ความรักคู่ตรงข้ามระหว่าง “เมืองหลวง” และ “ชนบท” ในบทเพลงสุนทราภรณ์

วงดนตรี “สุนทราภรณ์” ปีที่ 20 เต็มไปด้วยนักร้องยอดนิยมของประชาชนสมัยนั้น (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2532)

วงดนตรีสุนทราภรณ์ ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงต้นทศวรรษ 2480 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ดนตรีและเพลงไทยเดิม ได้รับอิทธิพลความเป็นสากลแบบตะวันตกมากขึ้นทั้งในด้านจังหวะ เนื้อร้อง ทำนอง และเครื่องดนตรีที่นาประกอบการแสดง เนื่องจากนโยบายการส่งเสริมวัฒนธรรมตะวันตกในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำให้เกิดวัฒนธรรม “ดนตรีไทยสากล” ที่ค่อนข้างแพร่หลายควบคู่กับวัฒนธรรมการลีลาศ รำวง ฯลฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทศวรรษ 2490 บทเพลงสุนทราภรณ์และวงดนตรีสุนทราภรณ์กลายเป็นวงดนตรียอดนิยมของยุคสมัย

บทเพลงสุนทราภรณ์นอกจากจะให้ภาพความรักของชนชั้นกลางที่มีชีวิตอยู่ในเมืองกรุงแล้ว ยังให้ภาพของความรักและวิถีชีวิตของคนชนบทไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะชีวิตของชาวนาชาวไร่ที่ชีวิตยังคงผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตสมถะและการทำเกษตรกรรม ทำให้ภาพลักษณ์ของชนบทในบทเพลงสุนทราภรณ์เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความสุขดังเนื้อเพลง “ชาวทุ่ง” ที่เนื้อความว่า

บ้านนาเรานี้   แสนสุขีดียิ่ง

ผองเรารักและพักพิง   ฝันอิงชีวิตจริงนิจจา

ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ก่อตั้งวงดนตรี “สุนทราภรณ์” (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2532)

ไม่เพียงแต่สร้างภาพลักษณ์ชนบทเป็นสังคมสงบสุขและมีแต่ความสุข ในเพลงเดียวกันนี้ยังให้ภาพลักษณ์ของสังคมเมืองกรุงฯ ในลักษณะคู่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง สังคมเมืองกรุงที่มีลักษณะสังคม “อุตสาหกรรม” ที่เต็มไปด้วยอากาศที่ไม่บริสุทธิ์และเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยแสงสีและพิษภัย

พวกเราทั้งหลาย   มิตรสหายชาวทุ่ง

คร้านคอยพบเห็นกรุง   รู้เพียงกรุงนั้นยุงคลุ้งไป

ฝุ่นกรุงฟุ้งเฟ้อ   สังคมเพ้อเป็นไข้

แสงสีมีพิษภัย   หาลมหายใจไม่มี

อยู่นาประสาเขาเรา   ไร้ของมอมเมาเคล้าคลุกคลี

อยู่เมืองสวรรค์นั้นซี   มีแต่ที่พิกลพิการ

 …………………….. เซ้าซี้ยียวนล้วนหลอกลวง

หลอกไปเมืองโก๋โบ๋กลวง   ชมดาวร่วงหล้าฟ้ากรุง

พวกเราทั้งหลาย   มิตรสหายชาวทุ่ง

คร้านจนคร้ามพานพบกรุง   เพราะกลัวโดนพยุงกลับมา

ชีวิตที่ทำการเกษตรกรรมของชาวชนบทได้ถูกถ่ายทอดมาอย่างชัดเจนในบทเพลง “บ้านนา” ที่แสดงให้เห็นวิถีชีวิตอาหารการกิน และความรักของคนชนบทจากการหยอกเย้าของหนุ่มสาวได้อย่างชัดเจน

ช. จากนากลับมาถึงบ้าน  แม้จะเหน็ดเหนื่อยงาน  เจอะเจ้าก็หาย

ญ. อุ๊ยดูซิหนาช่างไม่เห็นอาย

ช. หอมผิวกายเจ้าดังหอมบัว

ญ. อุ๊ยควายมันยั่ว

ช. น้องอย่ามัวไปอาย

ญ. อย่ามาหมายเพราะควายมันมอง

…………………………………………..

