เมืองพะเยา “รัฐอิสระ” พันธมิตร “พระร่วง” แคว้นสุโขทัย

วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา (ถ่ายเมื่อเดือนมกราคม 2469)

เมืองพะเยา (จังหวัดพะเยา) ตั้งอยู่บนที่ราบปลายภูเขา มีชื่อเรียกว่าในตำนานว่า “ภูกามยาว”

“ภูกามยาว” เป็นทิวเขาทอดยาวจากทิศเหนือลงใต้ เริ่มต้นจากบริเวณที่ราบทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงราย ที่อำเภอพาน ลักษณะของหัวเขาในจังหวัดเชียงรายที่ตั้งชัน จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ดอยด้วน” ทิวเขานี้จะทอดยาวลงทิศใต้ และค่อยๆ ต่ำลงทุกทีจนถึงที่ตั้งของตัวจังหวัดพะเยา จึงเป็นอันสิ้นสุดความยาวของทิวเขา

ที่ปลายเขานี้จะมีลำน้ำชื่อว่า น้ำแม่อิง ซึ่งไหลมาจากทางทิศเหนือฟากตะวันตกของภูกามยาวตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือลงแม่น้ำโขง

ต่อมาในสมัยปัจจุบัน ได้มีการทำเขื่อนกั้นน้ำแม่อิงขนาดเล็กทางตอนใต้ของหนองเอี้ยง ดังนั้น หนองเอี้ยงซึ่งเคยน้ำแห้งในฤดูแล้ง จึงมีน้ำเต็มตลอดปี กลายเป็นสถานที่หย่อนใจแลเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด รู้จักกันในนามว่า “กว๊านพะเยา”

เมืองพะเยาสมัยแรกเริ่ม

สมัยเริ่มแรกของเมืองพะเยาอยู่ในเรื่องบอกเล่าที่มีลักษณะปรัมปราคติ

ถ้าหากจะใช้ระยะเวลาตามเรื่องปรัมปราคติ ก็จะตกอยู่ในช่วงระยะเวลาประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 ซึ่งกล่าวถึง ขุนจอมธรรม ผู้เป็นโอรสองค์หนึ่งของเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน อันเป็นสายสกุลผู้ครองเมืองที่สืบทอดมาจากลาวะจังกราช ต้นบรรพบุรุษตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12

ขุนจอมธรรมได้แยกตัวจากบ้านเมืองเดิมลงมาทางทิศใต้ ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ปลายดอยชมพูหรือดอยด้วน และได้สร้างเมืองพะเยาขึ้นปกครองตนเองอย่างอิสระ เป็นบ้านพี่เมืองน้องที่ใกล้ชิดกับเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน

ในยุคนี้ ตำนานเมืองพะเยาได้กล่าวถึงวีรบุรุษที่สำคัญคนหนึ่งคือ ขุนเจือง ผู้ทำสงครามต่อสู้เอาชัยชนะบ้านเมืองต่างๆ ในละแวกใกล้เคียง และที่ไกลออกไปในคาบสมุทรอินโดจีน เช่นดินแดนล้านช้างและเมืองแกวประกัน ซึ่งเข้าใจกันว่าหมายถึงดินแดนในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในปัจจุบัน

เรื่องราวของขุนเจืองได้รับการอ้างอิงยืมไปเป็นวีรบุรุษของเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสนเช่นกัน และได้รับการบันทึกลงในรูปของมหากาพย์ของชาวลาวล้านช้างด้วย

การแพร่กระจายของเรื่องขุนเจืองจึงมีอยู่ทั่วไปในดินแดนสองฟากโขงตั้งแต่เขตสิบสองพันนา และอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ลงมา ดินแดนเหล่านี้คือที่อยู่ของคนไทยลาว

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า เรื่องของขุนเจือง เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อธิบายถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมของกลุ่มชนดังกล่าว ซึ่งรวมเอาเมืองน่านเข้าไปด้วย นอกเหนือไปจากเรื่องของขุนบูลมหรือขุนบรมในตำนานของลาวล้านช้าง และเรื่องของพระเจ้าพรหมในตำนานสิงหนวติกุมาร

