“ถนนพระร่วง” คืออะไรกันแน่ ถนน คลอง หรือคันดินกั้นน้ำ ?

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพถ่ายทางอากาศเหนือแม่น้ำยม เมืองสุโขทัย โดย Robert Larimore Pendleton (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

“ถนนพระร่วง” คือแนวคันดินโบราณความยาวกว่า 123 กิโลเมตร ทอดตัวเชื่อมเมืองกำแพงเพชร เมืองเก่าสุโขทัย และเมืองศรีสัชนาลัยในปัจจุบันเป็นแนวเหนือ-ใต้ เนื่องมาจากอายุที่เก่าแก่หลายร้อยปี มีการทรุดตัวของคันดินและการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมรอบ ๆ บริเวณนั้น ทำให้ข้อสรุปเรื่องจุดประสงค์ของการก่อสร้างถนนพระร่วงยังคลุมเครืออยู่ นำไปสู่การถกเถียงและออกความเห็นในหมู่นักวิชาการประวัติศาสตร์ และโบราณคดีอยู่บ่อยครั้ง

ประชาชนทั่วไปในพื้นที่รู้จักแนวคันดินนี้ว่าเป็น ถนน” มีตำนานท้องถิ่นเล่าถึงการเกิดถนนพระร่วงจากอานุภาพและบารมีขององค์พระร่วงเจ้า บูรพกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ความว่า ครั้งหนึ่งองค์พระร่วงเจ้ายืนอยู่บริเวณเขาหลวง (ทางทิศใต้ของเมืองสุโขทัยประมาณ 20 กิโลเมตร) พระองค์ได้กวาดพระบาทขวาไปทางทิศเหนือถึงเมืองศรีสัชนาลัย แล้วกวาดพระบาทซ้ายไปทางทิศใต้ถึงเมืองกำแพงเพชร จึงเกิดเป็นถนนขึ้นมา

คำว่า “ถนนพระร่วง” ปรากฏเป็นเอกสารครั้งแรกในพระราชนิพนธ์ เสด็จประพาสต้น ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรเมื่อ พ.ศ. 2449 ทรงบันทึกไว้ว่า

“…เมื่อไปพ้นป้อมนั้นจึงขึ้นถนน ขุดดินเป็นร่อง 2 ข้างขึ้นพูนเป็นถนนสูง กว้างประมาณ 8 วาตรงลิ่ว เรียกว่าถนนพระร่วง ถนนพระร่วงชนิดนี้มีในระหว่างกรุงสุโขทัยกับสวรรคโลก เหมือนถนนสายนี้ ถนนสายนี้ไปสุโขทัยแต่ขาดเป็นห้วงเป็นตอน เชื่อแน่ได้ว่าเป็นถนนพระร่วงจริง เมื่อไปได้ประมาณสัก 20 เส้นเศษ ย้ายลงเดินจากถนนไปข้างซ้ายมือ ที่นั่นดูเป็นที่ลุ่มต่ำลงไปจนถึงเป็นน้ำเป็นโคลน แล้วจึงไปขึ้นดินสูง…”

เอกสารอีกชิ้นที่กล่าวถึงถนนพระร่วงคือ เที่ยวเมืองพระร่วง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งเป็นพระบรมโอรสาธิราชฯ ซึ่งนิพนธ์หลังเสด็จประพาสและทอดพระเนตรโบราณวัตถุและโบราณสถานต่าง ๆ ในหัวเมืองเหนือ ได้แก่ เมืองกำแพงเพชร สุโขทัย สวรรคโลก อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. 2450 ทั้งเสด็จพระราชดำเนินตามเส้นทางถนนพระร่วง ทรงบรรยายลักษณะไว้ว่า