ญ. ท่าทางพี่คงหิวข้าว  น้องแกงถั่วฝักยาวน้ำพริกมะขาม

ช. บ๊ะดีซิน้องต้องกินหลายชาม

ญ. มะเขืองามจิ้มกับหลนปลา

ช. แหมทำเข้าท่ายกเข้ามาไวๆ

ญ. ไม่รอช้ายกมาทันใด

ช. ช่างดีนักรักเพียงดวงใจ

(พร้อม) นั่งร่วมกินกันไป  เช่นประสาชาวนา

ความรักของสังคมชนบทหรือสังคมชาวนานั้น ให้ภาพในเชิงลบแก่ความรักของคนในเมืองกรุง ความรักของคนเมืองกรุง กลายเป็นความรักที่ไม่มีความจริงใจต่อกัน ดังบทตอบโต้ของคู่รักหนุ่มสาวในเนื้อเพลง “บ้านนาราตรี” ที่แสดงให้เห็นความผิดแผกแตกต่างระหว่างความรักของคนชนบทกับความรักของคนเมืองกรุงหรือคนบางกอก

ญ. หวานดังว่าวิมานท้องนาป่าไพร

ช. ผิดบางกอกหลอกลวงหลอนใจ จะมีใครรักใครจริงนั่น

ญ. รักน้องหนา รักบ้านนาฟ้าดินถิ่นขวัญ

ช. บุญพี่พอขอรักทั้งนั้น  ขอผูกพันเพียงบ้านนา

ในช่วงทศวรรษ 2490 เป็นต้นมากรุงเทพกลายเป็นศูนย์กลางทางความเจริญทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวิถีชีวิตของผู้คนที่มีความสะดวกสบาย การศึกษาและการแพทย์ที่มีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าสังคมชนบทมากนัก เนื่องจาการขยายตัวของกาค้าภายในที่เจริญมากขึ้น มีผู้นิยมประกอบอาชีพการค้ามากขึ้น รวมทั้งรัฐบาลและประชาชนให้ความสำคัญกับการศึกษา รวมทั้งด้านอาชีวะ ทำให้เกิดการขยายตัวทั้งในด้านประชากรที่มีความสามารถในการประกอบอาชีพที่หลากหลาย

ด้วยเหตุนี้ทำให้มีชาวชนบทและแรงงานระดับล่างจากภูมิภาคต่างๆ จำนวนไม่น้อยอพยพเข้ามาเพื่อต้องการแสวงหาโอกาสเพื่อความก้าวหน้าและชีวิตที่สะดวกสบายกว่าในชนบท ทำให้คนเหล่านี้เป็นคนกลุ่มใหม่ในสังคมกรุงเทพฯ ที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมแตกต่างจากคนในสังคมกรุงเทพฯ แต่เดิม ความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างชาวชนบทที่ใช้ชีวิตอยู่กับชีวิตสมถะและสังคมที่ยังมีลักษณะ “หมู่บ้าน” ที่เน้นความกลมเกลียวกันของผู้คนในชุมชนเดียวกันภายใต้วิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม เมื่อต้องมาพบกับสังคมเมืองกรุงที่มีลักษณะความเป็น “ปัจเจก” สูง การใช้ชีวิตที่หรูหราและฟุ่มเฟือยของชนชั้นกลาง ในสายตาของคนชนบทผู้ไม่เคยพบแสงสีในเมืองกรุง รวมทั้งอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกัน นำมาซึ่งความเจ็บช้ำของหญิงสาวชนบทผู้เคยพบกับความเจ็บปวดที่ได้รับจากสังคมเมืองกรุงมาแล้ว ดังเนื้อเพลง “บางกอกลาที” ที่ถึงแม้ว่าผู้แต่งจะแต่งขึ้นเพื่อจุดประสงค์ที่จะล้อกับเพลง “กรุงเทพราตรี” ซึ่งบรรยายให้เห็นความเจริญและความงดงามของกรุงเทพฯก็ตามแต่เพลง “บางกอกลาที” สะท้อนให้เห็นชีวิตของหญิงสาวชาวชนบทที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมเมืองกรุงได้ จนสุดท้ายต้องซมซามกลับบ้านนาของตน