เมืองพะเยารัฐอิสระเสรี

หลังจากระยะเวลาในตำนานชื่อเมืองพะเยาได้ปรากฏเป็นครั้งแรกในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดคือ ศิลาจารึกของสุโขทัยหลักที่ 2 ซึ่งจารึกขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 แต่เล่าเหตุการณ์ย้อนหลังกลับไปถึงระยะเวลาในพุทธศตรวรรษที่ 18 เรียกชื่อเมืองพะเยาว่า “พะยาว”

ความหมายของชื่อเมืองพะเยาคงจะเลือนหายไปจากความเข้าใจของคนในสมัยก่อนนานมาแล้ว ดังเช่นมีการอธิบายชื่อเมืองพะเยาในตำนานของล้านนาว่ามาจากคำว่า “ภูกามยาว” เพราะเมืองพะเยาตั้งอยู่ที่ปลายภูเขาซึ่งมีรูปร่างยาวดังชื่อ

อย่างไรก็ดี จากหลักฐานในเรื่องชื่อทั้งที่ปรากฏออกมาในรูปศิลาจารึกและคำอธิบายความหมายของผู้เล่าตำนาน พอที่จะทำให้เกิดภาพพจน์ได้ว่า การก่อตั้งชุมชนของพะเยาคงจะเริ่มขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 เล็กน้อย

การเจริญเติบโตของเมืองพะเยาขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ราบผืนไม่ใหญ่นักตามลุ่มแม่น้ำอิง ซึ่งไหลผ่านหล่อเลี้ยงเมืองพะเยาอย่างพอเพียงต่อระดับความเจริญเติบโตของเมืองขนาดนั้น

เมื่อตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ 19 เมืองพะเยาได้มีวีรบุรุษที่สำคัญเกิดขึ้นพระองค์หนึ่ง คือ พญางำเมือง ซึ่งเป็นบุคคลรุ่นเดียวกันกับพญามังรายแห่งเมืองเชียงรายผู้เป็นพระญาติกัน และพ่อขุนรามคำแหงแห่งแคว้นสุโขทัย ผู้เป็นสหายร่วมสำนักเดียวกันเมื่อครั้งเรียนอยู่ด้วยกันที่กรุงละโว้

ทั้งสามท่านได้แสดงบทบาทที่เหมือนกันอย่างหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ คือ การรวบรวมบ้านพี่เมืองน้องต่างๆ ในละแวกใกล้เคียงให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บทบาทด้านนี้ของพญางำเมือง พบจากพงศาวดารเมืองน่าน ที่กล่าวถึงการที่เมืองน่านครั้งหนึ่งในสมัยของพญางำเมืองได้รับการผนวกเข้าไว้ในดินแดนของเมืองพะเยาด้วย

ในช่วงระยะเวลาของการรวบรวมบ้านเมืองของวีรบุรุษทั้งสามท่านนี้ เนื่องจากอุปสรรคทางด้านสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีพอสมควร ตลอดจนเป็นระยะเวลาเริ่มแรกของการสะสมกำลังกันขึ้นมา ทำให้ดินแดนแคว้นสุโขทัยได้รับการแยกออกต่างหากจากบ้านเมืองของพญางำเมืองและพญามังราย

สำหรับพญาทั้งสองซึ่งเป็นพระญาติกันนั้น ในสมัยนี้น่าจะมีกำลังพอทัดเทียมกัน

ประกอบกับพญามังรายมุ่งจุดหมายไปยังพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์กว่า ที่ลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน ในขอบเขตของแคว้นหริภุญไชย ความผูกพันเป็นสหายและเครือญาติจึงยังคงดำรงอยู่ แม้จะมีการกระทบกระทั่งในเรื่องชายเขตแดนกันบ้างเล็กน้อยก็ตาม ก็ยังพอประนีประนอมกันได้ แต่ความปรารถนาที่จะรวบรวมเอาดินแดนฟากตะวันออกของเทือกเขาผีปันน้ำไว้เป็นอันเดียวกัน คือที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ของลุ่มแม่น้ำกกเมืองเชียงราย ที่ราบลุ่มแม่น้ำอิงของเมืองพะเยา และแหล่งการทำเกลือที่ไม่รู้จักหมดสิ้นของเมืองน่าน ก็ยังคงอยู่ในเจตนารมณ์ของเชื้อสายของพญามังรายรุ่นต่อๆ มา โดยเฉพาะดินแดนของเมืองพะเยา เป็นบันไดขั้นแรกก่อนที่ลงไปทางทิศใต้