“…พ้นป่าไผ่แล้วจึงเห็นเป็นคันดินสูงขึ้นมาอีกและไม่ขาดเป็นตอนๆ เลย เป็นประดุจเทินยาวยืดไป บางแห่งซึ่งเป็นที่ลุ่มถนนได้พูนขึ้นไว้สูงมาก ช้างเดินไปข้างๆ สังเกตว่าเกือบท่วมหลังช้าง…”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงศึกษาประวัติของคันดินนี้จาก ศิลาจารึกเมืองสุโขทัย หลักที่ 1 และ 2 ก่อนทรงมีความเห็นว่า ถนนพระร่วงเป็นถนนที่ใช้สัญจรระหว่างเมืองสุโขทัยกับศรีสัชนาลัยตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงเป็นอย่างน้อย มีการซ่อมแซมในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 พร้อมขุดคลองขนานไปกับถนนเพื่อนำดินจากการขุดคลองมาถมถนนให้แน่นหนาขึ้น ช่วงเวลาที่พระองค์เสด็จเสด็จประพาสนั้น มีบันทึกความกว้างผิวถนนพระร่วงอยู่ที่ 2-10 วา ตลอดความยาวหนึ่งร้อยกว่ากิโลเมตรนั้นกว้างเฉลี่ย 18 เมตร

แผนที่แสดงเส้นทางถนนพระร่วง (เส้นยาวซ้าย) (ภาพจาก เอกสารประกอบรายการ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก)

สำหรับการศึกษาสมัยใหม่ ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้คำวิจารณ์เกี่ยวกับถนนพระร่วงว่า ถนนพระร่วงน่าจะเป็นคลอง เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะสร้างถนนกว้างขนาดนั้นในสมัยสุโขทัย ให้ความเห็นว่าแม้จุดมุ่งหมายหลักของการสร้างจะเป็นคลองชลประทาน แต่ก็ใช้ประโยชน์เพื่อการคมนาคมด้วย

แม้จะมีเครื่องมือและเทคโนโลยีทันสมัยในการสำรวจและช่วยวิเคราะห์ แต่ความคิดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่แท้จริงของถนนพระร่วงยังแตกออกเป็นหลายเสียง สำหรับความเห็นแรกที่ยอมรับกันมายาวนานที่สุดคือ ถนนพระร่วงคือถนน ไม่มีอะไรซับซ้อน ยกตัวอย่างความเห็นว่าที่ร้อยตรีพิทยา ดำเด่นงาม นักวิชาการโบราณคดีผู้ศึกษาเกี่ยวกับถนนพระร่วงอย่างยาวนาน ให้ข้อสรุปว่า

1. ถนนพระร่วงมีพื้นผิวเป็นหน้ากว้างเกินกว่าจะใช้เพียงเพื่อป้องกันน้ำล้น

2. สุโขทัยมีเขื่อนกั้นน้ำและคันดินกั้นน้ำโบราณจำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องผันน้ำจากแหล่งอื่น

3. กรมชลประทานกำแพงเพชรเคยเสนอหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า แหล่งต้นน้ำในกำแพงเพชรไม่มีน้ำเพียงพอให้ไหลไปยังสุโขทัย ทั้งหากถนนพระร่วงคือคลองชลประทานจริง อาจเกิดปัญหาขาดแขลนน้ำยิ่งขึ้น

4. ตามเส้นทางถนนพระร่วงมีคลองเก่าตัดขวางไม่ต่ำกว่า 25 คลอง ซึ่งยากที่จะกั้นน้ำไม่ให้ไหลออกสู่คลองเหล่านั้น

5. ถนนพระร่วงจุดที่อยู่บริเวณเขาวงจันทร์ อยู่ทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ดอน หากเป็นคลองก็ควรผ่านทิศตะวันออกซึ่งเป็นภูเขาซึ่งอยู่ต่ำกว่าจึงจะรับน้ำจากภูเขาได้ทั้งหมด

6. ตลอดแนวถนนพระร่วงมีเศษภาชนะดินเผาอยู่ตลอดเส้นทาง

7. ความเป็นไปได้เกี่ยวกับคลอง เกิดจากการขุดดินมาพูนสูงขึ้น ร่องดินที่เกิดขึ้นจึงมีน้ำขังก่อนชุมชนโบราณตามแนวถนนพระร่วงจะมาพัฒนาเป็นคลองเพื่อกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ โดยไม่ได้เป็นแนวคลองตลอดเส้นทางจนน้ำไหลไปถึงเมืองสุโขทัยแต่อย่างใด

