ก่อนจะใช้ “ณ อยุธยา” เคยมี “ณ กรุงเทพฯ” เป็นสร้อยนามสกุลเจ้านาย

พระราชโอรสและพระธิดาในรัชกาลที่ 5 นามสกุล
พระราชโอรสและพระธิดาในรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือจุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์)

บทความเรื่องเกี่ยวกับ นามสกุล ณ กรุงเทพฯ นี้คัดมาจากส่วนหนึ่งของ “ป้าป้อนหลาน” หม่อมเจ้าหญิง ดวงจิตร จิตรพงศ์ พระธิดาของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้บันทึก พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระชันษาครบ 90 ปี ของหม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร จิตรพงศ์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2541 โดยสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บันทึกตอนที่นำมาเสนอนี้มีชื่อตอนว่า “สกุล จิตรพงศ์ มาจากไหน” และเพื่อให้สะดวกในการอ่านจึงได้จัดวรรคย่อหน้าใหม่ เนื้อหามีดังนี้


 

แต่ก่อนไทยเรายังไม่มีประเพณีใช้ นามสกุล ก็อาศัยใช้รูปลักษณะ ที่อยู่ เชื้อชาติ และคุณสมบัติเฉพาะตัวเป็นเครื่องอธิบายให้เข้าใจได้ เช่น ตาหวังหลังโกง นายจันหนวดเขี้ยว นายบุนนาคบ้านแม่ลา พระยาจักรีแขก พระสังฆราชไก่เถื่อน และพระยาพิชัยดาบหัก เป็นต้น

ถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดําริเห็นว่ายังเป็นการฟั่นเฝือนัก และจะเป็นการลําบากยากใจต่อไปในภายหน้าอีกมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติให้ใช้นามสกุลขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2456 บรรดาพระบรมวงศ์พระองค์ใดที่ทรงมีเชื้อสายสืบพระสกุลวงศ์ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลสําหรับให้ได้ใช้ด้วยโดยทั่วกัน

แต่แรก นามสกุลเหล่านั้นโปรดให้มีสร้อย คําว่า “ณ กรุงเทพฯ” ต่อท้าย ให้เป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นเชื้อสายของจักรีบรมราชวงศ์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2468 ก็มีประกาศพระราชดําริว่า คําว่า “กรุงเทพฯ” นั้นเป็นคําใช้น้ํานามนครอันเป็นราชธานี เช่นของพระนครศรีอยุธยาเมื่อเป็นราชธานีก็เรียกว่า “กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา” และ “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์” ก็เป็นนามของราชธานีในปัจจุบันนี้ คําว่า “กรุงเทพฯ” จึงไม่ชัดแจ้งว่าหมายถึงแห่งใด

พระบรมราชวงศ์นี้เดิมก็เป็นสกุลมหาศาลอันหนึ่งในสมัยพระนครศรีอยุธยาเป็ราชธานี จึงควรใช้นามให้ตรงกับมูลเหตุแห่งพระราชพงศาวดารให้ชัดเจน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ดํารัสสั่งให้เปลี่ยนนามที่เป็นสร้อยคํานั้นเสียใหม่เป็น “ณ อยุธยา”

ต่อมาในรัชกาลที่ 7 ก็มีพระราชดํารัสเหนือเกล้าฯ ให้แก้ไขระเบียบการใช้นามสกุลสําหรับพระราชวงศ์เสียใหม่ว่า เดิมประเพณีออกนามหม่อมเจ้า ย่อมใช้นามพระบิดาต่อท้าย ให้ปรากฏว่าในกรมใดพระองค์ใดต่อนี้ไปใช้นามสกุลต่อท้ายพระนามแทน อนึ่ง หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวงนั้นมีคําแสดงศักดินาในราชสกุล ปรากฏอยู่แล้ว จึงให้ใช้แต่เฉพาะนามสกุลเฉยๆ ไม่ต้องเติมสร้อย ณ อยุธยา

คงให้ใช้แต่ผู้ที่มีลําดับชั้นต่ำลงไปกว่านั้นคือเป็นเพียงบุตรหลานหม่อมหลวง ซึ่งมีฐานะเป็นสามัญชน เพื่อแสดงว่าเป็นเชื้อสายราชสกุลวงศ์ อีกประการหนึ่งในพระราชบัญญัติออกในตอนแรกนั้น ยังมีข้อบังคับไว้ด้วยว่า ห้ามมิให้ผู้อื่นที่มิได้เป็นเชื้อสายราชสกุล แม้จะเป็นบุตรบุญธรรมของผู้สืบเชื้อสายในราชสกุลทั้งหลายนั้นใช้นามสกุลมีสร้อย ณ อยุธยา เป็นอันขาด หากมีประสงค์จะให้เป็นผู้สืบสกุลก็อาจจะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษให้ใช้แต่เฉพาะนามสกุลเฉยๆ ได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2562