ด้วยเหตุนี้ จึงได้พบในเอกสารของเมืองเชียงใหม่ว่า แม้ว่าเมื่อพญามังรายข้ามเทือกเขาผีปันน้ำไปยึดดินแดนลุ่มแม่น้ำปิงสลายความเป็นแคว้นหริภุญไชยลงได้ และสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นแล้ว ก็ยังคงไม่ละทิ้งดินแดนเดิมของตนที่เมืองเชียงราย ยังคงให้พญาชัยสงคราม โอรสผู้เข้มแข็งครองอยู่

เจตนาของการที่จะรวบรวมดินแดนในฟากตะวันออกของเทือกเขาผีปันน้ำทั้งหมดเข้าด้วยกัน พิจารณาได้จากการที่เมื่อพญามังรายสิ้นพระชนม์ลงแล้ว ผู้ที่จะสืบราชสมบัติต่อไปคือ พญาชัยสงครามผู้โอรสแทนที่จะเสด็จไปครองเมืองเชียงใหม่ ท่านเองกลับให้โอรสไปครองแทน ส่วนพระองค์ยังคงครองอยู่ที่เมืองเชียงราย และเป็นเช่นนี้ตลอดมา

ที่ฝ่ายราชวงศ์มังรายยังคงให้ความสำคัญต่อดินแดนฟากตะวันออกของเทือกเขาผีปันน้ำ โดยผู้ที่ได้รับราชสมบัติต่อมาจะอยู่ที่ฟากนี้ และส่งโอรสไปครองเมืองเชียงใหม่ แม้ว่าจะมีการย้ายศูนย์กลางของเมืองสำคัญจากเชียงรายไปอยู่ที่เมืองเชียงแสนในสมัยพระเจ้าแสนภูก็ตาม จนกระทั่งสามารถรวมเอาดินแดนของเมืองพะเยาได้หมดแล้วในสมัยพญาคำฟู เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 19 โอรสของพญาคำฟู คือพญาผายูจึงไปครองเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการปกครองล้านนาอย่างแท้จริง เมื่อพญาคำฟูได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว ส่วนทางฟากตะวันออกของเทือกเขา พญาผายูได้ตั้งทายาทของพระองค์คือ พระเจ้ากือนาไปครองเมืองเชียงแสน และพระเจ้าพรหม โอรสองค์รองมาครองที่เมืองเชียงราย

การที่ฝ่ายของพญามังรายไม่ยอมย้ายศูนย์กลางการปกครองไปอยู่ที่เมืองเชียงใหม่อย่างเด็ดขาดนั้น อาจพิจารณาได้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นเพราะฝ่ายของพญามังรายเองก็ไม่ไว้ใจฝ่ายเมืองพะเยาด้วย

เรื่องนี้เอกสารของล้านนาได้เล่าเรื่องไว้เป็นทำนองว่า ได้เกิดเหตุการณ์บาดหมางกันระหว่างพระร่วงสุโขทัย และพญางำเมือง เนื่องจากพระร่วงลอบเป็นชู้กับเมียพญางำเมือง ในที่สุดพญามังรายได้เป็นผู้ตัดสินความและไกล่เกลี่ย ให้ทั้งสองฝ่ายคืนดีกัน และสาบานเป็นเพื่อนกันต่อไปที่ริมแม่น้ำอิงเมืองพะเยา ซึ่งเหตุการณ์ตอนเดียวกันนี้ หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ได้อธิบายการพบปะสาบานกันที่ริมแม่น้ำอิงของวีรบุรุษทั้งสามว่า เป็นการพบกันเพื่อตกลงการแพ้ชนะแก่กัน