ญ. ที่บางกอกคนล้วนใจดำ

ช. มิควรหลงคำที่เขาลือเลย

ญ. ฉันยังหวั่นกลัวเพราะตัวเคย

…………………………

ญ. พบมามากหลายน้ำใจมารคนท้องนาต้องมาพบพาน  ฉันจึงซมซามกลับไปท้องนา

ช. นอกเมืองในเมืองเรื่องคนไม่พ้นกัน

ญ. สายใยสัมพันธ์จึงร้างจึงรา

ช. หญิงชายรักกันมักบั่นสัญญา

ญ. ฉันคนท้องนามิเคยรู้ทัน

สังคมไทยในช่วงทศวรรษ 2500 นั้นเริ่มเข้าสู่ยุค “พัฒนา” ภายใต้การปกครองในระบอบเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การพัฒนาชนบทให้มีความเจริญเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลเพื่อให้ผู้คนในชนบทพ้นจากวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” โครงการพัฒนาท้องถิ่นแห่งชาตินั้นถูกร่างขึ้นใน พ.ศ.2502  ในสายตาของสังคมชนบทรัฐคือผู้นำการพัฒนาเข้ามาสู่ชนบทไม่ว่าจะเป็น ถนน ไฟฟ้า การประปา การแพทย์ที่มีคุณภาพมากขึ้นแต่สำหรับในแง่ของอารมณ์ความรู้สึกในด้านความรัก ความรักที่มาจากคนในเมืองหลวงยังคงเป็นความรักที่ไม่น่าไว้วางใจสำหรับคนในภูมิภาคอื่นๆ เท่าใดนัก

บทเพลงสุนทราภรณ์ให้ภาพของการเดินทางของฝ่ายชายออกจากเมืองกรุงเข้าสู่ภูมิภาคอื่นของประเทศเช่นภาคอีสาน แล้วเกิดหลงรักกับผู้หญิงในท้องถิ่นนั้น ความรักที่เกิดขึ้นนั้นมักเป็นความรักที่ต้องใช้เวลาพิสูจน์และเป็นความรักที่เกิดจาการไม่เชื่อใจเป็นจุดเริ่มของต้นของความรัก หาใช่อารมณ์รักที่เน้นอารมณ์รักในลักษณะพลอดรักแบบดูดดื่มของชนชั้นกลางในเมืองหลวงไม่ ดั่งเช่นเนื้อเพลง “แอ่วสาวอีสาน” ที่เปรียบความรักของชายที่มาจากเมืองกรุงประหนึ่ง “โจร” ทีคอยปล้นเอาความรู้สึกของฝ่ายหญิง

ญ. พี่นี้อยู่บางกอกไกล  ฮักง่ายน้ำใจแชเชือน

บ่ฮักจริงเหมือน  คำเพิ่นเลือนเหมือนเดือนลาล่วง

………………………….

