรงสนุกและสำราญพระราชหฤทัยอย่างที่สุด เพราะเป็นไปตามพระราชประสงค์ทุกประการ ทรงสามารถประทับปะปนไปกับราษฎรโดยที่ราษฎรไม่รู้ตัว ทำให้ทรงทราบถึงชีวิตความเป็นอยู่และทุกข์สุขที่แท้จริงของราษฎร ไม่มีการจัดฉากหรือเสแสร้ง ราษฎรไม่ต้องระมัดระวังตัวกลัวเกรงพระบารมีจนไม่กล้าแสดงความจริงใจออกมา

อย่างเช่นเหตุการณ์ที่เล่าสืบกันมาด้วยความชื่นชมพระจริยวัตรที่ทรงแสดงออก กรณีนายช้าง บ้านบางหลวงอ้ายเอียง เขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้ถวายการต้อนรับพระองค์โดยเข้าใจว่าเป็นขุนนางคนหนึ่ง เรื่องนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นว่า

“—ดูท่าทางนายช้าง เห็นจะรู้จักผู้ลากมากดี กว้างขวาง พอเห็นพวกเราก็ไม่ต้องไต่ถามว่าใครเป็นใคร เข้าใจเอาทีเดียวว่าเราเป็นพวกขุนนางที่ตามเสด็จมาข้างหลัง บอกว่าเสด็จไปเมื่อสักครู่นี้เอง เชิญให้พวกเราเข้าไปนั่งบนแคร่ในโรงยาว หาน้ำร้อนน้ำชามาตั้ง แล้วเข้าไปนั่งเคียงบ่าเคียงไหล่สนทนากับพระเจ้าอยู่หัว มิได้มีความรู้สึกและสงสัย—-“

ในการเสด็จประพาสต้นทั้ง 2 ครั้ง ทำให้ทรงตระหนักพระทัยว่า ความจงรักภักดีของราษฎรนั้นส่วนใหญ่แสดงออกในรูปของการเคารพบูชาอย่างเห็นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งนี้เกิดจากการที่ราษฎรยังคงฝังแน่นกับความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ จึงพากันกราบไหว้บูชาแบบเดียวกับที่ปฏิบัติกับเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่ออธิษฐานขอในสิ่งที่ปรารถนา ดังที่ทรงเล่าไว้ในลายพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เรื่องการเสด็จประพาสต้นเมืองสุพรรณ ความว่า

“—ชาวสุพรรณดูนับถือเจ้านายมาก ลักษณะอาการกิริยาที่ไหว้กราบออกจะใกล้ข้างพระมากกว่าเจ้า มิอธิษฐานขอพรเชิงบน ๆ ต่อไป—“

และทรงเล่าเกี่ยวกับความเชื่อที่ราษฎรมีต่อเสมาที่โปรดพระราชทานให้ว่า

“—เสมานั้นเป็นเครื่องคุ้มกันอันตรายดีอย่างยิ่ง เพราะเวลาท่านประทาน ท่านให้พร หลานได้มาครั้งนั้น 2 คน เดี๋ยวนี้ต้องแบ่งไปให้หลานบ้านอื่นเสียอัน 1 เพราะขี้โรค ที่อยู่บ้านเดี๋ยวนี้ต้องผลัดกันผูก ท่านแจกก็มากจะหาซื้อสักอันหนึ่งไม่ได้เลย ไม่มีใครเขาขาย—“

การเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 ประชาชนพยายามสืบทราบเพื่อจะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าใกล้ชิด และครั้งนี้ประชาชนพากันระมัดระวังไม่ยอมกราบไหว้ผิดตัวเหมือนครั้งแรก การเสด็จประพาสต้นครั้งต่อมาจึงไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ ด้วยเหตุนี้จึงต้องทรงเลิก เสด็จประพาสต้น ดังที่ทรงบอกเล่าถึงความรู้สึกของพระองค์ที่มีต่อราษฎร ความว่า

“—เที่ยวไล่ตามสุ่มเอาตัวที่รู้จักด้วยรูปแหละเป็นที่ตั้ง เพราะรูปนั้นกันได้สารพัด ผีก็ไม่หลอก ไข้เจ็บก็รักษาได้ เสมาก็แช่กินน้ำหายเจ็บดูรู้จักทุกคนไม่มีใครจะเงอะงะเสียเลย จนต้องตกลงเลิกประพาสต้น เพราะดูก็น่าสงสาร เที่ยวไล่ตามหาทุกหนทุกแห่ง เสมาไม่พอถึงไหนก็หมดที่นั่น ซื้อขายกันราคาแพงมาก—“

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “รัชกาลที่ 5 ปลอมพระองค์เสด็จประพาสต้นแต่-คนจำได้ เพราะพระบรมรูป” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2546


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ตุลาคม 2561