คำกล่าวสั้นๆ ว่า ตกลงการแพ้ชนะแก่กันนี้ น่าจะหมายความเกี่ยวข้องกับการที่พญามังรายจะยกกำลังส่วนใหญ่เข้ายึดเมืองหริภุญไชย เพราะจากสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นเทือกเขาสูงกั้นขวางระหว่างที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงดินแดนหริภุญไชย กับที่ราบทางตะวันออกของเทือกเขาดินแดนเมืองเชียงรายและพะเยานั้น นับเป็นการเสี่ยงมากที่พญามังรายจะยกกำลังส่วนใหญ่ข้ามไปเช่นนั้น เพราะหากว่าขณะที่พญามังรายกำลังทำสงครามติดพันอยู่ที่ฟากเขาตรงข้ามด้านเมืองหริภุญไชยอยู่ พญางำเมืองอาจฉวยโอกาสเข้ายึดครองดินแดนเมืองเชียงรายได้อย่างง่ายดาย โดยที่พญามังรายไม่สามารถย้อนกลับมาป้องกันได้ทัน

ด้วยเหตุนี้ การพบกันเพื่อตกลงการแพ้ชนะแก่กันของพญาทั้งสาม จึงเท่ากับเป็นการเจรจาเพื่อยืนยันความเป็นพันธมิตรและพญามังรายจะไม่ถูกตลบหลัง หลังจากนั้นพระองค์จึงได้ดำเนินแผนการเข้ายึดเมืองหริภุญไชยต่อไป

เมืองพะเยารวมเป็นแคว้นล้านนา

เรื่องของเมืองพะเยาในสมัยที่เป็นนครรัฐอิสระปกครองตนเองมีกล่าวอยู่ไม่มากนักในเอกสารของล้านนา นอกจากในเรื่องของขุนเจือง เรื่องของพญางำเมือง และในพงศาวดารเมืองน่าน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ในหนังสือพงศาวดารเมืองน่านนั้น เป็นการเล่าเรื่องพญางำเมืองที่ใช้กำลังรวมเอาเมืองน่านเข้าไว้ในอำนาจ แต่แล้วไม่นานเท่าไร เมืองน่านก็แยกตัวออกเป็นอิสระได้อีก

เรื่องการขัดแย้งระหว่างเมืองน่านกับพะเยาที่เล่าในตอนต้นนี้สอดคล้องกันได้ดีกับในสมัยหลังต่อมาตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ที่พญาคำฟูแห่งเมืองเชียงแสนได้คบคิดกับเจ้าเมืองน่านทำศึกขนาบเมืองพะเยา ซึ่งในที่สุดพญาคำฟูได้ยึดเมืองพะเยาได้ก่อนเมืองน่าน และครอบครองไว้ในเขตแคว้นของตนฝ่ายเดียว

ตั้งแต่นั้นมา เมืองพะเยาจึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นล้านนา

ในสมัยที่เมืองพะเยารวมอยู่กับแคว้นล้านนานั้น มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับเมืองพะเยาอย่างหนึ่งคือในสมัยที่พระเจ้าติโลกราชแห่งแคว้นล้านนา (ปลายพุทธศตวรรษที่ 20-ต้นพุทธศตวรรษที่ 21) ทำศึกกับกรุงศรีอยุธยาเพื่อแย่งดินแดนในแคว้นสุโขทัย

หลังจากที่พระองค์ได้ยึดเมืองแพร่และเมืองน่านรวมเข้าเป็นแคว้นล้านนาแล้ว ในการทำศึกครั้งนั้น พระยุษธิฐิระ เชื้อสายราชวงศ์พระร่วงผู้ครองเมืองพิษณุโลก ได้ผิดใจกันกับพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้อพยพครอบครัวมาอยู่ข้างฝ่ายพระเจ้าติโลกราช และได้ช่วยราชการสงครามทำประโยชน์ให้แก่พระเจ้าติโลกราชเป็นอย่างมาก จึงพระราชทานเมืองพะเยาให้พระยุษธิฐิระมาครองเป็นเจ้าเมือง ได้ปรากฏในตำนานพระแก่นจันทร์ว่า เมื่อครั้งที่ครองเมืองพะเยานั้น พระยุษธิฐิระได้เป็นผู้สร้าง วัดป่าแดงหลวง ขึ้น ปัจจุบันวัดนี้มีชื่อว่า วัดป่าแดงหลวงดอยไชยบุนนาค ปัจจุบันยังปรากฏซากของเจดีย์ร้างองค์หนึ่งอยู่ในบริเวณวัด เป็นเจดีย์แบบสุโขทัย พระพุทธรูปหินทรายแบบหนึ่งที่มีพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธรูปสุโขทัย ซึ่งพบที่เมืองพะเยานั้นคงได้รับการสร้างขึ้นมาตั้งแต่ระยะเวลาสมัยนี้

