ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“ณ อยุธยา” นามสกุลพระราชทาน และประวัติราชสกุล “กุญชร” แห่ง “วังบ้านหม้อ”
เรื่องชื่อและนามสกุลที่ชาวไทยใช้กันในทุกวันนี้มีพัฒนาการที่น่าสนใจหลายประการ ก่อนหน้านี้เคยกล่าวถึงเรื่องวัฒนธรรม “ชื่อเล่น” มาแล้ว ปมที่น่าสนใจในแง่มุมเกี่ยวกับชื่อ-นามสกุลของชาวไทยที่ยังเหลือให้สำรวจกันนั่นคือเรื่องพัฒนาการของนามสกุล ประเด็นที่น่าค้นหาอย่างยิ่งคือ นามสกุลพระราชทาน ซึ่งทุกวันนี้ยังปรากฏการสืบเชื้อสายต่อกันมาอย่างแพร่หลาย
คงเป็นที่ทราบกันมาเบื้องต้นแล้วว่า สมัยสุโขทัย อยุธยา มาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นสืบเนื่องถึงรัชกาลที่ 5 ชาวไทยยังไม่มีนามสกุล ส่วนชื่อที่ใช้ก็เป็นชื่อง่ายๆ และมักพบเห็นชื่อซ้ำกันได้ทั่วไป อาทิ ทอง ฉิม จัน อ่ำ แสง อิน ไม่เพียงแค่ไทย รัชนี ทรัพย์วิจิตร ผู้เขียนบทความ “นามสกุลพระราชทาน” อธิบายเพิ่มเติมว่า ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างไม่เคยมีนามสกุลใช้แสดงความสัมพันธ์ทางโลหิตมาก่อน มีเพียงนับวงศาคณาญาติเท่านั้น
สิ่งที่พอจะจำแนกตัวบุคคลในสมัยก่อนมีเพียงธรรมเนียมชื่อแยก วินิตา ดิถียนต์ ผู้เขียนบทความ “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า กับ นามสกุลพระราชทาน” อธิบายว่า แยกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ เรียกตามลักษณะของบุคคล เช่น ตาผลหัวล้าน นายจันหนวดเขี้ยว, เรียกตามบริบทพื้นที่-ตำแหน่ง-อาชีพ เช่น นายมากช่างทอง จีนฮงบ้านบาตร และเรียกตามสัมพันธ์ญาติให้รู้ว่าเป็นลูกหลานใคร เช่น เมื่อขุนช้างเฝ้าพระพันวษา ก็กราบทูลว่า “เกล้ากระหม่อมฉานชื่อว่าขุนช้างล้านบ้านรั้วใหญ่ บิดาชื่อว่าขุนศรีวิชัย เทพทองนั้นไซร้เป็นมารดา…”
สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ จะมีสิ่งที่บ่งบอกสถานะบุคคลคือ “สังกัด” ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน สังกัดขุนนาง หรือกงสุล ไปจนถึงที่อยู่อาศัย
ขณะที่พระราชวงศ์ สิ่งที่แสดงสถานะหรือสังกัดนั้น จะแตกต่างตามสกุลยศ อาทิ พระยศสมเด็จเจ้าฟ้าชาย สิ่งที่บ่งบอกสถานะคือ สร้อยพระนามจะออกพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชบิดาแทรกไว้ ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้าหญิง ไม่มีสร้อยพระนามสมเด็จพระราชบิดา
สำหรับพระยศชั้นเจ้าฟ้า ไม่มีสิ่งแสดงถึงสถานะ รัชนี อธิบายว่า เป็นเพราะเจ้านายชั้นสูงทรงทราบกันดีว่าเป็นเชื้อสายในรัชกาลใด
กระทั่งมาถึง พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล สืบเนื่องมาจากทรงมีพระราชดำริว่า ประเทศไทยสมควรมีบัญญัติวิธีจดทะเบียนคนเกิด-ตาย ทำงานสมรส วิธีจดทะเบียนย่อมต้องสืบความสัมพันธ์ไปถึงบิดามารดา จึงทรงพระราชดำริว่าบุคคลจำเป็นต้องมีทั้งชื่อตัวและชื่อสกุล
รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลแก่ผู้สืบสายราชวงศ์จักรีเป็นลำดับ โดยแยกเป็นสายต่างๆ นับตั้งแต่ต้นสาย คือ พระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลก่อนๆ พระโอรสในกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทุกรัชกาล และผู้สืบเชื้อสายจากกรมพระราชวังบวรสถานภิมุขในรัชกาลที่ 1
ในพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456 ยังมีหลักเกณฑ์ห้ามการตั้งนามสกุล อาทิ อย่าให้พ้องพระนาม “พระราชวงษานุวงษ์” (สะกดตามพ.ร.บ.) ต่อมาก็มีประกาศรับพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2458 ประกาศห้ามใช้ศัพท์ที่เป็นพระนามาภิไธย หรือใช้ประกอบศัพท์อื่นตั้งเป็นนามสกุลของตน โดยในประกาศฉบับเดียวกันยังห้ามใช้นามเมืองที่เคยเป็นราชธานีของไทยมาก่อนตั้งเป็นนามสกุล และยกนามเมืองซึ่งห้ามไว้ในท้ายประกาศด้วย เช่น กรุงเทพ อยุธยา บางกอก รัตนโกสินทร์ ลพบุรี พิศณุโลก ฯลฯ
ในช่วงแรกนั้น เมื่อพ.ศ. 2458 โปรดเกล้าฯ ให้ผู้สืบสายแต่ราชสกุลใช้คำว่า ณ กรุงเทพ ต่อท้าย ดังที่บทความ “ก่อนจะใช้ ‘ณ อยุธยา’ เคยมี ‘ณ กรุงเทพฯ’ เป็นสร้อยนามสกุลเจ้านาย“ ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม เคยอธิบายไว้ว่า “แต่แรกนามสกุลเหล่านั้นโปรดให้มีสร้อย คําว่า ‘ณ กรุงเทพฯ’ ต่อท้าย ให้เป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นเชื้อสายของจักรีบรมราชวงศ์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2468 ก็มีประกาศพระราชดําริว่า คําว่า ‘กรุงเทพฯ’ นั้นเป็นคําใช้นำนามนครอันเป็นราชธานี เช่นของพระนครศรีอยุธยาเมื่อเป็นราชธานีก็เรียกว่า ‘กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา’ และ ‘กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์’ ก็เป็นนามของราชธานีในปัจจุบันนี้ คําว่า ‘กรุงเทพฯ’ จึงไม่ชัดแจ้งว่าหมายถึงแห่งใด
พระบรมราชวงศ์นี้เดิมก็เป็นสกุลมหาศาลอันหนึ่งในสมัยพระนครศรีอยุธยาเป็ราชธานี จึงควรใช้นามให้ตรงกับมูลเหตุแห่งพระราชพงศาวดารให้ชัดเจน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามที่เป็นสร้อยคํานั้น เสียใหม่เป็น ‘ณ อยุธยา’“
นอกจากเจ้านายในราชวงศ์จักรี ผู้ที่เข้าข่ายได้รับพระมหากรุณาธิคุณคือ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และผู้น้อยที่ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามสกุลเป็นสวัสดิมงคล หากราษฎรสามัญบางรายต้องการมีนามสกุลและทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามสกุล พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ด้วยเช่นกัน
พระองค์ทรงมีพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการเลือกนามสกุลสำหรับสามัญชนไว้ตอนหนึ่งว่า
“1. นามสกุลสามัญชนไม่ควรจะให้มียาวๆ เทียมนามสกุลพระราชทาน
2. ถ้าสามารถ ควรจะใช้เป็นคำไทยๆ เพื่อมิให้เป็นเลียนนามสกุลที่พระราชทานซึ่งโดยมากเป็นภาษามคธหรือสังสกฤต
3. นามสกุลโดยมากไม่ควรเกินกว่า 3 พยางค์ เช่น อากรณ์ประภา หรือ จันทรบริบูรณ์ ใช้ไม่ได้ทั้ง 2 นาม…” [1]
