“ณ อยุธยา” คำสร้อยท้ายราชสกุล ใช้อย่างไร ทำไมบางคนมี บางคนไม่มี?

สุภาพบุรุษจุฑาเทพ หม่อมราชวงศ์ ราชสกุล
สุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ภาพ : Facebook คุณชายรณพีร์ สุภาพบุรุษจุฑาเทพ)

“ณ อยุธยา” ใช้อย่างไร… “ณ อยุธยา” เป็นคำต่อท้าย นามสกุล สำหรับผู้ที่สืบทอดเชื้อสายของเหล่าเจ้านาย เห็นได้มากมาย ไม่ว่าจะในชีวิตจริง เช่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา, จุฑาธุช ณ อยุธยา, อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นต้น

หรือในละครพีเรียดทั้งหลายก็ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อย ๆ อย่างละครสายพีเรียดที่ได้รับความนิยมเสมอมาอย่าง “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ” ที่ปัจจุบันมีภาคต่ออย่าง “ดวงใจเทวพรหม” ก็ปรากฏนามสกุลฝั่งสะใภ้ เช่น กรองแก้ว จุฑาเทพ ณ อยุธยา ให้เราเห็นกัน

การเห็น “ณ อยุธยา” คงเป็นที่คุ้นตาใครหลายคนจากตัวอย่างที่ยกมาแล้ว แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าแท้จริงแล้ว “ณ อยุธยา” ใช้อย่างไร ทำไมเชื้อเจ้าบางคนก็มีห้อยท้าย หรือบางคนก็ไม่มี บทความนี้จะมาอธิบายแบบเข้าใจง่าย ๆ ให้ทุกคนได้ฟัง เอาแบบที่ว่าอ่านครั้งเดียวร้องอ๋อเลย

คำสร้อยท้ายนี้ เกิดขึ้นมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ ประกาศเพิ่มเครื่องหมายนามสกุลสำหรับราชตระกูลขึ้น เนื่องจากในภายภาคหน้า นามสกุล ทั้งหลายน่าจะปะปนกัน ทำให้ไม่อาจทราบได้ว่าสกุลใดเป็นราชสกุล จึงเกิดคำว่า “ณ กรุงเทพ” มาห้อยท้ายราชสกุลต่าง ๆ 

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศแก้เครื่องหมายนามสกุลสำหรับราชสกุล เป็นคำว่า “ณ อยุธยา” แทน เนื่องจาก “กรุงเทพ” ที่ว่า ไม่แน่ชัดว่าเป็นที่ใด เพราะสามารถสื่อความหมายได้ทั้งนามของพระนครศรีอยุธยา อย่าง “กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา” และชื่อกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประจวบกับพระองค์ทรงมีความคิดว่าพระบรมราชวงศ์ต่าง ๆ นี้มีที่มาตั้งแต่สมัยพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี จึงเปลี่ยนเป็นคำว่า “ณ อยุธยา” สร้อยท้ายราชสกุลแทน

แล้ว “ณ อยุธยา” ใช้อย่างไร ? เชื่อว่าหลายคนน่าจะสับสนอยู่ไม่น้อย เพราะบางคนมีเชื้อเจ้าก็ใช้ บางคนก็ไม่ใช้ บางคนไม่มีเชื้อเลยแล้วใช้ได้อย่างไร จะขออธิบายดังนี้…

คนที่มีสกุลยศตั้งแต่พระองค์เจ้าขึ้นไป ทราบกันดีอยู่แล้วว่ายังเป็นเจ้าอยู่ จึงไม่จำเป็นต้องมีนามสกุลต่อท้ายพระนาม แต่คนที่มีสกุลยศ หม่อมเจ้า หรือแม้แต่ หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง (2 ลำดับหลังนี้เป็นสามัญชนแล้ว) ต้องมีนามสกุลต่อท้าย เช่น หม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล, หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช 

แต่จะเห็นว่าไม่มี “ณ อยุธยา” ต่อท้าย เนื่องจากยังมีอิสริยยศบอกอยู่ว่าเป็น หม่อมเจ้า, หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง

ส่วนคำว่า “ณ อยุธยา” จะใช้กับสตรีที่สมรสกับสามีที่มีเชื้อเจ้า ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป โดยสตรีผู้นั้นจะมีคำนำหน้าว่า “หม่อม” เช่น หม่อมคัทริน ณ พิษณุโลก (หม่อมในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ), หม่อมอรพินทร์ ดิศกุล ณ อยุธยา (หม่อมในศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล) เป็นต้น 

รวมทั้งใช้กับสตรีที่สมรสกับสามีที่มีเชื้อเจ้าในระดับหม่อมราชวงศ์, หม่อมหลวง และผู้ที่มีเชื้อเจ้าแต่ไม่มีอิสริยยศ ซึ่งสตรีที่สมรสนี้จะไม่มีคำนำหน้าว่า “หม่อม” และจะมีนามสกุลต่อท้ายว่า ณ อยุธยา 

ขอยกตัวอย่างจากละคร เช่น หม่อมราชวงศ์พุฒิภัทร จุฑาเทพ แต่งงานกับ นางสาวกรองแก้ว บุญมี กรณีนี้ก็จะเปลี่ยนเป็น นางกรองแก้ว จุฑาเทพ ณ อยุธยา เนื่องจากแต่งงานกับเชื้อเจ้า ส่วนเหตุที่หม่อมราชวงศ์พุฒิภัทร ไม่มี ณ อยุธยา ห้อยท้าย เพราะมีอิสริยยศบอกฐานันดรอยู่

ส่วนถ้าเป็นหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง ที่เป็นผู้หญิง จะใช้นามสกุลของตัวเองโดยไม่มีคำห้อยท้าย และนามสกุลจะเปลี่ยนไปตอนสมรส เพราะต้องย้ายไปใช้นามสกุลฝั่งผู้ชายแทน 

ยกเว้นกรณีที่ผู้หญิงตัดสินใจอยากจะใช้นามสกุลเดิม แต่อย่างไรแล้วก็ไม่สามารถสร้อย “ณ อยุธยา” ได้อยู่ดี เนื่องจาก “ณ อยุธยา” จะใช้ต่อท้ายนามสกุลได้แค่ผู้สืบเชื้อสายฝั่งผู้ชายเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

http://legacy.orst.go.th/?knowledges=การใช้สร้อย


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2567