เนื่องจากวัดนี้ก่อสร้างโดยเจ้าเมืองที่มีเชื้อสายจากราชวงศ์สุโขทัย ดังนั้น เมื่อมีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นภายหลังจากที่สร้างประมาณ 100 ปี ในสมัยพระเมืองแก้วครองแคว้นล้านนานจึงได้มีการำศิลาจารึกขึ้นในสมัยที่มีการปฏิสังขรณ์และเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดพญาร่วง” ที่ตั้งของวัดที่อยู่ภายนอกเมืองพะเยา วัดนี้จึงเป็นวัดป่าหรืออรัญวาสีเช่นเดียวกับคติของสุโขทัยในสมัยโบราณ

เมืองพะเยา ภายหลังได้ร่วงโรยไปพร้อมกับเมืองอื่นๆ ในแคว้นล้านนา ตั้งแต่เมื่อเมืองเชียงใหม่ศูนย์กลางของแคว้น ได้ถูกพม่าครอบครองเมื่อพุทธศักราช 2101 พม่าพยายามที่จะกลมกลืนแคว้นล้านนาเข้ากับจักรวรรดิพุกามเหมือนกัน แต่ก็ประสบปัญหาความแตกแยกที่มีในประเทศเช่นที่เคยมีมา ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบุเรงนอง เมืองต่างๆ ภายในแคว้นล้านนาประสบกับความแตกแยก แย่งชิงอำนาจซึ่งกันและกันในแคว้นระหว่างเจ้าเมืองต่างๆ เช่น เชียงแสน เชียงราย แพร่ น่าน เชียงใหม่ อำนาจของพม่าซึ่งปกครองที่เชียงใหม่บางครั้งก็ถูกแทรกแซงยึดครองโดยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระนารายณ์ หรือบางครั้งก็โดยคนพื้นเมืองที่คิดตั้งตัวเป็นอิสระดังได้กล่าวแล้ว

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในขณะที่มีการชุลมุนวุ่นวายภายในเขตแดนที่เคยเป็นแคว้นล้านนานี้ ชื่อเมืองพะเยาได้หายไปจากเอกสารของล้านนา เอกสารล้านนาไม่มีบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับบทบาทของเจ้าเมืองพะเยาคนใดที่น่าจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ยุ่งยากช่วงนี้เลย ดูเสมือนว่าฐานะและความสำคัญของการเป็นเมืองพะเยาได้หายไปจากดินแดนแคว้นล้านนาแล้ว ไม่ทราบตั้งแต่เมื่อครั้งใด แม้แต่เอกสารที่เป็นตำนานเมืองพะเยาที่รวมพิมพ์อยู่ในหนังสือชุดพงศาวดารภาค ที่ 61 ซึ่งกล่าวว่าเป็นตำนานที่ชาวพะเยาได้มาจากเมืองเวียงจันท์ ข้อความที่กล่าวมีลักษณะเป็นเรื่องปรัมปราคติ ไม่มีการต่อเนื่องเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์บ้านเมืองดังเช่นเอกสารของล้านนาฉบับอื่นๆ เลย มากล่าวถึงเรื่องที่เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ ก็ตอนที่มีการตั้งบ้านเมืองพะเยาขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์

โบราณศิลปวัตถุ เมืองพะเยา

โบราณศิลปวัตถุของเมืองพะเยาได้รับการรวบรวมไว้เป็นแห่งเป็นที่สะดวกแก่การศึกษาคือที่วัดศรีโคมคำ ซึ่งพระเทพวิสุทธิเมธี…ได้รวบรวมไว้เป็นเวลานาน และอีกแห่งหนึ่งคือที่วัดลี ซึ่งท่านเจ้าอาวาสเป็นผู้รวบรวมไว้

โบราณศิลปวัตถุเหล่านี้มีอยู่มากมายนับตั้งแต่ศิลาจารึก เครื่องถ้วยชาม พระพุทธรูป พระพิมพ์ ฯลฯ