ลักษณะนามสกุลพระราชทานยังมีนอกเหนือจากเกณฑ์ที่กำหนดไว้ อาทิ นามสกุลที่แยกออกจากต้นตระกูลเดียวกัน กล่าวคือ บุคคลในตระกูลแยกตัวออกมาใช้อีกสกุลหนึ่งก็มีแยกกรณีเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายพระราชวงศ์และฝ่ายขุนนาง ซึ่งมีรายละเอียดหลายประการ
สกุลที่ใช้ “ณ” นำหน้า
ลักษณะนามสกุลพระราชทานอีกประการหนึ่งคือ สกุลที่ใช้ “ณ” นำหน้า กรณีนี้ รัชนี อธิบายว่าแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
1. ใช้สำหรับผู้สืบสายราชตระกูล ดังที่กล่าวแล้วว่าแรกเริ่ม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้สืบสายราชตระกูลใช้ “ณ กรุงเทพ” ต่อท้าย เวลาต่อมา ทรงเปลี่ยนเป็น “ณ อยุธยา” เมื่อพ.ศ. 2468 เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ทรงพระราชดำริว่า พระองค์เจ้าและเจ้าต่างกรมต่างทรงได้รับพระราชทานนามสกุลแล้ว แต่หม่อมเจ้ายังคงใช้นามกรมหรือพระนามพระบิดาต่อท้ายพระนาม สมควรให้หม่อมเจ้าใช้นามสกุลต่อพระนามแทน ไม่จำเป็นต้องใช้สร้อย ณ อยุธยา ต่อท้ายนามสกุล จึงมีพระบรมราชโองการให้หม่อมเจ้าใช้นามสกุลตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2472
สกุลยศ หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง แสดงศักดิ์เป็นราชตระกูลอยู่แล้ว ไม่ต้องใช้เครื่องหมายท้ายนามสกุล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้ “ณ อยุธยา” ต่อท้ายนามสกุล
แต่ในกรณีผู้นับว่าอยู่ในพระราชวงศ์ที่ไม่ได้เป็นหม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง รวมถึงหม่อมห้าม ภรรยาของหม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง บุตรธิดาของหม่อมหลวง ยังต้องใช้ “ณ อยุธยา” ต่อท้ายนามสกุลเช่นเดิม ยกเว้นเพียงบุตรบุญธรรม ไม่ต้องใช้สร้อย “ณ อยุธยา”
2. เป็นนามสกุลพระราชทานลักษณะพิเศษ กรณีบรรพบุรุษเป็นบุคคลมีชื่อเสียงในบริเวณนั้น เคยเป็นเจ้าผู้ครองเมือง หรือเป็นตระกูลข้าราชการ เศรษฐี คหบดี ตั้งถิ่นฐานมานาน มีผู้นิยมนับถือ นามสกุลพระราชทานมีใช้ชื่อเมืองเป็นตัวกำหนด ได้แก่ ณ เชียงใหม่ ณ ลำปาง ณ นครพนม ณ มหาสารคาม ณ ระนอง ณ นคร ฯลฯ
กนกวลี ชูชัยยะ สรุปเรื่องการใช้สร้อยในเว็บไซต์สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ว่า
“ผู้ที่มีสกุลยศตั้งแต่พระองค์เจ้าขึ้นไปไม่ต้องใช้นามสกุลต่อท้ายพระนาม
ส่วนผู้ที่มีสกุลยศหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวงใช้นามสกุลต่อท้ายนาม โดยมิต้องมีสร้อย “ณ อยุธยา”
สำหรับผู้ที่สืบสายจากราชสกุลที่มิได้มีสกุลยศเป็นหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง ให้ใช้สร้อย “ณ อยุธยา” ต่อท้ายนามสกุล
นอกจากนี้ สตรีสามัญซึ่งสมรสกับผู้ที่สืบสายจากราชสกุลทั้งที่มีสกุลยศและไม่มีสกุลยศ ต้องใช้สร้อย “ณ อยุธยา” ต่อท้ายนามสกุลด้วย
อนึ่ง การใช้สร้อย “ณ อยุธยา” ต่อท้ายนามสกุลนั้น ใช้สำหรับผู้ที่สืบเชื้อสายจากราชสกุลฝ่ายบุรุษเท่านั้น ส่วนทายาทของสายราชสกุลที่เป็นสตรีนำนามราชสกุลของตนมาใช้ได้ แต่จะใช้สร้อย “ณ อยุธยา” ไม่ได้.” (จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 4 ฉบับที่ 33 กุมภาพันธ์ 2537)