8. การสร้างถนนขนาดใหญ่สอดคล้องกับสถานะของเมืองสุโขทัยในฐานะศูนย์กลางการปกครองของรัฐ ย่อมต้องมีเส้นทางหลักเชื่อมเมืองบริวารเพื่อการติดต่อค้าขาย

อนึ่ง การสนับสนุนให้ถนนพระร่วงเป็น “ถนน” ยังส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ให้แนวคันดินโบราณนี้เป็นทางหลวงแผ่นดินสายแรกของไทยอีกด้วย

ความเห็นกลุ่มที่สองโดย ผู้ช่วยศาสตร์จารย์ทิวา ศุภจรรยา อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ได้ใช้เทคโนโลยีทางภูมิศาสตร์ช่วยในการศึกษาพร้อมให้ข้อสรุปว่า ถนนพระร่วงเป็นคลองชลประทาน ตามข้อสังเกต ดังนี้

1. หากถนนพระร่วงสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นถนนจริง แนวคันดินนี้ต้องสร้างให้ผ่านเข้าประตูเมือง แต่กลับเชื่อมเข้าสู่บึงและคูเมืองกำแพงเพชร บรรจบที่คูเมืองบางพรานทางตอนเหนือ ทั้งเชื่อมกับคลองและคูเมืองต่าง ๆ อีกหลายจุดที่ยังปรากฏร่องรอยความเป็นคูน้ำอยู่จนถึงปัจจุบัน

2. ความกว้างและสูงจากระดับพื้นดินที่ 1.5-2.5 เมตรนั้น พบว่าดินอัดแน่น บางแห่งคล้ายถนนเลนเดียว บางแห่งเป็นเลนคู่ สันนิษฐานได้ว่าจุดที่มีเลนเดียวเพราะมีคูเมืองอยู่แล้ว

3. ถนนพระร่วงบางช่วงตัดผ่านที่ลุ่มและบึง เพื่อยกระดับน้ำในบึงให้สูงเท่ากับน้ำในถนนพระร่วง

4. หากวัดจากระดับน้ำทะเล ระดับความสูงของถนนพระร่วงมีลักษณะของคลองชลประทาน เพราะจากต้นคลองที่เมืองกำแพงเพชรสูง 79 เมตร จากระดับน้ำทะเล พอถึงบริเวณเมืองบางพานเหลือ 69 เมตร เมืองคีรีมาศ 54 เมตร และเมืองสุโขทัยเหลือเพียง 49 เมตร ส่วนอีกฝั่งด้านเมืองศรีสัชนาลัยมีระดับความสูงที่ 65 เมตร ก่อนมาบรรจบที่เมืองสุโขทัยในระดับ 49 เมตร ระดับความสูงนี้เพื่อให้น้ำไหลไปได้ด้วยดี และช่วยระบายน้ำออกสู่คลองธรรมชาติและนาของประชาชน

ผู้ช่วยศาสตร์จารย์ทิวา ศุภจรรยา ยังยกทฤษฎีว่าด้วยพระนามของ พ่อขุนศรีนาวนำถม อันมีความหมายว่า “ดึงน้ำมาท่วม” สื่อความหมายในเชิงเป็นผู้ปรีชาในเรื่องการชลประทาน และสรุปว่าถนนพระร่วงคือ “ท่อปู่พระยาร่วง” ในจารึกหลักที่ 13 บนฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร นั่นเอง

ภาพถ่ายทางอากาศเหนือเมืองสุโขทัย โดย Robert Larimore Pendleton (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

ความเห็นกลุ่มสุดท้ายของ นายจารึก วิไลแก้ว อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร ได้ให้ความเห็นว่า ถนนพระร่วงคือคันดินกั้นน้ำ ด้วยข้อมูลจากการขุดค้นทางโบราณคดีระหว่าง พ.ศ. 2535-2545 โดยชี้แจงว่า

