ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
เดิมทีคนไทยไม่มี “นามสกุล” มีเพียงชื่อเรียกเท่านั้น นามสกุลเพิ่งมีใช้เมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้มีการตั้งนามสกุล และมีการพระราชทานนามสกุลให้แก่หลายครอบครัวที่เรียกว่า “นามสกุลพระราชทาน” ส่วนประชาชนทั่วไปที่ตั้งนามสกุลเองมีธรรมเนียมนิยมดังนี้ ตั้งตามชื่อบรรพบุรุษ (ปู่ ย่า ตา หรือยาย), ตั้งตามราชทินนามของตน หรือบรรพบุรุษ, ตั้งตามสถานชื่อตำบลที่อยู่อาศัย เป็นต้น เช่น ชาวโคราช ที่นามสกุลสามารถบ่งชี้ถิ่นกำเนิดได้
หนังสือ “โคราชของเรา” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้สรุปเรื่องนามสกุลชาวโคราช จากวิิทยานิพนธ์เรื่อง นามสกุลประชาชนจังหวัดนครราชสีมา : การวิเคราะห์ทางอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์ โดย พรทิพย์ ครามจันทึก ไว้ว่า
นามสกุลชาวโคราช
นามสกุลสมัยแรกๆ ก็มีลักษณะดังกล่าว คือบ่งชี้ภูมิประเทศของถิ่นกำเนิดเป็นสำคัญ ดูได้จาก “ส่วนท้าย” ของนามสกุล ดังต่อไปนี้
1. “กลาง” เดิมคือ มณฑลลาวกลาง เช่น นามสกุล ขอใยกลาง, จงจุลกลาง
พระยากำธรพายัพทิศ ได้พิจารณาว่าสถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอทับที่วัดร้างอยู่ เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อสถานที่ จึงได้เสนอขอเปลี่ยนจากอำเภอกลาง เป็นอำเภอโนนวัด
ต่อมา พ.ศ. 2487 นายชม วัลลิภากร เป็นนายอำเภอโนนวัด ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอโนนวัด เป็นอำเภอโนนสูง สืบถึงปัจจุบัน
2. “กระโทก” ในอดีตมีฐานะเป็นด่าน คือด่านกระโทก เช่น นามสกุล ข้องกระโทก, โฮกระโทก
ต่อมามีราชการพิจารณาว่า คำว่า “กระโทก” มีสำเนียงและความหมายไม่เหมาะสม เพื่อให้เป็นไปตามความหมายเชิงประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึง “วีรกรรม” ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ทรงรบได้ชัยชนะ ณ ที่แห่งนี้ จึงได้เปลี่ยนนามอำเภอใหม่ว่า “อำเภอโชคชัย”
3. “ขุนทด” หมายถึง “ด่าน” มีขุนทดเป็นผู้ปกครองดูแล เช่น นามสกุล พาทขุนทด, ผูกขุนทด
สันนิษฐานว่าเป็นช่วงของแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระยายมราชให้เป็นผู้ปกครองดูแล “ด่าน” นี้เป็นด่านแรก ยังมีหน้าที่เก็บภาษีอากรส่งให้เมืองนคราชสีมา
4. “จันทึก” เดิมเป็นเมืองหน้าด่านในดินแดนแถบภาคอีสาน ชื่อว่า “เมืองจันทึก” เช่น เผือกจันทึก, ฝาดจันทึก