ทั้งนี้ นามสกุลพระราชทานในแต่ละรัชกาล มีจำนวนมากมาย ในสมัยรัชกาลที่ 6 นามสกุลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน 6,432 สกุล รัชกาลต่อมาได้ทรงปฏิบัติตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานนามสกุลแก่พสกนิกรของพระองค์สืบต่อมา นามสกุลพระราชทานมีปรากฏหลายแวดวง เช่นเดียวกับวงการบันเทิง ในวงการบันเทิงในอดีตมีตั้งแต่
เอื้อ สุนทรสนาน
สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต
ส.อาสนะจินดา
จำรัส สุวคนธ์
ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์
ในยุค 2 ทศวรรษมานี้มีอีกหลายท่าน อาทิ
เนาวรัตน์ ยุกตะนันนท์
อภิรดี ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม
ปาหนัน ณ พัทลุง
นรินทร ณ บางช้าง
ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา
ดวงตา ตุงคะมณี
“วังบ้านหม้อ” ของ พระองค์เจ้ากุญชร
ในปัจจุบันยังมีราชสกุลในวงการบันเทิงหรือกิจกรรมเชิงศิลป์ด้วยดังที่กล่าวยกตัวอย่างข้างต้น หนึ่งในนั้นปรากฏราชสกุลกุญชร ซึ่งมีต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษเทเวศร์ พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ากุญชร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
สกุลนี้เป็นที่รู้จักจากวังบ้านหม้อ หรือวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษเทเวศร์ วังแห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนอัษฎางค์ ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ บริเวณที่ตั้งของวังเป็นย่านอาศัยของชาวมอญซึ่งทำอาชีพค้าขายหม้อดินเผา และกลายเป็นที่มาของชื่อ “ตำบลบ้านหม้อ” เมื่อสร้างวังเจ้านายก็เรียกชื่อวังว่า “วังบ้านหม้อ” ตามชื่อตำบล
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่ากำเนิดของวังบ้านหม้อในพระนิพนธ์ “ตำนานวังเก่า” ว่า วังบ้านหม้อสร้างเมื่อรัชกาลที่ 3 ท้องพระโรงเป็นเครื่องไม้ทั้งหลัง สร้างตามสกุลยศวังเจ้านายชั้นพระองค์เจ้า เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษเทเวศร์ และเจ้าจอมมารดาศิลา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษเทเวศร์ ทรงกำกับกรมอัศวราช (กรมม้า) ภายหลังทรงกำกับกรมคชบาล (ช้าง) อีกตำแหน่งในสมัยรัชกาลที่ 4
เดิมทีนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษเทเวศร์ ไม่ได้ประทับ ณ วังบ้านหม้อ กระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2374 สมัยรัชกาลที่ 3 เกิดเพลิงไหม้วังสนามชัย ไฟไหม้จนถึงตำบลบ้านหม้อ พื้นที่จึงเกิดเป็นที่ว่าง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษเทเวศร์ กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างวังที่ประทับของพระองค์ในบริเวณดังกล่าว โดยเป็นทั้งที่ประทับและสถานที่ทำราชการด้วย ต่อมาจึงรู้จักกันในชื่อ “วังบ้านหม้อ”