“แนวคันดินถนนพระร่วงนั้นสร้างขึ้นเพื่อเป็นคันกั้นน้ำที่ทำให้เกิดความสมดุลกันระหว่างระดับน้ำและพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมตลอดจนพื้นที่ตั้งอยู่ในบริเวณเส้นทางดังกล่าว จึงไม่ใช่แนวถนนหรือคลองส่งน้ำดังที่เข้าใจกันมาตั้งแต่ต้น อีกทั้งศิลาจารึกเช่นจารึกหลักที่ 3 จารึกนครชุม พุทธศักราช 1900 กล่าวถึง ‘…รู้หมั่นเหมือง…แปลงฝาย…’ นับเป็นหลักฐานสำคัญที่กล่าวถึงเรื่องระบบการจัดการน้ำ…”

มีการยกประเด็นต่าง ๆ ประกอบความเห็น ดังนี้

1. บริเวณเมืองสุโขทัย กำแพงเพชร และศรีสัชนาลัย มีภูมิประเทศที่ลาดเอียง มีลำน้ำธรรมชาติหลายสายแต่น้ำไหลผ่านไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องสร้างแนวคันดินมาชะลอความเร็วของน้ำ

2. คันดินเกิดจากการบดอัดจนแน่น ช่วยลดกระแสน้ำที่รุนแรงในฤดูน้ำหลาก และช่วยให้ไหลไปในทิศทางที่ต้องการได้

3. รูปด้านตัดของชั้นดินเป็นสามเหลี่ยมมุมมน นูนตรงกลาง ไม่ใช่แนวระนาบแบบที่ถนนควรจะเป็น ทั้งชั้นดินมีจุดประสีเหลืองจำนวนมากจากน้ำที่ขังเป็นเวลานาน

5. ชลประทานกำแพงเพชรเคยขุดลอกคลองเพื่อชักน้ำจากแม่น้ำปิงไปยังพื้นที่เกษตรกรรมทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองกำแพงเพชร ปรากฏว่ามีปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับหล่อเลี้ยงพื้นที่นั้นด้วยซ้ำ หากถนนพระร่วงเป็นคลอง ย่อมประสบปัญหาในการชักน้ำไปใช้แน่นอน

6. ปรากฏร่องรอยระบบคันดินกั้นน้ำในเมืองและชุมชนยุคเริ่มต้นสมัยประวัติศาสตร์บริเวณซึ่งต่อมากลายเป็นอาณาจักรสุโขทัย เช่น เมืองบน เมืองดอนคา ดงแม่นางเมือง เมืองศรีเทพ อาจกล่าวได้ว่าระบบนี้สามารถพัฒนาจนประสบความสำเร็จในสมัยสุโขทัยนี่เอง

จะพบว่าแต่ละความเห็นยังมีข้อมูลบางส่วนที่หักล้างกันและกันอยู่ การศึกษาเกี่ยวกับถนนพระร่วงจึงต้องดำเนินต่อไปในแวดวงประวัติศาสตร์และโบราณคดีสมัยสุโขทัย ประกอบกับสภาพปัจจุบันของแนวคันดินนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปมากทั้งจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ทำให้ข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ต้องละเอียดรอบคอบยิ่งขึ้น อนาคตข้างหน้าหากมีเทคโนโลยีหรือหลักฐานมากพอที่จะสนับสนุนความเห็นใด ๆ เราคงได้ทราบถึงเป้าหมายแท้จริงของการสร้างถนนพระร่วงในไม่ช้า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระฯ; ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาฯ. (2552). เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : วิสดอม.

ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์. (ไม่ระบุปี). ถนนพระร่วงแห่งวัฒนธรรมสุโขทัย :
ข้อมูลใหม่จากการขุดค้นทางโบราณคดี. ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก กระทรวงวัฒนธรรม (ออนไลน์).

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระฯ. (2564). เที่ยวเมืองพระร่วง. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา.

สุวิทย์ ธีรศาศวัต. (2548). ประวัติศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร.กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 สิงหาคม 2565