ต่อมาเมื่อได้ตั้งเมืองนครราชสีมาขึ้นดูแลหัวเมืองต่างๆ ทางที่ราบสูง จึงเปลี่ยนเป็นเมืองหน้าด่านเรียกว่า “ด่านจันทึก” เมื่อยกเลิกด่านแล้ว ได้เปลี่ยนเป็นอำเภอ เรียกว่า “อำเภอจันทึก” เนื่องจากบ้านจันทึกและบ้านหนองบัวตั้งอยู่ในเขตดงพญาเย็น (พญาไฟ) มีไข้ป่า (มาลาเรีย) ชุกชุม เป็นที่เกรงกลัวของข้าราชการยิ่งนัก จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่บ้านสีคิ้ว แล้วเปลี่ยนชื่ออำเภอจันทึกเป็นอำเภอสีคิ้ว จนถึงปัจจุบัน
5. “ไธสง” มาจากคำว่า “พุทไธสง” เช่น นามสกุล น้อยไธสง, ตลุกไธสง
เมืองพุทไธสง เป็นเมืองเก่า ต่อมาได้ร้างไป ในสมัยการปกครองแบบมณฑลขึ้นต่อเทศาภิบาลเมืองแปะ
ต่อมา พ.ศ. 2342 รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้เพี้ยศรีปาก เป็นพระยาเสนาสงคราม เจ้าเมืองคนแรกของพุทไธสง และได้ยกฐานะเปนอำเภอพุทไธสง ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครองจังหวัดบุรีรัมย์
6. “สันเทียะ” เดิมเรียกว่า “แขวงสันเทียะ” เช่น นามสกุล ถนอมสันเทียะ, ขอสันเทียะ
เล่ากันว่าเดิมเป็นที่อยู่ของชาวกัมพูชา ที่มาอาศัยต้มเกลือสินเธาว์ เพื่อนำไปขาย เพราะคำว่า “สันเทียะ” ภาษาเขมร แปลว่า ที่ต้มเกลือสินเธาว์ และมีผู้เพิ่มเติมว่า “สันเทียะ” อาจมาจากสภาพพื้นดินทั่วไปของอำเภอที่เป็นดินเค็ม
หรือมาจากสภาพภูมิศาสตร์ในภาษาลาว คำว่า “สันเทียะ” แปลว่า บ้านที่ตั้งอยู่บนสันโนนที่ดินและเนื่องจากพื้นดินเป็นดินปนทราย เมื่อถึงฤดูฝนจะชื้นแฉะไปทั่วทั้งหมู่บ้าน
7. “สูงเนิน” เดิมเรียกว่า เมืองเสมา มีนามสกุลเช่น ดีสูงเนิน, ฝากสูงเนิน
เมืองเดิมตั้งอยู่ที่ตำบลสูงเนิน ครั้นสร้างเมืองนครราชสีมาจึงย้ายมาอยู่เมืองใหม่ เมืองเสมา จึงกลายเป็นเมืองเก่า ต่อมาเปลี่ยนฐานะเป็นอำเภอได้ตั้งชื่อใหม่ตามชื่อที่ตั้งที่ว่าการอำเภอว่า อำเภอสูงเนิน
ที่กล่าวมานี้เป็นการสังเกตจาก “ส่วนท้าย” ของนามสกุล มีความหมายถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ หากยังมี “ส่วนหน้า” และ “ส่วนกลาง” ของนามสกุลชาวโคราชที่บ่งชี้วัฒนธรรมด้านอื่นๆ ด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- คนโคราชไม่ใช่ “ลาว” แล้วคนโคราชเป็นใคร? มาจากไหน?
- “สุดบรรทัด-เจนจบทิศ” สู่ “ถนนมิตรภาพ” ช่วยย่นเวลาเดินทางกทม.-โคราชจาก 10 เหลือ 3 ชม.
-
ช้าง! ช้าง! ช้าง! พบซากโคตรช้าง 15 ล้านปี กลางแดนย่าโม ลุ่มน้ำมูน เมืองโคราช
ที่มา :
พรทิพย์ ครามจันทึก. นามสกุลประชาชนจังหวัดนครราชสีมา : การวิเคราะห์ทางอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์. วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2548 หน้า 87-89. ใน สุจิตต์ วงษ์เทศ. โคราชของเรา , สำนักพิมพ์มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 เมษายน 2562