วัดศรีโคมคำ ได้มีการเริ่มจัดทำทะเบียนศิลาจารึก ซึ่งพบที่จังหวัดพะเยา รวมทั้งศิลาจารึก หรือจารึกที่พบในที่อื่นๆ แต่สามารถสืบทราบได้ว่าเดิมอยู่ในจังหวัดพะเยา

ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดของหลักฐานลายลักษณ์อักษรประเภทนี้ จะไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 21

เครื่องถ้วยชามที่นิยมเก็บรักษาไว้เป็นเครื่องเคลือบในแบบต่างๆ ซึ่งแต่เดิมคิดกันว่า เป็นเครื่องเคลือบที่เผาจากเตาเผาที่พบในภูมิภาคแถบนี้ เช่น เตาอำเภอพาน เตาเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย เตาอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง แต่ปัจจุบันได้มีการพบเตาเผาภาชนะดินเผาเคลือบเช่นนี้ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เช่นกัน แต่เนื่องจากยังมิได้ศึกษาจำแนกในรายละเอียด จึงยังไม่สามารถระบุให้แน่ชัดถึงความแตกต่างของลักษณะภาชนะที่เผาจากเตาต่างกันได้

แต่เดิมเชื่อกันว่า เตาเผาภาชนะดังกล่าวนี้ เริ่มขึ้นเมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 20-ต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ในสมัยที่พระยุษธิฐิระเจ้าเมืองสองแควมาเข้าด้วยกับพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา แต่อย่างไรก็ดี จากหลักฐานที่พบมากขึ้นมีแนวโน้มที่จะลงความเห็นโดยทั่วไปว่าเตาเผาเหล่านี้ควรจะมีขึ้นอย่างน้อยก็ร่วมสมัยเดียวกันกับที่ทำกันที่แคว้นสุโขทัย

ที่วัดศรีโคมคำนี้ได้มีการเก็บพระพุทธรูปของเก่าที่ทำจากหินทรายไว้เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ได้จากในเขตจังหวัดพะเยา แต่ก็มีบ้างที่ได้จากเขตจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะพวกลายปูนปั้นประดับอาคารทางศาสนาต่างๆ

วัดลี ก็มีการเก็บรวบรวมโบราณศิลปวัตถุไว้เป็นจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งประกอบด้วยโบราณศิลปวัตถุประเภทต่างๆ เช่นเดียวกับวัดศรีโคมคำ โดยเฉพาะพระพุทธรูปที่ทำด้วยหินทราย ส่วนใหญ่จะเป็นของที่รวบรวมมาจากวัดร้างต่างๆ ในเขตจังหวัดเชียงราย ที่น่าสนใจมาก คือ โบราณศิลปวัตถุที่เป็นพระพิมพ์ที่วัดลีรวบรวมไว้ มีบางชิ้นแสดงลักษณะทางศิลปกรรมเป็นแบบปาละเสนะ ซึ่งอาจกำหนดอายุให้ใกล้เคียงกับระยะเวลาเริ่มแรกของเมืองพะเยาได้

พระพุทธรูปของพะเยาที่พบส่วนใหญ่ทำด้วยหินทราย มีบ้างที่มีการจารึกเวลาการก่อสร้างไว้ที่ฐานด้วย เท่าที่พบเวลาของจารึกบนฐานพระพุทธรูปเหล่านี้ จะมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 21

จารึกบนฐานพระพุทธรูปพะเยาที่เก่าที่สุด พบบนฐานพระพุทธรูปสำริดที่มีส่วนผสมของทองแดงมาก เรียกว่าหลวงพ่อทองแดง ปัจจุบันตั้งอยู่ในพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ซึ่งมีอักษรจารึกว่าพระยุษธิฐิระเจ้าเมืองพะเยาเป็นผู้สร้าง

แต่อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าจะไม่มีพระพุทธรูปของพะเยาที่เก่ากว่านี้ เพราะพระพุทธรูปของพะเยามีอยู่หลายแบบ บางแบบมีพุทธลักษณะที่น่าจะเก่ากว่าที่กล่าวมานี้ หากมีการศึกษาเปรียบเทียบในส่วนละเอียดกันต่อไป

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2565