เผยแพร่ |
---|
ถนนมิตรภาพ แยกจากถนนพหลโยธินที่จังหวัดสระบุรี ผ่านดงพญาเย็น (ชื่อเดิมว่าดงพญาไฟ) ถึงโคราช เปิดเดินรถอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2500
นับแต่นี้ไปดินแดนที่ราบสูงอีสานที่ถูกปิดกันมานานนับศตวรรษก็เปิดสู่โลกสมัยใหม่
10 กรกฎาคม 2501 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเปิดถนนมิตรภาพสู่ภาคอีสาน ท่ามกลางความคาดหมายว่าจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของภาคอีสานที่แร้นแค้นมานานให้เจริญขึ้น
ถนนยาว 147 กิโลเมตร เชื่อมจังหวัดสระบุรีกับจังหวัดนครราชสีมา ย่นระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดนครราชสีมาจาก 10 ชม. เหลือประมาณ 3 ชม.
“ผู้คนพูดกันตลอดว่า สหรัฐอเมริกาช่วยเหลือประเทศไทยแต่ด้านทหาร นักการเมืองบางคนเลยเถิดไปถึงขนาดที่ว่า ทางหลวงนี้สร้างเพื่อให้เครื่องบินรบบินขึ้นและลงจอด” นายอารีย์ ตันติเวชกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว “ที่จริงแล้ว ทางหลวงสายนี้ทําให้สามารถส่งสินค้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปยังตลาดสินค้าต่าง ๆ ได้”

ก่อนหน้าโคราชของเรา และอดีตทูตสหรัฐ แมกซ์ บิชอป ได้เป็นประธานการเปิดส่วนแรกในเดือนกุมภาพันธ์
บิชอปกล่าวว่าประโยชน์ของทางหลวงสายนี้จะเห็นได้จากผลผลิตทางการเกษตรสด ๆ ที่วางตามแผงตลาดในกรุงเทพฯ “ไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่จะพูดว่าบริเวณถนนมิตรภาพนี้กําลังค่อย ๆ เจริญขึ้นเหมือนยกป่าออกและเอาตึกมาวางบนถนน”
ถนนมิตรภาพหรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 หรือทางหลวงสายสระบุรี–สะพานมิตรภาพที่หนองคาย (เขตแดนไทย/ลาว) เป็นทางหลวงที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในด้านงบประมาณการก่อสร้าง เทคนิควิชาการในการก่อสร้าง นับเป็นทางหลวงสายแรกที่ก่อสร้างถูกต้องตามแบบมาตรฐานการก่อสร้างทางหลวงทุกขั้นตอน และเป็นทางหลวงสายแรกของประเทศไทยที่มีผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟัลติกคอนกรีต
คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ตั้งชื่อถนนช่วงสระบุรี-ปากช่อง นครราชสีมา ว่า “ถนนสุดบรรทัด” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2493 ส่วนถนนช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย ได้รับการตั้งชื่อถนนว่า “ถนนเจนจบทิศ” ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนมิตรภาพ” เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2500 เป็นถนนสายหลักที่สามารถเดินทางไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เดิมที่ถนนมิตรภาพเป็นถนนแบบ 2 ช่องทางจราจรเท่านั้น แต่ปัจจุบันเป็นถนนแบบ 2-10 ช่องทางจราจร โดยมีการขยายถนนเป็นถนนแบบ 4 ช่องทางจราจรเมื่อสมัยรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยในช่วงตั้งแต่ทางแยกต่างระดับ มิตรภาพ-ทางรถไฟสายตะวันออก ทางแยกต่างระดับตาลเดี่ยวทับกวาง หน้าโรงงานปูนซีเมนต์นครหลวงบางช่วง ทางแยกต่างระดับสีคิ้ว-ตัวเมืองนครราชสีมา และในเมืองนครราชสีมา บางช่วงเป็นถนนขนาด 10 ช่องทางจราจร
หลักกิโลเมตรของถนนมิตรภาพ ปัจจุบันเริ่มต้นกิโลเมตร ที่ 0 ที่ จังหวัดสระบุรี ซึ่งเดิมจะนับกิโลเมตรที่ 0 จากกรุงเทพมหานครตามหลักกิโลเมตรของถนนพหลโยธิน
ถนนมิตรภาพตลอดสายมีระยะทางทั้งสิ้น 508 กม. แต่ถ้าหากนับเลขหลักกิโลเมตรตามถนนพหลโยธินจากกรุงเทพมหานครขึ้นมา จะมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 615 กม.
ปัจจุบันถนนมิตรภาพตลอดสาย (รวมทั้งส่วนที่ไปสะพานมิตรภาพไทย-ลาวด้วย) ถูกกําหนดให้เป็นทางหลวงเอเชีย หมายเลข AH 12 และเมื่อปี 2560 รัฐบาลได้อนุมัติครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา หรือมอเตอร์เวย์สายอีสาน มีระยะทางรวมประมาณ 196 กิโลเมตร ที่คาดการณ์ว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า (เปิดใช้งานบางส่วนแล้วในช่วงสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา) จะช่วยให้การเดินทางบนถนนมิตรภาพสะดวกสบายและรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม
อ้างอิง :
สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. โคราชของเรา, โครงการบางปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลองของเครือมติชน, สนพ.มติชน 2558
โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6), จาก http://www.doh-motorway.com/motorway-project/northeastern-route/m6/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 เมษายน 2562
ปรับปรุงเนื้อหาครั้งล่าสุดเมื่อ 3 มกราคม 2566