ไขข้อข้องใจ ชื่อถนน “เพชรบุรีตัดใหม่” แล้วตัดเก่าอยู่ที่ไหน?

ถนนเพชรบุรี มีรถติดมากมาย สองข้างทาง เต็มไปด้วย อาคาร บ้านเรือน
ถนนเพชรบุรี

หากสัญจรไปมาบนท้องถนนกรุงเทพฯ อาจคุ้นกับชื่อถนน “เพชรบุรีตัดใหม่” กันอยู่บ้าง เพราะนอกจากการจราจรคับคั่งเกือบตลอดทั้งวัน สองข้างทางยังเต็มไปด้วยอาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย ผู้คนพลุกพล่าน 

แม้เราอาจได้ยินชื่อถนน เพชรบุรีตัดใหม่ กันมานาน แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมถนนเพชรบุรีต้องมีคำว่า “ตัดใหม่”?

จากข้อมูลที่ปรากฏในหนังสือ วานนี้ที่สุขุมวิท (สำนักพิมพ์มติชน) โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ อธิบายถึง ถนนเพชรบุรี ถนนที่สร้างขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2448 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยตั้งชื่อตามพระนาม สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ไว้ว่า 

“…ถนนเพชรบุรีตัดเก่าอยู่ตรงไหน ไปสืบค้นมาแล้วครับ ได้ความว่าถนนเพชรบุรีที่มีมาแต่เดิมนั้น เริ่มต้นตั้งแต่จุดที่เรียกว่าสะพานยมราช ซึ่งเวลานี้เป็นทางขึ้นลงของทางด่วนและมีทางรถไฟพาดผ่าน ตัวสะพานที่แท้นั้นไม่มีใครสังเกตเห็นแล้วเพราะมีขนาดเล็กนิดเดียว 

นั่นแหละครับเป็นจุดเริ่มต้นของถนนเพชรบุรี ซึ่งมีชื่อก่อนหน้านั้นว่าถนนประแจจีน ตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานชื่อถนนหลายสายในตอนปลายรัชกาลตามชื่อลายเครื่องลายคราม แล้วมาเปลี่ยนเป็นถนนเพชรบุรีในรัชกาลที่ 6

ถนนสายนี้วิ่งเรื่อยไปทางทิศตะวันออก ผ่านแยกราชเทวี ซึ่งตอนสมัยผมเป็นเด็กเล็กนั้นมีน้ำพุขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางวงเวียน เวลากลางคืนมีการฉายไฟสลับสีให้น้ำพุเปลี่ยนสีสันไปมาได้ด้วย

เลยมาอีกไม่ไกลก็ถึงประตูน้ำ ตรงนั้นมีสะพานเฉลิมโลกอยู่ทางด้านขวามือ หากข้ามสะพานไปก็เป็นถนนราชดำริ ถ้าไม่ข้ามสะพานไปแต่เลี้ยวซ้ายมือจะกลายเป็นราชปรารภ ตรงนั้นคือจุดสิ้นสุดของถนนเพชรบุรี

จนเมื่อ พ.ศ. 2505 จึงตัดถนนส่วนต่อขยายตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำจนถึงซอยสุขุมวิท 71 เป็น “ถนนเพชรบุรีตัดใหม่” ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

หมายเหตุ : จัดย่อหน้าและเน้นคำในเครื่องหมายคำพูดโดยผู้เขียน 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ธงทอง จันทรางศุ. วานนี้ที่สุขุมวิท. กรุงเทพฯ: มติชน, 2561.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มีนาคม 2566