ช.  โอ้สาวเจ้าชาวอีสาน  ขอทานรักพี่สักหน่อย

พี่ขอทานเจ้า  แกล้งเราสิมาให้หลงคอย

ญ. พี่นี้อยู่บางกอกโพ้น  เหมือนโจรหวังปล้นใจข้อย

เป็นที่น่าสงสัยว่าเพราะเหตุใดภาพลักษณ์ของสังคมในเมืองกรุงที่ปรากฏในเนื้อเพลงจึงมีลักษณะคู่ตรงข้ามกับความรักซึ่งปรากฏในสังคมชนบท เมืองกรุงเปรียบเหมือนสถานที่ซึ่งผู้คนไม่มีความจริงใจให้แก่กันมีแต่คำหลอกลวง เต็มไปด้วยแสงสีและสิ่งยั่วเย้าที่ชักนำไปสู่ความเสื่อม และคนเมืองกรุงโดยเฉพาะผู้ชายไม่เป็นที่น่าไว้วางใจนักเพราะดีแต่ใช้วาจาหลอกล่อผู้หญิงไปทั่ว ทั้งๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นผู้แต่งเพลง และเหล่านักดนตรีในวงสุนทราภรณ์นั้นล้วนเกิดหรือไม่ก็ได้รับการศึกษาทั้งในระดับประถม-อุดมศึกษาหรือระดับมหาวิทยาลัยในสังคมเมืองกรุงและประกอบอาชีพใช้ชีวิตในเมืองหลวง ทำให้มีความคุ้นเคยกับสภาพการดำเนินชีวิตของชนชั้นกลางในเมืองหลวงได้เป็นอย่างดี

ชนบท “ที่ถูกสร้าง” ของชั้นกลางไทย

อาจเป็นไปได้ว่าผู้แต่งเพลงใช้อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดหรือโลกทัศน์ของสังคมชนบทมาเป็น “มาตรฐาน” แต่เป็นสังคมชนบทใน “จินตนาการ” ในจินตนาการหรือมโนทัศน์ของตนเอง สำหรับการตัดสินสังคมเมืองกรุงไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือยและความรักของชนชั้นกลางที่วางอยู่บนเงื่อนไขของ “ความเหมาะสม” ในแง่ต่างๆ ของชีวิตในลักษณะที่ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงสามารถ “เลือก” คู่ครองของตนเอง สภาพสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้นทำให้ชาย-หญิง มีความสัมพันธ์กันได้โดยไม่จำเป็นต้องผูกพันกับสภาพสังคมรอบข้างมากนักเนื่องจากลักษณะความเป็น “ปัจเจก” ที่มากขึ้นรวมทั้งสามารถแสวงหาความรักลักษณะของการ “ไม่ถูกจำกัดพื้นที่” ของความสัมพันธ์ที่มากกว่าเพียงแค่ในชุมชนของตัวเองหรือชุมชนใกล้เคียง แต่ยังหมายถึงพื้นที่สาธารณะหรือแหล่งบันเทิงเริงรมย์รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

ความรักของชนชั้นกลางในเมืองกรุงจึงมีลักษณะ “รักที่เลือกได้” และ “รักที่ทิ้งง่าย” ซึ่งแตกต่างกับสังคมชนบทในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งมีบริบทสภาพทางสังคมที่แตกต่างออกไปจากชีวิตรักในเมือกรุง ความรักของสังคมชนบทจึงถือได้ว่าเป็นความรักใน “อุดมคติ” มีลักษณะเรียบง่ายสมถะต่างกับความรักและการใช้ชีวิตแบบฟุ่มเฟือยของชนชั้นกลางในเมืองกรุง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อติภพ เทพไพศาล.(2556). เสียงเพลง/วัฒนธรรม/อำนาจ. กรุงเทพฯ : มติชน.

ศรี อยุธยา.(2537). เอื้อ สุนทรสนาน ดุริยกวีสี่แผ่นดิน. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า.

ภิญญพันธุ์ พจนลาวัณย์.(2558). กำเนิด “ประเทศไทย” ภายใต้เผด็จการ. กรุงเทพฯ : มติชน.

ณัฐพงษ์ สกุลเลี่ยว.(2552). ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงการรัฐประหาร พ.ศ.2500. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2562