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษเทเวศร์ เสด็จประทับที่วังบ้านหม้อ จนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2406 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ พระโอรสก็ประทับที่วังแห่งนี้จนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2423 ต่อมา เจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์ หลาน กุญชร) พระโอรสของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ ปกครองวังบ้านหม้อสืบต่อมา ภายหลังยังมีทายาทราชสกุลกุญชรอาศัยในวังแห่งนี้เรื่อยมา นับเป็นวังเพียงไม่กี่แห่งซึ่งยังคงสภาพความเป็นวังต่อเนื่องจนถึงยุคปัจจุบัน
วังบ้านหม้อในสมัยเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ ปกครองวังและเป็นเจ้ากรมมหรสพหลวง เคยใช้ท้องพระโรงวังเป็นสถานที่ซ้อมละครดึกดำบรรพ์ โขน ละคร ดนตรีไทย ใต้ท้องพระโรงยังมีคุก โดยคาดว่า วังบ้านหม้อมีผู้อาศัยจำนวนมาก อาจเกิดเหตุกระทบกระทั่ง ใต้ถุนจึงจัดทำเป็นคุกเพื่อขังคนโทษ
ในวังยังมีศาลาหน้าท้องพระโรงซึ่งเคยใช้รับเสด็จรัชกาลที่ 5 และแขกบ้านแขกเมืองที่มาชมละครดึกดำบรรพ์ โขน ละคร และดนตรีไทย ที่เจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์จัดถวาย หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินทร์ (กุญชร) บุตรีคนหนึ่งของเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ เคยใช้ศาลาหน้าท้องพระโรงนั่งเขียนหนังสือ ซึ่งเป็นวรรณกรรมอมตะหลายชิ้น อาทิ “หนึ่งในร้อย”
อ่านเพิ่มเติม :
- ความรักคู่ตรงข้ามระหว่าง “เมืองหลวง” และ “ชนบท” ในบทเพลงสุนทราภรณ์
- พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ต้นสกุลสวัสดิวัตน์ กับวีรกรรมในราชสำนักเรื่องรธน.-การเงินเจ้านาย
- ทำไมคนไทยมีชื่อเล่น? รำลึกเจน-นุ่น-โบว์ และไอเดียรัฐ เคยรณรงค์ตั้ง “ชื่อเล่น” เป็นคำไทย
เชิงอรรถ :
[1] กระทรวงมหาดไทย. คำสอนการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย (ฉะเพาะระเบียบของกรมทะเบียน) ว่าด้วยทะเบียนนามสกุล. พระนคร, โรงพิมพ์ลหุโทษ, 2473. หน้า45. อ้างถึงใน “นามสกุลพระราชทาน” โดย รัชนี ทรัพย์วิจิตร. นิตยสารศิลปากร ปีที่ 45, ฉบับที่ 1 (ม.ค – ก.พ 2545).
อ้างอิง :
รัชนี ทรัพย์วิจิตร. “นามสกุลพระราชทาน”. ศิลปากร ปีที่ 45, ฉบับที่ 1 (ม.ค – ก.พ 2545).
วินิตา ดิถียนต์. “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า กับ นามสกุลพระราชทาน”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2531.
บางกอก บอกเล่า (เรื่อง) วัง. สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แก้วเจ้าจอม, 2555.
กนกวลี ชูชัยยะ. “การใช้สร้อย ‘ณ อยุธยา’ ต่อท้ายนามสกุลสำหรับราชสกุล”. จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 4 ฉบับที่ 33 กุมภาพันธ์ 2537. อ้างถึงใน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 9 เมษายน 2563.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 เมษายน 2563